เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ: แฟนตาซีผีไทย ร่วมสมัยทันเหตุการณ์

 

 

 

 

ขณะที่โควิคคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย เกิดวิกฤตหลายด้าน ทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับ New Normal หมอพยาบาลมีอาชีพหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัคซีน แล้วนักเขียนล่ะ นักเขียนจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้

 

 

Raina เป็นนามปากกาของนักเขียนนิยายแนวแฟนตาซี ที่มักจะสอดแทรกปมปัญหาเข้มข้นให้ผู้อ่านติดตาม เมื่อเกิดโควิดลากยาวมาเรื่อยๆ ในฐานะนักเขียน Raina จึงเริ่มเขียน “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” เป็นตอนสั้นๆ ลงใน Read A Write ด้วยหวังใจว่าจะคลายเครียดให้คุณผู้อ่าน ดังที่เขียนไว้ในคำนำว่า

 

“เพราะภาวะโควิด-19 ที่ทุกอย่างล็อกดาวน์ ตอนนั้นเราถามตัวเองว่า นักเขียนตัวน้อยๆ อย่างเราทำอะไรได้บ้าง เลยคิดว่า เราเขียนได้ ก็เขียนเรื่องตลกคลายเครียด เอาเป็นพื้นที่ฝากร้านละกัน!”

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดหนังสือที่เรียกว่า “หนังสือนอกแผน” คือนอกแผนการเขียนที่เคยวางไว้นั่นเอง

 

 

 

แฟนตาซีผีไทย

นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักที่ไม่ใช่คน เต็มไปด้วยผีสางนางไม้ พระภูมิเจ้าที่ มีคนแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ไม่ได้น่ากลัว เพราะเป็นเรื่องตลกขำขัน บรรดาภูตผีในเรื่องก็อ้างอิงจากเรื่องเล่าพื้นบ้านของไทย ทั้งเจ้ตะเคียน เจ้าจุก เจ้าแก้ว  และเราเดาว่าผีบางตัวน่าจะมีที่มาจากเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกด้วย (ขอไม่เฉลยๆ โปรดอ่านและเดากันเอง)

 

แม้จะไม่ยาวนักและเป็นเรื่องที่เขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลาย แต่ข้อมูลที่ใช้ การสร้างภาพตัวละครให้ชัดเจนมีรายละเอียดนั้น Raina ก็ยังทำได้ดี ทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละคร และบทสนทนาที่แสดงให้เห็นอุปนิสัยของตัวละครต่างๆ

 

 

ร่วมสมัย ทันเหตุการณ์

หากใครเคยอ่านงานของ Raina จะรู้ว่า นอกจากการนำตำนานและความเชื่อโบราณของชนชาติต่างๆ มาใช้สร้างเรื่องแล้ว Raina ยังถนัดในการนำเทคโนโลยี หรือเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบันมาผนวกรวมเข้าไว้ในเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ประดักประเดิด

 

ในครั้งนี้ Raina ใช้เรื่องบริการดิลิเวอร์รี่ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคที่คนต้องกักตัวไม่ออกไปไหน มาผนวกเข้ากับเรื่อง “หวย” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยและมักมีประสบการณ์ร่วม อีกทั้งยังสอดแทรกชื่ออาหารและขนมลงในบทสนทนา เพื่อปูทางไปสู่การฝากร้านในท้ายตอนและท้ายเรื่องด้วย การฝากร้านนี้ ไม่ใช่การขอสปอนเซอร์มาใส่ไว้ในเล่ม แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าที่ทุกวันนี้ต้องพยายามปรับตัวเพื่อสู้กับความซบเซาทางเศรษฐกิจเพราะพิษโควิดได้มีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้คนมากขึ้น

 

 

นอกจากความผ่อนคลายที่ได้รับจากการอ่านเล่มนี้ (และความหิวเกือบตลอดเวลา) เรายังพบว่า Raina ยังไม่ลืมสอดแทรกบทสนทนาอันอบอุ่นระหว่างตัวละครหลัก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ตั้งแต่ในเล่มก่อนๆ นี้แล้ว อย่างในเล่ม “ลำนำอตีตา” และ “ลิขิตรักจำหลักใจ”

 

 

แถมท้าย

หลังจากอ่านงานของ Raina มาหลายเล่ม เราพบว่า ทั้งงานจริงจังเข้มข้นและงานคลายเครียด ล้วนมีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นความเป็น Raina 3 ประการ คือ 1. การใช้ข้อมูลจำพวกตำนานความเชื่อทางศาสนาและอารยธรรมโบราณต่างๆ 2. การนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน (เช่นตัวละครที่เป็นเทพเจ้า แต่เล่นทวิตเตอร์ หรือ เจ้ตะเคียนที่มีไอโฟนกงเต๊ก เบิกมาด้วยแต้มบุญที่สะสมไว้) 3. ความรักระหว่างตัวละครเอกที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (หากไม่ต่างชนชั้น ก็ต่างภพภูมิ)

 

 


 

 

ใครที่สนใจ “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” ของ Raina แบบรูปเล่ม ตอนนี้มีจำหน่ายที่ร้านกลิ่นหนังสือ

หรือจะทดลองอ่านก่อน ที่ Read A Write

ถ้าใครอยากติดตามและพูดคุยกับนักเขียน ก็ขอเชิญที่เพจ Raina

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: