ปันนารีย์และเราล้วนอยู่ในสมรภูมินักรบของตัวเอง

 

“ฉันมีถนนสายที่ต้องออกเดินทางเสมอ ถนนเส้นที่นำพาไปยังสถานที่ที่ทำให้ท้องหายหิว ด้วยยิ่งถือหลักการที่ถูกบ่มเพาะมาว่า ผู้อยู่ในวัยเยาว์ไม่ควรได้รับอนุญาตให้รู้จักความหิวจนกว่าพวกเขาจะพ้นระยะการพิทักษ์จากผู้นำครอบครัว ถนนสายที่ทำให้ชีวิตครึ่งหนึ่งในกิจกรรมทั้งหมดของฉันตกอยู่หลังพวงมาลัย…”

(ปันนารีย์, 2562: 43)

Read More

จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ในเรื่องสั้นของกำพล นิรวรรณ

 

 

แม้ปัจจุบันจะมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ เรือนร่างของผู้หญิงยังเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง ตอกย้ำวัฒนธรรมทางสายตาที่ผู้หญิงเป็นได้ทั้ง “ภาพแทน” และ “ภาพลักษณ์” ที่ตอบสนองความเพลิดเพลินหรือความปรารถนาทางเพศของผู้ชายจากการจ้องดูผู้หญิง ซึ่งบางครั้งผู้ถูกจับจ้องไม่รู้ตัวว่าถูกจ้องมอง หมายความว่าผู้จ้องมองมีอำนาจมากกว่าผู้ถูกมอง

 

ในงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมีนักเขียนทั้งหญิงและชายนำเสนอประเด็น “ผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง” เช่น เรื่องสั้น “หมวกใบที่สอง” ของอุรุดา โควินท์  “สเต๊ก” ของแพรพลอย วนัช  “นอนเปลือยกาย” ของเจษฎา กลิ่นยอ และ “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ

 

กล่าวเฉพาะกำพล นิรวรรณ นักอ่านวรรณกรรมมักคุ้นชื่อหรือเคยอ่านผลงานแปลฝีมือเขาบ้าง เช่น “เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง” ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ “เปรโด ปาราโม” ของฆวล รุลโฟ “ปริศนาวันล่าสัตว์” ของอันตัน เชคอฟ “เอเรนดีร่าผู้บริสุทธิ์” ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ “ชายขี้เมาแห่งปารีสผู้กลายเป็นตำนาน” ของโจเซฟ รอซ เป็นต้น ขณะเดียวกันกำพล นิรวรรณก็มีผลงานเขียนทางวรรณกรรม เขาเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 จากเรื่องสั้น “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” และล่าสุดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยผจญภัยสำนักพิมพ์

 

บทความนี้มุ่งศึกษาเรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยจะวิเคราะห์ความหมายและสัญญะของถ้ำ การถ้ำมองของตัวละครที่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อเติมเต็มความปรารถนาทางเพศ และอาการติดถ้ำที่นำไปสู่บทสรุปของเรื่อง

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ ให้ “ครูพัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้จำกัดว่า เขาเป็นครูแก่ ๆ ของวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่วันหนึ่งได้รับจดหมายจากกลุ่มนักศึกษาสาวในภาควิชาประวัติศาสตร์ไทยชวนไปเที่ยวถ้ำที่ยังไม่มีชื่อเรียกและอยู่ลึกเข้าไปในเขตป่าเขา ระหว่างเดินทางขึ้นเขา ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวก็สนทนาถึงเรื่องถ้ำว่าใครเคยมากันบ้างแล้ว ซึ่งกลุ่มนักศึกษาสาวบอกว่าพวกเธอมากันแล้วสามหน ส่วนครูพันมาคนเดียวหลายหน จนเดินมาถึงปากถ้ำ ทุกคนจึงพากันเข้าไปเพราะชอบฝูงรุ้งที่ออกมากินน้ำกลางโถง ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวต้องมุดน้ำว่ายไป ระหว่างนั้นครูพันจ้องมองเรือนร่างนักศึกษาสาวที่เสื้อผ้ารัดรึงเห็นสัดส่วนโค้งเว้าจนเกิดจินตนาการทางเพศ ที่กำพลเปรียบว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร เมื่อห่าฝนพรั่งพรูลงมา พวกนักศึกษาสาวต่างพากันลุยน้ำออกจากถ้ำ แต่ครูพันยังยืนอยู่ตรงนั้น ปล่อยให้ระดับน้ำท่วมเข่า เอว อกและคอตัวเอง

 

 

ความหมายและสัญญะของ “ถ้ำ”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554: 531) คำว่า “ถ้ำ” หมายถึง ช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำขึ้น มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้ ซึ่งเป็นความหมายของสถานที่ที่ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวพากันไปเที่ยว สอดคล้องกันเมื่อกำพลบรรยายว่า “ถึงปากโพรงหินแคบ ๆ กว้างไม่เกินสองศอก สูงพอท่วมหัว มีแสงเรือง ๆ สะท้อนออกมาจากข้างใน” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

ความน่าสนใจของคำว่า “ถ้ำ” ไม่ได้อยู่ที่ความหมายของสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้ำในเรื่องสั้นนี้ยังแฝงสัญญะเรื่องเพศไว้ด้วย

 

“เหมือนรูปพนมมือ” เขาเอ่ยเบา ๆ

“อะไรคะ” ลัดดาถาม

“ก็ปากถ้ำไง ดูให้ดีสิ ธรรมชาตินี่มันก็แปลกดีนะ”

“จริงเลยค่ะ”

“แล้วข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ เสียด้วย” เพื่อนจอมแก่นของเธอเอ่ย พร้อมกับชี้มือให้ทุกคนดู “ธรรมชาติแปลกจริง ๆ อย่างที่ครูว่า”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

บทสนทนาเพียง 6 บรรทัดที่ยกมาข้างต้นแฝงนัยน่าตีความสัญญะ โดยเฉพาะคำว่า “เหมือนรูปพนมมือ ปากถ้ำและข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ” ซึ่งลักษณะของถ้ำที่ตัวละครกล่าวเปรียบเหมือนอวัยวะเพศหญิง ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา

 

เช่นเดียวกับ “ภาพของแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายของมันพะเยิบพะยาบอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิล” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 57) เป็นการตอกย้ำว่า “ลักษณะของปากโพรงถ้ำ” ตามความคิดของครูพันเมื่อเห็นภาพนั้นแฝงสัญญะถึงอวัยวะเพศหญิง ทั้งนี้ยังไม่รวมองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า เนินทราย เชิงผาเป็นพงรกปกคลุมด้วยซุ้มเถาวัลย์หนาทึบ

 

 

จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ

ครูพันเล่าไว้ตอนต้นเรื่องว่า เขาเคยบวชเรียนอยู่หลายปีเพื่อแสวงหาวิมุตติ แต่ต้องพ่ายแพ้ต่อไฟปรารถนาและยังเชื่อในหลักคำสอนของวาตสยายน จนผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตสี่หรือห้าคน โดยเฉพาะคนที่ห้าเขียนข้อความไว้ว่า “รักนะคะ แต่ไม่ไหวค่ะ” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 45) คำว่า “ไม่ไหว” น่าจะหมายถึงความหมกมุ่นเรื่องเพศของครูพันหลังเคยศึกษาคัมภีร์กาลามสูตร จนอีกฝ่ายทนรสบทรักไม่ได้

 

ความเก็บกดทางเพศของครูพันจึงนำไปสู่จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ตั้งแต่การชายตามองเรียวขาของพวกนักศึกษาสาวที่กำลังเดินไปเที่ยวถ้ำ

 

“แทนที่จะเดินกันกลางทาง ไปย่องกันอยู่ข้างทาง” หรือ “กลัวกับระเบิดค่ะ แหม ว่าแต่พวกหนู ครูเองก็เดินคร่อมทางโหย่ง ๆ มาเหมือนกัน”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 49)

 

ข้อความข้างต้น คำว่า “ย่องกันอยู่ข้างทาง” กับ “เดินคร่อมโหย่ง ๆ” แฝงนัยว่า การไปเที่ยวถ้ำหรือพูดถึงเรื่องถ้ำที่นอกเหนือจากความหมายของสถานที่นั้น ไม่สามารถพูดคุยได้ตรง ๆ ดังนั้นไม่ว่าการพูดเรื่องเพศหรือการถ้ำมองเปรียบกับการเดินที่ต้องแอบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายศีลธรรมระหว่างครูกับศิษย์ รวมถึงการคุกคามทางเพศด้วยสายตาและวาจา กลายเป็นว่าการเดินย่องข้างทางหรือเดินคร่อมทาง คือความกลัวที่จะเปิดเผยความคิดหรือตัวตนอีกด้านออกมานั่นเอง

 

“เรือนร่างของพวกเธอถูกเสื้อผ้ารัดรึงจนเห็นโค้งเว้าอันงดงามและสดสะพรั่งดั่งภาพนิรมิต ภาพแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายสีดำของมันพะเยิบพะยายอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิลขณะมันเสพเกสรของบุปผาสีม่วงครั้งสั่งลา ทันใดนั้นกล้ามเนื้อง่ามขาของเขาก็กระตุกขึ้นมาดื้อ ๆ”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 57)

 

ข้อความข้างต้น หลังจากพวกนักศึกษาสาวและครูพันกลั้นหายใจมุดหัวลงน้ำแหวกว่ายเข้าไปในโถงถ้ำ จะเห็นว่าครูพันถ้ำมองกลุ่มนักศึกษาสาวเพื่อแสวงหาความสุขทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัว นอกจากนี้ การเปรียบเทียบภาพของแมลงภู่เสพเกสร ถือได้ว่าครูพันจับจ้องแบบถ้ำมอง โดยอุปมาฉากดังกล่าวเพื่อสร้างบรรยากาศกระตุ้นจินตนาการเพ้อฝันที่เกิดขึ้นได้ง่าย ผ่านความปรารถนาบนเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวที่เกาะกลุ่มพลิ้วตัวแหวกว่ายเปรียบเทียบท่วงท่าของแมลงภู่ที่เสพเกสรดอกสร้อยอินทนิล ดังนั้นจินตนาการดังกล่าวจึงสามารถเติมเต็มความปรารถนาทางเพศของครูพัน ถึงขนาดกล่าวว่า “ถ้าเขาจะต้องจมน้ำตายยามนี้เขาก็ยินดี”

 

เมื่อเข้าไปถึงกลางโถงถ้ำ กลุ่มนักศึกษาสาวสนุกสนานกับการไล่จับสายรุ้งและผีเสื้ออยู่บนเนินทราย โดยลืมไปว่ามีครูพันอยู่ด้วย จุดบอดนี้ทำให้สายตาของพวกเธอไม่อยู่กับครูพัน เขาจึงถือโอกาสถ้ำมองพวกเธอได้อย่างมีความสุข เปิดช่องว่างให้เขากับมารได้ต่อสู้กัน สุดท้ายครูพันก็พ่ายแพ้ สูญเสียจิตวิญญาณผ่านดวงตาทั้งคู่ที่กลายเป็นผีเสื้อโลมไล้ลำแขนเรียวขา เกาะหน้าอก และแปลงร่างเป็นลูกชำมะเลียงสุกปลั่งลอยตามไปซอกไซ้ไชชอนทั่วร่าง แล้วมุดเข้าไปในขากางเกงของพวกเธอ

 

จินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48) กล่าวสรุปเรื่องการนำเสนอผู้หญิงในฐานะวัตถุแห่งการจับจ้องไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้จินตนาการแบบถ้ำมองเป็นการพรางตัวอยู่ในความมืด ทำให้ผู้มองคิดว่าสามารถจับจ้องได้อย่างอิสระ ปราศจากการรู้เห็นของผู้อื่น ตัวละครนักศึกษาสาวในเรื่องสั้นนี้มิได้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกจับจ้องโดยครูพันหรือผู้เล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งการจับจ้องของผู้อ่านงานเขียนซ้อนทับอยู่ด้วย เนื่องจากการอ่านเป็นกิจกรรมที่โดยทั่วไปจะกระทำอยู่เพียงลำพังและยากที่ผู้อื่นจะร่วมรับรู้อย่างแน่ชัดถึงเนื้อหาของสิ่งที่อ่านหรือความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังอ่าน ผู้อ่านจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจากผู้ถ้ำมองเช่นกัน”

 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ต้องย้อนกลับไปทบทวนบทสนทนาระหว่างครูพันกับนักศึกษาสาวตอนกลางเรื่อง

 

“ครูไม่ชอบน้ำตรงนั้นเลย”

“อ้าว ทำไมหรือคะ”

“ไม่รู้เหมือนกัน คงจะเป็นเพราะมันใสเกินไปมั้ง ดำลงไปแล้วเห็นตัวเองหมดจด เห็นเข้าไปถึงมุมมืดทุกซอกทุกมุม”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 53)

 

บทสนทนาข้างต้น สอดคล้องกับความเห็นของจินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48-49) ว่า “ความพึงพอใจจากการมองจะพัฒนาไปสู่มิติการมองเห็นตัวเอง ทั้งตัวละครเห็นเงาตนเองในน้ำใส รวมถึงผู้อ่านที่นำตัวเองเข้าไปสวมทับกับตัวละครในเรื่องและเสพสุขจากการจ้องมอง” ดังนั้นเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวจึงถูกกระทำให้เป็นวัตถุที่กระตุ้นความรูสึกทางเพศให้เทพกับมารต่อสู้กัน จนแดนเนรมิตกลายเป็นแดนนรก เมื่อครูพันไม่ยอมออกจากถ้ำ

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ นอกจากจะเสนอความหมายของถ้ำและสัญญะของอวัยวะเพศหญิงแล้ว ควรวิเคราะห์ความเป็นชายของครูพันด้วย ซึ่งสังเกตได้สองแห่งคือ บ้านเช่าหลังเล็กที่มีต้นตาลโตนดเป็นอัญมณีกับปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมา กล่าวได้ว่า ลักษณะตั้งตรงของต้นตาลโตนดเป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย และปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมาหมายถึง ความสุขสมหลังจากสำเร็จความใคร่ด้วยสายตา ทำให้เรื่องสั้นนี้ออกแนวอีโรติก ซึ่งกำพลเขียนได้อย่างมีชั้นเชิงและวรรณศิลป์ แฝงสัญญะให้ตีความตลอดทั้งเรื่อง

 

อีกทั้ง กำพลยังใช้จินตนาการปูพื้นตั้งแต่เปิดเรื่อง เพื่อนำไปสู่ตอนจบที่ว่า “เล่ากันว่าเขากลายร่างเป็นค้างคาวเฝ้าถ้ำ แต่บ้างก็ว่าเขากลายเป็นผีเสื้อยักษ์บินโล้รุ้งกินน้ำปะปนกับฝูงผีเสื้อในถ้ำแห่งนั้น” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 62) ซึ่งเป็นตอนจบแบบปลายเปิดให้ผู้อ่านใช้จินตนาการผ่านเรื่องเล่าได้อย่างอิสระ ขณะเรื่องเล่าหลักยังคงอยู่ แม้ช่วงเวลาตามท้องเรื่องจะผ่านไปกว่าสี่สิบปี เสียงปืนสงบไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของทหารป่าแล้ว จนอาจทำให้เกิดความแตกต่างในรายละเอียดจากการเล่าซ้ำได้

 

สุดท้าย ทำไมครูพันถึงไม่ยอมออกจากถ้ำ ถ้าอ่านเพียงผิวเผินอาจตอบได้ว่า ครูพันมีอาการติดถ้ำเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามารมณ์จนสูญเสียดวงตาหรือจิตวิญญาณและไม่สามารถหาทางออกให้กับชีวิตได้ แต่ถ้ามองอีกมุมจะได้คำตอบว่า ความตายของครูพันเกิดจากอาการติดอยู่ในมายาคติของความเป็นชาย สรุปได้ว่า ครูพันตกเป็นเหยื่อในรูปของสัญญะตามที่อธิบายมาแล้วนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

จินดา ศรีรัตนสมบุญ. (2555). “การประกอบสร้างหญิงไทยให้เป็นวัตถุแห่งความปรารถนาในงานเขียนเยอรมันร่วมสมัย”. ใน ศาสตร์และวรรณคดีคือตรีศิลป์: ทฤษฎี สุนทรียะ สังคม. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 35-60.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

การข่มขืนซ้ำผ่านสื่อ “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย”

 

 

รวมเรื่องสั้น “ความรัก” (I Was Born To Be Yours) เป็นหนังสือในโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์อาเซียน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยคัดเลือกเรื่องสั้นจากนักเขียนอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย ของไพฑูรย์ ธัญญา (ไทย) การค้นหาเฮอร์มัน ของดี เลสทารี (อินโดนีเซีย) ร้านเหล้าข้างป่าช้า ของบุนทะนอง ชมไชผน (ลาว) ความรัก ของอัชมาน อุสเซน (มาเลเซีย) วันแห่งดอกทานตะวัน ของเหวียน เทียน งัน (เวียดนาม) ลาหัดดา (ต้นหอม) ของคาร์โล อันโตนิโอ กาเลย์เดวิด (ฟิลิปปินส์) มุกลอย ของจ่มโน ฬึก (กัมพูชา) ประตู ของอีซา กามารี (สิงคโปร์) พ่อเฒ่ากับสองผู้ลี้ภัยกลางฤดูหนาว ของแลมป์ เลดี้ ดร.ไนติงเกล (เมียนมาร์) และน้ำในขวด ของเซฟรี อารีฟ (บรูไนดารุสซาลาม)

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กวี นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ปี 2530 จากรวมเรื่องสั้น “ก่อกองทราย” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559

 

ปัจจุบัน (2562) รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร จ.พิษณุโลก มีผลงานเขียนทางวรรณกรรมทั้งบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ และงานเขียนทางวิชาการด้านทฤษฎีวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์

 

บทความนี้จะวิเคราะห์ผู้หญิงกับนัยแห่งการจ้องมองและการคุกคามทางเพศด้วยวาจาเปรียบเทียบกับการข่มขืนซ้ำผ่านสื่อ

 

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา ให้ “หล่อน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือแสดงความเห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้ ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

 

เรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องของเธอผู้เป็นพนักงานประจำคาเฟ่ในโรงแรม เริ่มต้นเมื่อเช้าวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุอาคารห้าชั้นยุบถล่มลงมาโดยไม่มีเค้าลางหรือสัญญาณเตือน เธอติดอยู่ใต้ซากตึกกับชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นเวลาสี่วัน เขาพูดให้กำลังใจและเสียสละช่วยเธอจนตัวตาย เธอรอดชีวิต ทำให้รายการโทรทัศน์ติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่สิ่งที่เธอได้ตอบคำถามพิธีกรชายหญิง ซึ่งอยากรู้แค่เรื่องติดอยู่กับชายหนุ่มแปลกหน้า กลายเป็นความบันเทิงที่สุดท้ายทำให้เธอต้องสูญเสียตัวตนและคนรักไป

 

 

ผู้หญิงกับนัยแห่งการจ้องมอง

 

หลังเธอติดอยู่ใต้ซากตึกเป็นเวลานานสี่วันและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกสามวัน หลายคนเห็นด้วยที่เธอจะไปออกรายการโทรทัศน์ เพื่อ “ให้กรณีของหล่อนเป็นอุทาหรณ์สำหรับเพื่อนมนุษย์คนอื่น” และ “ทั้งหมดจะนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดสำนึกและความรับผิดชอบในใจของเหล่านายทุนเห็นแก่ได้” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 19) โดยมีคนรักคอยสนับสนุนและไปเป็นเพื่อน

 

แต่แทนที่เธอจะได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาคารห้าชั้นยุบถล่มลงมา เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดความตื่นตัวและสำนึกรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากลุ่มนายทุนหรือภาครัฐ พิธีกรชายหญิงกลับสอบถามแต่เรื่องที่เธอกับชายหนุ่มติดอยู่ใต้ซากตึก

 

 

“ในกรอบสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ของเครื่องรับโทรทัศน์นั้น หล่อนเห็นตัวเองนิ่งอึ้งเหมือนคนเป็นใบ้ นัยน์ตาเบิกกว้างเหมือนหนึ่งได้เผชิญกับความพรั่นพรึงในทันทีทันใด และแล้วหล่อนปล่อยคอตก ยกมือปิดหน้า ภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวของหล่อนอีกต่อไป แต่มันคือใครสักคนหนึ่งที่หล่อนคุ้นเคยซึ่งกำลังถูกพันธนาการอยู่บนแท่นเขียงขนาดใหญ่ สิ้นคิดและไร้หนทางป้องกันตัวเอง ในขณะที่คนพวกนั้นกำลังช่วยกันเปลื้องต่อหน้าผู้คนที่นั่งดูกันเรียงรายด้วยใจจดจ่อ ต่อหน้ากล้องบันทึกภาพที่คอยกวาดส่ายเหมือนดวงตาของเหล่าปีศาจ พวกเขาทั้งหมดกำลังจ้องดูเธออย่างห่ามกระหาย”

(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ข้อความข้างต้น เมื่อเธอตกลงไปออกรายการโทรทัศน์ หมายความว่าเรื่องราวส่วนตัวของเธอต้องถูกเปลื้องต่อหน้าสาธารณะ การถูกกล้องและพวกเขา “จ้องดูอย่างห่ามกระหาย” กลายเป็นมายาคติที่ผู้หญิงตกเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง (gaze) ในสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) โดยนำเสนอผ่านสื่อ “ด้วยวิธีการอันชาญฉลาดและชำนิชำนาญต่อหน้าผู้คนที่นั่งดู” ซึ่งถูกทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนชื่อเรื่องสั้น เพราะเธอมาออกรายการด้วยความสมัครใจ จึงขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะสงสาร เห็นใจ และตีความวาทกรรมคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติหรือความบันเทิง

 

ทั้งนี้ การเห็นตัวเองในโทรทัศน์จึงเป็นการถูกจ้องมองซ้ำ หลังถูกกล้องและผู้ชมในห้องส่งจ้องมองก่อนหน้า กระแสความคิดของเธอหลังเห็นตัวเองปรากฏผ่านสื่อจึงตอกย้ำวัฒนธรรมทางสายตาที่นอกจากแฝงรหัสด้วยภาพเคลื่อนไหวแล้ว มุมกล้องยังสื่อถึงประเด็นที่รายการเลือกนำเสนอภาพได้อีกด้วย สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ความหมายเชิงสังคมหรือจินตนาการว่าผู้หญิงตกเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองและความปรารถนาทางเพศ

 

 

การคุกคามทางเพศด้วยวาจากับการข่มขืนผ่านสื่อ

 

“เอ้อ… คือผมอยากสมมุติสักนิดนะครับ ผมเพียงแค่สมมุติเท่านั้นเองว่า ถ้าชายหนุ่มที่อยู่กับคุณเกิดนึกอะไรบ้า ๆ ขึ้นมา เอ้อ… คือผมคิดแบบผู้ชายนะครับ ว่าหากเขาเกิดอยากทำอะไรขึ้นมาที่มันไม่ดีกับคุณ… คือผมคิดว่ามันอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น คุณเป็นหญิงสาวไม่มีทางป้องกันตัวเอง และในที่ลี้ลับ อย่างนั้น… คือคนเราน่ะ มันมองไม่ออกหรอกใช่มั้ยครับว่าลึก ๆ แล้วเขาคิดอะไรอยู่…”

(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ข้อความข้างต้น เป็นคำถามย้ำของพิธีกรหนุ่มซึ่งคุกคามทางเพศด้วยวาจา (verbal harassment) โดยใช้คำพูดเพื่อสร้างสถานการณ์สมมุติที่กลายเป็นการล่วงเกินทางเพศ ผ่านคำถามถึงความสัมพันธ์ของเธอกับชายหนุ่มที่นอนทับกันใต้ซากตึกตามลำพังถึงสี่วัน พิธีกรชายใช้ทัศนคติ “แบบผู้ชายทั่วไป” มาตัดสิน เพราะพนักงานคาเฟ่ในโรงแรมต้องแต่งชุดสั้นและรัดรูป ซึ่งเป็นการวิจารณ์การแต่งตัวของเธอที่ส่อไปในทางตำหนิ

 

ทั้งนี้ ความคิดที่ว่าการที่ผู้หญิงถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ เพราะพวกเธอแต่งตัวโป๊หรือล่อแหลม นับเป็นการมองแบบผู้ชายที่มีอคติและบางครั้งยังเป็นการเน้นย้ำและซ้ำเติมด้วยว่า สังคมไทยยังยอมรับอำนาจจากความต้องการทางเพศของเพศชายมากกว่าเพศหญิง

 

จากการยึดติดมายาคติและยึดเอาความหมายเสรีภาพทางเพศแบบอนุรักษ์ ที่คิดว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่นอกใจ ทำให้ชายคนรักของเธอ “ลุกไปจากที่ที่เคยนั่งและไม่มีโอกาสได้เห็นแม้แต่เงาในวันต่อ ๆ มา” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 25) เมื่อเธอตอบคำถามพิธีกรว่า “ถึงไม่ไว้ใจ แล้วคุณคิดว่าฉันทำอะไรได้ ฉันไม่มีทางเลือก” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ในสถานการณ์ยากลำบาก ความเป็นความตายรออยู่เบื้องหน้า “คนพวกนั้นไม่เคยรู้หรอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างหล่อนกับชายหนุ่มคนนั้น เพราะสิ่งที่พวกเขาอยากรู้และเพียรถามหาใช่สิ่งที่หล่อนตั้งใจจะบอก แต่สิ่งที่หล่อนอยากบอกนั่นต่างหากที่พวกเขาไม่ได้ถาม” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 25)

 

กลายเป็นว่าเธอต้องสูญเสียตัวตนและคนรักไป เพราะความอยากรู้ การถูกจ้องมองและคุกคามทางเพศด้วยวาจาผ่านสื่อจากการถูกกระทำซ้ำในที่สาธารณะ ไม่ต่างจากกรณีเด็กสาวที่ถูกรุมโทรมข่มขืนและไม่ยอมไปแจ้งความในตอนต้นเรื่อง เพราะ “พวกเธอคงไม่อยากถูกกระทำชำเราเป็นครั้งที่สอง” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 18) ที่เธอเคยหัวเราะเยาะและมองว่าเป็นเรื่องโง่หรือเสียสติ แต่เมื่อต้องประสบกับตัวเอง มันยิ่งกว่าการถูกข่มขืนซ้ำ ๆในที่สาธารณะ ซึ่งทิ้งค้างและตอกย้ำความรู้สึกไว้ในตอนจบเรื่องแบบปลายเปิด ให้ผู้อ่านพิจารณา

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา สะท้อนให้เห็นมายาคติและวาทกรรมในชีวิตประจำวันที่สังคมขาดความเข้าใจ ยังมองผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองหรือความปรารถนาทางเพศ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศด้วยวาจาของพิธีกรชายหญิงในรายการโทรทัศน์ก็มุ่งเน้นแต่เรื่องบันเทิงหรือข้อเท็จจริงมากกว่าความจริงที่ยังไม่ได้เล่า ไม่ (อยาก) รู้และไม่ได้ถาม “เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่ (พวกเขา) ต้องการจะรู้”

 

ดังนั้น การเห็นภาพตัวเองในโทรทัศน์จึงไม่ต่างจากการถูกข่มขืนซ้ำด้วยเรื่องเล่าของเธอผ่านกล้องและสายตาของผู้ชมที่ทำให้ความคิด ความเชื่อในชีวิตสับสน สิ้นหวัง ไม่เหลือค่า ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ต้องการอุทาหรณ์สอนใจคนอื่น แต่เธอไม่อาจโต้กลับ เหลียวมอง หรือปกป้องสิทธิ์ของตนเองในฐานะผู้ถูกจ้องมองได้เลย

 

 

บรรณานุกรม

ไพฑูรย์ ธัญญา (นามแฝง). (2562). “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย”. ใน ความรัก. กรุงเทพฯ: สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, 18-26.

รัชฎาภรณ์ ศรีรักษา. (2557). วาทกรรมการคุกคามทางเพศในชีวิตประจำวัน: การศึกษาวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์การศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สรณัฐ ไตลังคะ. (2560). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่งานวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร. (2562). ภาพถ่าย การจ้องมอง และความปรารถนาทางเพศในนวนิยายเรื่อง พญาปลา. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ ศิลปกรรมวิจัยครั้งที่ 5 “ศิลปะสร้างโลก” เล่มที่ 1. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 3-10.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

การอ้างถึง ในรวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)”

 

 

โสพล โสภณอักษรเนียม แนะนำประวัติตนเองด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวนเก้าบท ถึงที่มาที่ไปว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน เป็นคนลักษณะนิสัยอย่างไร อย่างหลังขอขยายความว่า เขาเป็นคนดีชั่วปะปนกัน “ดีดีชั่วชั่วปน ปรกติ” และไม่เคย “สูบเลือดเนื้อใคร” โดยมีครูกวีคนแรกคือ “สมโชค สิกขาจารย์” ผู้สอนให้เขาแต่งกลอนตอนม.1 เขาจึงเริ่มเสาะสร้างหนทางตนเอง จนมาพบครูอีกคนผู้เป็นต้นแบบคือ “ประมวล มณีโรจน์” ผู้ที่ทำให้เขาคิดไต่เต้าเติบโตบนเส้นทางวรรณกรรม กลายเป็น “กวีเยี่ยงลมหายใจ เข้าออก” และ “หากชีพยังใฝ่เฝ้า เพาะสร้างอย่างกวี” ซึ่งเป็นการอ้างถึง (allusion) ตนเองผ่านบทกวี ให้เห็นถึงประวัติและเส้นทางของคนธรรมดาที่มุ่งมั่น มีความคิดและจินตนาการในการสร้างสรรค์

 

“ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)” ของโสพล โสภณอักษรเนียม เป็นรวมบทกวีที่แบ่งออกเป็นสองภาค จำนวน 44 ชิ้น ไม่มากไม่น้อยเกินไป บทกวีส่วนใหญ่ในเล่มนำเสนอรูปแบบไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า และฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพหรือกลอนแปดประปราย (ที่เขาอาจแทรกไว้คั่นอารมณ์)

 

โดยจัดวางรูปแบบบทกวีเปิดเล่มภาคแรกด้วย “แผ่นดินจินตกรรม” หมายถึงแผ่นดินในจินตนาการที่ถูกกระทำหรือประกอบสร้างความหมาย แนวคิด ภาษาหรือวัฒนธรรมขึ้นมาและปิดท้ายภาคหลังด้วยบทกวี “ที่ที่เราจะไป” ที่ “ใกล้คือไกล ไกลคือใกล้ ที่ที่อนาคตเพียงล่วงผ่าน และอดีตกาลรอเราอยู่ปลายทาง” หมายถึงเราต้องรู้จักสถานที่หรือรากเหง้าตัวตนที่เป็นมา ก่อนจะก้าวไปข้างหน้า เพราะ “ที่ซึ่งปัจจุบันถูกปฏิทินฉีกทิ้งทุกขณะ และอนาคตคืออดีต”

 

ความน่าสนใจก่อนจะอ่านตัวบทคือ บทนำ “ระหว่างที่ที่เราจะไป…” : ภาพ ภาษาและกวีนิพนธ์ กับโวหารของอุดมการณ์ ของพิเชฐ แสงทอง ที่นำแนวคิดจากบทความเรื่อง Rhetoric of the Image (โวหารของภาพ) ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) มาวิเคราะห์ลายเส้นและภาพแมวในรวมบทกวีเล่มนี้ ให้เราพิจารณาความหมายของภาษา โวหาร และภาพไปพร้อมกัน

 

บทความนี้จะศึกษาและวิเคราะห์การอ้างถึงในรวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)” ของโสพล โสภณอักษรเนียม

 

เพียงชื่อของกวีก็สื่อถึงการปะทะกันของความหมาย ในบทกวี “ประเทศของเรา (บทกวีของโสพล อักษรเนียม)” ที่แม่แจ้งนายทะเบียนว่าชื่อ “โสพล” พอเข้าโรงเรียนครูกลับเรียกเขาว่า “โสภณ” โดยอิงความหมายตามพจนานุกรม และเขาก็ใช้ชื่อหลังนี้อยู่หกปี จนเข้าเรียนชั้นมอหนึ่งจึงกลับไปใช้ชื่อเดิมตามที่แม่ตั้งให้ ก่อนจะกลายมาเป็นนามปากกาโสพล โสภณอักษรเนียมตามชื่อปกหนังสือเล่มนี้ สื่อความหมายว่าเรื่องราวเล็ก ๆ ในชีวิตก็สามารถนำมาเล่าเรื่องได้ และการปะทะกันของความหมายของชื่อที่แม่-หญิงพื้นเมืองคนหนึ่งตั้งชื่อลูกว่า “โสพล” (คำว่า พล หมายถึง กำลัง) กลับถูกครูและพจนานุกรมเปลี่ยนความหมายไปสู่ “โสภณ” หมายถึง งาม จึงเกิดพรมแดนของภาษากับการมีความหมาย การไม่มีความหมาย และตัวตนที่ถูกครอบงำทางความคิด ให้เราเชื่อหรือคล้อยตามไปกับอิทธิพลหรืออำนาจของภาษาที่แฝงเร้นแม้กระทั่งชื่อ สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันทางภาษาระหว่างแม่กับครู

 

 

ขอบฟ้าความคิดกับรูปรอยของถ้อยคำ “าควมรจิง”

โสพลเปิดเล่มภาคแรกด้วยบทกวี “แผ่นดินจินตกรรม” กล่าวถึงขอบฟ้าความคิดที่ถูกสืบทอด “นับเนื่องแต่มะโว้สุโขทัย เลื่อนไหลมวลสารจักรวาลทัศน์” สะท้อนให้เห็นการ “กุม ครอบ กำหนด” โดยอ้าง “ความร่มเย็นเป็นสุขทุกสิ่งปวง” อันเป็นความจริงขั้นปรมัตถ์ให้เราเชื่อและผลิตซ้ำวาทกรรมชาตินิยม ที่บทสรุปของบทกวีได้ตอกย้ำว่า “ขอบฟ้าโพ้นไกลไม่มีจริง” หมายความว่า แม้ความจริงที่เรารับรู้ก่อนหน้าจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่กลายเป็นการอุปโลกน์ความคิด “ก่อพรมแดนสังกัดรูปขอบฟ้า” เพื่อสมาทานการ “เบียดขับเมินหมิ่นแผ่นดินอื่น หยัดยืนความหมายไว้เหนือกว่า”

 

ดังนั้น ชุดความรู้จากมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดจึงกลายเป็นการผลิตความจริงให้จริงยิ่งกว่า จนความจริงกลายเป็น “าควมรจิง” ที่โสพลเล่นล้อกับภาษาที่มีชีวิต เลื่อนไหลและสลับที่กันได้ เพื่อยืนยันว่าความจริงอาจมีความจริงอีกชุด หลายชุดหรือไม่มีแม้แต่ความจริงใดในโลกนี้

 

สุดท้ายความจริงที่เรารับรู้และเชื่อถืออาจเป็นสุสานทางความคิดหรือความจริง คือสิ่งไม่แน่นอนเป็นสิ่งแน่นอน และความไม่แน่นอนกลายเป็นสัจจะที่นิยามหรือสมมติขึ้นเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ไม่ควรปิดกั้นความคิดให้ติดอยู่ในกรอบหรือถูกครอบด้วยวาทกรรมต่าง ๆ จนไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง หรือความหมายที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากชุดความรู้หรือประสบการณ์ชีวิต จนต้องตกอยู่ “ใต้อาณัติของภาษา” หรือรูปรอยของถ้อยคำที่ยังมีความจริง-ลวงให้ไขว่หาและฝ่าข้ามออกไปจากขอบฟ้าหรือกระหม่อมกะลาของตนเอง

 

ข้อสังเกตคือ ขอบฟ้าหรือองค์ประกอบทางความคิดบางส่วนของโสพลยังถูกชุดคำและกรอบของฉันทลักษณ์ครอบไว้ จนบางบทกวีวิพากษ์ค่อนข้างอ่านและตีความยาก “ภายใต้รูปสัญญะ” จน “แย้งย้อนผลิตซ้ำความคิดนึก เป็นผลึกอำนาจทุกชาติไป”  ที่ยังดูแข็งกร้าว ไม่ปลดปล่อยให้เป็นอิสระเหมือนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

การอ้างถึงในบทกวีไร้ฉันทลักษณ์

การอ้างถึง (allusion) คือการนำชื่อบุคคล ตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ เรื่องราวในอดีต นิทาน วาทะสำคัญที่รู้จักกันดีแล้วมาอ้าง ทำให้สื่อความหมายได้รวดเร็วและลึกซึ้ง เช่น บทกวี “ใต้พลุไฟดวงหนึ่ง” โสพลยกเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลกมาปิดท้ายบทกวีด้วยภาพพจน์กล่าวเกินจริง (hyperbole) ได้สัมผัสใจ สื่อความหมายพื้นที่ผ่านสงครามที่ใช้นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพกลาง “สนามรบต่างหากคือบ้านของเรา” ที่ขนของมัน  “ปลิดผล็อยราวปุยหิมะ ถมท่วมยอดเขาพระสุเมรุ” เป็นการใช้ภาพพจน์คำตรงข้าม (paradox) ความหนักเบาที่ลึกซึ้งและก่อจินตภาพ จังหวะคำลงตัว กระตุกความคิดว่าดินแดนที่มนุษย์ยังไม่หยุดเข่นฆ่าทำลายล้าง ความสูญเสียโศกเศร้าย่อมถมท่วมสถานที่หรือโลกที่เราอยู่อาศัย

 

หรือการอ้างถึงสถานที่จากบทกวี “เงา (ไม่มีใครอยากไปปัตตานี) ของอภิชาติ จันทร์แดง” ได้รับรางวัลชนะเลิศพานแว่นฟ้า ปี 2553 ในบทกวี “สงครามที่หน้าประตู” ที่นำเสนอให้ตัวละครผัวเมียทุ่มเถียงกันเรื่อง “ผม” จะไปปัตตานี “จะไปไหน!ไปตานี ไปทำไม!อันตรายรู้ไหม” (ซ้ำ) “จะไปไหนนนนนนนนน!…ไปตานี… ไปทำไมมมมมมมมมมมมม!… อันตรายรู้ไหมมมมมมมมมม”-เมียผมถาม” (โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 74-75) ที่โสพลไม่ยึดติดอยู่ในกรอบฉันทลักษณ์หรือจำนวนคำของกลอนสุภาพ โดยออกแบบให้คำถามรัวของเมียยาวทะลุไปอยู่อีกหน้า สุดท้ายเหตุทะเลาะหน้าประตูก็เป็นสงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่ “ผม” ไม่ต้องไปถึง “เมืองตานี”

 

มันคือคราบไคลเกลือ

บนแผ่นหลังเสื้อของพ่อ

นิ่งสงบอยู่บนราวใต้ถุนบ้าน

หลังกรำงาน เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์

ในเรือนไร่แรงร้อน

ดูสิ รอยกระด้างกระด่าง

ขีดร่างเป็นแผนที่

ชำแรกแตกลาย

เป็นต้นไม้ สายน้ำ ภูเขา ทุ่งราบ

และผู้คน

ในขอบเขตปริมณฑล

ที่พรมแดนแสนพร่าเลือน

มันเป็นคราบไคลเกลือ

ชำแรกมาจากเลือดเนื้อ

ที่อองรี มูโอต์ ไม่เคยค้นพบ.

(โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 110)

 

บทกวีข้างต้นชื่อ “อองรี มูโอต์ไม่เคยบันทึก” โสพลอ้างถึงพ่อกับอองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสถึงการบันทึกแผนที่ทางภูมิประวัติศาสตร์กับชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่ต่างกันเพราะแผนที่ของพ่อเกิดจากเลือดเนื้อเหงื่องานบนแผ่นหลังเสื้อ ที่อองรี มูโอต์อาจไม่เคยเห็น สำรวจ ค้นพบหรือเรื่องราวเล็ก ๆ ของพ่อไม่เคยถูกบันทึกไว้ สะท้อนให้เห็นมิติความสำคัญของประวัติศาสตร์ส่วนรวมกับส่วนตัวในเชิงเปรียบเทียบ

 

หยดน้ำค้างกลุ่มหนึ่ง

เกาะใสบนกลีบกุหลาบหน้าบ้าน

สงบนิ่งอยู่ในเงาภูเขาตะวันออก

ฉันรู้- –

สักครู่มันจะค่อย ๆ หมาดแห้งด้วยแดดยามสาย

ระเหยหายกลายเป็นเมฆฝน

ปกคลุมผืนป่า

ทั่วหุบเขา

หลวงปู่นัท ฮันห์เคยปุจฉา

เธอเห็นเมฆล่องไหลในกระดาษสีขาวไหม

นั่นล่ะ- –

กวีบทหนึ่งจึงจารึกบนหยาดน้ำค้าง

หอมกรุ่นสุคนธมาลย์อยู่ในวรรควลี.

(โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 97)

 

บทกวีข้างต้นชื่อ “กุหลาบของนัท ฮันห์” โสพลอ้างถึงหลวงปู่นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ที่ปุจฉาปริศนาธรรมผ่านอาการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ สอดแทรกแนวคิดหรือปรัชญาตะวันออกเรียบง่ายว่า หากเราเฝ้าสังเกตและเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าด้วยตาและใจตนเองผ่านการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ก็จะพบธรรมะและบทกวีที่ล้วนเกิดจากธรรมชาติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับการเคลื่อนที่ของชีวิต สายน้ำ ก้อนเมฆหรือลมหายใจ

 

นอกจากนี้ รวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย) ยังมีมุมมองที่โสพลแสดงทัศนะต่อคนรุ่นใหม่-เก่า กระแสโลกาภิวัตน์ ปรากฏการณ์สังคมร่วมสมัย ธรรมชาติ ความรัก ความทรงจำและความเป็นอื่น (otherness) นำเสนอผ่านการเล่าเรื่องและสร้างตัวละคร อ้างถึงบุคคลและสถานที่ที่มีอยู่จริงในโลก ชีวิต ประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรม เป็นการประกอบสร้างความจริงอีกรูปแบบหนึ่งในมุมมองของตนผ่านความจริงหลากหลายรูปแบบได้โดดเด่น น่าสนใจและมีเสน่ห์อยู่ในรูปรอยถ้อยคำจากประสบการณ์ชีวิตที่ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวของเขาและเราเอง จนกลายเป็นการจำลองความจริงให้อยู่เหนือความจริงอีกชุด ที่ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นความจริงแท้หรือแค่เล่นล้ออยู่กับ “าควมรจิง”

 

 

บรรณานุกรม

มติชน. (2547). พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพฯ: มติชน.

โสพล โสภณอักษรเนียม (นามแฝง). (2562). ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย). พัทลุง: นกเช้า.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

สถานะของ “แรงงาน” และวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม ในเรื่องสั้นขององค์ บรรจุน

 

“ขอมอบคุณค่าความดีอันเกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ให้กับ “ผู้อ่าน” ที่ได้ผ่านพบความงามอันเกิดจากความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม อันเป็นเสน่ห์เฉพาะพื้นที่ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง การเดินทางทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจ และความเข้าใจย่อมนำมาซึ่งความผาสุกระหว่างกัน”

 

ข้อความข้างต้น เป็นคำอุทิศจากรวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ” ขององค์ บรรจุน นักเขียนไทยเชื้อสายมอญ ผู้ทำหน้าที่สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันจากประสบการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเขายอมรับและแสดงตัวตน ความเป็นชาติพันธุ์ผ่านงานวรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าที่มุ่งเน้นความเข้าใจ “ตนเอง” ไปสู่ความเข้าใจ “คนอื่น” เพื่อการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ (identity)

 

รวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ” ขององค์ บรรจุน ประกอบด้วยเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง กล่าวถึงคนชายขอบหรือแรงงานต่างด้าวที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก่อนประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสะท้อนความเป็นอื่นของคนชายขอบและแรงงานต่างด้าวในบริบทภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ผ่านมุมมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ และแรงงานต่างด้าวกับนายจ้างที่ถูกกดขี่ข่มเหงทั้งกายและใจ การใช้ความรุนแรงและเอารัดเอาเปรียบ

 

 

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ขององค์ บรรจุน พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ครั้งที่ 14 ปี 2560 โดยจะวิเคราะห์สถานะตัวละครผู้เล่าเรื่องและแรงงานต่างด้าวที่ถูกกล่าวถึงกับวาทกรรมชาตินิยม (nationalism)

 

เรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ให้ “ฉัน”หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นตัวละครผู้เล่าเรื่องที่เป็นพยานแบบผู้รู้ในแนวกระแสสำนึก เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวเองและแรงงานต่างด้าว

 

กล่าวเฉพาะ “ฉัน” ที่ “ถูกปลุกขึ้นมาโดยหญิงชายคู่หนึ่งเมื่อตอนโพล้เพล้ ปกติแล้วฉันมักอยู่ในห้องแคบ ๆ เงียบ ๆ ตามลำพังตลอดช่วงพระอาทิตย์ส่องเกือบทุกวัน บางทีจึงจะมีคนนั้นคนนี้นั่งพูดคุยให้เห็นในวันหยุด แต่ไม่บ่อยครั้งนัก แม้ร่างกายของฉันจะคล้ำเกรียมเหมือนกิ่งไม้โยกคลอนทั้งร่าง” (องค์ บรรจุน, 2560: 53)

 

ข้อความข้างต้น เป็นบางส่วนจากย่อหน้าแรกที่ผู้เขียนใช้เปิดเรื่องสั้น ที่กล่าวถึง “ฉัน” เสมือนแนะนำตัวละครให้ผู้อ่านได้รู้ว่า “ฉัน” เป็นใคร? แต่ยังคลุมเครือ ไม่ลงรายละเอียดให้ผู้อ่านคาดเดาได้อย่างแน่ชัดนัก

 

ทั้งนี้ “สิ่งที่ฉันได้รับ มีเพียงสัมผัสทักทายลูบไล้แผ่วเบา มีบ้างที่พวกเขาบางคนหยอกล้อประสาคุ้นเคย เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับฉัน” (องค์ บรรจุน, 2560: 54-55) หรือ “คนหนึ่งเดินมาทางฉัน ท่ามกลางความมืด เดินเซมาโดนเข้าพลอยทำฉันตื่นไปด้วย ห้องสว่างพรึ่บทำให้ทุกคนมองหน้ากันไปมา…” (องค์ บรรจุน, 2560: 60)

 

จากสองข้อความข้างต้น อาจคาดเดาได้ว่า “ฉัน” คือใคร? โดยพิจารณาจากชื่อเรื่องประกอบด้วย “ฉัน” คือสวิตซ์ไฟ ตัวละครผู้เล่าเรื่องที่เป็นพยานแบบผู้รู้ที่เห็นสิ่งต่าง ๆ และเล่ามันออกมาผ่านแสงไฟ จากการ “ถูกปลุกขึ้นมาโดยหญิงชายคู่หนึ่ง” หรือ “เดินเซมาโดนเข้าพลอยทำฉันตื่นไปด้วย” นับเป็นตัวละครที่เป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ผู้เขียนใช้ “บุคคลวัต” (personification) กล่าวถึง สวิตซ์หรือแสงไฟซึ่งไม่ใช่คน แต่มีกิริยาอาการ ความรู้สึกนึกคิดเหมือนอย่างคนนั่นเอง

 

 

สถานะของ “ฉัน” และ “แรงงานต่างด้าว” ในเรื่องสั้น

ก่อนที่แรงงานต่างด้าวจะมาอยู่ในห้องของตึกสูง 7 ชั้นนี้ มีหนุ่มสาวที่หมุนเวียนกันมาไม่ซ้ำหน้า และรุ่นก่อนคงเป็นแรงงานไทยจากภูมิภาคอื่นที่อพยพเข้ามาทำงานในโรงงานที่ผู้เขียนระบุสถานที่ในเรื่องสั้นว่า “อยู่ในซอยโรงแก๊ส ถนนพระราม 2 ใกล้กับสะพานแม่น้ำท่าจีน”

 

แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นแรงงานข้ามชาติในบริบทเศรษฐกิจก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีทั้งพม่า ลาว กัมพูชา และอื่น ๆ

 

“ตามมุมห้องด้านที่ชิดกับกระดานอัดมีหิ้งพระอยู่ 4 หิ้ง วางพระพุทธรูปองค์เล็ก เป็นพระพุทธรูปหยกสีขาวปากแดงปางถวายเนตรต่างจากที่เคยเห็นเป็นสีทอง บนหิ้งมีลูกประคำไม้และของจิปาถะวางไว้รวมกัน แจกันดอกไม้สดหิ้งละสองใบ ฉันเห็นเขามักซื้อดอกไม้สดมาเปลี่ยนให้เสมอ อันนี้แหละที่ฉันเห็นว่ามันไม่เป็นขยะ มันทำให้ฉันรู้สึกสดชื่นทุกครั้งเมื่อได้เห็น อีกอย่างที่ฉันสังเกตมานานแล้วคือรูปเจดีย์สีทององค์ใหญ่ แต่แปลกที่ฐานมันแจ้ มีฉัตรข้างบน ไม่เหมือนพระปฐมเจดีย์ในรูปที่คุ้นเคย ส่วนหงส์สีทองน่ารักดีเหมือนกัน แต่ตัวค่อนข้างอ้วน ขาสั้น คอสั้น ไม่เหมือนหงส์ตามเสาไฟข้างทางที่สวยกว่าเป็นไหน ๆ…”

(องค์ บรรจุน, 2560: 59)

 

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกของฉันที่บรรยายสภาพห้องที่แรงงานต่างด้าวอยู่ร่วมกัน แสดงให้ผู้อ่านรู้ว่าพวกเขานับถือศาสนาพุทธ เพราะมีหิ้งพระอยู่ตามมุมห้อง และพวกเขายังเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าสัญชาติมอญ สังเกตจาก “รูปเจดีย์สีทองฐานแจ้” และ “หงส์สีทอง” ที่วางอยู่บนหิ้งพระ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมอญเคารพนับถือ

 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังกล่าวถึงอาหารการกิน ตัวอักษรและการแต่งกาย ซึ่งระบุถึงชาติพันธุ์มอญที่มีอัตลักษณ์และนำติดตัวมาคราอพยพย้ายถิ่นด้วย

 

แต่ข้อความสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในตัวบทที่หยิบยกมาข้างต้นคือ “อันนี้แหละที่ฉันไม่เห็นว่ามันเป็นขยะ” ซึ่งฉันมีอคติที่มองว่าแรงงานต่างด้าวชาวมอญที่อยู่ร่วมห้องและตึกเดียวกันเป็น “ขยะ” เพราะ “จะว่าไปแล้ว คนพวกนี้ไม่มีอะไรเหมือนฉันสักอย่าง พวกเขาไม่มีประโยชน์อะไรกับฉัน คงไม่ผิดนักหรอกหากว่าฉันจะมองพวกเขาเหล่านั้นเป็นขยะเคลื่อนที่ได้ พวกเขาเป็นขยะในสายตาของฉันอย่างแน่นอน…” (องค์ บรรจุน, 2560: 64)

 

ทั้ง ๆ ที่ฉันมีสถานะเป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิต แต่กลับกล่าวถึงแรงงานต่างด้าวชาวมอญว่าเป็นขยะ เพราะพวกเขา “ไม่มีอะไรเหมือนฉันและไม่มีประโยชน์อะไรกับฉัน” ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นอคติทางเชื้อชาติที่ถูกแบ่งแยกความเป็นเขาและเราจนกลายเป็นคนอื่น (others)

 

นอกจากสวิตซ์ไฟจะมองแรงงานต่างด้าวชาวมอญร่วมห้องเป็นคนอื่นแล้ว ลูกชายนายจ้างก็มีอคติไม่ต่างกันและยังปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความไม่เท่าเทียม กดขี่ข่มเหงและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ในขณะที่ฉันมองแรงงานต่างด้าวชาวมอญเป็นขยะไร้ประโยชน์ และอาจลืมไปว่าตนเป็นวัตถุหรือสิ่งไม่มีชีวิต เมื่อถึงวันหมดสภาพใช้งานก็มีสภาพไม่ต่างจากขยะเช่นเดียวกัน

 

ดังนั้น ไม่ว่าแรงงานต่างด้าวชาวมอญหรือสวิตซ์ไฟต่างก็มีสถานะไม่ต่างกัน ทั้งความเป็นอื่นและขยะ ซึ่งผู้เขียนเปรียบเทียบให้เห็นภาพ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวชาวมอญเพศหญิงที่ถูกลูกชายนายจ้างฉุดไปข่มขืนและห่อด้วยผ้าถุงสีแดงยกดอกดำละเอียดเชิงลายดอกพิกุลทิ้งลงมาจากชั้น 7 สะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจและหดหู่ไปกับชะตากรรมของแรงงานต่างด้าว ผู้กลายเป็นเหยื่อจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม

 

 

แรงงานต่างด้าวกับวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม

พฤติกรรมของลูกชายนายจ้างที่ชอบดื่มเป็นประจำและมักฉวยข้อมือ กอดรัดแรงงานต่างด้าวเพศหญิง บางครั้งก็ใช้อำนาจข่มขู่หรือใช้กำลังฉุดไปทำร้ายและข่มขืน จากความเชื่อผ่านข้อความว่า “โสนะน่า… พวกมึงเผากรุงศรีอยุธยาของกู มึงเลยต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้พวกกู…” (องค์ บรรจุน, 2560: 58)  ซึ่งเป็นความคิดเชิงอุดมการณ์เรื่องประวัติศาสตร์และชาตินิยม ที่ใช้เป็นข้ออ้างบีบบังคับ เอาคืนหรือกดทับแรงงานต่างด้าวด้วยการ “ต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้” ที่มีลักษณะแนวคิดแบบคลั่งชาติ (chauvinism) ซึ่งในเรื่องสั้นนี้คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนหรือพวกพ้องจะได้รับจากแรงงานต่างด้าว

 

เรื่องสั้น “สับสวิตซ์” ขององค์ บรรจุน มีความโดดเด่นในการใช้ “สวิตซ์ไฟ” เป็นตัวละครผู้เล่าเรื่องที่แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ในเล่ม แม้จะสะท้อนแนวคิด ความรู้สึกด้วยสายตาแบ่งเขาแบ่งเราจากความเป็นอื่นด้วยอคติแบบเดิมอยู่ แต่เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจก่อนเข้าสู่บริบทสังคมอาเซียน

 

นอกจากนี้ ฉันหรือสวิตซ์ไฟยังมองคนอื่นเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ โดยลืมหันมองตนเอง เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นมิติความสัมพันธ์ผ่านภาษากับสถานะของแรงงานและวาทกรรมประวัติศาสตร์ชาตินิยม ไม่เฉพาะลูกชายนายจ้างที่ปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวเท่านั้น แต่ฉันหรือสวิตซ์ไฟยังมีสายตาที่ “ไม่แน่ใจว่ามันอาจเป็นผลเสียต่อแผ่นดินที่ฉันอยู่นี้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้”  เป็นอุดมการณ์ชาตินิยมแบบคลั่งชาติ ไม่ต่างจาก “พวกมึงเผากรุงศรีอยุธยาของกู มึงเลยต้องมาเป็นขี้ข้ารับใช้พวกกู”  ที่ยังถูกปลูกฝังในสังคมไทย ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

บรรณานุกรม

ชาคริต แก้วทันคำ. (2561). ภาพสะท้อนความเป็นอื่นของคนชายขอบในรวมเรื่องสั้น “บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ. วิวิธวรรณสาร. 2(1): 111-128.

องค์ บรรจุน. (2560). บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: แพรว.

สรณัฐ ไตลังคะ. (2560). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่ออ่าน “เรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม” จบ

 

“ความสั้นมิใช่อุปสรรคในการสื่อสาร แต่มันคือพลังสร้างสรรค์ที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา” (น.7)

 

ข้อความข้างตันคัดมาจากคำนำผู้จัดพิมพ์ ซึ่งมีนิคม ชาวเรือเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “เรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม” โดยรวบรวมเพื่อนมิตรที่นับถือในวงการอีก 5 คนมาเป็นกรรมการจัดประกวด ประกอบด้วย จรัญ หอมเทียนทอง  เจน สงสมพันธุ์  สุพัฒน์ คงอาษา  ชัยพร อินทุวิศาลกุล  และขจรฤทธิ์ รักษา ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการและคัดกรองต้นฉบับที่มีผู้สนใจส่งเข้าประกวดมากถึง 620 เรื่อง คัดให้เหลือเพียง 50 เรื่อง เพื่อรวมเล่มและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของผลงานคนละ 1,000 บาท

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม จำนวน 5 เรื่อง โดยจะวิเคราะห์ความหมายและตอนจบของเรื่องที่ก่อให้เกิดการหักมุมในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง

 

 

ความหมาย ตอนจบและคำว่า “หักมุม”

 

เรื่องสั้น คือเรื่องเล่าขนาดสั้นที่ใช้คำน้อย เพื่อสร้างความหมายให้มากที่สุด มีโครงเรื่องและเหตุการณ์ไม่ซับซ้อน มีตัวละครแค่ 1-3 ตัว เพื่อมุ่งเน้นความกระชับของเนื้อเรื่องและความชัดเจนของแนวคิดที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์ผู้อ่าน

 

ดังนั้น เรื่องเล่าที่ดีต้องประกอบไปด้วยโครงเรื่อง แก่นเรื่อง ฉาก ตัวละคร บทสนทนา เทคนิคหรือกลวิธีการนำเสนอและการปิดเรื่อง

 

กล่าวสรุปเฉพาะการปิดเรื่อง (ending) หรือตอนจบของเรื่อง ผู้เขียนจะกำหนดเองว่าให้เรื่องจบอย่างไร ตามการศึกษาองค์ประกอบวรรณกรรมของจิตรา รุ่งเรือง (2557: 23-24 อ้างถึงใน รัตติกา กรรณิกา, 2559: 9) มี 4 ลักษณะดังนี้

 

1) การจบเรื่องแบบสุขนาฏกรรม คือการจบเรื่องโดยให้ตัวละครเอกสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ ประสบความสำเร็จหรือมีความสุขในชีวิต

2) การจบเรื่องแบบโศกนาฏกรรม คือการจบเรื่องโดยให้ตัวละครพบกับความผิดหวัง สูญเสียสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบางครั้งจบลงด้วยความตาย ซึ่งก่อให้เกิดความสะเทือนใจแก่ผู้อ่าน

3) การจบเรื่องแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมาย คือการจบเรื่องแบบผิดไปจากความคาดหมายของผู้อ่าน เพราะขณะที่อ่านเรื่องสั้น ผู้อ่านคาดหมายว่าเรื่องน่าจะจบอย่างหนึ่ง แต่เมื่ออ่านจนจบแล้ว เรื่องกลับไปจบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านไม่คาดฝันมาก่อน

4) การจบเรื่องแบบทิ้งท้ายหรือปลายเปิด คือการจบเรื่องโดยผู้แต่งไม่ได้เฉลยวิธีแก้ไขปัญหาที่ตนได้สร้างไว้ในเรื่อง แต่จะปล่อยให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบเอง”

 

วิเคราะห์เรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม

 

เรื่องสั้น “พร 3 ประการ” ของutthaphon ให้ “ฉัน” เป็นตัวละครหลักและเล่าเรื่องที่ประสบพบมา เรื่องเกิดขึ้นเมื่อชายหนุ่มพาหญิงชราเข้าร้านอาหาร ทุกครั้งฉันต้องไปรับออเดอร์และสงสัย เมื่อถึงเวลาเช็คบิลจะมีเงินวางอยู่บนโต๊ะเท่ากับค่าอาหารพอดี

 

วันหนึ่งฉันจึงถามชายหนุ่มว่าเงินค่าอาหารโผล่ออกมาหลังจากเขาเคาะโต๊ะได้อย่างไร พรข้อแรกเฉลยว่า ชายหนุ่มพบตะเกียงวิเศษ เขาไม่อยากเป็นเศรษฐีในพริบตา แต่ขอให้มีเงินโผล่ออกมาเท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย ทำให้ฉันทึ่งในความฉลาดของเขา

 

พรข้อสองถูกขอให้เขาได้ผู้หญิงที่สวยที่สุดมาเคียงคู่ แต่กลับพบปัญหามากมาย เขาจึงใช้พรข้อที่สามให้หล่อนหายไป และขอผู้หญิงที่รักเขาอย่างจริงใจมาอยู่แทน

 

“เจ้ายักษ์มันเลยปลุกแม่ที่ตายไปแล้วของผมขึ้นมา” (utthaphon, 2562: 17)

 

ข้อความข้างต้น เป็นประโยคจบเรื่องที่หักมุมแบบพลิกความคาดหมาย ผู้เขียนนำเสนอเรื่องในแนวแฟนตาซี ผ่านการใช้สัมพันธบท เชื่อมโยงกับนิทานเรื่องอะลาดินกับตะเกียงวิเศษได้อย่างน่าสนใจ

 

 

เรื่องสั้น “ฟิล์มขาวดำหนึ่งม้วน” ของปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง ให้ “ผม” เป็นตัวละครหลักและเล่าเรื่องที่ประสบพบมา เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเขานำฟิล์มขาวดำม้วนแรกไปล้าง แต่ยังเหลืออีกสองรูปถึงจะหมดม้วน เจ้าของร้านเลยถ่ายรูปเขาและเขาก็ถ่ายเจ้าของร้านกลับ

 

วันรุ่งขึ้น ผมมารับฟิล์มและทราบว่าเจ้าของร้านตายแล้ว รูปสุดท้ายที่เขาถ่ายไว้จึงถูกนำไปตั้งหน้าศพ และมันทำให้ผมหันกลับไปมอง “รอยยิ้มของเขางดงามและจริงใจกว่ารอยยิ้มของใคร ที่ผมพบเห็นได้ในเมืองใหญ่แห่งนี้” (ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง, 2562: 21)

 

ข้อความข้างต้น เป็นส่วนท้ายของย่อหน้าตอนจบเรื่อง ที่เปลี่ยนอารมณ์ตกใจเมื่อผมทราบข่าวความตายของเจ้าของร้าน เขาจึงหันมาใคร่ครวญรอยยิ้มในรูปถ่ายเปรียบเทียบความจริงลวงที่พบเห็นบนใบหน้าของเมืองใหญ่ที่ย้อนแย้งกัน

 

 

เรื่องสั้น “คำถามหน้าร้านไข่เจียว” ของวุฒิเดช มนต์ชัยวิศาล ให้ “ผม” เป็นตัวละครหลักและเล่าเรื่องที่ประสบพบมา เรื่องเกิดขึ้นเมื่อลงจากรถเมล์และเดินผ่านทางเท้าที่เต็มไปด้วยแผงลอยเพื่อเลือกซื้ออาหาเย็น สุดท้ายเขาเลือกข้าวไข่เจียวหน้าห้องพัก

 

ความน่าสนใจอยู่ที่การหักมุมตอนจบ ให้ผมตั้งคำถามกับหนูสกปรกตัวหนึ่งที่ดุนหัวนิ้วโป้งตนขณะยืนรอแม่ค้าว่า “แก… นี่แกอยู่ได้อย่างไรกันนะ…” และหนูถามกลับว่า “แล้วแกล่ะอยู่มันได้อย่างไร?” (วุฒิเดช มนต์ชัยวิศาล, 2562: 49) เป็นประโยคจบเรื่องแบบพลิกผันเหตุการณ์ด้วยการซ้อนคำถามถึงสภาวะปัจเจกชนบนความแปลกหน้า ที่สะท้อนการเอาชีวิตรอดในเมืองใหญ่ให้ผู้อ่านฉุกคิด

 

ทั้งนี้ ผู้เขียนยังบรรยายสภาพของเมืองด้วยภาษาเรียบง่ายและก่อจินตภาพด้านรูป กลิ่น เสียงและสัมผัส

 

 

เรื่องสั้น “ผีรถเมล์” ของธรีรัตน์ พรมดวง ให้ “เสียงบนหน้ากระดาษ” เป็นผู้เล่าเรื่องแบบผู้รู้ เรืรองเกิดขึ้นเมื่อครูแป๋วต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนไกล เธอจึงหลับเอาแรงระหว่างทาง รู้สึกตัวว่าร้อนจนเหงื่อแตก จึงลืมตามองคนข้าง ๆ ไม่เห็นใคร ขณะที่รถด้านนอกเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว แต่รถที่เธอโดยสารจอดนิ่ง ไร้คนขับ แล้วจู่ ๆ มันก็เคลื่อนที่ช้า ๆ ด้วยความตกใจจึงรีบกระโดดลง นึกว่าอยู่บนรถเมล์ผีสิง

 

เรื่องมาหักมุมในย่อหน้าสุดท้าย “ภาพที่มองเห็นในตอนนั้นคือทั้งคนขับ กระเป๋ารถเมล์ และผู้ชายร่างกำยำ 5-6 คนกำลังช่วยกันเข็นรถเมล์ให้เคลื่อนไป เพื่อไม่ให้กีดขวางทางจราจร” (ธรีรัตน์ พรมดวง, 2562: 92)

 

ข้อความข้างต้น เป็นส่วนท้ายของย่อหน้าที่เปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันอย่างไม่คาดฝัน นับเป็นตัวอย่างเรื่องสั้นหักมุมที่เล่าล้อเลียนความจริงลวงและสิ่งที่เห็นได้น่าประทับใจ

 

 

เรื่องสั้น “กล้องคนตาย” ของรตี รติธรณ ให้ “ผม” เป็นตัวละครหลักและเล่าเรื่องที่ประสบพบมา เรื่องเกิดขึ้นเมื่อมีผู้โดยสารลืมกระเป๋าไว้บนแท็กซี่ ในนั้นมีกล้องถ่ายรูปยี่ห้อดังและเลนส์หลายตัว ทำให้เขารู้สึกขัดแย้งในใจว่าควรจะ “คืนหรือขาย”

 

หลังชื่นชมของมีค่าเหล่านั้น เขาก็สามารถเปิดเครื่องได้ ภาพส่วนใหญ่ในกล้องเป็นงานศพชายคนหนึ่ง ที่ทุกภาพจะมีตัวเขาปรากฏในงานศพตามมุมต่าง ๆ ทำให้ผมกลัวและนึกหลอนเมื่อได้ยินเสียง “ติ๋ง ๆ” ดังทั้งคืน

 

เรื่องมาคลี่คลายเมื่อแท็กซี่ใจพระออกข่าวนำกล้องคืนผู้กำกับชื่อดัง และผู้กำกับก็บอกผมว่า เขาถ่ายฉากสำคัญซึ่งเป็นตอนจบของหนังไว้ ก่อนมอบสินน้ำใจห้าพันบาท

 

เรื่องหักมุมเมื่อเขายื่นสินน้ำใจให้ภรรยา เธอบอกจะนำเงินไปซ่อมท่อประปารั่ว รำคาญเสียงน้ำหยด “ติ๋ง ๆ”

 

“เวร ผมอุทานดัง ๆ ภายในใจ” (รตี รติธรณ, 2562: 107)

 

ข้อความข้างต้น เป็นการหักมุมจบด้วยคำว่า “เวร” ที่พลิกความคาดหมายและเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน โดยไม่ทิ้งประเด็นหรือรายละเอียดที่เล่าไว้ก่อนหน้าอย่างมีชั้นเชิง

 

 

จากตัวอย่างเรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม ที่ยกมาวิเคราะห์ จะเห็นว่าแต่ละเรื่องมีตอนจบด้วยการหักมุมย่อหน้าสุดท้าย ประโยคสุดท้ายหรือคำสุดท้าย

 

ภาพรวมของเรื่องสั้นชุดนี้ คือความหลากหลายที่นักเขียนนำเสนอ ทั้งเรื่องผี เพศ ความรัก ความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง ครอบครัว ตลกขบขันและฆาตกรรม สะท้อนสัมพันธภาพที่แตกต่างระหว่างคน สัตว์ สิ่งของและเมืองตามความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ โดยเฉพาะประเด็นร่วมสมัยในสังคมที่นักเขียนไม่ได้มองข้าม เช่น เรื่องสถานะเพศที่สาม การฆ่าตัวตายและอาการป่วยทางจิต

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นชุดนี้ มีคำว่า “หักมุม” บนหน้าปก ย่อมทำให้ผู้อ่านคาดหวังสูง และก็พบว่าตอนจบในหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ยังหักมุมแบบธรรมดา บางเรื่องใช้ไม่ได้ บางเรื่องใช้มุกเก่า บางเรื่องเดาทางง่าย บางเรื่องขาดความสมเหตุสมผล และบางเรื่องปูพื้นเล่ามาดีแล้ว แต่กลับสะดุดตรงบรรทัดสุดท้าย ทำให้เรื่องไม่กระทบใจ

 

สุดท้าย เมื่ออ่านเรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุมจบ—รู้สึกผิดหวังพอสมควร

 

วินทร์ เลียววาริณ (2559) กล่าวไว้ว่า “การเขียนเรื่องสั้นให้หักมุมจบไม่ยากเท่ากับเอาใจคนอ่าน… นักเขียนจึงต้องทำงานหนักสองเท่า หักมุมในเรื่องไม่พอ ต้องหักหลังคนอ่านด้วย!”

 

สิ่งที่อยากเห็นและแอบหวังในใจคือ ควรจัดประกวดต่อไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเขียนได้สร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่และเข้มข้นมากขึ้น นักอ่านจะได้มีทางเลือกเสพงานวรรณกรรม ในยุคที่การสื่อสารสั้นกระชับและรวดเร็ว

 

 

บรรณานุกรม

ขจรฤทธิ์ รักษา (บรรณาธิการ). (2562). เรื่องสั้น 25 บรรทัดหักมุม. กรุงเทพฯ: แอร์โรว์.

รัตติกา กรรณิกา. (2559). ความขัดแย้งของตัวละครในวรรณกรรมซีไรต์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

วินทร์ เลียววาริณ (นามแฝง). (2559). หักหลังคนอ่าน. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2562, เข้าถึงได้จาก www.winbookclub.com/wormtalkdetail.php?topicid=2445.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

“พิซซ่า” กับวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ในเรื่องสั้นของแพรพลอย วนัช

 

 

 

“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ห้าหกปีหลังคลอดลูกคนที่สอง แพนแทบไม่แตะเนื้อต้องตัวเธอ บางครั้งเขามองเธอเหมือนมองก้อนเนื้อหยุ่น ๆ ก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับรังเกียจ แต่ไม่บอกความรู้สึกใดมากไปกว่าเมินเฉย ครั้งหนึ่งเธอเคยฮึดลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง โหมลดน้ำหนักลงมาได้ถึงแปดเก้ากิโล บำรุงผิวแต่งหน้าทาปากให้น่ามองขึ้น แม้ไม่สะโอดสะองเหมือนสาวแรกรุ่น กระนั้นลูกชายคนเล็กถึงกับออกปากชมว่าแม่ดูสาวขึ้นตั้งมาก ส่วนพ่อของลูกน่ะหรือ เขาไม่สังเกตด้วยซ้ำ”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 153)

 

ข้อความข้างต้น จะเห็นว่าการมีลูกทำให้เรือนร่างของเธอเปลี่ยนแปลงไป การตระหนักรู้ในเรื่องนี้ทำให้เธอลุกขึ้นมาปฏิวัติตนเองด้วยการลดน้ำหนัก เพื่อให้คนในครอบครัวเห็นคุณค่าในตัวเธอ แต่มีเพียงลูกชายคนเล็กเท่านั้นที่ “ออกปากชมว่าแม่ดูสาวขึ้น” เพราะเรือนร่างผู้หญิงยังเป็นวัตถุสำหรับการจ้องมองในระบบชายเป็นใหญ่ ส่วนสามีกลับไม่สังเกตด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่าเขากำลังสื่อถึงการไร้ตัวตนของเธอ

 

นอกจากนี้ ความรู้สึกของเธอเมื่อ “แพนแทบไม่แตะเนื้อต้องตัวเธอ บางครั้งเขามองเธอเหมือนก้อนเนื้อหยุ่น ๆ” อาจตีความได้ว่า ความเมินเฉยของเขาสะท้อนการกดทับทางเพศผ่านการแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดแจ้ง กลายเป็นระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ที่สร้างความหงุดหงิดให้กับชีวิตเธอจนขาดไร้ความสุขในครอบครัว

 

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 โดยจะวิเคราะห์ตัวละครหลักกับบทบาทความเป็นภรรยาและแม่ผ่านนัยยะวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่

 

เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช ให้ “เธอ” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือแสดงความห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้ ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

 

 

บทบาทของภรรยากับภาวะการถูกกดทับ

ชีวิตครอบครัวเธอสมบูรณ์ ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายสองคน มันควรจะมีความสุขตามแบบครอบครัวเดี่ยวทั่วไป ครั้นความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาถูกความรู้สึก “อดทนกับการประคับประคอง” มาคั่นกลาง และสามีก็ไม่สื่อสารทั้งกายและใจ ทำให้เธอเหมือนคนแปลกหน้าและไร้ตัวตนจนเกิดความเครียดและคล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้า

 

จากวัยสาวที่เคยสวยเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว สมัยทำงานมีหนุ่ม ๆ ผ่านมาขายขนมจีบ แต่เธอไม่มองใครนอกจากเขา พอแต่งงาน มีลูก ความรู้สึกที่เขาเคยสนใจในตัวเธอกลับห่างเหิน ไม่มีเธอในโลกของเขา

 

 

“เพื่อลูก— ข้ออ้างที่บอกตัวเองซ้ำ ๆ ลูกที่เธอคิดว่าจะเข้ามาเติมเต็มความขาดหายระหว่างเธอและเขา หลังจากอยู่กินกันมาแบบอด ๆ อยาก ๆ นานถึงเจ็ดปีเต็ม หากแล้วการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด จากสิ่งที่เฝ้ารอ กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกไปชั่วชีวิต อย่างน้อยก็จนกว่าเธอจะตายจากโลกนี้ไป โดยไม่คิดมาก่อนว่าการมีลูกจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะแปดปีให้หลัง”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 150)

 

ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียพื้นที่ของผู้หญิงที่เคยมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ จากการทำงานนอกบ้าน กลายเป็นการแต่งงาน มีลูก ทำให้เธอต้องกลับเข้าสู่พื้นที่ครัวเรือน ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ของภรรยาและแม่ การกลายเป็นแม่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยคาดคิด โดยเฉพาะการไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ

 

ทั้ง ๆ ที่เขาลาออกจากงานมาเปิดบริษัทรับสร้างบ้านกับเพื่อน ทีแรกก็ดีอยู่ แต่พอหลัง ๆ ลูกค้าหดหายเกิดปัญหาภายใน สร้างความเครียดให้กับเขา ซึ่งต่อมาส่งผลให้เขาละเลยหน้าที่พ่อและไม่ใส่ใจดูแลเธอ จนทำให้เธอคิดอยากแยกทาง

 

 

บทบาทของแม่กับภาระในบ้านและการเลี้ยงลูก

แม้ว่าเธอจะมีอำนาจในพื้นที่ครัวเรือน ที่ต้องรับผิดชอบการงานในบ้านและเลี้ยงลูก แต่สามีกลับผลักตัวเองออกห่างจากความรับผิดชอบอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าตนเป็นผู้นำและหาเลี้ยงครอบครัว อาจมองได้ว่าผู้เขียนเรื่องสั้นนี้ได้กำหนดบทบาทของตัวละครไว้อย่างชัดเจนผ่านเพศหญิงและชาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบ้าน จึงเป็นเรื่องที่เธอต้องจัดการแก้ไข การที่ลูกชายคนเล็ก “ยังต้องให้เธอคอยตามล้างตามเช็ดก้นให้อยู่” จึงเป็นความผิดของเธอที่ไม่สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง

 

ทั้งนี้ ความเหน็ดเหนื่อยสะสมจากการงานในบ้านและเลี้ยงลูกรุมเร้าเธอ รวมทั้งความเบื่อหน่ายในพฤติกรรม “ไม่สื่อสาร” หรือเอาแต่ตอบคำถามว่า “ก็แล้วแต่” ทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาต้องหันหน้าปรึกษากัน หรือการขับรถผละออกไปยามที่เธอปรี๊ดจากการสอนลูก เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่เขาใช้เป็นทางออก เมื่ออดทนถึงขีดสุด เธอจึงเลือกใช้วิธีนี้บ้าง กระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น

 

 

“เธอรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นเมื่อก้าวเท้าเข้าบ้าน แปลก… ไม่กี่นาทีที่จากไปรู้สึกเหมือนยาวนานชั่วชีวิต นี่ลูก ๆ คงจัดการอาหารเช้าเรียบร้อยแล้วกระมัง สังเกตได้จากคราบนมและซีเรียลที่หกเลอะเทอะบนโต๊ะ เธอลดมือจากการนวดเฟ้นท้ายทอยเพราะขัดยอก ยกชามซีเรียลเข้าไปเก็บในครัว”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 160)

จากข้อความข้างต้น การขับรถหนีออกจากบ้าน เกิดจากความเคร่งเครียดผลักดันและชีวิตของเธอคุ้นชินกับเส้นทางระหว่างบ้าน โรงเรียน ไปรษณีย์เท่านั้น หลังเกิดอุบัติเหตุ เธอไม่รู้จะไปไหนต่อ การกลับบ้านจึงหมายความว่า บ้านคือพื้นที่ของเธอ พื้นที่แห่งความรู้สึกปลอดโปร่งและปลอดภัย ที่สำคัญเธอต้องกลับมาทำหน้าที่แม่ “ยกชามซีเรียลเข้าไปเก็บในครัว” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวาทกรรมครอบครัวที่รัญวรัชญ์ พูลศรี (2562: 442) ได้ตอกย้ำบทบาทตายตัวของผู้หญิงว่า “หากบ้านปราศจากภรรยาและแม่แล้ว ครอบครัวก็ไม่อาจอยู่ในสภาพปกติได้”

 

 

นัยยะของพิซซ่ากับวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่

เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช สะท้อนวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ที่วิถีการเลี้ยงลูกแตกต่างออกไปจากเดิม การให้กินไก่ทอด พิซซ่า นมกับซีเรียล หรือให้ลูกเล่นเกมในคอมพิวเตอร์และแท็บเลต แสดงให้เห็นถึงการเน้นที่วัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก และการไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวนี้ ยังสื่อให้เห็นสัมพันธภาพที่ไม่ดีระหว่างกันด้วย

 

เหตุการณ์หลังเธอกลับถึงบ้านและเห็นว่าลูกไม่ได้กินพิซซ่าสองชิ้นที่เหลือ เมื่อลูกชายคนโตบอกว่าพ่อเก็บไว้ให้แม่ ทั้ง ๆ ที่เขารู้ว่าเธอไม่ชอบมัน ทำให้เธอมองอาหารที่ยังอยู่ในกล่องกระดาษด้วยความเข้าใจผิด แต่เรื่องก็หักมุม เมื่อลูกชายคนโตตะโกนกลับมาบอกว่า “ไมโครเวฟเสีย ใครจะกินพิซซ่าให้รอแม่กลับมาทำความสะอาดฝาอบก่อน พ่อขี้เกียจล้าง” เช่นที่รัญวรัชญ์ พูลศรี (2562: 442) ตอกย้ำว่าบทบาทของแม่ “คือผู้จัดการทุกอย่างในบ้านให้เข้าที่” ทำให้ผู้หญิงต้องจำนนต่อวาทกรรมครอบครัวในที่สุด

 

 

“มองพิซซ่าในมือแล้ววางลงในกล่องกระดาษอีกครั้งข้างชิ้นที่เหลืออยู่ วูบหนึ่งของความคิดแวบผ่าน บางทีแม่อาจพูดถูกสิบห้าปีนานพอที่จะเบื่อ แต่ยังห่างไกลคำว่าอดทน บางทีตัวเธอหรือสัมพันธภาพระหว่างเธอและเขาคงไม่ต่างจากพิซซ่าสองชิ้นนี้— ค้างคืน เย็นชืด แห้งแล้ง ไม่น่าพิสมัย อุ่นให้ตายอย่างไรรสชาติก็ไม่เหมือนเดิมนอกจาก ‘แค่พอกินได้’”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 162)

 

ข้อความข้างต้น ผู้เขียนเรื่องสั้นนี้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ในชีวิตครอบครัวตัวเองผ่านอาหารให้เห็นถึงมิติความรักของคู่รักในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจนและสื่อความหมายตามอารมณ์ของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ที่ตระหนักรู้หลังผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เธอไม่อาจหนีไปไหนได้

 

อย่างไรก็ตาม การที่เธอ “ยิ้มเนือย ๆ สิบนาทีต่อมามือยังถือกล่องพิซซ่า หากจนแล้วจนรอดก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเก็บพิซซ่าสองชิ้นนี้ไว้ที่ไหน เมื่อพบตัวเองยืนอยู่ตรงกลางระหว่างตู้เย็นกับถังขยะ” (แพรพลอย วนัช, 2562: 162) ซึ่งเป็นประโยคจบเรื่องสั้นแบบปลายเปิดให้ผู้อ่านได้ขบคิดและตีความต่อไป

 

ดังนั้น “สัมพันธภาพระหว่างเธอและเขาคงไม่ต่างจากพิซซ่าสองชิ้นนี้” เมื่อเธอต้องเลือกหรือตัดสินใจระหว่าง เก็บไว้ในตู้เย็นต่อไป แช่แข็งความรู้สึกและยอมรับกับสภาพครอบครัวแบบนี้ดังเดิม หรือจะทิ้งถังขยะ ปล่อยวางความสัมพันธ์ทุกอย่าง ทั้งบทบาทของภรรยาและแม่ที่แบกรับไว้ทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่เธอจะยอมเลือกทิ้งบ้านและครอบครัวที่ตกอยู่ใต้อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ไปได้จริงหรือ? เพราะ “แม้อยากแยกจากแพนใจจะขาด แต่ลึก ๆ เธอขลาดเกินกว่าจะก้าวออกไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้งโดยไม่มีเขา ยิ่งเมื่ออายุแตะเลขสี่มาใหม่หมาดเช่นนี้ด้วยแล้ว” (แพรพลอย วนัช, 2562: 150)

 

สุดท้าย เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช มีความโดดเด่นในการใช้ภาษาเล่าเรื่องได้กระชับและเรียบง่าย สื่ออารมณ์หงุดหงิดและเบื่อหน่ายของตัวละครให้เห็นถึงภาวะการถูกกดทับจากความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่บนระยะห่างความสัมพันธ์ของคู่รัก ผ่านบทบาทภรรยาและแม่ที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายแบกรับหรือจำนน

 

ผู้เขียนเรื่องสั้นนี้ได้ประกอบสร้างความจริงผ่านเรื่องเล่าจากวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ให้ผู้อ่านมองเห็นสัมพันธภาพและบทบาทเชิงอารมณ์ของผู้หญิงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณและคนอื่น ๆ. (2562). คนธรรพ์. ปทุมธานี: นาคร.

รัญวรัชญ์ พูลศรี. (2562). “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว: สตรีนิยมในพระราชนิพนธ์แปล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”. ใน วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. 26(1): 436-455.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

การยอมให้กับความรักของแม่ ในเรื่องสั้นของธารา ศรีอนุรักษ์

 

“หลังพ่อเสีย นานทีเดียวที่ผมไม่มีความรู้สึกคิดถึงบ้าน อาจเป็นเพราะว่าเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่แม่ยอมเลือกจะอยู่โอบเลี้ยงพี่ชายวัยสามสิบกว่า ซึ่งป่วยทางจิตมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น น้อยเนื้อต่ำใจที่แม่ไม่ยอมทำในสิ่งอันควรจะทำ อาศัยเพียงเหตุผลสั้นๆ ว่ารักลูก ไม่อยากส่งลูกไปโรงพยาบาลบ้า จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแย่ลงทุกวัน”

(ธารา ศรีอนุรักษ์, 2557:71)

 

ข้อความข้างต้น เป็นย่อหน้าแรกที่ผู้เขียนใช้เปิดเรื่องสั้น แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของผมจนเกิดเป็นความขัดแย้งภายในใจ ที่ทำให้ผมต้องต่อสู้กับความนึกคิดของตัวเอง ความรักที่แม่มีให้แก่พี่ชายมากกว่าตนเอง จึงไม่ยอมส่งพี่ชายไปโรงพยาบาลบ้าแล้วเลือกมาอยู่กับผม กลายเป็นความไม่เข้าใจในความรักของแม่ที่เป็นความเห็นแก่ตัวของผม ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับถัดไป

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “น้องไอ้บาว” ของ ธารา ศรีอนุรักษ์ นักเขียนรางวัลรพีพร ปี 2559 พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “ลายกริช” โดยจะวิเคราะห์ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งของตัวละครกับบทบาทและสัญชาตญาณความรักของแม่

 

 

เรื่องสั้น “น้องไอ้บาว” ของ ธารา ศรีอนุรักษ์ ให้ “ผม” หรือสรรพนามบุรุษที่ 1 เป็นผู้เล่าเรื่องที่ตนประสบพบมาแบบเล่าย้อนในแนวสมจริง (realism) ที่แบ่งออกเป็นสองตอนดังนี้

 

  • ผมเกิดความขัดแย้งภายในใจ เมื่อแม่ไม่ยอมส่งพี่ชายไปอยู่โรงพยาบาลบ้า แล้วขายบ้านขายที่ย้ายไปอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ เพราะพี่ชายเป็นภาระและผมคิดว่าการส่งพี่ชายไปรักษาเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย แต่แม่ก็ไม่ยอม ทำให้ผมแอบคิดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่าแม่รักพี่ชายมากกว่าผม ไม่ว่าเรื่องในอดีตที่ผมไม่ได้เรียนต่อมัธยม แต่ต้องโกนหัวไปบวชเรียน หรือการที่แม่ถอนเงินเก็บมาซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้พี่ชายขับไปโรงเรียน จนเป็นเหตุให้เขาไปมั่วสุมกับกลุ่มวัยรุ่นและพัวพันกับยาเสพติดจนกลายเป็นบ้า

 

  • ผมกลับบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ เลือกลงจากรถทัวร์ที่ปากทางถนนใหญ่ เพื่อเดินทอดน่องไปตามเส้นทางที่เคยคุ้นในวัยเด็ก และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมและผู้คนที่แปลกหน้าไปจากเดิม แล้วผมก็เห็นพี่ชายนั่งอยู่ในศาลาก่อนถึงทางเข้าบ้าน สภาพของเขาผมยาวหนวดเครารกรุงรัง นุ่งเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ทำให้ผมรู้สึกปวดร้าวใจและนึกย้อนถึงวัยเด็กกับความทรงจำอันสวยงามของพี่ชายผู้รักน้องเป็นที่สุด ผมจึงชวนพี่ชายกลับเข้าบ้านไปหาแม่พร้อมกัน แต่เขากลับตอบว่ารอน้องชายอยู่ น้องคนที่บวชและไม่กลับบ้านนานมาแล้ว

 

บทบาทและสัญชาตญาณความรักของแม่

พรธาดา สุวัธนวนิช (2550: 1) กล่าวว่า ความเป็นแม่มีความหมายต่อสรรพสิ่งในโลก เพราะแม่หมายถึงผู้ให้กำเนิด ผู้เลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กำเนิดและเกิดมา สำหรับมนุษย์ ความเป็นแม่หมายรวมถึงสถานภาพและบทบาทควบคู่กันไปหรือแยกกันก็ได้ ความเป็นแม่จึงเป็นวาทกรรมหลักที่หยั่งรากลึกในสังคมมาช้านานว่าหน้าที่และบทบาทของผู้หญิงที่สำคัญที่สุดคือความเป็นแม่

 

“แม่บอกเพียงว่าเอ็นดูพี่ชาย ไม่อยากให้อยู่กับคนแปลกหน้า แม่ยังไม่ลืมภาพเหตุการณ์ครั้งก่อนสมัยพ่อยังอยู่ ครั้งนั้นพ่อส่งพี่ชายไปรักษา พี่ร้องห่มร้องไห้อย่างคลุ้มคลั่ง ปากก็ร้อง “มันจะฆ่ากู ๆ” จนถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลากขึ้นรถก่อนฉีดยาสลบให้สิ้นฤทธิ์ พี่อยู่โรงพยาบาลนานเกือบสองปี ในที่สุดเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อให้ไปรับตัวมารักษาที่บ้านได้ แต่แล้วไม่นานหลังจากกลับมาอยู่บ้านพี่ก็เป็นอีก และส่อท่าว่าจะเป็นหนักกว่าเดิม อยู่ดี ๆ ก็คลุ้มคลั่งร้องเอะอะโวยวายว่าจะมีคนมาฆ่า แม่ต้องคอยปลอบทั้งน้ำตากว่าจะสงบและกลับสู่ปกติ แต่สักพักก็จะเป็นอีก”

(ธารา ศรีอนุรักษ์, 2557: 72)

 

ข้อความข้างต้น เป็นเหตุผลของแม่ที่คล้ายดังคำตอบ เมื่อผมเคยพูดให้แม่ขายบ้านขายที่และส่งพี่ชายไปรักษาที่โรงพยาบาลบ้า แล้วย้ายไปอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ “แต่แม่บอกเพียงว่าเอ็นดูพี่ชาย” ที่มีอาการป่วยทางจิตจากการเสพยาเสพติดและเกิดภาพหลอน คลุ้มคลั่งเอะอะโวยวายว่าจะมีคนมาฆ่า ทำให้แม่ไม่อาจทิ้งภาระการดูแลนี้ได้ เพราะ “ไม่อยากให้พี่ชายไปอยู่กับคนแปลกหน้า”

 

กล่าวได้ว่า แม่ในเรื่องสั้นนี้เป็นผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อดูแลลูก ด้วยการไม่ยอมจากบ้านหรือภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น และไม่ยอมให้ลูกชายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลบ้า เพราะไม่อยากให้ลูกอยู่กับคนแปลกหน้า ทางเลือกของแม่อาจไม่ถูกต้องในการรักษาผู้ป่วยทางจิตจากการเสพยาเสพติด อีกทั้งยังเป็นการรังแกลูกทางอ้อมด้วย แต่เหตุผลดังกล่าวก็ไม่อาจโต้แย้งความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ได้ เพราะบทบาทของแม่ต้องเสียสละ คอยดูแลเอาใจใส่ลูกตามสัญชาตญาณของความเป็นแม่

 

ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย สนใจเรื่องสัญชาตญาณและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นแรงผลักดันพื้นฐานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ทั้งในแง่ชาติพันธุ์ของมนุษยชาติและปัจเจกบุคคล ความรักเป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณทางเพศ ซึ่งรวมถึงการรักตัวเอง รักพ่อแม่ด้วย วิลเลียม แมคดูกัล (William McDougall) เห็นว่าความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกเป็นสัญชาตญาณแห่งความอ่อนโยน (tender instinct) ส่วนสัญชาตญาณความเป็นแม่ (menternal instinct) เป็นสิ่งที่มนุษย์วิวัฒน์มาจากสัตว์ซึ่งจะต้องมีสิ่งที่สัตว์เพศเมียมีคือ การเลี้ยงดูตัวอ่อนโดยธรรมชาติที่จัดสรรมาให้ก่อกำเนิดในร่างของสัตว์เพศเมีย

 

สัญชาตญาณความเป็นแม่จึงเป็นสิ่งที่กำหนดความต้องการ รวมทั้งรูปแบบของการใช้พลังงานจากการทำงานและทางสมองเอาไว้ โดยมีนักจิตวิทยาหลายคนกล่าวสนับสนุนความคิดเรื่องสัญชาตญาณ เช่น อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) กล่าวว่า ความพึงพอใจอันสมบูรณ์ที่สุดของผู้หญิงคือสภาพร่างกายได้สร้างที่ว่างในมดลูกให้แก่ผู้หญิง เพื่อเป็นที่ก่อกำเนิดทารกที่ผู้หญิงจะอุทิศกายและใจดูแลทารกที่เธอและชายที่เธอเลือกแล้วร่วมสร้างขึ้นมา เช่นเดียวกับโจเซฟ แรนโกล (Joseph Rheingold) กล่าวถึงรูปแบบทางอุดมคติของการใช้พลังงานทางกายและสมองของผู้หญิง ที่จะทำหน้าที่แม่อย่างเต็มใจและปราศจากความเห็นแก่ตัว ทำให้ผู้หญิงบรรลุเป้าหมายและดำเนินชีวิตอย่างอบอุ่นปลอดภัย บรูโน เบธเธอไฮม์ (Bruno Bettelheim) เห็นด้วยว่าผู้หญิงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้ชายและเป็นแม่ที่ดีที่สุดของลูก (พรธาดา สุวัธนวนิช, 2550: 21-22 อ้างถึงใน กาญจนา แก้วเทพ, 2541: 229-230)

 

ดังนั้น การที่ผมกลับบ้านและเห็นพี่ชายนั่งอยู่ในศาลารอน้องชายที่บวชเป็นพระ และไม่ได้กลับบ้านนานมาแล้ว ทั้งๆ ที่น้องชายพูดอยู่ตรงหน้า ส่งผลให้ผมรู้สึกสะเทือนใจและเข้าใจในเหตุผลของแม่ในตอนท้ายเรื่องโดยไม่ต้องอธิบายว่า

 

“บัดนี้… ผมเข้าใจเหตุผลแล้วว่าทำไมแม่ถึงไม่ยอมทิ้งที่นี่ โดยเฉพาะทิ้งพี่ไปอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ แม่หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความรักลูกทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างไม่เลือกอยู่ช่วงเวลาไหน ในขณะที่ผมเห็นความสำคัญของความรักก็แต่ในอดีตเท่านั้น”

(ธารา ศรีอนุรักษ์, 2557: 82-83)

ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งภายในใจ

ความขัดแย้งของตัวละคร หมายถึง พฤติกรรมของตัวละครที่แสดงออกมาเพื่อขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกันกับสิ่งที่ตนเองไม่ปรารถนา เป็นการขัดแย้งที่เกิดจากพฤติกรรมภายในอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมในสังคม ซึ่งบทความนี้จะหมายถึงความขัดแย้งของตัวละครทางจิตวิทยา

 

หลังพ่อเสีย ทำให้ผมไม่มีความรู้สึกคิดถึงบ้าน อาจเพราะน้อยเนื้อต่ำใจที่คิดว่าแม่รักพี่ชายมากกว่า จนเปลี่ยนผมจาก “เด็กชายอ่อนแอในวันวานให้กลายเป็นสามเณรมองโลกด้วยสายตาเย็นชาและกล้าเผชิญกับเรื่องทุกอย่างได้ตามลำพัง” จนสร้างความขัดแย้งในลักษณะสมมติในใจ (fiotional finalism) จากการอบรมเลี้ยงดู และการรู้สึกด้อย (inferiority feeling) จากความคิดว่าแม่รักพี่ชายมากกว่า “เพราะแต่ไหนแต่ไรมา สิ่งที่พี่ได้ผมมักไม่ได้” ตามแนวคิดของอัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) จิตแพทย์ชาวเวียนนา

 

เมื่อผมกลับบ้านและเห็นพี่ชายนั่งอยู่ในศาลา ในสภาพของคนบ้า พอทักถามว่ามานั่งทำไมตรงนี้ ไม่กลับเข้าบ้าน คำตอบที่ได้รับคือรอน้อง พี่ชายนั่งรอผม ทั้งที่ผมพูดอยู่ตรงหน้า สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมาก เพราะพี่ชายจำผมไม่ได้และยังคิดว่าผมไม่ใช่น้องชาย เมื่อความคิดของพี่ชายติดอยู่ในอดีตและเชื่อว่าน้องชายบวชอยู่และไม่กลับบ้านนานมาแล้ว พอผมจะนั่งรอน้องชายด้วย พี่ชายกลับบอกว่าอย่ารอเลย “มันนาน” แสดงถึงความผูกพันระหว่างพี่น้องที่ยังคงเหลืออยู่ แม้ว่าพี่ชายจะกลายเป็นบ้า แต่เขากลับจดจำคืนวันอันสวยงามเอาไว้ ต่างจากผมที่เลือกจะปักใจว่าแม่รักพี่ชายมากกว่า จนไม่คิดอยากกลับบ้าน

 

การกลับบ้านครั้งนี้ของผม ทำให้ความสัมพันธ์อันห่างเหินและขาดหายได้รับการคลี่คลายปมความขัดแย้งภายในใจ ภาพเหตุการณ์ที่ผมพบและพูดคุยกับพี่ชายในศาลา ทำให้ผมเข้าใจและยอมให้ (accommodation) กับเหตุผลที่แม่ไม่ยอมทิ้งบ้านและพี่ชายไปอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ เมื่อความรักของแม่ที่มีแก่ลูกไม่เลือกช่วงเวลา ส่วนพี่ชายเลือกจดจำเรื่องราวสวยงามในอดีต “ยังอยู่กับมัน คิดถึงมันและรอคอยมัน…” ในขณะที่ผมมองความสวยงามในวัยเด็กเป็นอดีตไปแล้ว เท่ากับว่าผมเห็นและยึดติดความสำคัญของความรักแต่ในอดีตจนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

 

เรื่องสั้น “น้องไอ้บาว” ของ ธารา ศรีอนุรักษ์ เล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายและสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์และบทสนทนาระหว่างพี่กับน้องในศาลา นอกจากนี้ยังสะท้อนความดื้อของแม่ที่ไม่ส่งพี่ชายกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลจนเป็นเรื่องบาดหมางกับพ่อ รวมถึงความรักของแม่ที่ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการเสียสละความสุขของตน เลือกจะทำหน้าที่ดูแลลูกชายคนที่เป็นบ้า แต่ไม่ยอมย้ายไปอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ จนกลายเป็นความขัดแย้งภายในใจที่เกิดจากความรัก ซึ่งสุดท้ายก็คลี่คลายลงด้วยการยอมให้กับความรักของแม่ที่ “หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความรักลูกทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่เลือกอยู่ช่วงเวลาไหน”

 

ทั้งนี้ เรื่องสั้นนี้ยังแฝงประเด็นการอบรมเลี้ยงดูลูกที่คนเป็นแม่เลี้ยงลูกให้เติบโตได้เพียงร่างกาย แต่ไม่อาจปลูกฝังสำนึกหรือความรักในหัวใจได้ ดังนั้น วันเวลา ประสบการณ์และการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะหล่อหลอมชีวิตคนคนหนึ่งให้พัฒนาตนเองไปสู่ความเข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

 

บรรณานุกรม

ธารา ศรีอนุรักษ์. (2557). ลายกริช. กรุงเทพฯ: แพรว.

พรธาดา สุวัธนวนิช. (2550). ผู้หญิงกับบทบาทความเป็นแม่ในนวนิยายไทย ตั้งแต่พ.ศ.2510-2546. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รัตติกา กรรณิกา. (2559). ความขัดแย้งของตัวละครในวรรณกรรมซีไรต์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร

มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

 

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

การตกหลุมรัก ในเรื่องสั้นของ อนุสรณ์ ติปยานนท์

 

“การกล่าวว่าเขาไม่ถูกโน้มน้าวให้นึกถึงความรักหรือคนรักเลย หาได้หมายความว่ามีสิ่งใดผิดปกติในตัวของเขา เขาเป็นปกติ เป็นผู้ชายปกติเยี่ยงผู้ชายทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เขาพร้อมจะตกหลุมรักหญิงสาวสักคน และเขาเชื่อว่าหากเขาตกหลุมรักใครสักคนแล้ว เขาจะรักเธอผู้นั้นอย่างหมดจิตหมดใจ นั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยมีความสงสัยในข้อนั้นเลย”

(อนุสรณ์ ติปยานนท์, 2561: 15)

 

ข้อความข้างต้น เป็นทัศนะของเขา-ชายผู้ชอบขี่จักรยานออกจากบ้านแต่เช้า ผู้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนและหลังตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งที่ชีวิตไม่น่าจะมาปฏิสัมพันธ์กันได้ให้ผมซึ่งทำงานที่ห้องสมุดฟัง

 

บทความนี้จะวิเคราะห์การตกหลุมรักของตัวละครตามทัศนะของ Alain Badiou ผ่านเรื่องสั้น “The Bicycleman” ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ตีพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น ตะวันออกศอกกลับ ซึ่งเป็นผลงานเล่มล่าสุดของเขา

 

เรื่องสั้น “The Bicycleman” ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้สรรพนามบุรุษที่สามเป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตน (personal narrator) แบบผู้รู้ (omniscient) ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือแสดงความเห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครได้ ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

 

 

ทำไมต้องตกหลุมรักตามทัศนะของ Alian Badiou

 

สำหรับ Badiou (อ้างถึงใน สรวิศ ชัยนาม, 2662: 17-25) ความรักเป็นทั้งการพบกันโดยบังเอิญ (encounter) และการสร้าง (construction) กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรักเป็นเหตุการณ์และเป็นโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการดำรงอยู่ (existential project) ไปพร้อม ๆ กัน Badiou กล่าวว่า “ความรักเริ่มต้นจากการพบกันโดยบังเอิญเสมอ” การพบกันโดยบังเอิญหรือเหตุการณ์ของความรักก็คือขั้นตอนของการตกหลุมรัก

 

ประการแรก ความบังเอิญเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความรัก มันคือการที่คนสองคนซึ่งแตกต่างและไม่เกี่ยวข้องกัน (two ones) ได้บังเอิญเจอกัน ถึงแม้ว่าต่อมาเราจะรู้สึกราวกับว่าได้พบกับคนรักเพราะโชคชะตากำหนด แต่มันไม่ใช่ว่าจะมี “คนพิเศษลับ ๆ” ที่รอคอยให้คุณไปพบรักได้ตลอด การพบกันโดยบังเอิญบ่งบอกเป็นนัยว่าการตกหลุมรักไม่ใช่หน้าที่ ไม่มีใครสามารถคาดหวังให้เราไปรักใครได้ และมันก็ไม่ใช่การตัดสินใจจากการคิดอย่างรอบคอบด้วย

 

ประการที่สอง เราตกหลุมรักโดยแทบไม่รู้อะไรเลย (เราเลิกรักโดยแทบไม่รู้อะไรเลยเช่นกัน) มันก็แค่เกิดขึ้นของมันแบบนั้น เราไม่รู้ว่าทำไมจึงตกหลุมรักกับคนคนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายได้ และเราก็ไม่รู้ล่วงหน้าว่าความสัมพันธ์ของเราจะดำเนินไปอย่างไร

 

ประการที่สาม เนื่องจากการตกหลุมรักโดยพื้นฐานแล้ว เป็นการกระทำซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเหตุผลและขึ้นอยู่กับการไปพบใครบางคนเข้าโดยบังเอิญ โดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาหรือเธอเลย ความรักจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก

 

การตกหลุมรักของตัวละครในเรื่องสั้น “The Bicycleman”

 

ชายคนหนึ่งขี่จักรยานออกจากบ้านแต่เช้า มันเป็นกิจวัตรที่สร้างความสุข การได้ลิ้มรสชาติของชีวิตจากภาพที่เห็น กลิ่นหอมของอาหารหรือได้ยินเสียงเพลงและเสียงระฆังประจำโบสถ์ เป็นบรรยากาศแห่งความรื่นรมย์ แต่ “เขากลับไม่พบใครที่รู้จักเลย เขาพบเพียงหญิงสาวผู้หนึ่ง หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบที่เขาไม่เคยคาดหวังว่าจะได้พบในชีวิตนี้” (อนุสรณ์ ติปยานนท์, 2561: 16) ความตื่นเต้นจึงเป็นสิ่งแรกที่เขารู้สึก เมื่อพบหญิงสาวคนนี้โดยบังเอิญและมันเป็นการตกหลุมรักที่ทำให้คนทั้งสองได้สานสัมพันธ์ในเวลาต่อมา

 

“หลังจากวันนั้นแล้ว ชีวิตของชายผู้ขี่จักรยานได้เปลี่ยนแปลงไป เขาได้เปลี่ยนเวลาที่ปกติไป เขาได้เปลี่ยนกิจกรรมที่เป็นดังชีวิตประจำวันไป เขาตื่นแต่เช้าขี่จักรยานไปยังร้านขายดอกไม้ ซื้อดอกกุหลาบแดง… ก่อนซื้อขนมหวาน… สองสิ่งที่เขาไม่มีความกล้าที่จะมอบให้หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบคนนั้น หากแต่เขามีความกล้าที่จะไปเฝ้ารอเธอยังสถานที่แห่งเดิม เขาเฝ้ารอจนกว่าเธอจะปรากฏตัวขึ้น ครั้นแล้วเขาก็จะสอบถามเธอถึงเวลา หลังจากนั้นเขาจะถามเธอถึงหนังสือที่เธออ่านในวันนั้น”

(อนุสรณ์ ติปยานนท์, 2561: 18)

 

ข้อความข้างต้น การพบกันโดยบังเอิญระหว่างตัวละครเขากับหญิงสาวผู้นั้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไป จากขี่จักรยานออกจากบ้านแต่เช้าไปรอบเมือง กลายเป็นการเฝ้ารอเพื่อจะพบ ทักทายและถามตอบกัน ที่อาจพัฒนาไปสู่ความรักหรือไม่ก็ได้ เมื่อเขากล่าวว่าเธอเป็น “หญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ” จึงเป็นการมองว่าเธอเป็น “คนในอุดมคติ” แม้จุดเริ่มต้นคือการพบกันโดยบังเอิญที่ไม่สามารถรู้แน่ชัดในทันทีว่าสิ่งนี้จะมีโอกาสพัฒนาต่อไปได้หรือไม่ และผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อในชีวิตของคนทั้งสองได้

 

เธอบอกกับเขาว่ากำลังอ่าน Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์ วันต่อมาเขาขอตามเธอเข้าห้องสมุดเพื่อไปดูหนังสือเล่มนั้นและนึกฉงนว่าเพราะเหตุใดเธอจึงเสียเวลาอ่านมัน จนทำให้เขาอยากอ่านหนังสือตามเธอบ้าง แล้ว Alice in Wonderland ของ Lewis Carroll ก็พาเขาดำดิ่งไปกับเรื่องราวนั้น จะพักทานอาหารช่วงเที่ยงและจากกันเมื่อเสียงสัญญาณเตือนหมดเวลาจากห้องสมุด จนวันหนึ่งหญิงสาวผู้นั้นก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย เขารอวันแล้ววันเล่า และต้องกลับมาใช้ชีวิตประจำวันที่เหี่ยวเฉา แห้งผาก และไร้ความหมาย

 

การพบกันโดยบังเอิญเคยสร้างความหวังให้กับเขา ขณะเดียวกันความรักก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก เพราะนำไปสู่จากกันโดยไม่ร่ำลา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหรือโอกาสที่เราจะพบกับความผิดหวังได้ ทั้งนี้เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเดินไปทิศทางใด ไม่รับประกันว่าจะทำให้เราพบกับความเจ็บปวดอย่างไร ดังนั้นความผิดหวังที่ได้ตกหลุมรักหญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบทำให้ “จิตวิญญาณที่งดงามของเขาหายไป” เมื่อการได้รักใครสักคนทำให้ชีวิตคนเราต้องเผชิญความรู้สึกเปราะบางนั่นเอง

 

“เขาใช้ชีวิตดังการตามหาจิตวิญญาณที่หายไป เป็นจิตวิญญาณงดงามที่หายไป… ซึ่งเขาหวังว่าวันหนึ่งจะได้จุมพิต สวมกอด และสัมผัส เป็นจิตวิญญาณที่หายไปที่เขาหวังจะร่วมรัก ใช้ชีวิต และอยู่เคียงคู่ เขาไม่ได้ปรารถนาจิตวิญญาณที่หายไปมากมายเลย ขอเพียงหนึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับเขา แต่กระนั้นแม้เพียงหนึ่งก็ดูเป็นการหวังที่เกินเลย”

(อนุสรณ์ ติปยานนท์, 2561: 25)

 

ข้อความข้างต้น เป็นกระแสสำนึกที่ออกมาจากก้นบึ้งแห่งความปรารถนาที่แท้จริงของเขา ซึ่งคาดหมายว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับหญิงสาวผู้นั้น หญิงสาวผู้เป็น “คนในอุดมคติ”

 

อย่างไรก็ตาม ความรักเกิดขึ้นแล้ว สมหวังหรือผิดหวังอาจเป็นความไม่แน่นอนที่เกินคาดคะเน แต่มันก็ทำให้ชีวิตของชายคนหนึ่งที่มีกิจวัตรขี่จักรยานออกจากบ้านแต่เช้าเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นการได้เรียนรู้โลกภายนอกที่พบเห็นทุกเช้าซ้ำ ๆ กับโลกภายในห้องสมุดและหัวใจตนเอง ที่กลายเป็นประสบการณ์ชีวิต แต่เขาจะก้าวข้ามความทุกข์โศกได้หรือไม่นั้น วันเวลาจะเยียวยาและเป็นเครื่องพิสูจน์คำว่า พบและพราก จากเป็นหรือจากตาย

 

Lacan (อ้างถึงใน สรวิศ ชัยนาม, 2562: 47-48) กล่าวว่า “ความรักคือการให้อะไรบางอย่างที่คุณไม่มีแก่ใครบางคนที่ไม่ได้ต้องการมัน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ยังขาดพร่อง ในลักษณะที่ว่าคนหนึ่งมี ส่วนอีกคนก็ไม่ได้อยากได้ หมายความว่า ไม่มีฝ่ายใดเลยที่มีและทราบว่าอีกฝ่ายต้องการอะไรจริง ๆ กันแน่ เพราะฉะนั้นความรักจึงไม่ใช่การสังเคราะห์หรือการสร้างสิ่งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งประสานสอดคล้องกัน (harmonious) ช่องว่างระหว่างสองคนจะมีอยู่เสมอ ความรักคือการแบ่งปันความบกพร่องนี้ จะไม่มีวันที่คนทั้งสองเติมเต็มกันและกันให้สมบูรณ์ได้ ผลที่ตามมาก็คือเราสร้างจินตนาการเพ้อฝันเพื่อตอบคำถามว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร (จากเรา) และเราเป็นอะไรต่อคนที่เรารัก”

 

เรื่องสั้น “The Bicycleman” ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นอกจากจะสะท้อนการพบกันโดยบังเอิญของตัวละครเขากับหญิงสาวผู้นั้นแล้ว การคาดหวังว่าชีวิตจะพบหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบและได้พบจริง ๆ ครั้นจะผูกสัมพันธ์เธอกลับหายตัวไป แสดงให้เห็นว่าความรักเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก และเราไม่รู้ล่วงหน้าว่ามันจะเดินไปทิศทางไหน เพราะก่อนที่ตัวละครทั้งสองจะพบกัน ต่างคนต่างเดินทางมาห้องสมุด โดยเขาขี่จักรยานมา ส่วนเธอนั่งรถประจำทางเพราะต่างคนต่างอาศัยอยู่นอก-ในเมือง การจะได้ร่วมทางกันจึงเป็นไปได้ยาก สุดท้ายการพบกันโดยบังเอิญจึงเป็นความเพ้อฝันและสวนทางกันของชายคนหนึ่งที่ต้องการ “ร่วมรัก ใช้ชีวิต และอยู่เคียงคู่” กับหญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบที่มีอยู่จริงในโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขาปรารถนาจะเกิดขึ้นจริงหรือพบกับความสมหวังเสมอไป

 

ดังนั้น หากเขาปรารถนาความรักในชีวิตจริง ไม่ปิดกั้นตัวเองหรือปฏิเสธการตกหลุมรักครั้งใหม่ เขาต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากนั่งบนอานจักรยาน มานั่งรถประจำทางหรือเดินเท้าบ้าง เพื่อออกตามหาเธอคนนั้นหรือหญิงสาวที่สมบูรณ์แบบคนไหนก็ได้ เพื่อพาตัวเองไปสู่ความบังเอิญแห่งการตกหลุมรักอีกครั้ง

 

 

บรรณานุกรม

สรวิศ ชัยนาม. (2562). ทำไมต้องตกหลุมรัก: Alian Badiou ความรักและ The Lobster. กรุงเทพฯ: illuminationeditions.

อนุสรณ์ ติปยานนท์. (2561). ตะวันออกศอกกลับ. กรุงเทพฯ: มติชน.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

สถานที่ในเรื่องสั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตร

 

 

ฟร็องซัวร์ โมริยัค (1885-1970) นักเขียนแนวสัจนิยมชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1952 กล่าวไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะสร้างนวนิยายได้ หากไม่รู้จัก ‘บ้าน’ ที่จะเป็น ‘เวที’ ให้แก่ตัวละคร ข้าพเจ้าจะต้องรู้จักโดยละเอียดทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นทางเดินที่เร้นลับของสวนใด ป่าใด ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ ท้องถิ่นที่อยู่โดยรอบใด ๆ ข้าพเจ้าจะต้องคุ้นเคยรู้จักและต้องมิใช่การรู้จักแบบผิวเผิน”

(ฟร็องซัวร์ โมริยัค, 1970 อ้างถึงใน วัลยา วิวัฒน์ศร, 2543: 1-2)

จะเห็นได้ว่า โมริยัคให้ความสำคัญกับสถานที่ในนวนิยายของเขา เขาจะต้องรู้จักสถานที่และบริบทของสถานที่ที่เขากล่าวถึงในนวนิยายเป็นอย่างดี รู้จริง รู้ละเอียดและรู้ลึก เมื่อเขาพรรณนาสถานที่ลงบนหน้ากระดาษ ผู้อ่านย่อมสัมผัสความสมจริงที่เขาถ่ายทอดออกมาได้

 

ในการศึกษาเรื่องมิติสถานที่นั้น ควรจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสถานที่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ในนวนิยาย ได้แก่ ตัวละคร โครงเรื่องและมิติเวลา จึงจะทำให้เห็นบทบาทและหน้าที่ในงานวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วน

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2561ตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้น สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ มา ในวาระครบรอบ 40 ปี การเขียนงานตีพิมพ์ โดยจะวิเคราะห์ธรรมชาติและความหมายของสถานที่ รวมทั้งความกลัวที่เกิดขึ้นกับตัวละครวัยเยาว์ในเรื่องด้วย

 

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง  ฝังชลจิตร ใช้สรรพนามบุรุษที่สามเป็นผู้เล่าเรื่องแบบไม่แสดงทัศนะของตน (impersonal narrator) หรือแบบตากล้อง (camera eye) คล้ายกับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเองโดยไม่มีผู้เล่า เพราะผู้เล่าเรื่องบรรยายเฉพาะลักษณะภายนอก เหตุการณ์ หรือบทสนทนา โดยไม่เข้าไปในความคิดของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านต้องตีความจากการกระทำของตัวละคร

 

เรื่องสั้น “เสือ” เป็นเรื่องราวของวิเชียร นายแพทย์อาวุโสที่ขับรถมาเยี่ยมและกินข้าวกับพ่อแม่ทุกสัปดาห์ ก่อนพยาบาลหน้าห้องจะโทรมาเตือนว่ามีนัดคนไข้ เขาจึงขับรถกลับและขณะที่มองถนนที่เคยวิ่งเล่นในอดีตก็หวนกลับไปคิดถึงเช้าวันเสาร์ที่เขากับพี่ชายไปเที่ยวสวน หลังจากพ่อกับแม่ไม่อยู่บ้าน

 

สองพี่น้องเดินไปตามทางกลางหมู่บ้านและพบกับลุงนัด ชายชราจูงวัวอยู่หน้าบ้านที่ถามพวกเขาว่าจะไปเที่ยวไหนตั้งแต่เช้ามืด และ “ไม่กลัวเสือรึ” พอถึงสวนที่มีหญ้ารกท่วมหัว สองพี่น้องจึงปีนขึ้นต้นลางสาดและคุยกันเรื่องทุเรียนหล่นใส่หัว พุ่มไม้ที่กำลังเคลื่อนไหว หมูป่า แล้วก็วกกลับมาเรื่องเสือที่ลุงนัดถาม สร้างความกลัวในหัวใจ พวกเขาจึงไม่กล้าลงจากต้นไม้ จนพ่อต้องออกตามหา

 

ธรรมชาติและความหมายของสถานที่

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง  ฝั่งชลจิตร ให้ความสำคัญกับฉาก (setting) คือ สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ รวมถึงส่งเสริมจุดมุ่งหมายเฉพาะของเรื่องผ่านบทสนทนา (dialogue) คือถ้อยคำสนทนากันของสองพี่น้องบนต้นลางสาด ที่ช่วยให้การดำเนินเรื่องได้สมจริงและน่าสนใจ

 

 

“สวนของพ่อกว้างใหญ่ มีพุ่มไม้ดงไม้กั้นสวนข้าง ๆ จนมองไม่เห็น เชียรได้ยินทุเรียนสวนใกล้ ๆ หล่นผ่านใบไม้พุ่มไม้ตกพื้นดังเหมือนโยกก้อนหิน เขาเงยมองกิ่งทุเรียนต้นใหญ่ข้างขนำทอดยื่นเหนือต้นลางสาดหวานพอดี ผลทุเรียนกำลังสุกห้อยย้อยเต็มตลอดกิ่ง พ่อบอกว่าตั้งแต่โตมาไม่เคยเห็นทุเรียนหล่นใส่หัวใคร คนไหนทุเรียนหล่นบนหัว คนนั้นโชคร้ายมาก”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 64)

 

 

ข้อความข้างต้น เป็นฉากธรรมชาติ หลังสองพี่น้องเข้าไปเที่ยวสวน อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่ีจริงในเรื่องสั้นที่ผู้เล่ามองเห็นและบรรยายไว้ อีกทั้งยังรวมตัวละครเข้าไว้กับสถานที่เมื่อสองพี่น้องปีนขึ้นต้นลางสาดในเวลาต่อมา นอกจากนี้ “พ่อบอกว่าตั้งแต่โตมายังไม่เคยเห็นทุเรียนหล่นใส่หัวใคร คนไหนทุเรียนหล่นบนหัว คนนั้นโชคร้ายมาก” ยังเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ โชคลาง และเรื่องทุเรียนหล่น ก็สร้างความกลัวให้กับตัวละครด้วยเช่นกัน

 

 

“เสือไม่มาที่นี่”

“ทำไม เสือไม่รู้จักที่นี่หรือ”

“มันไม่มา”

“ใครบอกว่ามันไม่มา”

“มันไม่เคยมา”

“ตอนเรามาลุงนัดแกถาม” เชียรพูด

“แกหยอกเล่น”

“แกพูดจริง แกรู้ว่าเสือมี มันต้องเคยมาแถวนี้ มากินวัว มากินคน”

“อย่าพูดมากไป” ชื่นปราม เขากอดกระชับต้นลางสาดมองเห็นหย่อมโหรากับกอบุกเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ข้างล่าง “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 67)

 

บทสนทนาข้างต้น นอกจากตัวละครจะกลัวทุเรียนหล่นใส่หัวแล้ว พอปีนขึ้นต้นลางสาด สองพี่น้องกลับกลัว “เสือ” ทั้งเสือที่เกิดจากการหยอกเล่นของลุงนัดก่อนเข้าไปเที่ยวสวน  กับ “เสือ” หรือความกลัวที่อยู่ในใจ เพราะสวนมีสภาพรก อาจกล่าวได้ว่า สวนเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าไม่มีสถานที่ก็ไม่มีเรื่องราว นอกจากสวนจะหมายถึงสถานที่หรือเป็นฉากสำคัญในเรื่องสั้นนี้แล้ว สวนยังสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับตัวละครอีกด้วย

 

ดังนั้น เมื่อผู้เขียนกำหนดให้สองพี่น้องเข้าไปเที่ยวสวนตั้งแต่เช้ามืด จึงเป็นการเลือกสถานที่ให้มีความสัมพันธ์กับตัวละครและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสวนมีสภาพรก จึงทำให้สองพี่น้องซึ่งเป็นเด็กชายรู้สึกกลัวเสือขึ้นมา

 

ทั้งนี้ ความกลัวเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และการที่ชื่น “กอดกระชับต้นลางสาดมองเห็นหย่อมโหรากับกอบุกเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ข้างล่าง” และ “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ” เป็นอาการของคนที่ขาดความเชื่อมั่น ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป

 

ความกลัวเกิดจากหัวใจเราเอง

 

ความกลัวสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะแตกต่างออกไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ความกลัวนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมหรือเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น เช่น สถานการณ์ยามเช้ามืดที่ตัวละครเห็นพุ่มไม้ใบหญ้าเคลื่อนไหว จึงกระตุ้นให้บุคคลสนองตอบต่อเหตุการณ์นั้นอย่างรวดเร็ว และไม่อาจควบคุมอารมณ์ของตนได้ เช่น “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ กลัวรึ… พูดถึงมันมาก ๆ มันอาจมาก็ได้” และผลที่ตามมาคือ ความวิตกกังวล

 

ในเรื่องสั้น “ เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ตัวละครกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น คิดเอาเองหรือเพราะคำหยอกเล่นของลุงนัดกันแน่ และในตอนท้ายเรื่อง เมื่อพ่อออกมาตามสองพี่น้องในสวน และได้ยินสองพี่น้องแข่งกันร้องไห้บนยอดไม้ จึงเป็นการตอกย้ำความกลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้ (fear of the unknow) ซึ่งก็คือสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง

 

 

“ขึ้นไปทำอะไรบนนั้น… ลงมาเร็ว ๆ เดี๋ยวมันหัก”

“พ่อแน่นะ” สองพี่น้องแย่งกันถาม

“เสือมั้ง…”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 71)

 

 

จากบทสนทนาข้างต้น เมื่อพ่อออกตามหาสองพี่น้องในสวนและเห็นพวกเขาแข่งกันร้องไห้บนยอดไม้ จึงบอกให้ทั้งสองคนลงมา เกรงว่ากิ่งไม้จะหัก แต่ทั้งสองพี่น้องถามพ่อว่า “พ่อแน่นะ” และพ่อตอบว่า “เสือมั้ง…” จึงเป็นการล้อเลียนความกลัวที่เกิดจากการเรียนรู้และวุฒิภาวะของตัวละคร หากผู้เขียนจบเรื่องสั้นไว้เพียงเท่านี้ จะกลายเป็นการหักมุมจบ (twist ending) ที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้อ่านได้ไม่น้อย

 

 

“เรื่องของพี่น้องขึ้นไปกอดกันร้องไห้บนต้นลางสาดถูกเล่าถ่ายทอดสู่กันฟังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งผู้เล่าแต่งเติมเพิ่มให้สนุกสนาน แม้ช่วงเวลาพ่อเข้าสวนไปพบลูกชายก็คลาดเคลื่อน… บางคนว่าก่อนเที่ยง บางคนยืนยันหนักแน่นว่าหลังเที่ยงวัน บางคนอยากให้มืดค่ำน้ำค้างตกป๊อก ๆ แป๊ก ๆ ไปเลย”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 72)

 

ข้อความข้างต้น เป็นตอนจบของเรื่องสั้นแบบปลายเปิด (open ending) ที่ผู้เขียนจงใจให้เรื่องเล่าเลื่อนไหล แต่ละครั้งผู้เล่าแต่งเติมเพิ่มให้สนุกสนาน” จึงเป็นการเปิดโลกจินตนาการของเรื่องเล่าให้กว้างขึ้น ขณะที่เรื่องเล่าหลักยังคงอยู่ แม้ช่วงเวลาที่พ่อเข้าสวนไปพบลูกชายจะคลาดเคลื่อน “บางคนว่าก่อนเที่ยง บางคนยืนยันหนักแน่นว่าหลังเที่ยงวัน บางคนอยากให้มีน้ำค้างตกป๊อก ๆ แป๊ก ๆ ไปเลย” เป็นการขยายเรื่องเล่าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงแสดงความแตกต่างในรายละเอียดที่เกิดจากการเล่าซ้ำ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเสือยังคงมี เสือยังมีอยู่จริงตามธรรมชาติ เสือยังมีอยู่ในเรื่องเล่าและเสือก็ทำให้เรากลัว

 

ดังนั้น คำหยอกเล่นของลุงนัดว่า “ไม่กลัวเสือรึ” ที่ถามเหมือนขู่ จึงเป็นการเตือนเด็ก ๆ ไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นซุกซน หรือการที่พ่อตอบคำถามสองพี่น้องว่า “เสือมั้ง” จึงสะท้อนความจริงความลวงที่ปนเปกันระหว่างชีวิตจริงและเรื่องเล่า

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร นอกจากจะสะท้อนฉากชีวิตของชาวสวนในแถบถิ่นภาคใต้แล้ว ยังมีความโดดเด่นในการนำเสนอมิติสถานที่ โดยดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาที่มีชีวิตชีวาเหมือนอย่างคนปกติพูด ทำให้อ่านได้อย่างลื่นไหล คล้อยตามความกลัวในหัวใจวัยเยาว์ แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานเรื่องราว ฉาก บรรยากาศ จนเกิดประสิทธิภาพที่ทำให้ตัวบทเป็นนาฏกรรมชีวิต

 

 

บรรณานุกรม

จำลอง ฝั่งชลจิตร. (2561). สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ มา. นครศรีธรรมราช: แมวบ้าน.

วัลยา วิวัฒน์ศร. (2541). มิติสถานที่ในนวนิยายของฟร็องซัวร์ โมริยัค. กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

error: