‘Keep Talking’ – ‘Talkin’ Hawkin’

 

เมื่อนักฟิสิกส์ระดับโลก Stephen Hawking featuring Pink Floyd วงโปรเกรสซีพร็อกระดับโลก

 

Pink Floyd เป็นตำนานที่จบไปแล้ว (2015)

 

Stephen Hawking เป็นตำนานที่จากไปแล้ว (2018)

 

ทั้งคู่เคยร่วมงานครั้งหนึ่งเมื่อ 1994 หรือ 24 ปีก่อน ในอัลบั้มรองสุดท้ายของ Pink Floyd: The Division Bell เพลงนั้นชื่อว่า ‘Keep Talking’ หนึ่งในเพลงฮิตของอัลบั้ม

 

และกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งกับเพลง Talkin’ Hawkin’ ในอัลบั้มสุดท้ายของ Pink Floyd อย่าง The Endless River ในปี 2014 ก่อนประกาศยุบวง

 

Stephen Hawking ร้องเพลง!

 

ได้ยังไง?

 

คนถัดมาจาก Einstein

ความโด่งดัง ความรู้ และสภาพโรคร้าย ALS ที่ Stephen Hawking ประสบนั้นเข้าสมการการชื่นชมอัจฉริยะจนถึงกับมีคนกล่าวว่าเขาคือคนต่อมาจาก Albert Einstein เกียรติประวัติ Hawking ยืดยาวเป็นหางว่าว หากจะกล่าวก็รกเปล่าๆ เพราะเรายังต้องพูดถึง Pink Floyd อีก (และนี่ไม่ใช่คอนเทนต์เอาตาย แต่เอาฮา)

 

ทั้งสองคนถูกผูกติดกันว่าเป็นคู่อัจฉริยะทางฟิสิกส์ขับเคลื่อนโลกไขจักรวาล แม้แต่ความตายก็ยังกล่าวขานเช่นนั้น 14 มีนาคม เป็นวันเกิดของ Albert Einstein เป็นวันไพ (π) (ค่า 3.414…. ซึ่งยืดยาวไม่สิ้นสุด ค่าซึ่งมนุษย์หลงใหลพอๆ กับ Golden Ratio 1.618…) และในปี 2018 นี้ 14 มีนาคมก็เป็นวันจากไปของ Stephen Hawking ผู้เกิดเมื่อ 8 มกราคม 1942 (วันตายของกาลิเลโออีกนั่นแหละ) สิริรวมอายุ 76 ปี

 

Stephen Hawking เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างของโลกจากงานเขียนอันโด่งดังอย่าง A Brief History of Time (1988)  แปลเป็นไทยชื่อ ‘ประวัติย่อของกาลเวลา’ โดยสำนักพิมพ์มติชน

 

เนื้อหาในเล่มเริ่มจากความเชื่อโบราณถึงกำเนิดจักรวาล ค่อยๆ เจาะลงไปถึงประเด็นของแสง หลุมดำ มวล แรงทางฟิสิกส์ เป้าหมายคืออธิบายถึงความเป็นไปได้ในการสร้าง ‘Theory of Everything’ ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง และสร้างสมการที่สามารถทำนายทุกเหตุการณ์ในเอกภพนี้โดยการประยุกต์เอาทุกข้อมูลความรู้ที่มนุษย์มีเข้ามาคำนวณ (ในเล่มจะเพ่งไปที่การสร้างสมการคำนวณแรงทางฟิสิกส์ 4 แรงเข้าด้วยกันผ่านการประยุกต์กฎและทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่มีในตอนนั้น)

 

A Brief History Of Time ฉบับตีพิมพ์ปี 1988

 

หนังสือเล่มนี้ขายได้ถล่มทลายหลายล้านเล่มและสร้างชื่อเสียงให้กับ Hawking เป็นอย่างมาก

 

รู้ไหมเขาเขียนยังไง?

 

Hawking อธิบายถึงวิธีเขียนไว้ในหนังสือ My Brief History by Stephen Hawking (2013) (แปลเป็นไทยชื่อ ‘ประวัติย่อของตัวผม’ โดยสำนักพิมพ์มติชน) ว่าเพราะเป็นโรคเซลล์ประสาทเสื่อมถอย (ALS) ที่วินิจฉัยพบตั้งแต่อายุ 21 เมื่อปี 1963  เขาเริ่มสูญเสียการพูดในปี 1985  ในช่วงที่เขายังพอพูดได้แม้จับใจความยาก (ระดับว่ามีไม่กี่คนที่ฟังออก) เขาจะพูดให้เลขานุการเรียบเรียง พร้อมส่งเอกสารงานวิจัยให้อ่าน

 

แต่สุดท้ายก็สูญเสียการพูด เขาต้องกรอกลูกตาเลือกตัวอักษรสร้างคำ (คุณจะพบเทคนิคคล้ายกันนี้ได้จากชายชื่อ Jean-Dominique Bauby ซึ่งใช้เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาชื่อ The Diving Bell and the Butterfly ชื่อแปลไทย ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) คอมพิวเตอร์ได้ช่วยเขาเขียนโดยอ่านการเคลื่อนไหวของศีรษะ ลูกตา และกล้ามเนื้อแก้มเพื่อเลือกคำ ทำให้เขาเขียนได้ราวนาทีละ 15 คำ

 

Hawking เขียนติดตลกไว้ใน A Brief History of Time ว่าถ้าเราสร้างทฤษฎีที่ทำนายทุกสรรพสิ่งได้จริงก็หมายความว่า ตัวสมการนี้เองมันจะคำนวณได้ว่าเราจะค้นพบมัน!

 

บางทีทฤษฏีนี้คงคำนวณได้ด้วยว่าวันหนึ่งเขาจะกลายเป็น Pop Star ที่ถึงขนาดได้ร่วมเล่นละคร ภาพยนตร์ ได้รับเชิญเป็นคาแร็คเตอร์ในการ์ตูนแสบชื่อดังอย่าง The Simpson ได้รับเชิญให้เล่นโฆษณาของบรรษัท BT ในปี 1993 และคงคำนวณได้ว่าโฆษณานี้มันจะไปโดนใจ David Gilmour ผู้นำแห่ง Pink Floyd ยุคสุดท้ายจนเอาเสียงเขามาร่วมบทเพลงวงโปรเกรสซีพร็อกยอดเยี่ยมที่สุดวงหนึ่งของโลก

 

 

ประวัติย่อด้านมืดมิดของดวงจันทร์

 

พวกเขารวมตัวกันในปี 1963 เริ่มจาก Roger Waters มือเบส อัจฉริยะทางประพันธ์เพลง Nick Mason มือกลอง และ Richard Wright มือคีย์บอร์ด ทั้งสามพบกันขณะเรียนสถาปัตยกรรมที่ London Polytechnic ต่อมาก็ได้ Syd Barrett เพื่อนในวัยเด็กของ Roger Waters เข้ามาเป็นมือกีตาร์ของวง ในปี 1965 สร้างแนวทางดนตรีร็อกไซคีเดลิกของวงในยุคแรกขึ้นมา ชื่อ Pink Floyd มาจากชื่อนักดนตรีบลูส์ผิวดำที่ Syd Barrett มีแผ่นเสียงคือ Pink Anderson and Floyd Council

 

ปี 1967 ออกอัลบั้มแรกกับ EMI ชื่อ The Piper At The Gate Of Dawn ทว่า Syd Barrett กลับมีปัญหาความมั่นคงทางอารมณ์จนกระทบต่อการขึ้นเวที เพื่อนร่วมวงพยายามประคับประคอง Syd Barrett แต่สุดท้ายทางวงก็ต้องตัดสินใจหาสมาชิกวงใหม่

 

จากซ้ายไปขวา Richard Write, Roger Waters, Nick Mason, David Gilmour

 

ในตอนนี้เองที่ David Gilmour เข้ามาเป็นมือกีต้าร์ เขารู้จัก Syd Barrett มาก่อนเพราะเคยเรียนวิทยาลัยด้วยกัน David Gilmour กับนิ้วพระเจ้าของเขานำพากีตาร์บลูส์ร็อกเข้ามาสู่ Pink Floyd ที่มีแนวทางไซคีเดลิกจนกลายเป็นส่วนผสมแปร่งรสแต่ลงตัว พวกเขาพัฒนาทิศทางดนตรีอย่างต่อเนื่อง เติมความเป็นโปรเกรสซีพร็อกเข้าไปในแต่ละอัลบั้ม จนลายเซ็นมั่นคงในชุดที่ 8 เมื่อปี 1973

 

The Dark Side of The Moon

 

อัลบั้มวางจำหน่าย มีนาคม ปีที่เมืองไทยเกิด 14 ตุลาคม 2516

 

ไม่ใช่เพียงได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มโปรเกรสซีพร็อกยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล แต่ยังเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล

 

(‘ยอดเยี่ยมที่สุด’ มันก็เป็นคำที่ทำงานคือๆ ‘อัจฉริยะ’ ล่ะครับ)

 

The Dark Side of The Moon เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่ทุกเพลงเชื่อมโยงกันทั้งเนื้อหาและท่วงทำนอง เช่น หากจะมีเพลงที่โดดเด่นของอัลบั้มนี้ก็คงเป็น Time แต่จะได้อรรถรสก็ต้องไล่ฟัง 1. Speak To Me + 2. Breath + 3. On The Run + 4. Time + 5. The Great Gig In The Sky

 

ด้านมืดมิดของดวงจันทร์ ขายได้กว่า 45 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกนับจนปัจจุบัน อยู่บนบิลบอร์ดชาร์ตอเมริกา 200 อันดับกว่า 14 ปี นับจาก 1973-1988 และปกอัลบั้มนี้กลายเป็น Pop Art ที่คุ้นตาคนทั่วโลก

 

แต่นี่แค่เริ่มต้นยุคทอง Pink Floyd ยังผลิตงานขึ้นหิ้งต่อเนื่องไล่ตั้งแต่ Wish You Were (1977) Animal (1979) และพุ่งขึ้นจุดสูงสุดอีกครั้งกับ The Wall (1979) ภายใต้การนำของ Roger Waters ที่วิพากษ์การระบบเมืองโลกอย่างชัดเจน

 

Comfortable Numb ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในโซโล่ร็อกยอดเยี่ยมของโลก Gilmour ไม่ได้เล่นหวือหวาแพรวพราว แต่เขามีสิ่งที่มือกีตาร์ต่างอิจฉา เรียกว่า ‘Money Note’ คือการเล่นโน้ตที่จับใจผู้คนและขายง่าย

 

แต่ David Gilmour ไม่รู้โน้ตนะครับ พูดจริง

 

นักดนตรีมากฝีมือจำนวนไม่น้อยก็ไม่รู้โน้ต Paul McCartney แห่ง The Beatles เล่นเครื่องดนตรีได้หลายสิบชนิด แต่อ่านโน้ตไม่ออก Tom Morello กีตาร์อัจฉริยะยุค 90 ก็อ่านโน้ตไม่ออก

 

ขึ้นแล้วมันก็ลง Pink Floyd ถึงจุดแตกหักกับ Roger Waters ในปี 1985 ไม่เผาผีกันร่วมสองทศวรรษ (กลับมารวมกันปี 2005 เล่นคอนเสิร์ต Reunion ก่อนที่ Pink Floyd จะออกอัลบั้มสุดท้ายโดยไม่มี Roger Waters)

 

ภายใต้การนำของ David Gilmour 2 อัลบั้มสุดท้ายเขาได้นำเสียงสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ของ Stephen Hawking มารวมสร้างบทเพลงด้วย

 

‘Keep Talking’ – ‘Talkin’ Hawkin’

 

For millions of years mankind lived just like the animals.

Then something happened which unleashed the power of our imagination.

We learned to talk.

 

หลายล้านปีที่มนุษยชาติใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์

แล้วบางสิ่งซึ่งช่วยปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการของเราก็อุบัติขึ้น

เราหัดพูด

ส่วนหนึ่งจากเสียงสังเคราะห์คอมพิวเตอร์ของ Stephen Hawking ที่ถ่ายทอดผ่านโฆษณาของบรรษัท BT ในปี 1993 David Gilmour  ประทับใจจนถึงกับกล่าวว่า ‘นี่เป็นโฆษณาที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผมได้พบ’

 

เขาติดต่อขอบันทึกเสียง Stephen Hawking มาใช้ในเพลง Keep Talking ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์อัลบั้ม The Division Bell ในปี 1994 ที่ว่า ‘การสื่อสารแก้ปัญหาได้’

 

อำนาจของการพูดในความหมายหนึ่ง คือการที่มนุษย์พัฒนาการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มพูนทักษะและความรู้ เมื่อรวมกับพัฒนาการทางร่างกายของบรรพบุรุษ ก็ได้นำเราให้พัฒนาสังคมไปสู่อารยธรรมอันมีการเขียนเป็นอำนาจทรงพลังที่ช่วยให้มนุษย์คิดได้อย่างซับซ้อนและบันทึกความรู้ข้อมูลได้แม่นยำโดยลดการพึ่งพาความทรงจำอันไม่เที่ยงแท้

 

อำนาจของการพูดในอีกความหมายหนึ่ง คือการเยียวยา การพูดสื่อสารรวดเร็วสะดวกดายกว่าเขียน เราใช้น้ำเสียง ภาษาช่วยให้เราอธิบายถึงภายในจิตใจเรา แทบเป็นปรกติชีวิตที่เราพูดในใจแม้เมื่อเขียน พูดเพื่อให้ได้ยินน้ำเสียงเพื่อเลือกใช้คำในการเขียนให้ตรงความรู้สึก Keep Talking ของ David Gilmour หมายถึงสิ่งนี้ พูดเพื่อให้รู้ถึงปัญหาภายในของกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกัน

 

ปกอัลบั้ม The Division Bell ปี 1994

 

เพลงประสบความสำเร็จงดงาม กลายเป็นเพลงเด่นเพลงหนึ่งของ Pink Floyd แต่ไม่จบเท่านี้ Pink Floyd ยังนำเสียง Hawking จากโฆษณาชิ้นนี้ของ BT มาใส่ในเพลง Talkin’ Hawkin’ อีก ในครั้งนี้นำท่อนนี้มา

 

Speech has allowed the communication of ideas, enabling human beings to work together to build the impossible.

Mankind’s greatest achievements have come about by talking.

Our greatest hopes could become reality in the future, with the technology at our disposal, the possibilities are unbounded.

 

การพูดทำให้เราสื่อสารความคิดได้ ทำให้มนุษย์ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของมนุษยชาติมาจากการพูด

ความหวังอันสูงส่งของเราอาจกลายเป็นจริงในอนาคตด้วยเทคโลยีที่เรามี ความเป็นไปได้เกิดขึ้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ปกอัลบั้ม The Endless River ปี 2014

 

เห็น David Gilmour ปลื้มเสียง Stephen Hawking ขนาดขอร่วมงาน 2 หนแบบนี้ แต่ศิลปินคนโปรดของนักฟิสิกส์เอกกลับเป็น Rob Stewart กับเพลงหวานๆ อย่าง Have I Told You Lately That I Love You?

 

และน่าเสียดายที่ Stephen Hawking ไม่เคยได้ขึ้นคอนเสิร์ตร่วมกับ Pink Floyd จนฝ่ายหนึ่งจากโลกนี้ไป ส่วนอีกฝ่ายก็ยุบวงไปก่อนแล้ว (การเสียชีวิตของ Richard Wright ในปี 2008 ทำให้ David Gilmour รู้สึกว่าทำวงนี้ต่อไปไม่ได้ อัลบั้มสุดท้ายเป็นการนำงานบันทึกเสียงของ Richard Wright มาสร้างเพลงให้เสร็จสิ้นและไม่มีการทัวร์คอนเสิร์ตใหญ่)

 

แต่ Stephen Hawking เคยขึ้นคอนเสิร์ตร่วมแสดง Keep Talking นะ

 

(บันทึกการแสดงคอนเสิร์ตของวง Anathema เมื่อปี 2016 ที่ Stephen Hawking -ขึ้นร่วมแสดง)

 

นั่นคือการคัฟเวอร์ Pink Floyd ของโปรเกรสซีพร็อกรุ่นหลานอย่าง Anathema เมื่อปี 2016 บันทึกคอนเสิร์ตนั้นจะเห็นท่านศาสตราจารย์นั่งรถเข็นอยู่บนเวทีตลอดการแสดงเพลงนี้ซึ่งเป็นเพลงเปิด ก่อนที่ผู้ดูแลพาเขาลงจากเวทีไปพร้อมเสียงปรบมือเกรียวกราว

 

 

เขาเป็นอัจฉริยะแสนขี้เล่นแบบนี้เสมอแหละครับ น่าสนใจเหมือนกันว่า Theory of Everything ที่ Stephen Hawking ได้ร่วมวางรากฐานนั้นพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว การสื่อสารของเราจะส่งต่อความรู้เพื่อพัฒนามันได้ไหม และมันจะสามารถใช้คำนวณวางระบบภาษาเพื่อการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพของมนุษย์ได้รึเปล่า

 

 

 

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง

โฆษณา BT Telecom

https://www.youtube.com/watch?v=RTxi5B5_Kgg

เพลง Keep Talking โดย Pink Floyd

https://www.youtube.com/watch?v=HJ7zbzJZsjs

เพลง Talkin’ Hawkin โดย Pink Floyd
https://www.youtube.com/watch?v=beo_V3BnOfo

คอนเสิร์ตซึ่ง Stephen Hawking ได้รับเชิญขึ้นไปร่วมเล่น

https://www.youtube.com/watch?v=7ZV3vhXrgyU

 

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Pink_Floyd

https://en.wikipedia.org/wiki/Stephen_Hawking

https://en.wikipedia.org/wiki/Stephen_Hawking_in_popular_culture

http://www.radiotimes.com/news/2013-12-07/stephen-hawking-im-happy-if-i-have-added-something-to-our-understanding-of-the-universe/

https://genius.com/Pink-floyd-keep-talking-lyrics

https://genius.com/Pink-floyd-talkin-hawkin-lyrics

http://mentalfloss.com/article/69677/10-things-we-learned-stephen-hawkings-ama

 

 


ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

Kappasaisai@gmail.com

นักเขียนผู้หลงใหลการลับมีด เจ้าของเรื่องสั้น "ชายชราเบาหวาน" ที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทเรื่องสั้น ปี 2555 ปัจจุบันใกล้จะมีนวนิยายของตัวเอง 1 เล่ม กับสำนักพิมพ์ Boligraf Book ยังคงเขียนงานอยู่อย่างต่อเนื่องที่บ้านของตน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: