โอ้แม่มหากวีฯ The Series EP.1 : การแปลโอ้แม่มหากวีฯ ฉบับภาษาอังกฤษ

 

ด้วยกำแพงภาษา ทำให้งานเขียนไทยไม่อาจก้าวสู่สากลได้ทันทีที่เขียนเสร็จ แม้จะเขียนด้วยภาษาไทยอย่างวิจิตรบรรจง แต่เนื้อหาอันน่าติดตามก็ไม่อาจสื่อถึงผู้อ่านที่ใช้ภาษาอื่นได้ ขณะที่ซีรีส์และภาพยนตร์ในปัจจุบันทำบทบรรยายภาษาต่างประเทศกันเป็นปกติแล้ว แต่วรรณกรรมไทยกลับไม่ได้ก้าวตามในจังหวะเดียวกันนั้น

 

เมื่อ Anthill Archive คิดจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ของนันดานี เราได้คัดเลือกเรื่องสั้นจำนวน 1 เรื่องจาก 12 เรื่องในเล่ม มาแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า “Oh, the Great Poetess of the 21th Century” โดยหวังว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษนี้จะช่วยให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นคนไทย จะพอได้ซึมซับรับทราบเนื้อหาและลีลาของนันดานีบ้าง และบางทีอาจช่วยดึงให้ผู้อ่านต่างประเทศหันมาสนใจวรรณกรรมไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 

การทำงานดังกล่าว เราได้มอบหมายนักแปลที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรมแปลมากกว่าสิบปีอย่างวรางคณา เหมศุกล ให้มาถ่ายทอดเรื่องราวของนันดานี และเมื่อต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษลุล่วงในร่างแรก เราได้ติดต่อนลิน สินธุประมา ผู้มีประสบการณ์อ่านงานของนันดานีมานานหลายปี และมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีและรสนิยมของผู้เขียน ให้มาร่วมงานในฐานะบรรณาธิการต้นฉบับแปลเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งผลที่ได้ กลายเป็นการรวมทีมที่ลงตัว

 

 

ในเบื้องแรกนั้น เรามุ่งหมายเพียงต้องการแปลเป็นภาษาอังกฤษตามแบบอย่างที่มูราคามิเล่าว่า เขาเตรียมต้นฉบับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของตนเอง โดยไม่รอให้เอเจนซีใดติดต่อมาก่อน และนั่นทำให้เขาพร้อมคว้าโอกาสในแวดวงวรรณกรรมโลก ต่างจากนักเขียนที่มีเพียงต้นฉบับภาษาเดียวในมือ

 

การจัดพิมพ์ “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ปกสีเหลืองๆ โดยมีเรื่องสั้นฉบับภาษาอังกฤษแถมท้าย เล่มนี้นอกจากจะดำเนินรอยตามแนวคิดดังกล่าว การลงมือแปลกันเองในทีมที่เหมาะสม มีประสบการณ์ มีความเข้าใจนักเขียนและผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่และคาดไม่ถึงด้วย

 

การเลือกเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” มาแปลนี้ได้ทำให้เราเห็นมุมมองที่มากขึ้นในการทำงานต้นฉบับ ทั้งผู้แปล บรรณาธิการต้นฉบับแปล บรรณาธิการเล่ม ได้หารือกันเกี่ยวกับถ้อยคำสำนวนต่างๆ ยิงคำถามกลับไปยังนักเขียน ว่าคำนี้อารมณ์ระดับไหน หรือมีประเด็นเช่นว่า เราควรคงศัพท์เฉพาะไว้ หรือแปลอย่างอธิบายความ ถ้าพูดถึง “เว็บไซต์เด็กน้อย” คนไทยเราอาจนึกถึงเว็บไซต์เด็กดีได้ไม่ยาก แต่ชาวต่างชาติเล่า เราจะแปลอย่างไรให้สื่อสารบริบทของสังคมไทยได้มากและดีเท่าที่จะทำได้ เหล่านี้คือสิ่งที่ทีมครุ่นคิดกว่าจะมาเป็นเวอร์ชั่นที่เห็นในเล่ม

 

นอกจากนี้ เมื่อหนังสือพิมพ์เป็นเล่มแล้ว เรายังได้รับฟีดแบ็กมาว่า เรื่องอื่นๆ ก็น่าแปลเป็นภาษาอังกฤษ บางคนโหวต “การรุกรานของขยะ” ว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

 

แล้วคุณล่ะ ได้อ่านเล่มนี้หรือยัง อยากให้แปลเรื่องไหนอีกบ้าง

 

 

แถมท้าย

 

หากผู้อ่านคนใดสนใจการแปล อาจลองพลิกไปมาระหว่างเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษของเรื่อง “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ได้ เพื่อเทียบเคียงเนื้อความและถ้อยคำ ถ้ามีความเห็นอย่างไร ก็พูดคุยกับเราได้เสมอที่ anthillarchive@gmail.com

 

ส่วนนักเขียนคนใดที่ต้องการจะตระเตรียมต้นฉบับของตนเองให้เป็นภาษาอังกฤษ ลองติดต่อของคำปรึกษาจาก วรางคณา เหมศุกลที่ WaraWords.com ได้เลย

 

เพราะการพบกันของทีมงานที่ลงตัว นำมาซึ่งความมหัศจรรย์เสมอ 🙂

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: