จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ในเรื่องสั้นของกำพล นิรวรรณ

 

 

แม้ปัจจุบันจะมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ เรือนร่างของผู้หญิงยังเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง ตอกย้ำวัฒนธรรมทางสายตาที่ผู้หญิงเป็นได้ทั้ง “ภาพแทน” และ “ภาพลักษณ์” ที่ตอบสนองความเพลิดเพลินหรือความปรารถนาทางเพศของผู้ชายจากการจ้องดูผู้หญิง ซึ่งบางครั้งผู้ถูกจับจ้องไม่รู้ตัวว่าถูกจ้องมอง หมายความว่าผู้จ้องมองมีอำนาจมากกว่าผู้ถูกมอง

 

ในงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมีนักเขียนทั้งหญิงและชายนำเสนอประเด็น “ผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง” เช่น เรื่องสั้น “หมวกใบที่สอง” ของอุรุดา โควินท์  “สเต๊ก” ของแพรพลอย วนัช  “นอนเปลือยกาย” ของเจษฎา กลิ่นยอ และ “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ

 

กล่าวเฉพาะกำพล นิรวรรณ นักอ่านวรรณกรรมมักคุ้นชื่อหรือเคยอ่านผลงานแปลฝีมือเขาบ้าง เช่น “เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง” ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ “เปรโด ปาราโม” ของฆวล รุลโฟ “ปริศนาวันล่าสัตว์” ของอันตัน เชคอฟ “เอเรนดีร่าผู้บริสุทธิ์” ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ “ชายขี้เมาแห่งปารีสผู้กลายเป็นตำนาน” ของโจเซฟ รอซ เป็นต้น ขณะเดียวกันกำพล นิรวรรณก็มีผลงานเขียนทางวรรณกรรม เขาเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 จากเรื่องสั้น “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” และล่าสุดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยผจญภัยสำนักพิมพ์

 

บทความนี้มุ่งศึกษาเรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยจะวิเคราะห์ความหมายและสัญญะของถ้ำ การถ้ำมองของตัวละครที่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อเติมเต็มความปรารถนาทางเพศ และอาการติดถ้ำที่นำไปสู่บทสรุปของเรื่อง

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ ให้ “ครูพัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้จำกัดว่า เขาเป็นครูแก่ ๆ ของวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่วันหนึ่งได้รับจดหมายจากกลุ่มนักศึกษาสาวในภาควิชาประวัติศาสตร์ไทยชวนไปเที่ยวถ้ำที่ยังไม่มีชื่อเรียกและอยู่ลึกเข้าไปในเขตป่าเขา ระหว่างเดินทางขึ้นเขา ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวก็สนทนาถึงเรื่องถ้ำว่าใครเคยมากันบ้างแล้ว ซึ่งกลุ่มนักศึกษาสาวบอกว่าพวกเธอมากันแล้วสามหน ส่วนครูพันมาคนเดียวหลายหน จนเดินมาถึงปากถ้ำ ทุกคนจึงพากันเข้าไปเพราะชอบฝูงรุ้งที่ออกมากินน้ำกลางโถง ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวต้องมุดน้ำว่ายไป ระหว่างนั้นครูพันจ้องมองเรือนร่างนักศึกษาสาวที่เสื้อผ้ารัดรึงเห็นสัดส่วนโค้งเว้าจนเกิดจินตนาการทางเพศ ที่กำพลเปรียบว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร เมื่อห่าฝนพรั่งพรูลงมา พวกนักศึกษาสาวต่างพากันลุยน้ำออกจากถ้ำ แต่ครูพันยังยืนอยู่ตรงนั้น ปล่อยให้ระดับน้ำท่วมเข่า เอว อกและคอตัวเอง

 

 

ความหมายและสัญญะของ “ถ้ำ”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554: 531) คำว่า “ถ้ำ” หมายถึง ช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำขึ้น มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้ ซึ่งเป็นความหมายของสถานที่ที่ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวพากันไปเที่ยว สอดคล้องกันเมื่อกำพลบรรยายว่า “ถึงปากโพรงหินแคบ ๆ กว้างไม่เกินสองศอก สูงพอท่วมหัว มีแสงเรือง ๆ สะท้อนออกมาจากข้างใน” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

ความน่าสนใจของคำว่า “ถ้ำ” ไม่ได้อยู่ที่ความหมายของสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้ำในเรื่องสั้นนี้ยังแฝงสัญญะเรื่องเพศไว้ด้วย

 

“เหมือนรูปพนมมือ” เขาเอ่ยเบา ๆ

“อะไรคะ” ลัดดาถาม

“ก็ปากถ้ำไง ดูให้ดีสิ ธรรมชาตินี่มันก็แปลกดีนะ”

“จริงเลยค่ะ”

“แล้วข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ เสียด้วย” เพื่อนจอมแก่นของเธอเอ่ย พร้อมกับชี้มือให้ทุกคนดู “ธรรมชาติแปลกจริง ๆ อย่างที่ครูว่า”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

บทสนทนาเพียง 6 บรรทัดที่ยกมาข้างต้นแฝงนัยน่าตีความสัญญะ โดยเฉพาะคำว่า “เหมือนรูปพนมมือ ปากถ้ำและข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ” ซึ่งลักษณะของถ้ำที่ตัวละครกล่าวเปรียบเหมือนอวัยวะเพศหญิง ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา

 

เช่นเดียวกับ “ภาพของแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายของมันพะเยิบพะยาบอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิล” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 57) เป็นการตอกย้ำว่า “ลักษณะของปากโพรงถ้ำ” ตามความคิดของครูพันเมื่อเห็นภาพนั้นแฝงสัญญะถึงอวัยวะเพศหญิง ทั้งนี้ยังไม่รวมองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า เนินทราย เชิงผาเป็นพงรกปกคลุมด้วยซุ้มเถาวัลย์หนาทึบ

 

 

จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ

ครูพันเล่าไว้ตอนต้นเรื่องว่า เขาเคยบวชเรียนอยู่หลายปีเพื่อแสวงหาวิมุตติ แต่ต้องพ่ายแพ้ต่อไฟปรารถนาและยังเชื่อในหลักคำสอนของวาตสยายน จนผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตสี่หรือห้าคน โดยเฉพาะคนที่ห้าเขียนข้อความไว้ว่า “รักนะคะ แต่ไม่ไหวค่ะ” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 45) คำว่า “ไม่ไหว” น่าจะหมายถึงความหมกมุ่นเรื่องเพศของครูพันหลังเคยศึกษาคัมภีร์กาลามสูตร จนอีกฝ่ายทนรสบทรักไม่ได้

 

ความเก็บกดทางเพศของครูพันจึงนำไปสู่จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ตั้งแต่การชายตามองเรียวขาของพวกนักศึกษาสาวที่กำลังเดินไปเที่ยวถ้ำ

 

“แทนที่จะเดินกันกลางทาง ไปย่องกันอยู่ข้างทาง” หรือ “กลัวกับระเบิดค่ะ แหม ว่าแต่พวกหนู ครูเองก็เดินคร่อมทางโหย่ง ๆ มาเหมือนกัน”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 49)

 

ข้อความข้างต้น คำว่า “ย่องกันอยู่ข้างทาง” กับ “เดินคร่อมโหย่ง ๆ” แฝงนัยว่า การไปเที่ยวถ้ำหรือพูดถึงเรื่องถ้ำที่นอกเหนือจากความหมายของสถานที่นั้น ไม่สามารถพูดคุยได้ตรง ๆ ดังนั้นไม่ว่าการพูดเรื่องเพศหรือการถ้ำมองเปรียบกับการเดินที่ต้องแอบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายศีลธรรมระหว่างครูกับศิษย์ รวมถึงการคุกคามทางเพศด้วยสายตาและวาจา กลายเป็นว่าการเดินย่องข้างทางหรือเดินคร่อมทาง คือความกลัวที่จะเปิดเผยความคิดหรือตัวตนอีกด้านออกมานั่นเอง

 

“เรือนร่างของพวกเธอถูกเสื้อผ้ารัดรึงจนเห็นโค้งเว้าอันงดงามและสดสะพรั่งดั่งภาพนิรมิต ภาพแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายสีดำของมันพะเยิบพะยายอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิลขณะมันเสพเกสรของบุปผาสีม่วงครั้งสั่งลา ทันใดนั้นกล้ามเนื้อง่ามขาของเขาก็กระตุกขึ้นมาดื้อ ๆ”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 57)

 

ข้อความข้างต้น หลังจากพวกนักศึกษาสาวและครูพันกลั้นหายใจมุดหัวลงน้ำแหวกว่ายเข้าไปในโถงถ้ำ จะเห็นว่าครูพันถ้ำมองกลุ่มนักศึกษาสาวเพื่อแสวงหาความสุขทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัว นอกจากนี้ การเปรียบเทียบภาพของแมลงภู่เสพเกสร ถือได้ว่าครูพันจับจ้องแบบถ้ำมอง โดยอุปมาฉากดังกล่าวเพื่อสร้างบรรยากาศกระตุ้นจินตนาการเพ้อฝันที่เกิดขึ้นได้ง่าย ผ่านความปรารถนาบนเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวที่เกาะกลุ่มพลิ้วตัวแหวกว่ายเปรียบเทียบท่วงท่าของแมลงภู่ที่เสพเกสรดอกสร้อยอินทนิล ดังนั้นจินตนาการดังกล่าวจึงสามารถเติมเต็มความปรารถนาทางเพศของครูพัน ถึงขนาดกล่าวว่า “ถ้าเขาจะต้องจมน้ำตายยามนี้เขาก็ยินดี”

 

เมื่อเข้าไปถึงกลางโถงถ้ำ กลุ่มนักศึกษาสาวสนุกสนานกับการไล่จับสายรุ้งและผีเสื้ออยู่บนเนินทราย โดยลืมไปว่ามีครูพันอยู่ด้วย จุดบอดนี้ทำให้สายตาของพวกเธอไม่อยู่กับครูพัน เขาจึงถือโอกาสถ้ำมองพวกเธอได้อย่างมีความสุข เปิดช่องว่างให้เขากับมารได้ต่อสู้กัน สุดท้ายครูพันก็พ่ายแพ้ สูญเสียจิตวิญญาณผ่านดวงตาทั้งคู่ที่กลายเป็นผีเสื้อโลมไล้ลำแขนเรียวขา เกาะหน้าอก และแปลงร่างเป็นลูกชำมะเลียงสุกปลั่งลอยตามไปซอกไซ้ไชชอนทั่วร่าง แล้วมุดเข้าไปในขากางเกงของพวกเธอ

 

จินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48) กล่าวสรุปเรื่องการนำเสนอผู้หญิงในฐานะวัตถุแห่งการจับจ้องไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้จินตนาการแบบถ้ำมองเป็นการพรางตัวอยู่ในความมืด ทำให้ผู้มองคิดว่าสามารถจับจ้องได้อย่างอิสระ ปราศจากการรู้เห็นของผู้อื่น ตัวละครนักศึกษาสาวในเรื่องสั้นนี้มิได้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกจับจ้องโดยครูพันหรือผู้เล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งการจับจ้องของผู้อ่านงานเขียนซ้อนทับอยู่ด้วย เนื่องจากการอ่านเป็นกิจกรรมที่โดยทั่วไปจะกระทำอยู่เพียงลำพังและยากที่ผู้อื่นจะร่วมรับรู้อย่างแน่ชัดถึงเนื้อหาของสิ่งที่อ่านหรือความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังอ่าน ผู้อ่านจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจากผู้ถ้ำมองเช่นกัน”

 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ต้องย้อนกลับไปทบทวนบทสนทนาระหว่างครูพันกับนักศึกษาสาวตอนกลางเรื่อง

 

“ครูไม่ชอบน้ำตรงนั้นเลย”

“อ้าว ทำไมหรือคะ”

“ไม่รู้เหมือนกัน คงจะเป็นเพราะมันใสเกินไปมั้ง ดำลงไปแล้วเห็นตัวเองหมดจด เห็นเข้าไปถึงมุมมืดทุกซอกทุกมุม”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 53)

 

บทสนทนาข้างต้น สอดคล้องกับความเห็นของจินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48-49) ว่า “ความพึงพอใจจากการมองจะพัฒนาไปสู่มิติการมองเห็นตัวเอง ทั้งตัวละครเห็นเงาตนเองในน้ำใส รวมถึงผู้อ่านที่นำตัวเองเข้าไปสวมทับกับตัวละครในเรื่องและเสพสุขจากการจ้องมอง” ดังนั้นเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวจึงถูกกระทำให้เป็นวัตถุที่กระตุ้นความรูสึกทางเพศให้เทพกับมารต่อสู้กัน จนแดนเนรมิตกลายเป็นแดนนรก เมื่อครูพันไม่ยอมออกจากถ้ำ

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ นอกจากจะเสนอความหมายของถ้ำและสัญญะของอวัยวะเพศหญิงแล้ว ควรวิเคราะห์ความเป็นชายของครูพันด้วย ซึ่งสังเกตได้สองแห่งคือ บ้านเช่าหลังเล็กที่มีต้นตาลโตนดเป็นอัญมณีกับปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมา กล่าวได้ว่า ลักษณะตั้งตรงของต้นตาลโตนดเป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย และปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมาหมายถึง ความสุขสมหลังจากสำเร็จความใคร่ด้วยสายตา ทำให้เรื่องสั้นนี้ออกแนวอีโรติก ซึ่งกำพลเขียนได้อย่างมีชั้นเชิงและวรรณศิลป์ แฝงสัญญะให้ตีความตลอดทั้งเรื่อง

 

อีกทั้ง กำพลยังใช้จินตนาการปูพื้นตั้งแต่เปิดเรื่อง เพื่อนำไปสู่ตอนจบที่ว่า “เล่ากันว่าเขากลายร่างเป็นค้างคาวเฝ้าถ้ำ แต่บ้างก็ว่าเขากลายเป็นผีเสื้อยักษ์บินโล้รุ้งกินน้ำปะปนกับฝูงผีเสื้อในถ้ำแห่งนั้น” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 62) ซึ่งเป็นตอนจบแบบปลายเปิดให้ผู้อ่านใช้จินตนาการผ่านเรื่องเล่าได้อย่างอิสระ ขณะเรื่องเล่าหลักยังคงอยู่ แม้ช่วงเวลาตามท้องเรื่องจะผ่านไปกว่าสี่สิบปี เสียงปืนสงบไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของทหารป่าแล้ว จนอาจทำให้เกิดความแตกต่างในรายละเอียดจากการเล่าซ้ำได้

 

สุดท้าย ทำไมครูพันถึงไม่ยอมออกจากถ้ำ ถ้าอ่านเพียงผิวเผินอาจตอบได้ว่า ครูพันมีอาการติดถ้ำเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามารมณ์จนสูญเสียดวงตาหรือจิตวิญญาณและไม่สามารถหาทางออกให้กับชีวิตได้ แต่ถ้ามองอีกมุมจะได้คำตอบว่า ความตายของครูพันเกิดจากอาการติดอยู่ในมายาคติของความเป็นชาย สรุปได้ว่า ครูพันตกเป็นเหยื่อในรูปของสัญญะตามที่อธิบายมาแล้วนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

จินดา ศรีรัตนสมบุญ. (2555). “การประกอบสร้างหญิงไทยให้เป็นวัตถุแห่งความปรารถนาในงานเขียนเยอรมันร่วมสมัย”. ใน ศาสตร์และวรรณคดีคือตรีศิลป์: ทฤษฎี สุนทรียะ สังคม. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 35-60.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: