การจัดการความขัดแย้งของตัวละคร ในเรื่องสั้นของ อุมมีสาลาม อุมาร

 

กระแสสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกปัจจุบัน ส่งผลให้มนุษย์คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายและหญิงมากขึ้น รวมถึงความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ฐานะ ชนชั้น สีผิว เป็นต้น แต่ในสังคมมลายูมุสลิม ความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลจากวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะระบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง และผู้หญิงมุสลิมที่แต่งงานแล้วต้องเป็นสมบัติของผู้ชายหรือสามีเท่านั้น หรือการที่ผู้ชายในสังคมมุสลิมสามารถมีภรรยาได้สี่คน ทำให้ผู้หญิงมุสลิมแทบไม่มีบทบาทหรืออำนาจใดในสังคมนอกจากหน้าที่ภายในครอบครัว

 

Read More

เสรีภาพของเจตจำนงและความหมายของชนชั้นแรงงานเสี่ยง ในเรื่องสั้นของ จอห์น กอลส์เวอร์ธี

 

 

จอห์น  กอลส์เวอร์ธี (John  Gosworthy) นักเขียนนวนิยายและบทละครชาวอังกฤษ เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม 1867 และเสียชีวิตเมื่อ 31 มกราคม 1933 เป็นบุตรของจอห์นและบลังเช่ (นามสกุลเดิมบาร์ทลีต) ไบเล่ย์ ครอบครัวของกอลส์เวอร์ธีมีฐานะ เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนแฮร์โรว์และวิทยาลัยนิวคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเพื่อเป็นทนายความ แต่ต่อมาเลือกที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อดูแลธุรกิจขนส่งของครอบครัว

 

Read More

ความรักของ “ผู้ไร้เสียง” ในเรื่องสั้นของ เงาจันทร์

 

เงาจันทร์ เป็นนามปากกาของนักเขียนหญิงชาวเพชรบุรี มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายแนวรักโศก เช่น เรื่องสั้น บุหลันแรม ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2548 และรวมเรื่องสั้น ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2551 นวนิยายเรื่อง ในรูปเงา ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2554 และเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2555 นวนิยายเรื่องต่อมา รักในรอยบาป เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2558 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2559 เป็นต้น

 

บทความชิ้นนี้จะนำเสนอความรักและโศกนาฏกรรม ในเรื่องสั้น “บางแก้ว” ซึ่งพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น เสน่หานุสรณ์ เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2560 โดยจะวิเคราะห์ตัวละครหญิงที่ถูกกดทับในระบบชายเป็นใหญ่และกลายเป็น “ผู้ไร้เสียง”

 

 

อำนาจชายเป็นใหญ่ในเรื่องรักสามเส้า

 

ในหนังสือชื่อ Deceit, Desire, and the Novel ของ เรอเน ฌีรารด์ (อ้างถึงใน ราม  ประสานศักดิ์, 2561: 281-282 ) นักวิจารณ์วรรณกรรมและนักปรัชญาสายมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความปรารถนาของตัวละครจะไหลเวียนอยู่ภายใต้โครงสร้างสามเหลี่ยม ความปรารถนาที่ตัวละครตัวหนึ่งมีให้กับตัวละครที่สองจะถูกกรองผ่าน (mediate) ตัวละครที่สาม สิ่งที่ตัวละครหนึ่งคิดว่าเป็นความปรารถนาที่ตนมีให้แก่ตัวละครที่สอง แท้จริงแล้วเป็นความปรารถนาแฝงเร้นที่ถูกเก็บซ่อนไว้กับตัวละครที่สามหรือตัวกลาง” และจูดิท  บัตเลอร์ นักสตรีนิยมชาวอเมริกันเสริมว่า “เป้าหมายของความปรารถนานี้ไม่ใช่อยู่ที่การเข้าไปครอบครองตัวกลาง แต่เป็นการเข้าไป “แทนที่” ซึ่งสามารถทำได้โดยการลอกเลียนแบบตัวกลาง (mimetic appropriation) ความปรารถนาของตัวละครไปไม่ถึงฝั่งเพราะมีตัวละครอื่นมาคั่นกลาง ทำให้ไม่สามารถยึดครองตำแหน่งได้”

 

เรื่องสั้น “บางแก้ว” ของ เงาจันทร์ใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องที่ไม่ปรากฏตัวในฐานะตัวละครในเรื่อง (narrator a non-participant) การเล่าแบบนี้จะเป็น “เสียงพูดบนหน้ากระดาษ” อย่างแท้จริง เหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นการกระทำและความคิดของตัวละครซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้แจ้ง (omniscient) เฉพาะตัวละครเอก (seeing into one major character) ผู้อ่านจะรู้จักตัวละครอื่นจากมุมมองของตัวละครเอก การเล่าเรื่องลักษณะนี้ ผู้เล่าจะจำกัดการรู้แจ้งในลักษณะที่เป็นภววิสัย (objective) คือ เล่าตามที่ตัวละครตัวนั้นเป็น แม้แต่กระแสความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ก็ปล่อยให้ตัวละครพรั่งพรูออกมาตามธรรมชาติ ให้ผู้อ่านพิจารณาสาระด้วยตนเอง ซึ่งต่อมาการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ได้พัฒนามาเป็นการเล่าแบบ “กระแสสำนึก” (stream of consciousness)

 

ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ฤทัยไม่ได้เป็นใบ้ แม้พูดได้น้อยคำ มีเจ้านายชื่อคุณม่อน ที่เธอดูแลมาตั้งแต่เป็นเด็กชาย เขาเติบโตมากลายเป็นเกย์ ทำร้านอาหารและมีชายหนุ่มผ่านเข้ามาในชีวิต ที่คบหากันมานานและดูจะไปกันได้ดี คุณม่อนอยากมีลูกน้อยเหมือนคู่ผัวตัวเมียอื่น ๆ แต่ไม่อาจมีได้จึงร้องขอลูกหมาพันธุ์บางแก้วมาเลี้ยงและสมมติตัวเองเป็นแม่พวกมัน หลังจากคู่รักชายหนุ่มเลิกรา หมาพันธุ์บางแก้วทั้งสองตัวตกเป็นภาระให้ฤทัยต้องดูแล คุณม่อนเสียใจ ทำงานหนัก ขยายร้าน ฤทัยกับหมาพันธุ์บางแก้วทั้งสองตัวต้องย้ายไปอยู่บ้านในชนบท

 

เมื่อชายหนุ่มชื่อเรย์เข้ามาในชีวิตคุณม่อน เขาพาเรย์มาเยี่ยมฤทัยและเจ้าบางแก้วทั้งสองตัว พวกมันดีใจ กระโดดเข้าหาและเลียเจ้าของ

“ก็คุณน่ากินนี่… สายตาคมกริบจึงจ้องมาที่หล่อนนิ่งนาน ราวกับเขาจงใจเอ่ยประโยคนั้นกับหล่อน โลกทั้งโลกพลันเงียบงันราวกับหล่อนถูกสายตาคู่นั้นพาไปสู่สถานที่ลึกลับซึ่งมีเขากับหล่อนเพียงลำพัง”

(เงาจันทร์, 2560: 30)

 

ข้อความข้างต้น เรย์เห็นฤทัยเป็นวัตถุทางเพศตามแนวคิดชายเป็นใหญ่ สังเกตจากการบรรยายที่มีมุมมองแสดงการครอบงำผู้หญิง โดยวางตำแหน่งอยู่เหนือกว่าฤทัย ในฐานะคนรักของคุณม่อนและฤทัยก็ยอมรับการครอบงำนั้นด้วย

 

คุณม่อนบอกว่าจะแต่งงานกับเรย์ แต่เรย์ขับรถมาหาฤทัยที่บ้านในชนบทและมีสัมพันธ์ฉันชู้สาว ฤทัยตกเป็นทาสกามารมณ์ของเขาจนลืมตัว “เธอน่ะช่างแสนจะคุ้มค่านะฤทัย แต่อย่าปรารถนาที่จะครอบครองสิ่งใดเลย…” (เงาจันทร์, 2560: 35) คำพูดของเรย์ได้ตอกย้ำแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบผู้ชายทุกด้าน เมื่อเขาเห็นเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ฤทัยจึงต้องเป็นฝ่ายถูกครอบครองอย่างไม่อาจโต้เถียง

 

หัวใจของฤทัยดับสนิท เธออยากไปในเมืองเพื่อพบคุณม่อน จึงพาหมาพันธุ์บางแก้วทั้งสองตัวติดรถเด็กหนุ่มส่งของไปและถูกเด็กหนุ่มข่มขืน ทำร้ายทั้งคนและหมาจนบาดเจ็บปางตาย ขณะที่ฤทัยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล คุณม่อนบอกจะเลื่อนงานแต่งออกไปเพื่อรอให้ฤทัยหายดีก่อน แต่เรย์มองว่าฤทัยเป็นตัวปัญหา จึงเข้าไปถอดสายออกซิเจน

 

เรื่องสั้น “บางแก้ว” ของ เงาจันทร์ นำเสนอความหมายของคำว่า “เพศ” ทั้งเพศสรีระ (sex) ที่แบ่งแยกความเป็นชายหญิงและสถานภาพทางเพศ (gender) ที่เปลี่ยนไป เช่น ชายรักชาย ที่ผู้เขียนนำมิติความรัก ความใคร่มาประกอบสร้างเป็นเรื่องรักสามเส้ากึ่งพาฝัน มีตอนจบคือความตายของตัวละครหญิงที่มีสถานะเป็นรองทางชาติกำเนิดและชนชั้น กับคุณม่อน เรย์และเด็กหนุ่ม อีกทั้งยังเป็นวัตถุทางเพศเพื่อตอบสนองตัณหาอาลัยของเรย์และความปรารถนาทางเพศของเด็กหนุ่มตามแนวคิดชายเป็นใหญ่

 

ตัวละครหญิงในเรื่องสั้นนี้จึงเป็นฝ่ายถูกครอบงำด้วยอำนาจที่เหนือกว่าและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากความเหลื่อมล้ำทางเพศและการใช้ความรุนแรง โดยไม่อาจเรียกร้อง ต่อสู้หรือขัดขืนใด ๆ ได้

 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังใช้อุปลักษณ์ (metaphor) เปรียบผู้หญิงเป็นสัตว์ คือ เปรียบฤทัยเป็นหมาพันธุ์บางแก้ว หมายความว่า หากพิจารณาพฤติกรรมของหมาพันธุ์บางแก้วที่มีความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ดังนั้น ฤทัยต้องมีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับผู้ครอบครองหรือเจ้าของเท่านั้น การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นการลดทอนคุณค่าสภาวะความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงให้ต่ำต้อยด้อยค่า

 

เพศหญิงคือผู้ไร้เสียง

 

สันติ  เล็กสกุล (2561:115) กล่าวว่า “ผู้ไร้เสียง คือ ผู้ที่อยู่ในสภาวะการถูกทำให้ไร้ ‘เสียง’ ซึ่ง ‘เสียง’ ดังกล่าวหมายถึง ความเห็น ประสบการณ์ ความรู้สึก และความคับข้องใจของตนเองในฐานะปัจเจกหรือในความเป็นมนุษย์ของตนเอง”

 

ดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นบทความว่า ฤทัยไม่ได้เป็นใบ้ แม้พูดได้น้อยคำ อาการแทบไม่ต่างจากคนใบ้ของฤทัยจึงถูกผู้เขียนสร้างให้เป็น “ผู้ไร้เสียง” ที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกของตนเองออกมาเป็นคำพูดได้ เท่ากับว่าผู้เขียนได้กดทับตัวละครหญิงให้เป็นรองผู้ชายทางชาติกำเนิดและชนชั้น ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ฤทัยเปล่งเสียงที่แท้จริงของตนออกมาเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ

 

“ลืมตาขึ้นมองฉันสิ… บางแก้วของฉัน ก่อนที่เราจะจากกันตลอดไป… เขาออกคำสั่ง

ฤทัยลืมตาขึ้นอย่างเชื่อฟัง แต่น้ำตาทำให้หล่อนมองไม่เห็นเขาหรือสิ่งใด ๆ ฤทัยไม่ทันได้พูดเพราะหล่อนไม่ต่างจากคนใบ้ หล่อนไม่ทันใช้สมองคิดเพราะหล่อนคุ้นเคยกับการใช้หัวใจมาตลอดชีวิต”

(เงาจันทร์, 2560: 40)

 

ข้อความข้างต้น เรย์ยังคงออกคำสั่งกับฤทัย เธอรู้สึกตัว แต่ถูกทำให้ไร้ “เสียง” โดยผู้เขียน “พูดแทน” หรือบรรยายความรู้สึกจากกระแสสำนึกก่อนวาระสุดท้ายของฤทัย ที่กลายเป็นการกำจัดเสียงของผู้ไร้เสียงให้เงียบสนิทหรือหดหายไปมากกว่าเดิม การ “ไม่ทันได้พูดเพราะหล่อนไม่ต่างจากคนใบ้” จึงเท่ากับผู้เขียนพยายามอธิบายการไร้ซึ่งสถานะและตัวตนของ “ผู้ไร้เสียง” ที่ถูกกระทำโดยการเล่าเรื่อง

 

นอกจากนี้ ความคุ้นเคยของฤทัยที่ใช้หัวใจมาตลอดชีวิตยังตีความได้ว่า เธอบูชาคุณม่อนในฐานะเจ้านาย และบูชาเรย์ในฐานะคนรัก ที่สุดท้ายเธอต้องสังเวยชีวิตให้กับความรักนี้ เพราะฤทัยเป็นตัวอุปสรรคคั่นกลางความรักของเรย์และคุณม่อน เมื่อเรย์ฆ่าฤทัยตายแล้ว เขาจึงเข้าไป “แทนที่” รักนั้น รวมถึงความ “จงรัก” ของหมาพันธุ์บางแก้วทั้งสองตัวที่ “จงรับ” ความตายไปด้วย เพราะเรย์อยากครอบครองมันหรือแสดงความเป็นเจ้าของแบบคุณม่อน เมื่อเรย์ทำสำเร็จ ทั้งได้ครอบครองและฆ่าฤทัย เขาจึงกลายเป็นผู้ครองตำแหน่งผู้ชนะตามแนวคิดชายเป็นใหญ่แบบ “เจ้าโลก” (hegemony) ที่ใจคอโหดเหี้ยมและเลือดเย็น

 

เรื่องสั้น “บางแก้ว” ของ เงาจันทร์ สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศ และความอปกติทางจิตอันซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ มีความโดดเด่นในการใช้ภาษาและชั้นเชิงวรรณศิลป์ ขณะเดียวกันก็นำเสนอการกดทับชีวิตรักอันงดงามพาฝันของผู้หญิงคนหนึ่งให้มืดหม่นและกลายเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำ ๆ จนไร้เสียงและต้องพบกับจุดจบไปอย่างน่าเวทนา

 

 

บรรณานุกรม

เงาจันทร์ (นามแฝง). (2560). เสน่หานุสรณ์. กรุงเทพฯ: แพรว.

ธัญญา สังขพันธานนท์. (2539). วรรณคดีวิจารณ์. ปทุมธานี: นาคร.

ราม ประสานศักดิ์. (2561). “ยังไม่ซึมซาบในใจลาวนัก” : จ้าวโลก เจ้าวัฒนธรรม ใน “ไพร่ฟ้า” ของลาว  คำหอม. ใน เสาวณิต  จุลวงศ์ (บรรณาธิการ). ถกเถียงเรื่องคุณค่า 2 : ว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: วิภาษา.

สันติ เล็กสกุล. (2561). ผู้ไร้เสียง : คำยืนยันของ คายตี จักรวรตี สปีวาก. กรุงเทพฯ: illuminationseditions.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

ถอดรหัสนัย “แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน” กวีนิพนธ์ของอานนท์ นานมาแล้ว

 

 

อานนท์ นานมาแล้ว เป็นนามปากกาของกวีหนุ่มชาวยะลา มีผลงานตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร โดยเฉพาะที่มติชนสุดสัปดาห์มากชิ้น

 

“แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน” เป็นกวีนิพนธ์เล่มแรกในชีวิตของเขา ประกอบด้วยบทกวีจำนวน 47 ชิ้น แบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาคแรก: ฟ้าตอนนี้ ฟาฏอนี และภาคสอง: ปราการปรากฏ มีทั้งบทกวีฉันทลักษณ์ เช่น กลอนสุภาพ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และบทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า

Read More

คุณค่าความสุข (ของผม) ในเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง

 

 

นิชเช่ (Nietzsche) กล่าวว่า ความสุข คือ ความรู้สึกที่ทำให้พลังเพิ่มขึ้นและเอาชนะแรงต้านทานได้ พลังดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงบุคคลและความสามารถในการใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ ประกอบด้วย อาศัยอยู่ในที่ที่คุณต้องการ ทำงานที่คุณรัก มีความรักกับคนที่คุณเลือก และใช้เวลาทำในสิ่งที่ต้องการ

Read More

ความคิดและภาพที่เห็นบนวิถี “ทาง” ซ้ายผ่านศึก ในเรื่องสั้นของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

 

ทัศนคติ คือ ความรู้สึกทางจิตใจของบุคคลที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคล สถาบันหรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในการประเมินคำว่าดีหรือไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ ซึ่งพร้อมจะผลักดันให้บุคคลแสดงปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าเหล่านี้ในทางใดทางหนึ่ง ทัศนคติจึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อ (beliefs) ค่านิยม (values) บุคลิกภาพ (personality) และความคิดเห็น (opinion) สรุปเป็นองค์ประกอบได้ 3 ด้าน ดังนี้

 

องค์ประกอบด้านความคิด ความรู้ (cognitive component) ด้านท่าที ความรู้สึก (affective component) และด้านพฤติกรรม (behavioral component) ล้วนเป็นองค์ประกอบที่มีแนวโน้มในทางปฏิบัติหรือทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิ่งเร้า

 

บทความชิ้นนี้จะนำเสนอความคิดและภาพที่เห็นบนวิถี “ทาง” ของซ้ายผ่านศึก ผ่านเรื่องสั้นของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552 ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์การต่อสู้ ชีวิต ความคิดและอารมณ์ผ่านหนังสือหลายเล่ม ทั้งในรูปแบบนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และความเรียง

 

 

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาและวิเคราะห์เรื่องสั้น “ทาง” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในรวมเรื่องสั้นชุด ‘ซ้ายผ่านศึก’ ผู้อ่านจำเป็นจะต้องทราบความหมายของความคิดทางการเมืองแบบซ้าย

 

ความคิดทางการเมืองแบบซ้าย (left, leftist) หมายถึง จุดหมายปลายทางที่จะให้รัฐมีอำนาจน้อยกว่าหรือไม่มีอำนาจเลย (คือเท่ากับไม่มีรัฐ) และเน้นความสำคัญของปัจเจกชนหรือเอกบุคคล จุดหมายคือประสงค์ให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ แนวคิดแบบซ้ายไม่ให้ความสำคัญกับ “หน้าที่พลเมือง” แต่เน้น “หน้าที่ของรัฐ” ที่จะให้บริการต่อพลเมือง อุดมการณ์แบบซ้ายตั้งจุดหมายปลายทางไว้คือ เสรีภาพและสิทธิของปัจเจกชน แต่ในระหว่างทางหรือในช่วงเวลาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายนั้น อาจใช้วิธีตรงกันข้ามกับอุดมการณ์บั้นปลายของตน คือ การใช้อำนาจรัฐบังคับปัจเจกชน เช่น อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ (communism)

 

เรื่องสั้น “ทาง” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ใช้ตัวละครมิติเดียว (flat character) หมายถึง ตัวละครที่มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมที่สามารถสรุปได้อย่างไม่ยากเย็น เช่น เขาเป็นชายชรา, เขาเป็นคนโดดเดี่ยว ให้เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตน (personal narrator) แบบผู้รู้ (omniscient) คือ แสดงทัศนะ ความเห็น ตีความ วิจารณ์ได้ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครได้ รู้ความคิดของตัวละคร โดยไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่เป็น “เสียง” ที่วิจารณ์หรือตัดสินตัวละครผ่านกลวิธีการเล่าแบบกระแสสำนึก (stream of consciousness) โดยจะแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน ผ่านความคิดและภาพที่เห็น ซึ่งนำไปสู่ปลายทางในตอนจบ ดังนี้

 

-ความคิด-

 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ชายชราจะออกมากางเต็นท์นอนป่าเพียงลำพัง เขาได้พบปะกับมิตรสหาย ‘กลุ่มเพื่อนเดือนสิบ’ ที่นัดพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต จากที่เคยแบ่งข้างเป็นซ้าย-ขวา ในอดีต กลายเป็นแบ่งสีแดง-เหลือง ในปัจจุบัน ผ่านข้อถกเถียงน่าตีความจากคำถามและคำตอบของตัวละครพวกซ้ายเก่า

 

“คุณกำลังเรียกร้องรัฐประหารใช่ไหม นี่มันศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดแล้ว คุณยังเชื่อในระบอบเผด็จการอีกเรอะ คุณอยากให้พวกอำมาตย์กลับมาครองเมืองเหมือนสมัยก่อนสิบสี่ตุลายังงั้นหรือ แล้วคุณจะบอกพวกเขาที่ตายไปแล้วเพื่อสิทธิเสรีภาพว่ายังไง… บอกว่าสมัยก่อนพวกเขาเข้าใจผิด ขอโทษด้วยสหาย คุณตายฟรี ยังงั้นหรือ พวกเราไม่ได้เรียกร้องรัฐประหารและไม่ชอบเผด็จการ แต่คุณคิดหรือว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย จริง ๆ มันก็แค่เผด็จการอีกแบบหนึ่งเท่านั้น มีเสียงข้างมากในสภาแล้วอยากทำอะไรก็ทำ ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่เห็นหัวฝ่ายค้าน นี่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เราฝันถึง”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2559: 171)

 

ข้อความข้างต้น เคนเนธ มิน็อก (2559: 128-129) กล่าวว่า “สารัตถะของการเมืองคือการอภิปรายถกเถียงและต้องเถียงกับอะไรสักอย่าง พรรคที่ผูกขาดอำนาจและพูดแต่กับตัวเองเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอำนาจปกครองในศตวรรษที่ 20 เป็นแต่เพียงระบบรวบอำนาจเด็ดขาด ฉะนั้นจึงออกจะแตกต่างจากการเมืองโดยทั่วไป รัฐเสรีประชาธิปไตยทุกรัฐจะต้องมีพรรคที่มีอำนาจมากกว่าพรรคอื่น ๆ อยู่สองพรรค ส่วนพรรคที่เหลืออยู่ตามชายขอบของอำนาจการเมือง การวาดภาพความเป็นจริงในรัฐสมัยใหม่ที่มีการแสดงความคิดเห็นจะสมบูรณ์แบบได้ก็ด้วยการตระหนักว่าพรรคต่าง ๆ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดกับกลุ่มอิทธิพล กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มองค์กรอื่น ๆ ที่อยากมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐที่แผ่อำนาจมากยิ่งขึ้น”

 

และการถกเถียงของตัวละครในเรื่องสั้นนี้ส่งผลให้ประชาชนออกมาชุมนุมตามสี่แยกเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าสถานการณ์ต่อมาจะมีการประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ดูเหมือนประชาชนจะยังไม่พอใจ พวกเขาเรียกร้องและต้องการการมีส่วนร่วมให้มีการปฏิรูปตามแบบการเมืองภาคประชาชน

 

“ขอให้รักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ เพราะมันมิใช่สมบัติส่วนตัวของพรรครัฐบาล ไม่ใช่สิ่งที่พวกต่อต้านรัฐบาลควรทำลาย… เสรีภาพเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับทุกฝ่าย เพราะการรักษาอำนาจด้วยการจำกัดเพดานความคิดย่อมทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคนได้”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2559: 179-180)

 

ข้อความข้างต้น สามารถแสดงภาพบทบาทหน้าที่ของอุดมคติในการพูดคุยถกเถียงทางการเมืองผ่านอุดมคติที่อาจเรียกโดยไม่ใส่อารมณ์ใด ๆ ว่า “เสรีภาพ” (liberty) หรือ “อิสรภาพ” (freedom) วิธีนี้ชัดเจนที่สุดที่จะตีความอิสรภาพในความหมายที่ไม่ถูกเหนี่ยวรั้ง ซึ่งในบริบททางการเมืองหมายถึง ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจกระทำตามใจตน

 

เคนเนธ  มิน็อก (2559:151) เปรียบเทียบไว้อย่างน่ารับฟังว่า “ความยุติธรรมทางสังคม การปลดปล่อยและประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือที่แข็งแกร่ง ทั้งหมดนี้จะนำทางให้เราฝ่ามันไปได้ ดังนั้นการเมืองรูปแบบหนึ่งจึงเป็นการให้อุดมคตินำทาง แน่นอนว่าปัญหาคือเราถือหางเสือโดยอาศัยดาวได้แค่ดวงเดียวเท่านั้น มิใช่หลายดวงที่กระจัดกระจายอยู่บนฟากฟ้า นั่นหมายความว่าผู้ที่สนับสนุนข้อเสนอของดาวดวงหนึ่งมากกว่าอีกดวงจะต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นดาวดวงนี้เองที่จะนำพาและตอบสนองความมุ่งมั่นดิ้นรนของเราได้ทั้งหมด แต่เพราะการดิ้นรนของเรา หลายครั้งก็ขัดกันเอง (เช่น ไม่มีทางที่นักการเมืองกลุ่มนี้จะยอมปฏิรูปให้ตัวเองเสียผลประโยชน์) เราจึงต้องละทิ้งการดิ้นรนบางอย่างหรือบางเป้าหมาย (เช่น คุณจะเอาใครที่ไหนมาปฏิรูป การปฏิรูปมันกระทบผลประโยชน์ทุกหมู่เหล่า) นี่คือสาเหตุว่าทำไม ทิศทางที่การเมืองจะมุ่งไปล้วนเป็นผลลัพธ์จากการตัดสินประเมินค่าที่เปลี่ยนแปลง โดยเกี่ยวข้องกับสิ่งน่าปรารถนาทั้งหลายที่ขัดแย้งกัน

 

อุดมคตินั้นสำคัญในการเมือง แต่ท้ายที่สุดความเป็นจริงจะเป็นตัวกำหนดว่าเราควรเดินไปในทิศทางไหนและรวดเร็วเพียงใด”

 

 

-ภาพที่เห็น-

 

เรื่องสั้น “ทาง” ของ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล เปิดเรื่องด้วยฉาก (setting) ธรรมชาติในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งชายชราออกมากางเต็นท์นอน จากนั้นจึงลำดับเรื่องเล่าแบบย่อ (summary) คือการที่ผู้เขียนย่อเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวละครในระยะเวลานับสิบปีภายในย่อหน้าเดียวหรือไม่กี่ย่อหน้าเพื่อให้เรื่องเดินเร็วขึ้น เปรียบเทียบกับภาพยนตร์คือการตัดภาพสลับ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครชายชราหรืออดีตนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายชัดเจนและเข้าใจได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

 

ภาพแรก คือ ฉากชีวิตทหารป่าของชายชราที่มองย้อนเหตุการณ์กลับไปในประวัติศาสตร์ ผ่านองค์ประกอบด้านความคิดและความรู้ (cognitive component) ตั้งคำถามจนกลายเป็นคำตอบที่เสกสรรค์  ประเสริฐกุล ตระหนักต่อสภาวะปลอดคุณค่าในการมีชีวิตอยู่และการไม่มีความหมายแท้จริงของความตาย โดยพิจารณาจากความตายของสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ การถูกสังหาร ทารุณกรรมหรือถูกบีบบังคับให้ฆ่าตัวตายในการปฏิวัติและสงครามอื่น ๆ ซึ่งผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่า ผู้ตายหรือผู้รอดชีวิต สุดท้ายล้วนสาบสูญไปในประวัติศาสตร์ ไม่เป็นที่จดจำหรือเหลือบแลของสังคม นำไปสู่การตายที่ไร้ความหมาย ส่งผลต่อความเชื่อในวัยหนุ่มและมโนธรรมสำนึกในวัยชรา

 

ภาพต่อมา บรรยากาศในที่ประชุมกลุ่มเพื่อนเดือนสิบกับความครุ่นคิดหลากข้อถกเถียงและโต้ตอบที่กลายเป็นความขัดแย้งจากการแบ่งสีจนได้ข้อสรุปผ่านองค์ประกอบด้านท่าที ความรู้สึก (affective component)  ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนบนเหตุผลความแตกต่างจากทัศนคติทางการเมือง ทำให้ชายชราออกไปกางเต็นท์นอนป่าและก้าวเท้าลงในสายน้ำ

 

“ต้องตะแคงตัวเดินโดยหันหลังให้กับกระแสน้ำ เขาเอนตัวไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อต้านแรงผลักแรงดัน”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2559: 186)

 

ข้อความดังกล่าวตีความได้ว่า ชายชราเลือกที่จะหันหลังให้กับความหมกมุ่นวุ่นวายจากความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่าจะอยู่กลางกระแสน้ำ แต่รู้จักวิธีที่จะฝ่าแรงต้านนั้น ทั้งนี้เป็นการหลีกเลี่ยง ไม่ใช่หลีกหนี โดยใช้สถานการณ์ช่วยตัดสิน เพื่อจัดการกับตัวอัตตา

 

“เขาค่อย ๆ หย่อนร่างเปลือยของตนเองลงในร่องน้ำ ในใจลืมหมดสิ้นว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน หรือชื่ออะไร เขารู้สึกตัวเองถูกโอบรัดด้วยสายน้ำที่มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับเขา… ในห้วงยามนั้น เขารู้สึกหมดสิ้นความเป็นมาและเลิกกังขาเรื่องความเป็นไป ในห้วงสำนึกของเขาไม่มีอย่างอื่น จากนั้นเปลี่ยนเป็นนั่งซุกหน้ากับหัวเข่า… มันเป็นท่าเดียวกับทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2559: 192-193)

 

ข้อความข้างต้น ชายชรากำลังเรียนรู้และพยายามเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ เมื่อธรรมชาติคือชีวิต ดังนั้นชีวิตจึงต้องกลับสู่ธรรมชาติในทางปฏิบัติ จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม (behavioral component)

 

ทั้งนี้ ความคิดและภาพที่เห็นของชายชราในเรื่องสั้น “ทาง” ของ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล เป็นกระแสสำนึกจากความคิดที่ทำให้ชายชรานึกภาพในอดีต สะท้อนเป็นภาพปัจจุบันที่ส่งผลให้ครุ่นคิดถึงชีวิตกับการเมือง ซึ่งล้วนเป็นภาพลวงตาหรือมายาคติ (myth)

 

ส่วนวิถี “ทาง” แห่งการเข้าป่าจับปืนในวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์กับการไปกางเต็นท์นอนป่าเพื่อแสวงหาความสันโดษในวัยชรา จึงเป็นภาพเปรียบให้ผู้อ่านเห็นถึงความคิดและอารมณ์ของตัวละคร ที่รำลึกอดีตและมองเห็นสัจธรรมบนความเปลี่ยนแปลงของจักรวาลที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับทุกสรรพสิ่งให้ไม่ยึดติด

 

เรื่องสั้น “ทาง” ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นอกจากจะเป็นวรรณกรรมสะท้อนบาดแผลของความสิ้นหวัง พ่ายแพ้และสูญเสียศรัทธาแล้ว ยังบอกเล่าประสบการณ์ของอดีตนักปฏิวัติที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์หม่นนิ่ง เงียบเหงาเศร้าหมองและโดดเดี่ยว จนนำไปสู่วิถี “ทาง” แห่งการเกิดใหม่ โดยปล่อยวางจากความทุกข์ เพื่อข้ามให้พ้นจากทวิภาวะนั้น ๆ

 

“ความมีเรามีเขาได้ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเห็นแจ้งว่าตัวเรานั้นไม่มีจริง ย่อมไม่เกิดความยึดถือว่ามีเรามีเขา เมื่อไม่ยึดถือในธรรมคู่นี้ ก็ไม่เกิดอหังการและปรังการขึ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทวตธรรมทวาร”

(เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, 2559:182)

 

บรรณานุกรม

เคนเนธ มิน็อก. (2559). การเมือง:ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส.

จิระโชค วีระสัยและคณะ. (2559). รัฐศาสตร์ทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์.(2560). “‘ทาง’วรรณกรรมบาดแผลสะท้อนชีวิตและสังคมการเมืองยุคแยกข้างมาจนถึงยุคแยกสี”. ออลแม็กกาซีน. 11(9):46-47.

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. (2559). ทาง รวมเรื่องสั้นชุด ‘ซ้ายผ่านศึก’. กรุงเทพฯ: สามัญชน.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

 


ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

ผู้หญิง ปิตาธิปไตย และเรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา ในเรื่องสั้นของพึงเนตร อติแพทย์

 

 

ปิตาธิปไตย (patriarchy) แต่เดิมหมายถึง “อำนาจของบิดา” แต่ในปัจจุบันหมายถึง “ระบบชายเป็นใหญ่” โดยอาศัยอำนาจของบิดาเป็นรากฐานของเพศชายโดยรวม ปิตาธิปไตยเป็นอำนาจที่แฝงเร้นอยู่กับสิ่งอื่น ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจหรือกฎหมาย มีอำนาจครอบคลุมบทบาท พฤติกรรม วิธีคิดทั้งของเพศหญิง เพศชาย และเพศอื่น ๆ

 

เคท มิลเล็ต (Kete Millet) เขียนไว้ใน Sexual Politics (1970) ว่า อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ได้ก่อให้เกิดความเชื่อที่ว่าความแตกต่างทางร่างกายทำให้เกิดความแตกต่างในบทบาททางเพศ ผู้ชายเหนือกว่า ผู้หญิงด้อยกว่า

 

ระบบชายเป็นใหญ่ให้อำนาจแก่ผู้ชายในการปกครอง ในขณะที่ผู้หญิงมีบทบาทของผู้ตามที่ดีและเชื่อฟังผู้ชาย แนวคิดนี้ดำรงอยู่ในทุกสถาบันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง สถาบันศาสนา จนกระทั่งถึงสถาบันครอบครัว ที่พ่อมีอำนาจมากที่สุดในบ้าน

 

 

บทความชิ้นนี้มุ่งเสนอผู้หญิงกับระบบปิตาธิปไตย ในเรื่องสั้น “มีแต่เรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา” ของ พึงเนตร อติแพทย์ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น พบกันในวันเงียบเหงา โดยจะวิเคราะห์ว่าผู้หญิงได้ยอมรับ ขัดขืนอำนาจปิตาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร และผู้ชายเป็นใหญ่ได้ทุกคนหรือไม่

 

เรื่องสั้น “มีแต่เรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา” ของ พึงเนตร อติแพทย์ เล่าถึงชีวิตของมีเรียม ผู้อยู่ในความดูแลของตากับยาย เพราะความเป็นใหญ่ของ “ผู้นำครอบครัว” ซึ่งไม่ค่อยพอใจพฤติกรรมและฐานะของพ่อเท่าใดนัก โดยเฉพาะเรื่องแต่งงานและเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จนเรื่องราวบานปลายหลังจากทั้งคู่มีลูก แม่เกลียดเด็กทารก ไม่ยอมเลี้ยงลูก ตาจึงเข้ามาจัดการชีวิตของคนทั้งคู่ด้วยการให้พ่อหย่ากับแม่ เพื่อแม่จะได้ไปแต่งงานใหม่

 

ผู้เขียนใช้มุมมองของผู้เล่าเรื่องที่ไม่ปรากฏตัวในฐานะตัวละครในเรื่อง (narrator a non-participant) การเล่าแบบนี้จะเป็น “เสียงพูดบนหน้ากระดาษ” อย่างแท้จริง เพราะผู้เล่าจะไม่ปรากฏตัวในฐานะตัวละครของเรื่อง เหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นการกระทำและความคิดของตัวละครซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้แจ้ง (omniscient) เฉพาะตัวละครเอก (seeing into one major character) ที่ผู้เล่าจะล่วงรู้เฉพาะตัวละครเอกเท่านั้น ผู้อ่านจะรู้จักตัวละครอื่นจากมุมมองของตัวละครเอก การเล่าเรื่องลักษณะนี้ ผู้เล่าจะจำกัดการรู้แจ้งในลักษณะที่เป็นภววิสัย (objective) คือ เล่าตามที่ตัวละครตัวนั้นเป็น แม้แต่กระแสความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ก็ปล่อยให้ตัวละครพรั่งพรูออกมาตามธรรมชาติ ให้ผู้อ่านพิจารณาสาระด้วยตนเอง ซึ่งต่อมาการเล่าเรื่องในลักษณะนี้ได้พัฒนามาเป็นการเล่าแบบ “กระแสสำนึก” (stream of consciousness)

 

 

การต่อสู้กันของความเป็นชาย

“ตากับยายเลือกปกปิดเรื่องการแต่งงานใหม่ของลูกสาว เพราะอยากให้ลูกสาวได้ไปเริ่มต้นใหม่กับผู้ชายที่ตาคิดว่าดี ผู้ชายที่จะทำให้ลูกสาวมีหน้ามีตาในสังคมสามีใหม่ของลูกสาวเป็นตำรวจยศผู้พัน มีบ้าน มีทรัพย์สิน มีที่ดินมากมาย สามีใหม่รู้เรื่องมีเรียม แต่เขายืนยันว่าจะให้พ่อแม่รู้ไม่ได้เด็ดขาดว่ามาแต่งงานกับผู้หญิงลูกติด ดังนั้นทางเลือกเดียวที่จะส่งให้ชีวิตของลูกสาวโชติช่วงชัชวาล ตาจำเป็นต้องเขี่ยลูกเขยคนเก่าออกไปจากชีวิต และเอามีเรียมไว้เลี้ยงดูเอง” (พึงเนตร อติแพทย์, 2561:195)

ข้อความข้างต้น จะเห็นถึงบทบาทสำคัญของ “ตา” ที่มีอำนาจชี้ขาดตัดสินหรือบงการชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะแม่และพ่อของมีเรียมที่แต่งเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิงจึงไม่อาจมีอำนาจหรือปากเสียงได้เต็มที่ และการแยกทางของคนทั้งคู่อาจส่งปัญหามาถึงชีวิตของมีเรียมในภายหลังได้ แต่ตาก็สามารถจัดการมันไปตามระบบคิดที่เชื่อว่า อำนาจทั้งหมดอยู่ที่ความเป็นพ่อของตา ทำอะไรย่อมไม่ผิด ต่างจากลูกเขยคนใหม่ที่ตาไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ เพราะไม่ได้แต่งเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเหมือนพ่อ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นถึงการต่อรองของอำนาจ ตาอาจเป็นใหญ่ในครอบครัวของแม่ แต่กลับต้องสยบยอมต่อตำแหน่ง ฐานะของลูกเขยคนใหม่กับเงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธได้ สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของผู้ชายทั้งสองคนที่อยู่ในฐานะ “ผู้นำครอบครัว” สุดท้ายพ่อมีเรียมจึงต้องจากไปและทำได้เพียงทิ้งเสียง “วรูม วรูม…” จากท่อมอเตอร์ไซค์ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ไว้เป็นเพียงตัวแทนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ยังมองได้อีกว่า ตัวละคร “แม่” เชื่องและเฉยชากับการตกอยู่ในอำนาจปิตาธิปไตย โดยไม่ยอมขัดขืนหรือโต้แย้งพ่อและสามีใหม่เลย

 

ดังนั้น ความสัมพันธ์ของตัวละครชายในเรื่องสั้น “มีแต่เรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา” ได้นำเสนอโครงสร้างของชายเป็นใหญ่ในครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นตัวแปร โดยที่แม่ถูกตาควบคุมผ่านการแสดงออกของความรักที่พ่อมีต่อลูก เมื่อตาได้พ่อเป็นลูกเขยที่เป็นเซลล์แมนจึงใช้ความเป็นผู้นำครอบครัวและความอาวุโสตัดสินใจในทุกเรื่อง แต่กับนายพลซึ่งเป็นสามีใหม่ของแม่ เขากลับมีอำนาจในการต่อรอง ทั้งตาและนายพลต่างแสวงหาทางควบคุมและกดขี่ผู้หญิงในฐานะผู้นำเพื่อลดทอนอำนาจซึ่งกันและกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่า ในระบบชายเป็นใหญ่มิใช่ผู้ชายทุกคนจะเป็นใหญ่ได้ ในกรณีของตากับนายพลยังมีการกดทับกันเองจากตำแหน่งหน้าที่และสถานภาพทางสังคม ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นชายแบบเจ้าโลก (hegemony) ส่วนนายพลกับพ่อได้ถูกชนชั้นและสถานะทางเศรษฐกิจมาแบ่งแยก จนพ่อกลายเป็นชายชายขอบ (marginalization) นั่นเอง เขียนแผนผังได้ดังนี้

 

 

 

 

ความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับปิตาธิปไตย

 

มีเรียมเข้าใจว่าพ่อตายไปนานแล้ว หลังเรียนจบ ทำงานและอายุครบ 22 ปี ความจริงถูกเปิดเผย เธอจึงปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตและย้อนความทรงจำอันก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในใจจนกลายเป็นจุดหักเหที่รุนแรงถึงขั้นแตกหัก

 

“มีเรียมหันมาจ้องหน้าแม่ ผู้หญิงที่ไม่เคยเติบโตเป็นผู้ใหญ่จริง ๆ เธอเป็นเพียงหญิงสาวรักสนุก รักสบาย ไม่เคยรักใครนอกจากตัวเอง เธอคือลูกสาวตัวน้อย ๆ ที่ตาจะปกป้องและสนับสนุนในทุกทางให้มีความสุข โดยไม่แคร์ว่าจะทำให้โลกของใครเต็มไปด้วยความทุกข์หรือไม่ เธอเป็นได้เพียงลูกสาวของตา แต่ไม่อาจเป็นแม่ของใคร” (พึงเนตร อติแพทย์, 2561:199)

 

ข้อความข้างต้น จะเห็นถึงการขัดขืนของมีเรียมผ่านการใช้อำนาจของภาษาในการวิพากษ์วิจารณ์แม่ของเธอผ่านความคิด จากการจ้องมองซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะระบายความคับข้องใจผ่านภาษาที่ใช้ เพื่อตอกย้ำความเป็นลูกสาวของตา แต่ไม่อาจเป็นแม่ของเธอได้ ผู้อ่านจะสังเกตถึงน้ำเสียงที่เย้ยหยันระบบปิตาธิปไตย ที่สะท้อนผ่านอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ถึงแก่น

 

“ถุงยางอนามัยค่ะแม่ พ่อให้หนูมาในหีบไม้นั่น บอกว่าลูกจงใช้มันด้วยความรักและหากความรักยังไม่งอกงามพอที่จะให้กำเนิดอีกชีวิต จงอย่าใช้ชีวิตโดยปราศจากมัน” (พึงเนตร อติแพทย์, 2561:199-200)

 

ข้อความข้างต้น เป็นการขัดขืนผ่านตัวแทนของอารมณ์เก็บกดของมีเรียม ที่รู้สึกไม่พอใจในสิ่งที่แม่เคยทำผิดพลาดในอดีต และพ่อได้เตือนสติเธอเพื่อไม่ให้ดำเนินรอยตาม ผ่านการเปรียบเทียบหรือกระทบกระเทียบกับ “ถุงยางอนามัย” ซึ่งเป็นการแฝงนัยเชิงสถานการณ์ (irony of situation) ที่ผู้เขียนสร้างความแตกต่างระหว่างความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเย้ยหยันโชคชะตาของตัวเอง

 

เรื่องสั้น “มีแต่เรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา” ของ พึงเนตร อติแพทย์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและปิตาธิปไตยใน 2 ลักษณะ คือ ผู้หญิงภายใต้อำนาจปิตาธิปไตยและผู้หญิงกับการขัดขืนอำนาจปิตาธิปไตย ยายและแม่ เป็นผู้หญิงที่อยู่ภายใต้อำนาจของ “ตา” พวกเธอเชื่อฟังและทำตามโดยไม่โต้แย้งหรือขัดขืน โดยเฉพาะแม่ ผู้ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้และต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากสามีใหม่ด้วย ต่างจากมีเรียมที่ไม่ยอมเชื่อฟังหรือตกเป็นผู้ตามในระบบปิตาธิปไตย เธอเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่จะเป็นคนเลือกหนทางชีวิตให้แก่ตนเอง อีกทั้งเธอยังมีการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้

 

ทั้งนี้ แม้เสียงวรูม วรูม…อาจไม่ใช่เสียงที่แท้จริงของเธอ แต่มันคือตัวแทนของพ่อ ที่เธอได้รับเป็นมรดกเพื่อใช้เป็นพาหนะทั้งทางความคิดและการกระทำเพื่อความมีอิสระในวันหนึ่ง ถึงมันจะเคยเป็นเสียงของพ่อผู้เคยพ่ายแพ้และทำได้เพียงแค่หลอกหลอนครอบครัวของตา สุดท้ายผู้เขียนได้แฝงนัยเป็นความหวังว่าลูกสาวคงจะเอาชนะ ไม่ว่าจะโดยวิธีขัดขืนหรือโต้กลับอำนาจปิตาธิปไตย การเธอตัดสินใจเลือกจากครอบครัวนั้นมา จึงสะท้อนให้เห็นการหลุดพ้นจากอำนาจปิตาธิปไตยที่ครอบงำและกดทับชีวิตเธอมาตลอด 22 ปีได้สำเร็จ

 

 

บรรณานุกรม

 

ชานันท์ ยอดหงษ์. (2560). “ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ก็ใช่ว่าผู้ชายจะไม่ถูกกดขี่”. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2561. [ออนไลน์]. https://thematter.co/thinkers/oppression-in-patriarchy-world/18760.

ธัญญา สังขพันธานนท์. (2539). วรรณกรรมวิจารณ์. ปทุมธานี:นาคร.

พึงเนตร อติแพทย์. (2561). “มีแต่เรื่องน้ำเน่าในหมู่เรา”. ใน พบกันในวันเงียบเหงา.กรุงเทพฯ:หนังสือสำเภา.

สรยา รอดเพชร. (2561). “ผู้หญิงกับปิตาธิปไตยในนวนิยายของ อุทิศ เหมะมูล”. วารสารวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 14(1). มกราคม-มิถุนายน:53-79.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

เส้นขอบฟ้า

 

 

เธอจะคว้าอะไรดีที่ปลายฟ้า

เมฆ ตะวัน จันทรา ดาราส่อง

เรียวโค้งรุ้ง มุ่งเสรี แสงสีทอง

ทอดตามองหาความหมายสุดสายตา

Read More
error: