แฟนของฉันกับดอกทานตะวันของเขา

 

ยามใดที่รู้สึกแย่ ฉันจะขอให้แฟนเล่าเรื่องในวัยเด็กของเขาให้ฟัง คืนนี้เขาเล่าเรื่องดอกทานตะวันดอกแรกที่เคยปลูก

 

“นั่นเป็นสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่เราทำให้งอกขึ้นมา” เขาบอก “เอ๊ะ ไม่ใช่สิ สิ่งแรกนั่นถั่วเขียวต่างหาก” แล้วฉันก็นึกถึงภาพถั่วเขียวรองใต้กระดาษทิษชู่เปียก เราอายุห่างกันหลายปี แต่การเรียนปลูกถั่วงอกจากถั่วเขียวเป็นหนึ่งในประสบการณ์ในวัยเรียนที่เราผ่านมาเหมือนกัน

 

“เราไปหยุดอยู่หน้าร้านขายเมล็ดพืช เดินไปหาคนขาย บอกว่า ‘พี่ครับ ผมอยากปลูกอะไรบางอย่าง อะไรที่สวยๆ'”

 

‘อย่างนั้นก็ต้องเป็นดอกไม้สิ’

 

เขาได้ซองเมล็ดดอกทานตะวันกลับบ้านมา เมื่อถึงบ้านก็นึกได้ว่า ไม่มีกระถางต้นไม้ แล้วก็ไม่มีดินด้วย

 

“เราไปบอกแม่ แม่ก็พูดว่า อ้าว แล้วจะปลูกยังไงล่ะ ลงเอยว่าต้องรอเป็นสัปดาห์กว่ารถขายกระถางต้นไม้จะแวะผ่านมา”

 

“เราเอากระถางดอกตะวันขึ้นไปปลูกบนดาดฟ้า แล้วรดน้ำทุกวันเลย” เขาทำท่ารดน้ำต้นไม้ให้ฉันดู แล้วก็ฮัมเพลงออกมา

 

“มีไปนั่งเฝ้าด้วยนะ”

 

“มีวันหนึ่งดีใจที่เห็นอะไรงอกออกมา ก่อนจะรู้ตัวว่า นั่นมันวัชพืชนี่หว่า” เราหัวเราะขึ้นพร้อมกัน

 

เขาตื่นเต้นมากเมื่อเห็นดอกทานตะวันค่อยๆ โตวันโตคืน มันสวยที่สุดตอนบานเต็มที่ แต่ไม่นานก็เหี่ยวเฉา เขาเศร้า แล้วก็คิดว่า “แค่นี้เหรอวะ”

 

เรื่องดอกทานตะวันนี้ไม่มีปรัชญาชีวิตคูลๆ แต่อย่างใด มันก็แค่เรื่องของเด็ก ป.2 ที่อยากปลูกดอกทานตะวันเท่านั้นเอง แต่ยามที่เขาเล่า ฉันมองเขาด้วยสายตาเอ็นดู พลางจินตนาการถึงเด็กชายคนหนึ่งที่นั่งเฝ้าต้นดอกทานตะวันบนดาดฟ้า

 

อ้อ แล้วดาดฟ้านี่เองที่นำไปสู่เรื่องถัดไป นั่นคือเรื่องของเขากับดาวหางฮัลเลย์…

 


 

พินดา

พินดา

,,,

ขณะนี้เป็นเวลาตามนาฬิกาลวงหลอก – อิสระ พันธ์ุยาง

 

กลิ่นความตายอบอวลข้าพร้อมลาลับ….

คำรักลวงหลอก….กระซิบบอก…. ซ้ำซาก….

งมงาย…. รอคอยรู้ว่าเป็นไปไม่ได้….

เจ็บปวดทุรนทุราย…. พาข้าจากไปเสียที….

วิญญาณจะดับสูญ…. ลืมทุกอย่าง…. หมดสิ้น….

Read More

รางวัลที่ปลายไม้ – นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

 

พลาดหวังอีกครา ไอเย็นยังค้างคาอยู่ในปาก กลิ่นและสีส้มเทียมๆ ฉาบผิวลิ้น ปลายนิ้วเหนียวรอยทางของความสดชื่นที่เพิ่งละลายตัว ไม้สีซีดชุ่มน้ำลายไม่ปรากฏร่องรอยรางวัล จบลงที่ความเบื่อหน่าย เขาบอกตนเองว่าไม่เอาอีกแล้ว จะไม่เสี่ยงโชคกับอะไรพรรค์นี้อีก

 

แล้วเด็กหญิงผมเปียใส่แว่นกรอบเงินก็วิ่งรี่มาเกาะรถของลุงเย็น เขาได้แต่มองตาม พยายามควบคุมสายตาไม่ให้ฉายแววอิจฉาเกินควร

 

“อ๊ะ ไม้ฟรี ไว้พรุ่งนี้หนูมาแลกนะคะ เดี๋ยวอ้วน” สิ้นคำเด็กหญิง คำว่าหมั่นไส้ก็ขยายใหญ่คับหัวหูของเขาจนอดไม่ได้ที่จะต้องขยับปากขยุกขยิกล้อเลียนคำนั้นของเธอ

 

“ไอ้ยักษ์! นิ่งเลยมึง จะเริ่มคาบเรียนใหม่แล้วนะเว้ย” ไอ้ผ่องตะโกนเรียกก่อนมันจะวิ่งเข้าห้องเรียน

 

กี่ครั้งแล้วนับตั้งแต่กิจกรรมแจกไม้ฟรีเริ่มต้นขึ้น กี่ครั้งที่เขาพลาด ไม่รู้ เขาเองก็ไม่ได้นับให้ทั่วถ้วน รู้แต่ว่ายาวนาน และนานกว่าระยะเวลาของเด็กหญิงชั้น ป.4 คนนั้น โชคของเธอถี่เหลือเกิน

 

เธอทำบุญด้วยอะไรกัน เขานึกลอยๆ พยายามคำนวณบุญกุศลของตนในคาบเรียนคณิตศาสตร์ หัวข้อที่เรียนวันนี้ – การเทียบบัญญัติไตรยางค์ของระดับชั้น ป.6 – กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกเจ้าของร้านชำที่มีแม่ปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ลับๆ ให้แก่บรรดาลูกค้าที่มาจับจ่ายข้าวของ เขาพากเพียรเรียนรู้วิธีการคิดคำนวณดอกเบี้ย ไม่ใช่เพราะกตัญญูรู้คุณแต่ว่าอยากประจบเอาใจ หวังว่าเมื่อแม่อารมณ์ดีและนึกเอ็นดู แม่ก็จะบอกรับตู้ไอติมมาขายบ้าง แต่ไม่ว่าเขาจะช่วยแม่คิดคำนวณสักกี่ครั้งกี่หน แม่ก็ไม่เคยเห็นคุณงามความดีและเอ่ยถามเขาสักครั้ง ‘คนเก่ง อยากได้อะไรเป็นรางวัล’ ประโยคแบบนั้นไม่เคยหลุดออกจากปากแม่เลย เอาเถิด อย่างน้อยแม่ก็ให้เงินค่าขนมเพียงพอ เขาจึงไปยืนเกาะรถไอติมของลุงเย็นได้ทุกวัน

 

 

ลิ้นสีส้มกลับมาอีกแล้วนะลูก – เปล่า แม่ไม่ทักเขาแบบนั้น แม่เพียงอือเออพยักพเยิดหน้ารับรู้ว่าเขากลับมาแล้ว ข้าวปลาอยู่บนโต๊ะด้วยฝีมือของพี่ถนอม เสี้ยวไข่เจียวที่เหลือกับหมูกรอบผัดพริกเผารอเข้าไปสมทบกับสีส้มเมื่อบ่ายในลิ้นของเขา เพื่อนๆ เริ่มเรียกเขาว่าไอ้ยักษ์ แต่แม่ของเขาไม่เคยรู้ว่าเด็กชายตัวเล็กกระจ้อยได้รับฉายานี้มาได้อย่างไร

 

หลังกินข้าว เขาขึ้นห้องปิดประตูเงียบ โยนไม้ไอติมที่ล้างสะอาดและแห้งดีแล้วใส่กล่องพลาสติก กองไม้ไอติมในกล่องบ่งบอกว่าเขาขาดไร้แต้มบุญมานานแล้ว ถ้าไม่เอาไปขายทิ้งก็จะเอามาต่อเป็นหุ่นยนต์ เขาคิดอย่างนั้นขณะจ้องมองไปที่พวกมัน ก่อนจะคิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่องอื่น

 

ปีหน้าก็ขึ้น ม.ต้นแล้ว ต้องพะวงเรื่องย้ายโรงเรียนอีก ทำไมเด็กผู้หญิงถึงเรียนต่อได้เลยในโรงเรียนเดิมกันนะ ช่างเถอะ เบื่อจะถามแม่แล้ว ถามกี่หนแม่ก็บอกแต่เพียงว่า จองโรงเรียนนี้ไว้ตั้งแต่แกยังไม่เกิด และแกก็ดันเกิดเป็นเด็กผู้ชาย

 

 

“มึงจะไปซื้อไอติมอีกแล้วหรอวะ ไหนมึงบอก…” ยังไม่สิ้นคำเพื่อน เขารีบวิ่งออกไปทันทีที่ได้ยินเสียงสัญญาณพักช่วงบ่าย พร้อมความคิดที่ว่าถ้าไปถึงก่อนเด็กหญิง ป.4 คนนั้น โชคจะเป็นของเขา ไม่ใช่เธอ

 

“วันนี้มาคนแรกเลยนะหนุ่ม”

 

“ครับ ขอยักษ์คู่เหมือนเดิมลุง” แล้วก็เหลียวซ้ายขวา ยิ้มยินดีที่ยังไม่เห็นวี่แววของเด็กหญิง

 

ชายชราส่งไอติมรสส้มเย็นชื่นใจให้เขา เด็กชายรับมาถือค้าง ค่อยๆ ละเลียดอยู่ข้างรถไอติม กะว่าถ้าได้ไม้ฟรีก็จะแลกทันที ไม่สิ ต้องรอแลกตอนที่เด็กหญิงชั้น ป.4 อยู่ด้วยจะได้โอ้อวดดวงดีกันเสียบ้าง

 

ไอติมหมดไปกว่าครึ่งก็ยังไม่เห็นวี่แววทั้งเด็กหญิงและรอยสลักบนไม้ ใจของเขาเริ่มเหี่ยวอีกครั้ง

 

“นี่ลุง ทำไมน้อง ป.4 คนนั้นยังไม่มาแลกไม้อีก”

 

“แหมหนุ่ม มิน่ายืนอ้อยอิ่ง รอน้องเขาล่ะสิเนี่ย”

 

เขาปฏิเสธพัลวันและทำท่าจะเดินกลับแม้ยังกินไม่หมดแท่ง

 

“นั่นไง มาแล้วล่ะหนุ่ม” เขาหันไปมองตามลุง เห็นเด็กหญิงโบกไม้โบกมือให้ลุงเย็นแต่ไกล

 

“วันนี้แลกอะไรดีจ๊ะหนู” ลุงรับไม้ฟรีจากมือเด็กหญิง สายตาชายชราจับจ้องไปที่โบผูกผมสีขาวของเธอ

 

“เอสกิโมเหมือนเดิมค่ะ”

 

ไอ้ยักษ์ยังวอแวข้างรถไอติม แม้ในมือจะเหลือเพียงไม้ไอติมซีดๆ สองแท่ง เขารีรอด้วยอยากรู้ว่าวันนี้เธอพกดวงมาอีกไหม

 

เขายืนชมนกชมไม้ไปพลางเดี๋ยวก็ได้รู้ เพราะเธอมีนิสัยแบบเดียวกันคือกินทันทีต่อหน้าลุง ไม่เดินเงียบหายไปอุบแอบรับรู้โชคชะตาของตนเพียงลำพัง กว่าเธอจะละเลียดเยลลี่แดงๆ นั่นเสร็จ ก็จวนจะหมดเวลาพัก

 

“โอโหหนู ยังงี้ลุงก็กำรี้กำไรหายหดสิ” ลุงเย็นแซวเด็กหญิงที่เพิ่งเปรมปรีดิ์กับเยลลี่หนุบหนับ ส่วนเด็กชายเดินคอตกกลับเข้าชั้นเรียน แว่วเสียงของลุงไล่หลังว่า “พี่เขามารอดูว่าหนูจะได้ไม้ฟรีหรือเปล่าน่ะ”

 

เธอได้ไม้ฟรีติดต่อกันเป็นไม้ที่เท่าไหร่แล้ว ไม้ก่อนหน้านี้เธอก็ไม่ต้องซื้อหา ผิดกับเขา เหี่ยวเฉาน่าอดสู ขนาดกินสองไม้ทุกวันก็ยังไม่เคยได้ไม้ฟรี กระทั่งไอ้ผ่องเอง เมื่อสองวันก่อนมันก็เพิ่งได้ไม้ฟรี นี่จะมีแค่เขาคนเดียวหรือที่เทพเจ้าไม้ฟรีไม่ดูดำดูดี นึกแล้วก็คิดในใจว่าเดี๋ยวพ่อจะกินให้ลิ้นสีส้มถาวรแม่งเลย

 

 

“มึงไม่ลองเปลี่ยนกินแบบอื่นดูบ้าง” ไอ้ผ่องพยายามช่วยคิดหาวิธี

 

“กูแพ้นมวัว ช็อกโกแล็ตก็กินไม่ได้” เขาตอบขณะก้มหน้าก้มตาลอกโจทย์ภาษาไทย วิชานี้เขาต้องทำการบ้านมาให้ไอ้ผ่องลอก แลกกับที่มันให้เขาลอกการบ้านวิทยาศาสตร์

 

“เรื่องมากจริงนะ ร่างกายมึงเนี่ย แต่เออกูได้ยินมาว่า ไอติมที่เป็นไม้ฟรีมันมีวิธีสังเกต บางคนบอกว่ามุมซองจะมีขอบขาวๆ หรือไม่ก็ให้ดูที่บาร์โค้ดตรงซอง มันจะประหลาดๆ กว่าปกติ มึงสังเกตน้องแว่นรึเปล่าวะ ตอนน้องเขาเลือก เขาจ้องไปที่บาร์โค้ดไหม” ไอ้ผ่องควงเหรียญห้าในมือเล่น ครุ่นคิดหาวิธีได้ไม้ไอติมฟรี มันเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีเบื้องหลัง มีที่มา มีเทคนิคที่ผู้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรืออาจมองข้ามไป

 

“ไม่รู้ว่ะ กูให้ลุงหยิบให้ทุกที แต่น้องเขาก็ให้ลุงหยิบให้นะเว้ย จะมีแปลกๆ ก็แค่น้องเขาชอบเอาไม้ไอติมไปเช็ดในกระเป๋ากระโปรงว่ะ”

 

“เออ แปลกจริง หาที่เช็ดได้ประหลาด แต่กูว่านะ ลุงเล่นมึงแล้วล่ะ แม่งเป็นคนขายต้องรู้สิวะว่าห่อไหนฟรีไม่ฟรี”

 

สิ่งที่ไอ้ผ่องพูดก็น่าคิด ร้านชำของแม่ก็มีขนมกรุบกรอบที่ให้ลุ้นของเล่นในซอง แม่เคยบอกว่าขนมพวกนี้หลอกเด็ก มีของเล่นอยู่จริง แต่น้อยยิ่งกว่าน้อย แม่อาศัยสังเกตน้ำหนักซองและเสียงกรุกกริกเวลาเขย่าห่อ แล้วก็เลือกห่อพิเศษเหล่านั้นขายให้เฉพาะลูกค้าขาประจำที่มาซื้อบ่อยๆ

 

พรุ่งนี้เขาจะถามลุงให้รู้กันไป

 

 

“อ้าว ว่าไงหนุ่ม กินอะไรดีวันนี้” ในสายตาลุงเย็น สีหน้าสีตาของไอ้ยักษ์ดูผิดประหลาดกว่าทุกวัน

 

“เหนื่อย… เมื่อไหร่ผมจะได้ไม้ฟรีกับเขาบ้างล่ะลุง” เขาไม่อ้อมค้อมให้ยุ่งยาก

 

“อย่าเพิ่งท้อสิหนุ่ม อีกตั้งหลายเดือนกว่าจะหมดเขต”

 

“ใครๆ เขาก็ได้กันหมด ขนาดไอ้ย้งมันยังได้ไม้ฟรีไปแล้วเลย มันกินเดือนละแท่งเนี่ย แล้วนี่ผมกินทุกวันนะลุง” เขาระบายความอึดอัดใจขณะยืนพิงรถไอติมจนเสื้อนักเรียนเริ่มออกสี

 

“ผมถามลุงจริงๆ นะ ลุงรู้ใช่มั้ยว่าไอติมแท่งไหนจะมีไม้ฟรี”

 

ลุงชะงักนิดหนึ่งคล้ายจะเรียบเรียงคำตอบก่อนเอ่ย “ลุงจะไปรู้ได้ยังไงเล่า”

 

“น่า ลุงบอกความจริงผมเถอะ ถ้าลุงไม่รู้แล้วใครมันจะไปรู้” เขาพยายามตีสีหน้าเศร้าหมองเหมือนลูกหมาแม่เสีย ส่วนลุงก็ยังอมพะนำไม่มีทีท่าว่าจะเผยข้อเท็จจริง

 

“ทำไมผมไม่เคยได้ไม้ฟรีสักทีล่ะลุง” เสียงที่เคยเข้มแข็งปรับให้เริ่มสั่นเครือ “ผมมันคนไร้โชคไร้วาสนา” เด็กชาย ป.6 ตัดพ้อ

 

“อ้าวหนุ่ม อย่าเพิ่งร้องสิ”

 

“ถ้าผมพอจะมีโชคกับเขาบ้าง ป่านนี้ผมก็ได้ไม้ฟรีไปแล้ว เหลือผมคนเดียวแล้วมั้งลุง ก่อนปิดเทอมผมจะได้ไม้ฟรีกับเขาบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ จบเทอมนี้ผมก็ต้องย้ายแล้วนะลุง ใจคอลุงจะไม่สงสารผมหน่อยหรอ” ไอ้ยักษ์ยังคงรำพึงรำพันต่อไป ไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเด็กหญิงที่อยู่ด้านหลังกำลังขยับแว่นตาและนิ่งฟังเขาบ่นพล่ามอยู่

 

“เออน่า กะอีแค่ไม้ฟรีเองนะหนุ่ม ไม่ได้วันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ได้ มันก็ต้องได้เข้าสักวันน่า เหมือนหวยที่ลุงซื้อน่ะแหละ แล้วยักษ์คู่เนี่ย ถ้าได้ก็ได้ทั้งสองไม้เลยนา” ลุงเย็นพยายามปลอบด้วยคำพูดที่ไอ้ยักษ์คิดว่าลุงแค่พูดไปแกนๆ เท่านั้น ไม่ได้ไยดีเขาอะไรนักหรอก ฟังแล้วก็นึกสมเพชตนเอง ป.6 แล้วยังมากระซิกสะอื้นอะไรหน้ารถขายไอติม แล้วเขาก็ค่อยแผ่วเสียง แขนเสื้อขาวป้ายน้ำมูกใส เดินกลับเข้าห้องเรียน

 

นับตั้งแต่เริ่มกิจกรรมไม้ฟรี นี่เป็นวันแรกที่เขาไม่ได้กินไอติมยักษ์คู่รสส้มแสนชื่นใจ

 

 

กระดาษพับทบสีฟ้าอ่อนส่งต่อจากมือสู่มือ จ่าหน้าด้วยลายมือเล็กจิ๋วว่า พี่ยักษ์ 6/2 ไม่เคยมีใครส่งการ์ด จดหมาย หรือที่คั่นหนังสือเพื่อบอกความในใจกับเขามาก่อน เขาเคยเห็นไอ้ผ่องได้ครั้งหนึ่ง ติดกากเพชรเสียด้วย ข้อความเขียนด้วยหมึกสีชมพูกากเพชรอีกเช่นกัน แต่ก็เป็นการแกล้งกันเล่นๆ ระหว่างเพื่อนในห้อง ครั้งนั้นไอ้ผ่องไล่เตะไอ้ชัยไปรอบห้อง ด้วยมันอุตส่าห์วาดหวังว่าจะมีหญิงมาสารภาพรักตนบ้าง เมื่อความฝันถูกล้อเล่นเช่นนั้น มีหรือไอ้ผ่องจะนิ่งเฉย

 

ยักษ์เก็บกระดาษไว้ในกระเป๋าเสื้อ งุนงงในชะตากรรม เขาไม่เคยหมายปองผู้หญิงคนไหนในโรงเรียน และเท่าที่รู้ก็ไม่น่าจะมีใครมาชอบพอเขามากจนต้องส่งจดหมายน้อยมาเช่นนี้

 

สักพักเขาก็ขอครูไปเข้าห้องน้ำ คลี่กระดาษออกระหว่างทาง ข้อความสั้นๆ ลายมือเดียวกับจ่าหน้า พี่คะ ลุงไม่รู้ แต่ฉันรู้ เจอกันที่ชิงช้าหลังตึก เย็นนี้ ป.ล.เตรียมไม้ไอติมมาด้วย

 

จดหมายไม่ลงชื่อ ทันทีที่อ่านจบ เขารู้ทันทีว่าเป็นเธอ เด็กหญิง ป.4 คนนั้น เธอรู้จริงหรือเพียงแกล้ง เขาย่อมจะได้รู้เย็นนี้

 

 

เธอไกวชิงช้าเนิบๆ รอเขาอยู่แล้ว เขาพยักหน้าเป็นการทักทาย ไม่ได้ถามไถ่ชื่อเธอ ใครๆ ก็เรียกเธอว่ายัยแว่นเขาเลยทึกทักเอาด้วยว่าเธอมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างนั้น

 

“พี่ไม่มีทางได้ไม้ฟรี” เธอหยุดชิงช้า เอ่ยประโยคแรกตรงไปตรงมา จ้องมองเขาขณะที่เขาเดินเข้าใกล้ เขาฟังแล้วฉุน ไหนว่าจะบอกเหตุผล แล้วทำไมมาพูดจี้ใจดำกันเช่นนี้

 

“บอกวิธีที่เธอรู้มาสิ”

 

“ไม่มีวิธีหรอกพี่ มีแต่ข้อสังเกตไปเรื่อยของคนนั้นคนนี้”

 

“แล้วทำไมเธอได้ไม้ฟรีบ่อยนัก”

 

“พี่คิดว่าฉันสังเกตจากห่อล่ะสิ ไม่เลย ลุงเย็นก็หยิบให้ฉันเหมือนที่หยิบให้พี่ พี่ก็คงเห็นบ้าง”

 

“ก็ใช่ แต่มันต้องมีวิธีสิ ที่เธอบอกว่าลุงไม่รู้แต่เธอรู้น่ะ”

 

“ฉันรู้มากกว่าลุงเย็น แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะช่วยให้พี่ได้ไม้ฟรี”

 

“ช่างเถอะ” ยักษ์ถอนใจ “จะบอกมั้ย จะกลับแล้ว”

 

“ไอติมยักษ์คู่ไม่มีรางวัล” เธอโพล่งขึ้นจนเขาชะงักเท้า

 

“ตลก ถ้าเป็นงั้นจริง เรื่องแค่นี้ทำไมลุงจะไม่รู้”

 

“ไม่มีใครรู้หรอกพี่ คนนึกกันแค่ว่ายักษ์คู่น่ะได้ไม้ฟรียาก เพราะถ้าได้ก็จะได้ทั้งสองไม้ พี่ก็คิดอย่างนั้นใช่มั้ยล่ะ เลยกินแต่ยักษ์คู่รสส้มนั่นทุกวัน”

 

“เธอก็แค่เดามั่วเหมือนคนอื่น” ว่าแต่เธอรู้ได้ยังไงนะว่าเขากินไอติมอะไรทุกวัน

 

“ลูกพี่ลูกน้องฉันในอีกจังหวัดนึงก็ชอบกินแต่ยักษ์คู่ ตานั่นก็ไม่เคยได้ไม้ฟรีเหมือนกัน”

 

“อาจจะบังเอิญก็ได้นี่”

 

“แล้วแต่พี่ ฉันบอกสิ่งที่รู้หมดแล้ว เพราะงั้น ฉันขอไม้ไอติมพี่ด้วย”

 

สิ่งที่เธอบอกไม่ได้ช่วยให้เขากระจ่างขึ้นสักนิด เป็นเพียงสมมติฐานใหม่อีกข้อที่ไม่รู้จะพิสูจน์ให้แจ้ง ได้อย่างไร แต่สิ่งที่เธอขอก็ไม่ได้มากมายนัก แค่ไม้ไอติมของผม เหลือเฟือ เธอจะเอาไปเท่าไหร่ก็ได้

 

“แล้วก็ ฉันเพิ่งได้ไม้ฟรีมาอีกแล้ว อะนี่ ให้พี่แล้วกัน”

 

เขารับมา ทั้งหงุดหงิดและงุนงง สายตาของเธอผ่านกรอบแว่นนั่นดูไม่ใช่คนเลวร้าย เกือบจะรู้สึกแล้วด้วยว่าเขากับเธอน่าจะเป็นเพื่อนกันได้ ไม้ฟรีนอนนิ่งในกระเป๋าเขาแล้วเมื่อเธอเดินจากไป

 

เย็นวันนั้นเขากลับบ้านแล้วตรงไปที่กล่องเก็บไม้ไอติม โยนไม้ที่เธอให้ไว้บนกองไม้ของเขา รอยคำที่บอกว่าเป็นไม้ฟรีเลือนจาง ไม้ฟรีแรกที่เขาได้สัมผัส ไม่กล้าจดจ้องมันโดยตรง รู้สึกละอายคล้ายว่ามันยังไม่เป็นของเขาโดยสมบูรณ์ เขาจึงปล่อยให้มันนอนนิ่งเช่นนั้น แล้วค่อยๆ ลืมเรื่องโชคลางไปเรื่อยๆ ในวันต่อๆ มา

 

 

หลายวันต่อมา เขาก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจึงมีเพียงเขาที่ไม่เคยได้สัมผัสความรู้สึกของการได้ไม้ฟรีเลยสักครั้ง ครั้นจะหันไปกินรสอื่นเพื่อทดลองก็เดี๋ยวจะผื่นขึ้นน่ารำคาญ จะใช้ไม้ฟรีของเธอก็หยิ่งในศักดิ์ศรี ไม่เอาหรอกโชคชะตาของคนอื่น

 

จวนหมดเขตกิจกรรมไม้ฟรีแล้ว เขาก็ได้แต่ยืนกินยักษ์คู่รสส้มอย่างเหงาๆ ปลงเสียแล้วในความพยายามจะได้อย่างที่ทุกคนได้กัน ก่นด่าโชคชะตาว่าไม่ต้องมาเฉียดใกล้เขาแล้วก็ได้ ถึงอย่างไรทุกวันนี้เขาก็ได้กินไอติมวันละสองไม้อยู่แล้ว

 

ขณะที่เขาไม่เคยได้ไม้ฟรีเลย เด็กหญิงคนหนึ่งก็ได้ไม้ฟรีเป็นว่าเล่น เขาเกือบๆ จะเชื่อแล้วว่าโลกกำหนดมาให้คนเราแตกต่างกันอย่างบัดซบ คนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย ในขณะที่อีกคนหนึ่งพยายามแทบตาย

 

เกือบๆ จะเชื่ออยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้เชื่อ ด้วยไปได้ข่าวเสียก่อนว่า ยัยแว่นที่ใครๆ ต่างเรียกขานโดยไม่รู้นามที่แท้จริงนั้นน่ะ เธอถูกจับขณะคุ้ยขยะ พอถามก็ไม่ตอบ จนครูค้นเจอเองว่าเธอเก็บไม้ไอติมเป็นกำไว้ในกระเป๋ากระโปรง

 

หลังจบปีการศึกษา เขาสอบเข้าโรงเรียนในเมือง ส่วนเธอ บทลงโทษทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียน ไม่ได้ต่อ ป.5 ที่เดิม

 

หลายปีต่อมา ใครต่อใครในโรงเรียนเก่าก็ยังพากันเล่าลือว่าไม้ของยัยแว่นหลอกลุงเย็นเสียสนิท และลุงเย็นนั่นแหละที่ต้องตอบคำถามเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่รู้จบว่าเพราะเหตุใดกันแน่ลุงจึงเลินเล่อเช่นนั้น

 

 

*หมายเหตุ
ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “ไอติม” แทนคำว่า “ไอศกรีม” เพื่อเลียนถ้อยคำอย่างเด็กๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง

 

Photo by Lucas Benjamin on Unsplash


นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

ระหว่างฝัน ฉันไม่ปรารถนาค้นหาความจริง – อิสระ พันธุ์ยาง

 

น้องปีหนึ่งชายหญิงนั่งอยู่กลางวงโดยมีรุ่นพี่ล้อมรอบ ในมือข้างหนึ่งกำบัตรคำใบ้ไว้แน่น ใครสักคนส่งสัญญาณให้เปิดออก เสียงฮือฮาดังกึกก้องทั่วโถงอาคาร เขาไม่ยินดียินร้าย ได้แต่นั่งปล่อยความคิดไปเรื่อยเปื่อย ทันใดนั้น เขาต้องรีบหันไปตามเสียงเรียกที่ได้ยินทันที รุ่นน้องหญิงคนหนึ่งนั่งจ้องหน้าเขานิ่ง เขาหวั่นไหวกับแววตาคู่นั้น

Read More

ร้านเช่าวิดีโอของคุณมิกะ – ปันนารีย์

 

ฉันว่า ทำไมต้องมาข้ามถนนตรงสามแยก ตรงนี้เยื้องไปอีกนิดคือตลาดขายกับข้าวยามเย็น มีแต่คนพลุกพล่าน ข้ามตรงนี้ค่อนข้างยากลำบาก แยกซ้ายแยกขวาไปตรงมีรถเลี้ยวตรงนี้อยู่ตลอดเวลา เดินไปอีกเพียงนิดเดียวก็จะถึงทางม้าลาย ที่ฉันมายืนเสี่ยงตายอยู่ตรงนี้ ก็เพราะฉันชอบมาหยุดยืนเหม่อมองร้านเช่าวิดีโอของคุณมิกะที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนน ฉันจำไม่ได้ว่าเคยเข้าไปเช่าหนังสักเรื่องมาดูหรือเปล่า ตอนที่ทุกคนยังมีเครื่องเล่นวิดีโออยู่ในบ้าน  คุณมิกะเป็นสาวร่างเล็กที่เข้าใจว่าน่าจะเป็นคนญี่ปุ่น คุณมิกะขึ้นป้ายหน้าร้านของเธอ ว่า

Read More

SCHOOL LIFE No.15 – ตื่นในฝัน

 

ผมรู้ว่ากำลังฝัน แต่ไม่ตื่น

 

ไม่ได้คิดว่ามันโกหก แค่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น เป็นฝันและเป็นจริง

 

อยู่ในร่างกาย ม.ปลาย ทั้งๆ ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมานานแล้ว

 

ทุกคนกลับมาเรียนอีกครั้งเพราะไม่มีอะไรดีกว่านี้

 

ใช่ ไม่มีอะไรดีกว่านี้

Read More

Graveyard No.7

ผ้าเช็ดตัว

 

 

“คุณเป็นยังไงบ้าง”

 

ชายหนุ่มถาม ยิ้มให้ เขาขึ้นมาจากสระตัวเปียกมะล่อกมะแล่ก สวมกางเกงขาสั้นสีดำ เสื้อยืดสีขาว ผมรองทรงสั้น หยิบแว่นบนไม้กระดานท่าน้ำที่เรานั่งอยู่ด้วยกันมาสวม

 

ฉันอยู่กับพ่อแม่ได้สักพักแล้ว แม่บอกว่า ‘ถ้ายังคิดอะไรไม่ออกก็กลับมาบ้านก่อน’

 

“ก็ดีนะ” ฉันยิ้มตอบ รู้สึกกลวงๆ ในใจมีก้อนมวลเปล่าแต่แน่นโหวงอัดอยู่

 

มวลนั้นคือเวลา

 

เขาเอียงคอจ้องฉงน

 

“ถ้าไม่สบายใจก็ไม่เห็นต้องโกหกนี่” เขาเอ่ย

 

ฉันเบือนหน้าหนี บ่ายนั้นเงียบเฉา เกลียดแดดเศร้า เห็นวันเวลาที่ไม่ต้องการในดวงอาทิตย์

 

“พอตายแล้วเราไม่โกหกหรอกนะ” เขาปัดป่ายเนื้อตัวเช็ดน้ำ

 

ฉันหัวเราะ ตาคนนี้ไร้เดียงสาชะมัด

 

“ใครห้ามเหรอ” ฉันถาม

 

“ตัวเราเอง” เขาตอบ “ไม่ใช่ว่าห้ามตัวเอง แต่ไม่ทำ โกหกไม่ใช่ของจำเป็นขนาดนั้นอีก ก็ยังโกหก แต่น้อยมากๆ ร้องไห้บ่อยกว่าอีก”

 

ฉันไม่เข้าใจที่เขาพูดเลย

 

“ถ้าฉันถามอะไรก็จะตอบงั้นเหรอ?” ฉันฉงน

 

“ถามสิ” เขาหันมองฉันยิ้มๆ “ผลัดกันถาม-ตอบดีกว่า”

 

“ปีนี้อายุเท่าไหร่แล้ว” ฉันเริ่ม

 

“ยี่สิบห้า หยุดแค่นั้นแหละ” เขาพูด นอนแผ่ไปกับกระดานท่าน้ำ ดูไม่ได้รังเกียจแสงแดดเลย

 

“ปีนี้ฉันสามสิบ” ฉันตอบแผ่วๆ “กลับมาอยู่บ้านแม่ได้สามเดือนแล้ว”

 

“ลาออกเหรอ” เขาตอบเหมือนเห็นแผลฉัน เอียงคอหันมองทั้งที่ยังนอนแผ่

 

“ถ้ารู้แล้วจะมาถามทำไม” ฉันฉุนเล็กๆ

 

“คุณควรจะพูด ถ้าคุณอยากหาย ก่อนอื่นคุณก็ต้องพูด” น้ำเสียงเขาราบเรียบ

 

ฉันเหมือนตัวชาที่ได้ยินแบบนั้น

 

“ตอนยี่สิบห้าทำอะไรอยู่” ฉันถามไปเรื่องอื่น

 

“ไม่ได้ทำอะไรเลย” เขาตอบเรียบเฉย “จริงๆ นะ ไม่ได้ทำอะไรเลย”

 

“ตั้งแต่เรียนจบมาฉันก็รู้สึกเหมือนกันว่าไม่ได้ทำอะไรเลย” ฉันหัวเราะขมๆ

 

“ไม่ ผมไม่ได้ทำอะไรเลยจริงๆ” เขาส่ายหน้า ตอบหนักแน่น มันประหลาด เขาพูดมันออกมาอย่างไร้อาภรณ์ปิดบังใดๆ พูดเหมือนทักทายว่าเช้านี้อากาศดีนะ

 

“ตั้งแต่เรียนจบมาสามปีอะนะ” ฉันเลิกคิ้ว

 

เขาพยักหน้าง่ายดาย

 

อารมณ์ที่เขาเผยนั้นเองฉันถึงรู้ว่าหลับฝันอยู่ ฉันยังอยู่

 

“ขอโทษนะ” ฉันเอ่ยเศร้า เหมือนไปทำให้เขาพูดเรื่องนี้

 

“ไม่หรอก” เขายิ้มให้ท้องฟ้า

 

ยิ้มสวยเหมือนดวงอาทิตย์

 

“ผมเคยอ่านหนังสือเล่มนึง เขาบอกว่า ‘เมื่อข้าตาย ถึงรู้ว่าเป็นใคร’ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ นะ”

 

เรามองกัน เขาส่ายหน้า

 

“ผมพูดให้คุณเข้าใจไม่ได้หรอก คุณต้องตายถึงจะรู้ว่าทุกๆ อย่างที่ได้ทำมันมีความหมายพิเศษ คุณรู้ว่ามีดบาดน่ะเจ็บ แค่คุณไม่เคยถูกมีดบาด” เขาบอก

 

“แต่ต้องเป็นความตายที่สงบพอสมควรนะ ไม่อย่างนั้นคุณก็ฝืนไม่ไหว มันจะเศร้ามากจนทำตัวดีๆ ไม่ได้เลย ต่อให้มีใครพยายามช่วย” เขายักไหล่ให้

 

เขากลับไปมองท้องฟ้าอีกครั้ง แววตาเหมือนได้เห็นสิ่งที่งดงามเหลือเกิน

 

“ผมโชคดีที่แม่ยังอยู่คอยรักและดูแล แล้วก็โชคดีที่ได้เจอความรักที่ไร้เงื่อนไข”

 

“แม่รักเธอได้ขนาดนั้นเลยเหรอ” ฉันพูดไม่ถูก แต่ยินดีกับเขา

 

“ไม่หรอก แม่ก็ยังรักผมเหมือนที่คนๆ หนึ่งจะรัก ผมมีสองความรัก อีกหนึ่งจากทุกๆ อย่าง”

 

“ทุกๆ อย่าง?” ฉันงุนงง

 

“ทุกๆ อย่าง” เขายืนยัน “ผมก็มีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ เหมือนคนอื่น มีเรื่องเสียใจ หิวโหย สับสน ร้องไห้ มันแย่มากเลยนะที่พอตายแล้วเราหลับไปให้พ้นทรมานไม่ได้ ความรู้สึกมันจะติดอยู่กับเรา จำได้หมดจด น้ำตาทุกหยด จนกว่าความรักจะมาอีก”

 

อา… ความตายช่างน่ากลัว

 

ชีวิตก็ช่างเศร้า

 

ฉันร้องไห้ก่อนจะหลับลงครั้งนี้ หลับทุกเวลาที่รู้สึกถึงเวลา

 

ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นไปถึงเมื่อไหร่

 

“วันนี้ความรักกลับมาล่ะ” เขาลุกนั่งยิ้มให้ “เพราะงั้น ผมก็เลยมาหาเพราะคุณเศร้า”

 

ทำไมกันล่ะ… เราไม่ได้รู้จักกัน

 

ฉันไม่เข้าใจ แต่อบอุ่นประหลาดเหมือนถูกกอดโดยแสงแดด

 

“ขอบคุณนะ” ฉันยิ้มให้ ราวกับจะร้องไห้

 

รับรู้ลึกๆ ว่าตัวเองกำลังหนุนหมอน หมอนที่เพิ่งหมาดน้ำตาฉันเอง

 

แต่ไม่เป็นไรแล้ว ไม่เป็นไรเลย

 

ทำไมนะ พอมีความรู้สึกที่เขามอบให้ฉันก็เข้มแข็งอย่างประหลาด

 

“คุณช่วยหาผ้าเช็ดตัวให้ผมสักผืนสิ” เขาพูดยิ้มๆ เหมือนรู้ว่าต้องอำลากันแล้ว

 

“ฉันจะหาผืนที่อุ่นที่สุดให้” ฉันยิ้ม “ผืนฟูใหญ่”

 

เขาหัวเราะเขินๆ แต่ฉันคิดจริงๆ ว่ามันจะเป็นผ้าเช็ดตัวที่ดีที่สุดผืนหนึ่งในชีวิตที่จะมอบให้ใครสักคน

 

ฉันจะตื่น ไม่มีอะไรในวันพรุ่งนี้นอกจากตามหาผ้าเช็ดตัวผืนนี้ที่รออยู่สักแห่ง

 


 

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

Kappasaisai@gmail.com

นักเขียนผู้หลงใหลการลับมีด เจ้าของเรื่องสั้น "ชายชราเบาหวาน" ที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทเรื่องสั้น ปี 2555 ปัจจุบันใกล้จะมีนวนิยายของตัวเอง 1 เล่ม กับสำนักพิมพ์ Boligraf Book ยังคงเขียนงานอยู่อย่างต่อเนื่องที่บ้านของตน

จดหมายถึงใครบางคนที่ร้านกาแฟ – Happy Yogi

                                  


                                                                                                                        31 ธันวาคม 2559
ณ หอพักบ้านไทย จังหวัดนครปฐม

 

 

ยามเมื่อเธอยังเยาว์ และเราเพิ่งจะเริ่มรู้จักกันใหม่ๆ เธอช่างแลดูอ่อนโยนและไร้เดียงสาในสายตาของฉันเสมอ

 

ทุกพฤติกรรมที่เธอแสดงออกล้วนแล้วแต่น่ารักน่าเอ็นดูในความรู้สึกของฉัน

Read More

Graveyard No.6

ขอให้อยู่

 

เถ้าแก่ตึกถามว่า ‘กลัวไหม’ เธอส่ายหน้า เห็นท่าไม่ใส่ใจแกมรำคาญแกก็หวังว่ากูคงได้คนที่ต้องการแล้ว

 

หวังไว้คนที่เท่าไหร่แกก็ไม่ได้นับ

 

แกย้ำให้เข้าใจและเห็นใจว่า ‘ถ้าเธออยู่ได้ คนก็จะค่อยๆ กลับมา’

 

เธอพยักหน้า ต้องเอาอยู่แล้ว ห้องนี้ชั้นนี้ไม่คิดค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ เธอก็มีความหวังขึ้นอีกโข

 

มันเจ็บเศร้าอย่างหนึ่งว่าถ้ารักไม่เหมือนคนอื่นก็ต้องกินความหวังเข้าไปมากๆ ให้มันอิ่มลม ไม่งั้นก็อยู่ไม่ไหว

 

วันไปคุยเรื่องเช่าห้องเธอยังกอดต้นฉบับที่วาดค้างๆ ไว้แน่น มันอยู่กับเธอมาสี่เดือนแล้ว เส้นตายเห็นในสายตา แต่ทุกวันก็เหนื่อยงานที่ออฟฟิศเหลือเกิน

 

เมื่อเดือนก่อนชายหนุ่มผู้เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์บอกเธอว่าถ้าไม่ทันก็คงต้องล้มเลิก เขาชินชาแล้ว เสียดายแต่โอกาสของมือสมัครเล่น เธอมีมือที่โตได้อีกไกล

 

ไปได้อีกไกล… เธอฟังคำนั้นแล้วสงสารตัวเอง

 

เธอลาออก ปิดไม่ให้ใครรู้ หอบข้าวของจากที่พักเก่ากับเงินเก็บก้อนเท่ากำปั้นไปตายกับความหวังอยู่เงียบๆ

 

3 วันแรกมานอนที่นี่เธอได้ยินเสียงกระซิบพร่าข้างหูปลุกตื่น เสียงนั้นถามว่า ‘ทำอะไรอยู่’

 

เธอมองไปที่โต๊ะ นิยายภาพลงสีไว้ยังวางค้าง

 

เธอตอบกลับเสียงนั้นว่า ‘วาดนิยาย’

 

ไม่รู้หรอกว่าหญิงหรือชาย ในห้องนี้ไม่เห็นร่องรอยบอกได้ แต่เธอรู้แน่นอนว่าห้องที่อยู่น่ะ มี ไม่งั้นคงไม่โล่งไปทั้งชั้น 4 นี่ชั้น 3 คนก็เริ่มหาย แล้วก็คงลามเหมือนเริม

 

แม่ครัวร้านข้าวหน้าตึกบอกว่า มันไม่ได้มีแค่ห้องนั้น

 

เท่าที่แกรู้ ห้องตรงข้ามมีผู้ชายผูกคอตายหลังพยายามฆ่าหนุ่มคนรักเพราะหึงหวง

 

พอได้ฟังแบบนั้น สามทุ่มวันต่อมาเธอก็ได้ยินเสียงเตะเก้าอี้ล้มเหมือนแทนคำพูดว่า ‘ยินดีที่ได้รู้จัก’ จากวันนั้นทุกสามทุ่มก็ได้ยินเสียงเก้าอี้ล้มตลอด

 

แม่ครัวร้านข้าวถามว่าเธอไม่กลัวหรือ

 

เธอทำหน้านึก จะบอกว่าไม่กลัวผีก็ไม่ใช่ แต่มันยังแตะไม่ถูกที่กลัว ไอ้ที่ตรงนั้นอยู่ไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน

 

“แปลว่าเคยเจอผี?” แม่ครัวถาม

 

ครั้งหนึ่งไปทำบุญเช้าวัดเก่า มันตัดหัวประหารกันแล้วโยนใส่ เธอโกรธตะโกนใส่มันว่าก็ขอให้พวกมึงตัดหัวกันอยู่ที่นี่จนโลกฉิบหาย

 

อีกครั้งไปนอนเฝ้าศพเพื่อนที่เพิ่งรับปริญญา กลับจากฉลองได้งานแล้วรถคว่ำ มันมาร้องไห้ข้างโลงทั้งร่างคอหักบิดไปข้างหลัง (ก็หันหลังเอาหน้าคุยกับเธอ) บอกให้ช่วยทำโน่นทำนี่เหมือนจะให้ใช้ชีวิตแทนกัน หนนี้เธอกลัว

 

“แล้วนี่ทำงานทำการอะไรล่ะเรา ไม่เห็นออกไปไหน” แม่ครัวถาม

 

เธอยิ้มแล้วเฉไฉชวนคุยไปเรื่องอื่น

 

นับวันคืนไม่ได้ ตื่นมากินแล้วก็วาด รู้ตัวอีกทีดูเหมือนมีคนมาเช่าชั้น 3 จนโหวกเหวกโวยวาย ชั้น 4 ก็เพิ่มมาอีกราย เป็นป้าคนหนึ่ง หล่อนยังสวยเหมือนเพิ่งพ้นสาว บางทีสวนกันตอนเธอไปหาอะไรกิน เจอกันก็ยิ้มให้

 

เธอชอบยิ้มนั้น เหมือนหล่อนเอ็นดู

 

“หนูอยู่ห้องนั้นเหรอ” วันหนึ่งป้าคนสวยก็ชวนคุย เธอพยักหน้า จริงๆ ก็อยากคุย แต่อีกใจก็ไม่อยาก เธอไม่ชอบพบหน้าผู้คนเท่าไหร่

 

“เก่งจัง” หล่อนพูด

 

“ถ้าหนูไม่อยู่ก็ไม่มีใครมาอยู่ ก็ช่วยๆ เถ้าแก่เขาไป” เธอถ่อมตัวอายๆ

 

“ดีแล้วล่ะ” หล่อนยิ้มสวยให้

 

พอเธอคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นฝีมือตัวเองแล้วก็ชื่นใจเล็กๆ

 

อยู่แบบนี้มันเศร้าเอาเรื่อง

 

ขังตัวเองวาดภาพ อยากให้เสร็จเร็วๆ ไม่ถึงไหนสักที วาดไปก็หวังไป ‘ต้องขายได้น่ะ’ ‘หมด 3000 เล่มจะดีแค่ไหน’ ‘ต้องได้สิ มีคนอ่านอยู่แล้ว’ ‘5000 เล่มเลยเป็นไง’

 

บก.บอกว่าสัญญาทำแค่ 1000 เล่ม

 

เธอคิดว่างานของเธอน่าจะคาดหวังได้มากกว่านั้น

 

“ก็ใช่ แต่พิมพ์ 1000 เล่มน่ะรอบคอบที่สุดแล้ว สำนักพิมพ์พี่ก็แค่ห้องเช่านี้ พี่ต้องรับงานอื่นทำด้วย ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้” เขาถอนใจ จุดบุหรี่สูบ

 

“เหลือขายมาจะเอากองไว้ไหน สู้พิมพ์น้อยแล้วขายหมดค่อยพิมพ์ซ้ำดีกว่า จะให้พี่พิมพ์ 3000 เล่มตามนิยมก็ได้ แต่พี่คงจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทันทีไม่ได้ เพราะทุนมันเพิ่มอีกเท่าตัว ต้องแบ่งจ่ายเราตัดตามยอดขายจริง 3 เดือนสายส่งถึงจะตัดยอดทีนึง” เขาพูด

 

ปลอบตัวเองว่า 1000 เล่มก็ได้ เงินแค่นี้ก็เอา มีพันแรกก็ต้องมีพันต่อไป

 

ขอแค่ให้ได้เริ่ม

 

2 เดือนกว่าในที่สุดกระดาษแผ่นสุดท้ายก็วาดเสร็จอิ่มใจที่สำเร็จ ดีใจที่พ้นทรมาน ถ้าไม่มีแผ่นสุดท้ายนี้ชีวิตก็เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เธอโทรแจ้งบก.แล้วก็หลับไปในรุ่งเช้า

 

หลับไปได้ 2 ชั่วโมง ในฝันนั้นมืดสนิทเธอได้ยินเสียงร้องไห้ เศร้าจนเธอต้องตื่น

 

เศร้าจนสงสาร ไม่ใช่แค่สงสารคนร้องไห้แต่สงสารตัวเองด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะสงสารตัวเองด้วยเรื่องอะไร

 

สายๆ บก. ก็โทรหาบอกให้เอาต้นฉบับมาส่งแล้วคุยกัน เธอดีใจจนลืมสงสาร เธอโทรหาเพื่อนสนิทที่ปิดไม่ให้รู้ว่าเธอเป็นตายร้ายดีอย่างไร เล่าให้ฟังทุกอย่างตั้งแต่เรื่องตึกผีนี่จนเรื่องกระดาษแผ่นสุดท้าย

 

เธอเล่าเพราะอยากให้เพื่อนกลับมาวาดรูปอีกครั้ง

 

“เขายังไม่ได้เขียนสัญญากับแกอีกเหรอ” ปลายสายถาม

 

“มันคุยตอนไหนก็ได้นี่งานยังไม่เสร็จ” เธอไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ

 

“แกบอกว่าทีแรกเขาจะพิมพ์ 3000 เล่ม แต่ตอนนี้ลดเหลือ 1000 เล่ม?” เพื่อนยังรุกถาม

 

“1000 ก็ 1000 สิ ไม่ใช่ไม่เข้าใจนะ ฉันตัดสินใจแล้ว ยังไงก็ต้องผ่านไปให้ได้” เธอถอนใจทิ้งความรู้สึกน่าเสียดาย

 

เธอไม่ใช่คนเดียวสักหน่อยที่ได้พิมพ์หนังสือระดับนี้ มีคนอยากพิมพ์งาน แต่ทำได้แค่พิมพ์ขายเองกลุ่มเล็กๆ แค่ 50 เล่ม 100 เล่ม อีกมากมาย 1000 ก็เยอะแล้ว

 

“แก… แกรู้ได้ยังไงว่าพอแกเอาต้นฉบับให้เขาแล้วเขาจะไม่บอกว่าเหลือพิมพ์แค่ 500 เล่ม” เสียงเพื่อนลำบากใจ “แกวาดมือนะ งานอยู่กับเขา เขาจะบีบแกยังไงก็ได้”

 

เธอฟังแล้วหัวใจชา จะบอกได้หรือว่าเพื่อนน่ะคิดมาก ยิ่งฟังเพื่อน เธอยิ่งกังวลในความเอาใจใส่และหวังดีของบก.

 

“เอางี้สิ แกก็บอกเขาไปว่า พี่จะขายกี่เล่มก็ได้ แต่ให้เขียนสัญญาว่าค่าเรื่องตามจำนวนพิมพ์จริง ถ้าพิมพ์น้อยก็ต้องจ่ายเลย”

 

แล้วเพื่อนก็วางสาย

 

เธอร้อนใจโทรหาบก. บอกทุกอย่างตามที่เพื่อนแนะนำ แข็งใจพูดกับเขาจนมือไม้สั่น แต่เขาว่าเรื่องสัญญาน่ะไว้คุยกันหลังต้นฉบับตีพิมพ์แล้วก็ได้ สัญญามันเขียนตอนไหนก็ได้ เธอรู้ว่าเขาไม่คิดจะเขียนสัญญา

 

เธอยิ้มให้ปลายสายว่าคงส่งต้นฉบับให้ไม่ได้

 

เขาหลอกมาตลอด เหมือนคนรักเหี้ยๆ คนหนึ่ง เขาตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าจะจ่ายให้เธอแค่ 1000 เล่มจากยอดพิมพ์ที่มากกว่านั้น ถ้ามีลายลักษณ์อักษรเขียนว่าจะจ่ายเท่าพิมพ์จริงไม่ใช่ 1000 แผนก็ล้ม

 

เธอร้องไห้ ปล่อยน้ำตาไหลจนหมดตัว นอนนิ่งเหมือนระบบอวัยวะหยุดทำงานไปแล้ว รู้สึกว่าทุกอย่างยากเหลือเกิน

 

สามทุ่มยังได้ยินเสียงเก้าอี้ล้ม แต่มันไม่มีความหมายอะไรอีกแล้ว เธอแทบจะตะโกนบอกให้มันมาล้มอยู่ในห้องนี้ด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ช่วยอยู่เป็นเพื่อนกันหน่อย เธอกลัวเหลือเกิน

 

สามทุ่มวันแรกผ่านไป

 

สามทุ่มวันที่สองผ่านไป

 

เธอยังนอนร้องไห้ไม่ขยับเขยื้อน

 

สามทุ่มวันที่สามเธอได้ยินเสียงป้าคนนั้นตะคอกมา

 

“มันจะอะไรกันนักกันหนา! น่ารำคาญ!! เห็นใจคนอื่นเขาบ้าง!!!”

 

คำด่าพร่ำสวดกระแทกลั่น ได้ยินชายคนหนึ่งที่เธอไม่คุ้นถามขึ้นว่าเกิดอะไร

 

“ก็ไอ้ห้องเนี่ยทำเสียงดังน่ารำคาญอยู่นั่นแหละ” ป้าบอก

 

“แต่ห้องนี้ไม่มีคนอยู่นะครับ” อีกฝ่ายตอบงงๆ

 

“เออ ก็รู้ไงว่าไม่มีคนอยู่ เพราะงั้นมันก็สมควรทำตัวให้เหมือนไม่มีคนอยู่สิ ไม่เห็นใจห้องตรงข้ามบ้าง หนูเขาเศร้าอยู่ก็ยังกวนใจ”

 

ประโยคนั้นเองดึงเธอกลับมา งุนงงไม่เข้าใจ ข้างนอกยังโต้เถียง เธอลุกขึ้นซวนเซ อยากจะรู้อยากจะคุย

 

แต่พอเปิดประตูเสียงก็ดับสนิทดื้อๆ ราวกับปิดวิทยุ ไม่มีใครอยู่ตรงนั้น

 

เธอเดินออกไปสอดส่ายมองดูตลอดโถงโล่งเปล่า ทิ้งประตูห้องตัวเองเปิดอ้าไว้

 

ประตูห้องเธอที่เบื้องหลังกระแทกปิดลงทั้งๆ ที่ไม่ได้แตะต้อง

 

เธอนั่งอยู่ที่โถง ไม่กล้าเข้าห้องตัวเอง จนเช้าถึงลงไปถามเถ้าแก่ แต่ถามยังไงแกก็ไม่ตอบ

 

“หนูจะอยู่ห้องนี้ให้จนมีลูกค้ากลับมาเช่าเต็มชั้น 4 ถ้าเถ้าแก่ยอมบอก หนูไม่ได้กลัว หนูแค่อยากรู้” เธอหยิบสมุดเปล่าบนโต๊ะเถ้าแก่ยื่นให้อีกฝ่าย บอกว่าเขียนสัญญาขึ้นมาได้เลย

 

‘อย่าแพร่งพรายอีก’ เถ้าแก่กำชับ คนที่ตายในห้องนั้นคือเมียน้อยแกเอง รถคว่ำ วนเวียนอยู่นี่ ชั้น 4 เขาเห็นกันทั้งนั้นจนหายกันไปหมด ที่แม่ครัวไม่ยอมบอกเธอเรื่องผู้หญิงคนนี้ก็เพราะเช่าตึกเถ้าแก่ทำร้านข้าว ห้องฝั่งตรงข้ามเป็นคู่รักที่ได้อยู่ฟรีเหมือนเธอ ฝ่ายชายที่ถูกแทงให้การว่าแฟนเขาหึงหวงเพราะเห็นไปไหนมาไหนมีผู้หญิงห้องตรงข้ามตามตลอด คู่นี้หึงกันแรงอยู่แล้ว ฝ่ายที่แขวนคอตายก็ไม่สืบไม่สาวอะไรทั้งนั้น ลงมือกันเลย

 

นั่นเป็นเรื่องทั้งหมด เธอฟังไปงั้นเองให้ผ่านๆ หู ถึงอยากรู้แต่ใจมันตาย เธอลงลายมือชื่อตามสัญญาแล้วก็กลับมาที่ห้อง

 

‘อยู่จนกว่าจะมีคนกลับมาเช่าเต็มชั้น 4’ เธอยักไหล่ จะให้ไปไหนได้ ยังต้องนอนร้องไห้อีกกี่วันก็ไม่รู้ จะทำอะไรต่อก็ยังไม่แน่ใจ เงินก็ไม่มีแล้ว แต่อย่างน้อยก็อยู่ฟรี

 

เธอมองต้นฉบับนิยายภาพที่เข้าเล่มบนโต๊ะ ไม่อยากเห็นมันด้วยซ้ำ

 

เผาทิ้งดีไหม ลืมไปเสีย

 

เธอพลิกอ่านแต่ละแผ่น อ่านแล้วก็ร้องไห้

 

ที่หน้าสุดท้ายมีปากกาหมึกน้ำเงินเขียนไว้มุมกระดาษ ลายมือนิรนาม

 

‘ร้องไห้ก็ร้องไป ไม่ทำก็ไม่ต้องทำ แต่อยู่ให้ได้’

 

เธอยิ้มทั้งน้ำตา

 


 

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

Kappasaisai@gmail.com

นักเขียนผู้หลงใหลการลับมีด เจ้าของเรื่องสั้น "ชายชราเบาหวาน" ที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทเรื่องสั้น ปี 2555 ปัจจุบันใกล้จะมีนวนิยายของตัวเอง 1 เล่ม กับสำนักพิมพ์ Boligraf Book ยังคงเขียนงานอยู่อย่างต่อเนื่องที่บ้านของตน

ดวงใจ…มาลินี

 

อากาศหยุดนิ่ง อบอ้าวเพียงชั่วครู่…แล้วกลับกระหยับพัดกระโชกรุนแรง

 

ตึกเก่าคร่ำสีเหลืองซีดจางตั้งตระหง่านสงบไม่สนใจสรรพสิ่งใดๆ นอกจากภาพปีบต้นสูงเพรียวเบื้องหน้าที่กำลังสะบัดดอกร่วงพรู ไม่ไยดีว่ากลีบขาวนุ่มเนื้อละมุนของมันจะเป็นอย่างไรยามตกต้องกระทบพื้นอิฐตัวหนอนสีส้มเบื้องล่าง

Read More
error: