ปันนารีย์และเราล้วนอยู่ในสมรภูมินักรบของตัวเอง

 

“ฉันมีถนนสายที่ต้องออกเดินทางเสมอ ถนนเส้นที่นำพาไปยังสถานที่ที่ทำให้ท้องหายหิว ด้วยยิ่งถือหลักการที่ถูกบ่มเพาะมาว่า ผู้อยู่ในวัยเยาว์ไม่ควรได้รับอนุญาตให้รู้จักความหิวจนกว่าพวกเขาจะพ้นระยะการพิทักษ์จากผู้นำครอบครัว ถนนสายที่ทำให้ชีวิตครึ่งหนึ่งในกิจกรรมทั้งหมดของฉันตกอยู่หลังพวงมาลัย…”

(ปันนารีย์, 2562: 43)

 

ข้อความข้างต้น คือบางส่วนของย่อหน้าเปิดเรื่องที่ปันนารีย์เริ่มเรื่องด้วยการกระทำของตัวละคร “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง และการกระทำนั้น มีความหมายว่าชีวิตของฉันคือการเดินทาง หรือต้องนั่งหลังพวงมาลัยเพื่อไป “ยังสถานที่ที่ทำให้ท้องหายหิว” ที่แฝงนัยถึงแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพบนภูไม้ตอง และสถานที่ดังกล่าวจะนำไปสู่เหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันเป็นฉากสำคัญของเรื่องนี้ด้วย

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “สมรภูมิของนักรบ” ของปันนารีย์ นามปากกาของกวีและนักเขียนสาวชาวเชียงใหม่ ตีพิมพ์ในชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 13 “บุตรธิดาแห่งสยาม” มีมาโนช พรหมสิงห์เป็นบรรณาธิการโดยจะวิเคราะห์ความหมายและความต่างระหว่างการเคลื่อนที่กับการเคลื่อนย้ายว่าส่งผลต่อชีวิตตัวละคร สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงตอบคำถามว่าทำไมเรา (ทุกคน) ล้วนอยู่ในสมรภูมินักรบของตัวเอง

 

เรื่องสั้นนี้ให้ “ฉัน” หรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเล่าถึงชีวิตที่ต้องเดินทางกับเรยาจากตัวเมืองสู่ภูไม้ตอง เพื่อไปดูแลสวนและคนงาน ระหว่างทางเธอครุ่นคิดถึงข่าวสารจากวิทยุในรถเรื่องค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 เกินมาตรฐานด้วยสายตาวิพากษ์ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์ จากนั้นเธอก็แวะตลาดซื้อขายปลาริมท่าน้ำแห่งหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ แล้วเธอก็ขึ้นไปถึงภูไม้ตอง สถานที่ที่มีอากาศอยู่ในขั้นถูกสุขอนามัย และเธอจะนำเงินสองหมื่นบาทไปให้อุชุคนงานที่ลาออกจากสวนยืมไปซื้อเครื่องยนต์เรือหาปลาเพื่อเปลี่ยนอาชีพใหม่

 

ความหมายและความต่างระหว่างการเคลื่อนที่กับการเคลื่อนย้าย

เรื่องสั้น “สมรภูมิของนักรบ” ของปันนารีย์ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเคลื่อนที่และเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะในเมืองสู่ชนบท จังหวัดข้ามจังหวัด และการทำงานภาคพื้นดินไปภาคพื้นน้ำ

 

ประเสริฐ แรงกล้า (2561: 23-24) กล่าวว่า “การเคลื่อนย้าย (mobility) เป็นแนวคิดที่ถูกอธิบายไว้ค่อนข้างน้อย และมักถูกเข้าใจว่าไม่แตกต่างจาก ‘การเคลื่อนที่’ (movement) ทั้งที่จริงแล้วมีความแตกต่างกัน จำกัดอยู่แค่การเคลื่อนไหวในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ ในนัยของการเคลื่อนที่จากจุดตั้งต้นแห่งหนึ่งไปยังจุดปลายทางอีกแห่งหนึ่ง ที่ระบุแผนที่หรือวัดระยะทางได้ (moving without being mobile) นั่นคือการเคลื่อนที่โดยคนคนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพแต่อย่างใด… ขณะเดียวกันก็มีคนที่เคลื่อนย้ายโดยไม่ต้องเคลื่อนที่ (mobile without moving) และอาจมีคนที่สามารถเคลื่อนที่ไปพร้อมกับการเคลื่อนย้าย (moving and be mobile) หรือสร้างความหมายทางสังคมใหม่ๆ ไปด้วย”

 

กรณีฉันหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวขับรถออกเดินทางจากตัวเมืองสู่ภูไม้ตองพร้อมกับเรยา ลูกสาวที่โรงเรียนประกาศปิดการเรียนการสอนเนื่องจากเหตุการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 เกินมาตรฐาน เพื่อนำเงินสองหมื่นบาทไปให้อุชุคนงานที่ลาออกจากสวนยืมไปซื้อเครื่องยนต์เรือ เป็นการเคลื่อนที่แต่ไม่เคลื่อนย้าย หมายความว่าฉันและลูกสาวขับรถพากันไปถึงภูไม้ตอง ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่โดยระยะทาง พอถึงที่หมายทำธุระเสร็จก็ขับรถกลับเข้าเมือง ต่างจากอุชุคนงานในพื้นที่ ที่เคยทำงานในสวนของฉันแล้วลาออกไปเปลี่ยนอาชีพใหม่ นับเป็นการเคลื่อนที่ไปพร้อมกับการเคลื่อนย้ายจากงานบนพื้นดินไปสู่พื้นน้ำ เพื่อหมุดหมายสำคัญของชีวิตสมัยใหม่ (modern life) เพราะ “อุชุหาปลาอยู่ที่ทะเลสาบมาตั้งแต่เด็ก ทะเลสาบที่เขาเกิดมาก็พบการอพยพเคลื่อนที่ของบรรพบุรุษ” (ปันนารีย์, 2562: 48)

 

ต่างจากนง คนลาวพลัดถิ่นที่แม่ค้าปลาริมท่าน้ำเล่าให้ฉันฟังว่า เขาจากขอนแก่นมาหาปลาที่ทะเลสาบด้วยการลากอวนยาวร้อยตา จากการแนะนำของแม่ค้าปลาคนหนึ่งที่ฉันออกความเห็นว่าเป็นการ “ชักศึกเข้าบ้าน” ก่อนเขาจะถูกจับ “โดนปรับไปเป็นแสน แทบหมดเนื้อหมดตัว คงต้องกลับภูเวียงแล้ว” (ปันนารีย์, 2562: 45) กล่าวได้ว่าเป็น “ชีวิตทางสังคม” (social life) ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต

 

สอดคล้องกับความเห็นของประเสริฐ แรงกล้า (2561: 21) ว่า “การดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งของในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้แยกออกจากการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ เพราะอย่างหลังเป็นเครื่องมือช่วยบรรลุเป้าหมายส่วนบุคคลและสร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ อันหมายถึงโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ การเดินทางหรือเคลื่อนย้ายออกเชิงพื้นที่จึงเป็นพาหนะหรือเทคโนโลยีเสริมอำนาจให้กับมนุษย์ในฐานะผู้กระทำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองต่าง ๆ การเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นทั่วไปและเป็นเรื่องสำคัญในการเข้าใจสังคม เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการถกอภิปรายเรื่องการดำรงอยู่ ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมสมัยใหม่ และบ่อยครั้งการเดินทางก็เป็นสิ่งจำเป็น เอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อที่ซับซ้อนขึ้น”

 

ดังนั้น การเดินทางของฉันจากตัวเมืองสู่ภูไม้ตองจึงเชื่อมต่อกับข่าวสารและผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากงานสวนของอุชุที่เขาเห็นว่า “อย่าอยู่ที่นี่อีกเลย ที่นี่แห้งแล้ง ไม่มีอนาคต” (ปันนารีย์, 2562: 52) ทำให้เขาเลือกซื้อเครื่องยนต์ ล่องเรือลำใหม่ไปหาฝูงปลา ถือเป็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เช่นเดียวกับนง คนลาวพลัดถิ่นที่จากภูเวียงไปเพราะถูกเขาไล่ กลายเป็นการย้ายถิ่นของคนหาปลาขอนแก่นมาชักลากปลาจากทะเลสาบด้วยความละโมบในทรัพยากรธรรมชาติ พอทะเลสาบไม่มีน้ำ พวกเขาก็กลับขอนแก่น ทิ้งซากขอเบ็ด แหอวนนอนอยู่ใต้น้ำ มักง่าย ไม่เคยเก็บ ทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่เพราะเหตุผลด้านการดำรงชีพ ยังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสังคมที่หลากหลาย รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากความแห้งแล้ง

 

“ใครจะกล้าตอบคำถามที่ว่า ใครเป็นผู้กระทำต่อธรรมชาติอันเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดนี้ นอกจากก้มหน้าหลบสายตา ไม่มีใครสักคนจะยืดตัวขึ้นยอมรับความผิดพลาดที่ต่างช่วยกันบ่อนทำลายธรรมชาติมาตลอดระยะเวลาที่ผ่าน”

(ปันนารีย์, 2562: 43-44)

 

จากคำถามข้างต้น สามารถตอบได้ว่ามนุษย์เป็นตัวการทำลายธรรมชาติ เอาเปรียบ และตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเดียว ไม่เกื้อกูล เคารพ และสำนึกรักธรรมชาติ จึงถูกธรรมชาติลงโทษ เกิดปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ความแห้งแล้งของฤดูกาลที่ทำให้ต้นไม้ในสวนยืนต้นตาย หรือน้ำในทะเลสาบแห้งขอด เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบ ประหนึ่งสมรภูมิที่เหล่านักรบต้องต่อสู้ต่อไป

 

 

ทำไมเรา (ทุกคน) ล้วนอยู่ในสมรภูมินักรบของตัวเอง

 

ปันนารีย์พยายามเน้นย้ำปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ที่ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ทุกคน ทุกชนชั้นถึงขั้นอันตราย เป็นการสูญเสียสิทธิในการหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ที่หน่วยงานราชการหรือรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่จริงใจและไม่ให้ความสำคัญ หรือขาดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

 

“สมรภูมิรบเปลี่ยนแนวแล้วจริง ๆ อากาศที่ปนเปื้อนมลพิษขนาดที่เป็นอันตราย หน้ากากผ้าสีการ์ตูนของคนขายพวงมาลัยไม่อนุญาตให้รอดตาย หน้ากากที่รองรับฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 มีราคาแพง ชนิดที่พวกเขาจะไม่ยอมหาซื้อ ฉันพยายามวัดความเหลื่อมล้ำที่น่าจะกลายเป็นร่องกว้างตามติดชีวิตพวกเขาไปทุกอณู ไม่ว่าเราจะมีโอกาสเกิดมาเป็นใคร”

(ปันนารีย์, 2562: 51)

 

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของฉันที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะอันตรายต่อชีวิตแล้ว ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำจากการเอาชีวิตรอดผ่านหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใช้ปิดปากปิดจมูกด้วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโลกล้วนอยู่รายรอบตัวเรา ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใส่ใจมองเห็นปัญหาเพื่อความอยู่รอดของชีวิต การตระหนักรู้จึงสำคัญทั้งในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่ง อยู่ร่วม หรือได้รับผลกระทบจากอันตรายที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้ ซึ่งค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างก็น่ากลัวเหมือนกัน

 

กรณีดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ฉันเห็นพวกพม่าหรือไทใหญ่ยืนขายพวงมาลัยตามสี่แยกในเมืองแทนที่จะทำงานในสวนผลไม้ เพราะสบายกว่า แต่ก็อันตรายกว่าโดยไม่รู้ตัว ฉันก็เผชิญปัญหาค่าเทอมสูงปรี๊ดเหมือนค่าฝุ่นที่ถูกส่งมาในไลน์กลุ่มผู้ปกครอง เมื่อโรงเรียนติดเครื่องฟอกอากาศและให้นักเรียนกลับไปเรียนตามปกติ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่เงินคือตัวแปรสำคัญและสามารถบอกถึงคุณภาพชีวิตของคนได้ไม่เท่ากัน

 

ดังนั้น “นักรบ คือนักรบ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เขาก็จะอยู่อย่างนักรบ” (ปันนารีย์, 2562: 50)

 

ความหมายของนักรบในที่นี้ คือฉายาที่ฉันตั้งให้กับทุกคนที่ทำงานหนักบนภูไม้ตอง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ตัวละครในเรื่องสั้นนี้ต่างเป็นนักรบที่ต้องรบราหรือต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งจากสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เช่น การเดินทางของฉันกับเรยาที่หนีปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานจากในเมืองสู่ภูไม้ตอง เพื่อรับรู้ข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนในพื้นที่ ทั้งนงและอุชุที่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีอนาคต ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แม้ว่าโอกาสที่ชีวิตจะล่มสลายหรืออยู่รอดเป็นไปได้เท่า ๆ กัน เช่นเดียวกับนิยาม “ไม่ว่าแพ้หรือชนะ เราก็จะอยู่อย่างนักรบ” ซึ่งต้องต่อสู้ ช่วยเหลือ หรือพึ่งพาสองมือและลำแข้งของตัวเอง

 

เรื่องสั้น “สมรภูมิของนักรบ” ของปันนารีย์ นอกจากจะสะท้อนความหมายและความต่างจากประสบการณ์การเคลื่อนที่ เคลื่อนย้ายผ่านตัวละครและสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในเรื่องแล้ว จุดมุ่งหมายที่นักเขียนต้องการสื่อ คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อความขัดแย้งภายในใจของตัวละครผู้เล่าเรื่อง “ไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็เป็นสนามรบที่เรายืนปะปนกัน” แต่มนุษย์จะแก้ไขปัญหาหรือเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองได้อย่างไร บนความเหลื่อมล้ำ ความเป็นคนอื่น ซึ่งสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสที่มีไม่เท่ากัน

 

เรื่องสั้นนี้จึงนับเป็นเสียงของนักเขียนหญิงที่รำพึงออกมาเบา ๆ เพื่อปลอบโยนตัวเอง หรือเป็นภาพแทนความจริงให้ผู้อ่านได้ตระหนักและสนใจชีวิตที่ไม่ได้ถูกกำหนดความหมายเอาไว้ล่วงหน้าหรือมีแก่นสารที่แน่นอนตายตัว

 

ทั้งนี้เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่า “ให้ประชาชนดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย รัฐบาลไม่สามารถไปดูแลได้ทุกอย่าง”

 

บรรณานุกรม

ประเสริฐ แรงกล้า. (2561). “บทนำ: ชีวิตทางสังคมในการเคลื่อนย้าย”. ใน ชีวิตทางสังคมในการเคลื่อนย้าย.          ปทุมธานี: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 17-43.

ปันนารีย์ (นามแฝง). (2562). “สมรภูมิของนักรบ”. ใน ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 13 บุตรธิดาแห่งสยาม.           อุบลราชธานี: เขียน, 42-52.

 

 

 

*หมายเหตุ เรื่องสั้น “สมรภูมิของนักรบ” ตีพิมพ์ครั้งที่สองใน รวมเรื่องสั้น ภาพเหมือนของคืนฤดูร้อน ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดของปันนารีย์ ในปี 2563 นี้

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: