เนตร – เอพริษา

วันที่ 1

มิราตื่นขึ้นมากลางดึกเหมือนหลายๆคืนที่ผ่านมา เธอเป็นนักเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซีที่มีชื่อเสียงและเคยทำงานได้รวดเร็ว สมองปลอดโปร่ง แต่ช่วงนี้หญิงสาวไม่เข้าใจตนเองเหมือนกันว่าทำไมถึงมีความผิดปกติทางร่างกาย หรือจะพูดให้ถูกคือความผิดปกติทางสมอง มิราสังเกตว่าตนเองสมาธิสั้น ว่อกแว่ก ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขี้ระแวงและ…รู้สึกเหมือนมีใครจ้องมอง

ที่เธอชอบสะดุ้งตื่นกลางดึก ก็เพราะรู้สึกเหมือนมีใครจ้องมองนั่นเอง

ความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องใหม่

เมื่อนึกถึงตรงนี้สายตาของมิราก็เหลือบไปที่โต๊ะเขียนหนังสือของตนอย่างอัตโนมัติ หญิงสาวมองฝ่าความมืดไปยังวัตถุชิ้นหนึ่งที่อยู่ข้างๆคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนของเธอ ท่ามกลางความมืดยังคงมองเห็นรางๆว่า วัตถุชิ้นนั้นมีขนาดเท่าฝ่ามือเด็ก มันคือหินขนาดเขื่องก้อนหนึ่งที่มีรูปร่างแปลกตา มีลักษณะเป็นทรงรีที่มีมุมแหลมจรดกันทั้งสองด้านคล้ายกับดวงตามนุษย์ และที่พิกลกว่านั้นคือ หินนั่นมีร่องเป็นทรงกลมมนอยู่ด้านในคล้ายกับลูกตา

มิราได้หินก้อนนี้มาอย่างลึกลับ ขณะเดินทางไปเที่ยวน้ำตก ‘นางไศล’ กับเพื่อน ในตอนนั้นมิราแทบหมดหวังกับอาชีพที่ใฝ่ฝัน นั่นคือการเป็นนักเขียน เธอส่งต้นฉบับไปหลายที่ บางที่ปฏิเสธ และบางที่ยังรอการตอบรับ

ชินี เพื่อนสนิทของมิรา ไม่อยากเห็นสภาพเศร้าสร้อยของเธออีกต่อไป จึงเอ่ยว่า

“เธออาจอยู่กับที่ อยู่ในบ้าน ในเมือง ในที่เดิมๆเกินไป ไอเดียเลยไม่พุ่ง ไปเที่ยวกันมั้ย”

“ไม่หรอก เธอก็รู้ว่าฉันไม่ชอบไปเที่ยว”

“เอาน่า ไปเที่ยวครั้งนี้อาจได้พล็อตเรื่องใหม่ก็ได้นะ”

“เธอจะพาฉันไปเที่ยวไหนเหรอ มิติอนาคตรึไง”

“บ้าน่า…ก็ไปน้ำตกนางไศลไง”

“หือ…ที่ไหนน่ะ ไม่เคยได้ยิน”

“เป็นน้ำตกที่ยังไม่เปิดให้ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เพราะชาวบ้านกลัวว่าถ้ามีคนนอกเข้าไป อาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือนักท่องเที่ยวอาจเจอเรื่องประหลาด”

“เรื่องประหลาดอะไร!” มิราถามอย่างสนใจ แม้จะเชื่อครึ่งไม่ครึ่ง แต่ถ้าสถานที่ที่เธอกำลังจะไปมีตำนานลึกลับก็อาจนำมาดัดแปลงเป็นนวนิยายเรื่องใหม่ได้

“เขาว่ากันว่า น้ำตกนี้มักมีหินรูปร่างแปลกๆ บางทีเป็นหินนำโชค เอ…ฉันว่าชาวบ้านคงกลัวนักท่องเที่ยวไปแย่งหินนำโชคเขามากกว่าเลยไม่ยอมเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ช่างเถอะ ที่อยากให้ไปน่ะก็เพราะ น้ำตกนางไศลน่ะสวยมากๆๆๆ ก.ไก่ล้านตัว”

หินนำโชค…นางเอกได้หินนำโชคมาจากน้ำตกลึกลับ เมื่อนำกลับไปที่บ้านก็พบว่าหินนั้นมีวิญญาณพี่สาวของเธอจากอดีตชาติ ที่รอคอยการแก้แค้น…

พล็อตใหม่!

แล้วมิราก็ตกลงทันทีอย่างไม่ลังเล

ขณะที่ชินีกำลังเลือกมุมถ่ายรูป มิราก็ออกสำรวจบริเวณรอบๆเพื่อเก็บรายละเอียดสภาพแวดล้อมเผื่อได้ใช้บรรยายฉาก น้ำตกที่ว่านี้สวยลึกลับจริงๆ มิราดื่มด่ำความงามธรรมชาติจนกระทั่งเท้าพาเธอเดินเข้าไปยังป่าลึก ลึกจนแทบไม่ได้ยินเสียงน้ำตก

ฉับพลัน! มีหญิงชราปรากฏตัวอย่างไม่คาดฝันตรงหน้า นางมอบหินนี้ให้มิรา

“เนตรไศล…แม่หนูรับไปเถิด แม่หนูเป็นผู้ถูกเลือก”

“มันคืออะไรคะ”

“เนตรไศล…หินมหัศจรรย์…”

จังหวะนั้นเสียงของชินีก็ดังขึ้น

“มิรา! หาตั้งนาน นึกว่าแมวคาบไปกินแล้วซะอีก มาถ่ายรูปทางนี้เร็ว”

หญิงสาวหันไปรับคำเพื่อน อดขำไม่ได้ เข้าป่าไม่พูดถึงเสือ แต่พูดถึงแมวแทน…แล้วหันกลับมาหาหญิงชราอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าเธอพบเพียงหินรูปทรงประหลาดวางบนพื้นดิน มิราหยิบขึ้นมาอย่างงงๆ

“หินอะไร เหมือนตาคนเลย เพราะอย่างนี้สินะถึงชื่อเนตรไศล” เธอใช้ความคิดว่าจะเก็บไว้หรือปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นดี แล้วก็ได้คำตอบว่า

“เก็บไว้ดีกว่า อาจเป็นหินนำโชคก็ได้”

มิราตัดสินใจนำหินประหลาดใส่เป้ที่สะพายอยู่ แม้จะไม่ได้เป็นสายมูเตลู แต่ของอย่างนี้ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ไม่แน่ว่าหญิงชราลึกลับอาจนำโชคมาให้ และ…มิราแปลกใจจนขนลุกซู่ เรื่องราวที่เธอเจอวันนี้คล้ายกับพล็อตที่วางไว้ก่อนจะมาเที่ยวเลยแฮะ

แน่นอน…เธอได้พล็อตและชื่อนวนิยายเรื่องใหม่แล้ว…เนตรไศล…ขอบคุณคุณยายนะคะที่ช่วยให้หนูตั้งชื่อนวนิยายเรื่องใหม่ได้

เนตรไศล…หินนำโชคและนำพล็อตนวนิยายมาสู่เธอ

แล้วก็เป็นดังที่คาด เมื่อมิรานำหินรูปดวงตามาไว้ใกล้ตัวขณะทำงาน เธอก็มีไอเดียบรรเจิด เขียนงานได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ต้นฉบับหลายเรื่องที่เคยถูกปฏิเสธนั้นได้รับการติดต่อมาจากสำนักพิมพ์อย่างไม่คาดฝัน

“ใช่ค่ะ เราเคยปฏิเสธต้นฉบับนวนิยายเรื่อง มนต์เทวา เพราะคิดว่าพล็อตเรื่องไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่มาคิดดูอีกที ตัวละครในเรื่องน่าสนใจและมีมิติมากเลยค่ะ ถ้าคุณมิรายังไม่ได้เอาต้นฉบับไปตีพิมพ์ที่ไหน สำนักพิมพ์ของเรายินดีรับพิจารณาอีกครั้งนะคะ”

หรือในวันหนึ่ง มิราได้รับแจ้งว่านวนิยายของเธอที่วางจำหน่ายมาหลายปีแล้ว กำลังจะได้ผลิตเป็นละครโทรทัศน์ที่มีนักแสดงดาวรุ่งเป็นตัวละครเอก

จากนักเขียนที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นนักเขียนดาวรุ่ง นวนิยายของเธอหลายเรื่องมีผู้เลือกหยิบมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ และทำให้ละครมีเรตติ้งและยอดวิวนับล้านวิว ไม่มีใครไม่รู้จักมิราและผลงานจากปลายปากกาของเธอ

มิรากลายเป็นเน็ตไอดอลในโซเชียลภายในเวลาเพียง 3 เดือน ตั้งแต่นำหินรูปดวงตากลับมาจากน้ำตกนางไศล

แต่ตอนนี้ หลังจากเริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง ‘เนตรไศล’ มิราก็เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่เริ่มเขียน มิรามักสัมผัสได้ถึงสายตาล่องหนคอยจ้องมองอยู่ และเธอก็เชื่อสุดใจว่า ก้อนหินรูปดวงตานี้เองเป็นผู้จับตามองเธอ

ความคิดของมิราล่องลอยไปไกล จนกระทั่งตอนนี้นาฬิกาบอกเวลา 4.00 น. ความจริงตอนนี้เป็นเวลาตื่นของเธอในยามที่หัวกำลังแล่น มิรามักตื่นก่อนสว่างเพื่อเขียนต้นฉบับ แต่วันนี้เธอสะดุ้งตื่นราวตีสาม ถ้าจะนอนต่อก็คงไม่ได้ เพราะอยากเขียนตอนต่อไปของนิยายให้เสร็จเร็วๆ

มิราเปิดไฟในห้องให้สว่าง ส่วนหนึ่งเพื่อให้สมองตื่น อีกส่วนหนึ่งบอกตามตรงว่า เธอกลัวก้อนหินรูปร่างพิกลนั่น จนไม่กล้าตื่นก่อนสว่างและขยาดการนอนดึก เพราะช่วงนี้มิราไม่อยากใช้ชีวิตตอนกลางคืนร่วมกับหินเนตรไศลนั่นเอง

แต่เดิมนั้นมิราไม่กลัวหรือคิดว่าหินเนตรไศลมีวิญญาณหรืออาถรรพณ์อะไร เพราะเรื่องแบบนั้นควรจะอยู่ในนวนิยายเรื่อง ‘เนตรไศล’ ที่เธอกำลังเขียนอยู่มากกว่า แต่แปลกจัง ทำไมตั้งแต่เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ถึงรู้สึกแปลกๆ หินนั่นจ้องมองและทำให้เธอเขียนตอนต่อไปของนวนิยายเรื่องนี้ได้ยากขึ้น

หรือหินนั่นจะมีอาถรรพณ์จริง…และอาถรรพณ์เริ่มสำแดงในตอนที่เริ่มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมัน…มิราไปลบหลู่สิ่งที่อยู่ในหินหรือ…

แต่แล้ว…มิราก็รู้วิธีขจัดความกลัวและความกังวลทั้งปวง

หญิงสาวหยิบสมาร์ทโฟนแล้วตั้งท่าจะเซลฟี่ แต่…เดี๋ยวก่อน ตอนนี้ไม่ได้

มิราวิ่งเข้าห้องน้ำอย่างรวดเร็ว ล้างหน้า ทาแป้งตลับ แต่งหน้าอ่อนๆ เปลี่ยนชุดนอนจากเสื้อยืดคอย้วย กางเกงวอร์มยับย่นเป็นชุดเดรสสบายๆเหมือนที่เธอมักสวมตอนเขียนงาน

มิราเดินมานั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือ พยายามสลัดความรู้สึกพิกลที่มีต่อหินนั่นทิ้งไป เธอยกสมาร์ทโฟนขึ้น

แชะ!

ตื่นตีสี่ เขียนต้นฉบับ สมองแล่น โปรดักทีฟสุดๆ

แม้จะเป็นเวลาตีสี่เศษๆ แต่ยอดกดไลก์ก็พุ่งกระฉูดถึงหลักร้อยในเวลาไม่ถึงสิบนาที

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มิราพยายามทำเพื่อหลอกตัวเอง (และแฟนคลับ) ว่าเธอเขียนงานได้ลื่นไหล ทั้งที่จริงตลอดสัปดาห์นี้ยังเขียนไม่ได้สักหน้า

หลังจากโพสต์ลงในไทม์ไลน์เฟซบุ๊กแล้ว มิราก็เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าชุดเดิม ล้มเลิกความตั้งใจเขียนต้นฉบับ เพราะเริ่มรู้สึกง่วงงุน อาจจะเป็นเพราะเธอสบายใจที่วันนี้ได้แสดงตัวตนในโลกโซเชียลตั้งแต่ยังไม่สว่าง มิรามักทำแบบนี้เสมอ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ เธอชอบโพสต์ความคิดหรือเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับชีวิตจริงลงในโซเชียล พอทำแบบนั้นก็รู้สึกว่า มีตัวตนใหม่เกิดขึ้นซ้อนทับตัวตนเดิม

เมื่อล้มตัวลงนอนต่อ อุปาทานพิศวงก็กลับมาอีกครั้ง มันจ้องมองเธออีกแล้ว

ก่อนจะกลับคืนสู่โลกนิทรา หญิงสาวเหมือนจะได้ยินเสียงหัวเราะแผ่วๆ แว่วมาจากที่ไกลๆพร้อมถ้อยคำเยาะเย้ย

สมองแล่น…แล่นไปแบบกู่ไม่กลับล่ะสิ…นอนต่อไปแล้ว นึกว่าจะแน่

วันที่ 2

แชะ!

กาแฟ ไข่ลวก เบคอน …

อาหารเช้าวันนี้ เป็นครั้งแรกที่ทานน้อยมากๆ ปกติต้องมีข้าวต้มกุ้ง นมสด น้ำส้มคั้น แต่ถือคติว่า เรากินเพื่ออยู่ อยู่เพื่อเขียนค่าาาาาาา

เมื่อกดโพสต์เสร็จ มิราเลื่อนจานอาหารทั้งหมดออกไป เธอไม่อยากกินอะไรเลย น้ำหนักลดลงด้วย นอนก็ไม่หลับ แต่งานยังต้องเดิน

มิรานั่งลงหน้าคอมพิวเตอร์ เธอตัดสินใจ ไม่ว่าอย่างไรวันนี้ต้องเขียน ‘เนตรไศล’ ต่อให้ได้ และแม้จะรู้สึกแปลกๆกับหินรูปร่างประหลาด มิราก็ยังคงวางมันไว้ในตำแหน่งเดิมนั่นคือ ข้างคอมพิวเตอร์

ของนำโชคขนาดนี้ เอาไปซ่อนไว้เพราะความกลัวบ้าๆบอๆ ก็อดโชคดีน่ะสิ

คอมพิวเตอร์เปิดติดปุ๊บ พอดีกับความรู้สึกแปลกๆก็แล่นเข้ามาในหัวเธออีกครั้ง

ดวงตาจ้องฉันอีกแล้ว…

ทำไมนะ เวลาจะเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ดวงตานี้ต้องสำแดงอะไรแบบนี้ด้วย ตอนอาบน้ำ กินข้าว เดินเล่น ก็ปกติดี แต่พอจะเริ่มเขียนทำไมต้องจ้องฉันด้วย…

ช่างเถอะ ก็หินมันเป็นรูปคล้ายดวงตา เราคงมโนไปเอง เหมือนกับที่เมื่อคืนเราฝันว่าหินนั่นพูดได้ไง

แชะ! แชะ! แชะ! แชะ!

หนังสือหลายเล่ม บรรยากาศบนโต๊ะทำงาน ปากกา กระดาษ บันทึกด้วยสมาร์ทโฟนหลายสิบรูปก่อนจะถ่ายทอดสู่เครือข่ายไร้พรมแดน

พร้อมลุยงาน!

เช้าวันนี้ขอทักทายด้วยนวนิยายเรื่องใหม่ เนตรไศล นักโบราณคดีสาวได้หินมาจากหญิงชราลึกลับ และเมื่อเธอนำมันกลับมาที่บ้านกลับมีเรื่องแปลกๆเกิดขึ้น เป็นต้นว่า แม่บ้านสังเกตว่ามีหญิงแต่งชุดไทยโบราณเข้ามาอาศัยอยู่ในห้องของนางเอก หรือคืนหนึ่ง นางเอกฝันว่ามีหญิงสาวที่หน้าตาละม้ายคล้ายเธอยืนอยู่ข้างหิน…หินเนตรไศลจะมีความเป็นมาอย่างไร อย่าลืมติดตามกันน้า

หลังจากคลิกโพสต์ลงไทม์ไลน์เสร็จ มิราก็ตั้งใจจะเปิดไฟล์เวิร์ดเพื่อพิมพ์ตอนต่อไปของนวนิยาย

ทว่า…

หินนั่น

ไม่ใช่แค่ความรู้สึกว่าหินนั่นกำลังจ้องเขม็งเท่านั้น ขณะนี้มิรารู้สึกพิกลกว่าเดิม

นั่นเสียงอะไรน่ะ

ทำเป็นขยัน รู้น่าว่าเป็นโรคประสาท

ก้อนหินประหลาดนั่นมีเสียงจริงๆเหรอ เมื่อคืนเธอไม่ได้ฝันไปหรือไง เสียงนั่นมาจากบริเวณนี้ รอบโต๊ะของเธอ มันจะมาจากไหนถ้าไม่ใช่จากหินเนตร…ไศล…

“นางเอกได้หินประหลาดจากหญิงชรา พล็อตเดิมๆ”

อะ…อะไรนั่น หินประหลาดนั่นมีเสียงจริงๆ

“พล็อตเดิมๆน่ะ ดีแล้ว จะได้ฉกเอาไปง่ายๆหน่อย”

เสียงนั่น…ไม่ใช่…ไม่ใช่เสียงเดียวกับเสียงแรก

“รออ่านนะ”

“เขียนแต่เรื่องแฟนตาซีซ้ำซาก เขียนแนวอื่นไม่เป็นหรือไง”

“ไม่ชอบก็อย่ายุ่ง ให้กำลังใจเธอนะ”

“ได้ยินว่าไปเที่ยวน้ำตกนางไศลมา…งั้นคงเขียนให้ตัวเองเป็นนางเอกเรื่องนี้น่ะสิ”

แน่แล้ว…หินเนตรไศลถูกผนึกวิญญาณ! มีวิญญาณร้ายหลายดวงสิงอยู่ที่นั่น

ไม่จริง! หินนี้เคยทำให้เธอสมองปลอดโปร่ง ไอเดียบรรเจิด และผลิตงานเขียนออกมาอย่างยอดเยี่ยม จะเป็นหินอาถรรพณ์ได้ยังไง

นอกจากว่า…วิญญาณที่อยู่ในหินไม่พอใจที่มิรานำเรื่องราวของหินเนตรไศลมาสร้างสรรค์ตามจินตนาการของเธอ

บ้าน่า เรื่องแบบนี้มีแค่ในเรื่องแต่ง ถึงมิราจะเขียนนิยายแนวแฟนตาซี แต่เธอไม่ได้เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติแบบงมงาย

มิราตัดสินใจลุกจากโต๊ะทำงานไปยังชั้นหนังสือที่มีหนังสือหลากหลายประเภท แน่นอนว่าเธอรู้สึกว่าดวงตาหลายร้อยคู่กำลังจ้องตามทุกอิริยาบถ มิราพยายามบอกตัวเองว่าเธอเครียดที่เขียนงานไม่ได้ ยิ่งเครียดก็ยิ่งประสาทหลอน ยิ่งประสาทหลอนก็ยิ่งเครียดขึ้นอีก วนไปวนมาไม่รู้จบ

มิราต้องหยุดเขียนชั่วคราว และเปิดคอมทิ้งไว้ เธอต้องการอ่านหนังสือเพื่อฝึกการจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

เธอหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วนั่งลงบนโซฟาตัวโปรด แน่นอนว่ามิรารู้ตัวว่ากำลังถูกจ้องด้วยดวงตาของหินเนตรไศล แต่พยายามไม่สนใจ แล้วคว้าเอาสมาร์ทโฟนมาถ่ายรูปตนเอง ทำเป็นถ่ายทีเผลอขณะอ่านหนังสือ

แชะ!

ก่อนเขียน…ต้องอ่านให้มาก

โพสต์สั้นๆ แค่นี้แหละ

แต่…มันมาอีกแล้ว เสียงจากหินประหลาด

“อ่านหนังสือเรอะ…เล่มนี้เคยอ่านไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังอ่านไม่จบอีก”

หา! วิญญาณนั่นรู้ด้วยเหรอ

“ขยันจังค่ะ”

เอ่อ…วิญญาณดวงนี้ชมฉัน

“กองดองตัวแม่”

“อ่านเล่มละหน้า แล้วก็มารีวิวว่าอ่านจบแล้ว”

บ้าแล้ว! มิราลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งดวงตาปริศนานั่น ทั้งเสียงอีกนับร้อย มันตามมาหลอกหลอน เธอจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหินนั่นมีอะไรซ่อนอยู่คือต้องกลับไปที่น้ำตกนางไศล

วันที่ 3

มิราถ่อสังขารที่ทั้งเหนื่อยจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ กินอะไรก็ไม่อร่อย และยังมีสภาพจิตใจว่อกแว่กง่ายไร้สมาธิไปยังที่ที่เธอพบหญิงชราผู้พาความลึกลับมาให้

หญิงสาวนั่งลงตรงจุดที่เธอหยิบหินรูปทรงพิศวงในวันนั้น ทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา

“พี่คะ!”

มิราเรียกหญิงสาวชาวบ้านคนหนึ่งที่เดินผ่านมา

“เรียกพี่เหรอจ้ะ” เธอตอบกลับด้วยท่าทางเป็นมิตร

“ค่ะ…คือหนูมาหาคุณยายแก่ๆท่าทางประหลาดๆคนหนึ่งน่ะคะ แกอยู่หมู่บ้านนี้ไหมคะ”

“หมู่บ้านนี้มียายแก่ๆหลายคนจ้ะ ชื่อยายอะไรล่ะจ้ะ”

“หนูไม่รู้จักคุณยายคนนี้ค่ะ แต่แกให้หินหนูมาก้อนหนึ่ง” ว่าแล้วมิราก็ควานหาหินลึกลับในเป้ใบเดียวกับที่เธอเก็บหินนั่นมาครอบครอง แต่…

หินไปไหน???

มิราจำได้ว่าหยิบใส่เป้แล้วนี่นา

“อ้าว! หินไปไหนเนี่ย”

“มีอะไรเหรอจ้ะ แล้วยายคนไหนให้หินอะไรคุณจ้ะ”

“หินชื่อเนตรไศลค่ะ หนูเอามันมาด้วยแต่มันหายไปไหนแล้วไม่รู้ค่ะ”

“นี่คุณจ้ะ…” หญิงชาวบ้านลดเสียงลงจนเกือบเป็นเสียงกระซิบ “ถ้าคุณหยิบเอาหินอะไรออกไปจากหมู่บ้าน ก็เอามาคืนเถอะคุณ หินบางก้อนให้โชคลาภก็จริง แต่บางทีก็มีอาถรรพณ์เหลือร้าย”

อาถรรพณ์…ใช่แล้ว เธอต้องโดนอาถรรพณ์หินแน่ๆ

“ค่ะพี่ หนูจะรีบเอามาคืนนะคะ”

หญิงชาวบ้านพยักหน้าเห็นด้วย และขอตัวจากไป

จริงด้วย มิราต้องเอามันมาคืนที่นี่ ที่ผ่านมาเธออาจจะโชคดีเพราะหินเนตรไศล แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นโชคร้ายเพราะหินก้อนเดียวกัน

เมื่อกลับมาถึง มิราก็พบว่าหินลึกลับวางอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือของเธอเหมือนเดิม ไม่ได้ขยับเขยื้อนแม้แต่น้อย คิดแล้วเสียวสันหลังวาบ

วันที่ 4

เช้าแล้ว มิรายังนอนอยู่บนเตียง และเพิ่งสังเกตว่าเมื่อวานนี้ทั้งวันที่ออกไปหาหญิงชรา เธอไม่รู้สึกว่ามีดวงตาของหินเนตรไศลจ้องอยู่ และไม่ได้ยินเสียงวิญญาณผีปิศาจที่ถูกผนึกอยู่ในนั้นด้วย เพราะอะไรน่ะเหรอ…คำตอบง่ายนิดเดียว เพราะหินก้อนนี้อยู่ในบ้าน แต่เธอออกไปข้างนอก อาถรรพณ์ของหินจึงทำอะไรเธอไม่ได้

เมื่อพบว่าหินประหลาดอาจนำโชคร้ายมากกว่าโชคดี มิราจึงต้องทำอะไรสักอย่าง

มิราจ้องไปที่หินลึกลับอย่างใช้ความคิด

เอาไงดี…

ทุบทิ้งไหม…ไม่ดีกว่า ถ้าทุบแล้ววิญญาณออกมาจากหินล่ะ ที่นี้หลอนจัดแน่

เอาไปวางไว้นอกบ้าน ไม่ต้องตั้งไว้โต๊ะทำงานแล้ว…แต่…ถ้าหินนี้ยังเป็นหินนำโชคอยู่ล่ะ ที่ผ่านมาเธออาจเครียดสะสมจนทำให้หลงๆลืมๆ สมาธิสั้น ประสาทหลอนไปเองก็ได้

หรือจะเลิกเขียนนวนิยายเรื่อง ‘เนตรไศล’ ลบไฟล์ทิ้งไปเลย

ใช่แล้ว วิธีนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องทำลาย หินเนตรไศลยังคงมีอยู่ต่อไป เธอแค่ยกเลิกการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ง่ายนิดเดียว

ทันใดนั้น มิราก็เหลือบไปเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เธอแสนจะขยะแขยงกำลังไต่ช้าๆบนคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กที่แง้มไว้

แมลงสาบ!

ตายแล้ว มันเข้ามาได้ไงเนี่ย ไม้กวาด ไม้กวาดอยู่ไหน อ้าว…อยู่ข้างล่างนี่นา ถ้าลงไปเอาไม้กวาด แล้วมันไต่ไปที่อื่น ไปซ่อนอยู่มุมใดมุมหนึ่งของห้องนอนนี้จะทำยังไง

ไปไม่ได้ ต้องหาไม้อะไรก็ได้แถวนี้เขี่ยออกไป

แล้วมิราก็พบทางออก เธอคว้าร่มยาวขึ้นมาแล้วทำสมาธิกับการเขี่ยแขกไม่ได้รับเชิญออกทางหน้าต่าง ซึ่งตอนนี้มันไต่ไปบริเวณขอบคอมพิวเตอร์ ใกล้กับหินปริศนา

มิราพยายามเขี่ย…เขี่ย…เขี่ย…โดยที่ไม่ทันมองว่า ด้ามร่มนอกจากกำลังเขี่ยแมลงสาบแล้ว ยังเขี่ยหินเนตรไศลไปด้วย

ตุบ!!! พลั๊ก!!!

“ว้าย”

มิราร้องเสียงหลง ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ คอมพิวเตอร์ที่ตกลงมาจากโต๊ะพร้อมกับ…

หินเนตรไศล…

ที่ตอนนี้แตกกระจาย…

วันที่ 5

คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กต้องเอาไปซ่อม เพราะนอกจากมันจะตกจากโต๊ะอย่างแรงแล้ว ช่างยังแนะนำให้อัพเดตระบบโน่นนี่

มิราเลยไม่มีอุปกรณ์ใช้พิมพ์ต้นฉบับ

และที่สำคัญ ปฏิบัติการไล่ล่าแมลงสาบเมื่อวานยังทำให้เธอทำลายหินพิศวงนั่นไปโดยปริยาย

คิดมาถึงตรงนี้แล้วมิราอดหวั่นใจไม่ได้ เมื่อหินเนตรไศลแตกแล้ว วิญญาณร้ายที่สิงอยู่ในหินนั่นจะล่องลอยอยู่ที่ไหนกันในตอนนี้

หินผนึกวิญญาณ… มันมีตำนานหรือใครเล่ารายละเอียดอะไรไว้ไหมนะ ถามอากู๋ดีกว่า

แล้วมิราก็ตั้งท่าจะเข้าเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิ้นที่ชื่อกูเกิ้ล เธอหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา แต่เอ๊ะ!

สมาร์ทโฟนเป็นอะไรเนี่ย ทำไมหน้าจอดับ

กลายเป็นว่ามิรากลับไปที่ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร้านเดิมอีกครั้ง ปรากฏว่าแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนเสื่อมจึงต้องเปลี่ยนใหม่ สรุปคือมิราไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทั้งวัน แถมยังต้องระแวงว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากหินเนตรไศลแตกไปแล้ว ทั้งหมดเพราะแมลงสาบตัวเดียว!!!

เธอกลับมานั่งอ่านหนังสือที่บ้านอย่างเหงาๆ และยังหวั่นว่าเมื่อหินเนตรไศลแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้ว จะเกิดอะไรกับเธอขึ้นต่อไป มิราจะยังสามารถเขียนงานได้ลื่นไหลอยู่หรือเปล่า

แต่สิ่งที่เธอสังเกตได้คือ ดวงตาปริศนาหลายร้อยคู่…อันตรธานไปแล้ว รวมทั้งเสียงเซ็งแซ่นั่นด้วย

เมื่อไม่มีอาถรรพณ์จากหินรูปดวงตา หญิงสาวก็สบายใจอย่างบอกไม่ถูก เธอทำกิจวัตรประจำวันด้วยสมองปลอดโปร่ง โล่งเบา ไม่ต้องระแวง ไม่ต้องกังวล วันนี้ทั้งวันมิราจึงได้อ่านหนังสือกองดองที่คั่งค้างไว้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว และหลายปีที่แล้วจบตั้งสามเล่ม นั่งทำสมาธิที่สวนหลังบ้านได้ถึง 30 นาที ทั้งที่เมื่อก่อนเธอนั่งนิ่งๆได้แค่ 30 วินาทีเท่านั้น ตอนเย็นหลังมื้ออาหาร มิรายังเล่นโยคะได้ถึง 1 ชั่วโมง คืนนี้เธอรู้สึกว่า ‘ชีวิต’ ของเธอกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องกังวลกับสายตาจากหินเนตรไศล และเสียงปริศนาที่พยายามค่อนแคะเหมือนเมื่อก่อน มิราได้ข้อสรุปว่า ปาฏิหาริย์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากความสามารถของตนเองทั้งนั้น เธอเพียรเขียนๆๆๆๆๆทุกวัน แม้ถูกปฏิเสธงานหลายครั้ง จนวันนี้พิสูจน์ได้ว่ามีฝีมือจริง มันไม่ได้เกิดจากหินเนตรไศลแม้แต่น้อย

หินรูปดวงตานั่นอาจจะไม่มีอาถรรพณ์อะไรเลย…

ส่วนคำตอบที่ว่า ทำไมเธอจึงมีอาการแปลกๆ เมื่อเริ่มเขียน ‘เนตรไศล’ นั่นก็เพราะความเครียด มิราไม่เคยเขียนนวนิยายที่ดัดแปลงจากประสบการณ์จริง เธอจึงกลัวว่าจะเขียนยังไงไม่ให้คนอ่านรู้สึกว่าเอาเรื่องตัวเองมาเขียนหรือจะดัดแปลงอย่างไรไม่ให้พาดพิงถึงสถานที่จริง ความกังวลทั้งมวลจึงก่อตัวขึ้นกลายเป็นความผิดปกติดังที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ดังนั้นไม่ว่าหินเนตรไศลจะยังอยู่หรือแตกไปแล้ว ก็อาจไม่มีผลอะไรกับเธอสินะ ทั้งหมดนั้นมิราเพียงแต่คิดไปเอง

แล้วเหตุการณ์ประหลาดที่เธอพบหญิงชราลึกลับคนนั้นล่ะ

ยายแกแก่แล้ว อาจจะพูดจาเรื่อยเปื่อยตามความเชื่อตน…มิราตอบตนเอง

อ้อ…แล้วหินเนตรไศลที่เธอตั้งใจเอาใส่เป้ในวันนั้นล่ะ มิราแน่ใจว่าตนเองหยิบใส่เป้แล้วแน่ๆ แต่ทำไมถึงกลายเป็นว่ามันยังตั้งอยู่ตำแหน่งเดิม…

นี่เป็นคำถามข้อสุดท้ายที่เธอต้องหาคำตอบให้ได้

วันที่ 6

มิราออกจากร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยความผิดหวัง ที่จริงวันนี้เธอต้องได้คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าร้านปิด หน้าร้านปิดป้ายประกาศว่า

ปิด 1 วัน

มีธุระด่วนที่ต่างจังหวัด ลูกค้าที่รับนัดอุปกรณ์สามารถมารับได้ในวันพรุ่งนี้

ขออภัยในความไม่สะดวก

แม้จะผิดหวังและเซ็งที่ไม่ได้โพสต์ไทม์ไลน์ และถ่ายเซลฟี่เหมือนเคย แต่มิรารู้สึกว่าตั้งแต่หินลึกลับแตกไปเธออารมณ์ดีขึ้น มีสมาธิขึ้น จะทำอะไรก็ไม่มีดวงตาและเสียงปริศนาคอยติดตาม

ก่อนกลับบ้านเธอแวะเข้าร้านหนังสืออิสระแห่งหนึ่งที่เคยเข้าประจำ ตาไปสะดุดที่หนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับการใช้หินบำบัดโรค ที่จริงมิราก็เคยได้ยินศาสตร์การบำบัดด้วยหินมานาน แต่ไม่เคยสนใจเท่าวันนี้มาก่อน

มิราอ่านคร่าวๆ พบว่า หินบางชนิดมีพลังในการรักษาโรคอย่างมหัศจรรย์ เพราะแร่ธาตุที่อยู่ในหิน

แร่ธาตุ…

เหมือนมีลำแสงสว่างวาบกลางศีรษะ ที่ผ่านมาเธอมองหินเนตรไศลแบบไสยศาสตร์มาตลอด เมื่อกลับมามองในแบบวิทยาศาสตร์ ก็พบว่า ถ้าหินมีแร่ธาตุบางอย่างที่รักษาโรคได้ มันก็มีแร่ธาตุบางอย่างที่ส่งผลต่อร่างกายในทางลบได้น่ะสิ

จริงๆแล้ว ที่เธอมีอาการแปลกๆ กระวนกระวาย สมาธิสั้น รวมทั้งประสาทหลอน ก็อาจมีสาเหตุมาจากหินที่เธอตั้งไว้ใกล้ตัวๆเวลาทำงานก็ได้

งั้นเหตุการณ์วันนั้น มิราก็แค่ ‘ลืม’ เอาหินเนตรไศลไป แต่เข้าใจว่าตนเอาใส่เป้แล้ว แร่ธาตุอันตรายบางอย่างจากหินเนตรไศล คงทำให้เธอมีอาการหลงๆลืมๆ

ไม่ได้มีอาถรรพณ์อะไรเลย…

มิรายิ้มอย่างสบายใจ หินแตกไปแล้ว ต่อไปนี้เธอจะกลับมาเป็นมิราที่สมองลื่นไหล เขียนงานได้รวดเร็วเหมือนเดิม

มิราไม่ลังเลที่จะเขียนนวนิยายเรื่อง ‘เนตรไศล’ ต่อ ในเมื่อหินเนตรไศลเป็นแค่หินรูปทรงแปลกตา ไม่ได้เป็นหินอาถรรพณ์อะไร

วันที่ 7

และแล้วคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนของมิราก็กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

แชะ!

รูปบรรยากาศบนโต๊ะเขียนหนังสือโพสต์ลงไทม์ไลน์อีกครั้งพร้อมข้อความว่า

มิรา come back

ขอโทษทุกคนที่หายไปนะคะ พอดีเครื่องมีปัญหาค่ะ

สัญญาว่าจะอัพความก้าวหน้าของ เนตรไศล ทุกวันเหมือนเดิมนะคะ

พอโพสต์เสร็จไม่ถึง 2 นาที ยอดไลก์พุ่งเหมือนเดิม มิรายิ้มภูมิใจแต่ก็ต้องหุบยิ้มโดยพลัน

มันมาอีกแล้ว…

ความรู้สึกว่าถูกจ้องมอง

และแว่วเสียงนั่น

“อัพเพื่ออะไรใครอยากรู้”

“อัพเลยจะได้เป็นไอเดียนิยายเรื่องใหม่ของฉันด้วย ว่าแต่ใครจะเขียนเสร็จก่อนน้า”

หินเนตรไศลนั่น เธอทิ้งเศษซากของมันไปหมดแล้ว

มันกลับมาอีก ไอ้อาการประสาทหลอน…

Photo by Aaron Burden on Unsplash

โอ้แม่มหากวีฯ The Series EP.1 : การแปลโอ้แม่มหากวีฯ ฉบับภาษาอังกฤษ

 

ด้วยกำแพงภาษา ทำให้งานเขียนไทยไม่อาจก้าวสู่สากลได้ทันทีที่เขียนเสร็จ แม้จะเขียนด้วยภาษาไทยอย่างวิจิตรบรรจง แต่เนื้อหาอันน่าติดตามก็ไม่อาจสื่อถึงผู้อ่านที่ใช้ภาษาอื่นได้ ขณะที่ซีรีส์และภาพยนตร์ในปัจจุบันทำบทบรรยายภาษาต่างประเทศกันเป็นปกติแล้ว แต่วรรณกรรมไทยกลับไม่ได้ก้าวตามในจังหวะเดียวกันนั้น

 

เมื่อ Anthill Archive คิดจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ของนันดานี เราได้คัดเลือกเรื่องสั้นจำนวน 1 เรื่องจาก 12 เรื่องในเล่ม มาแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า “Oh, the Great Poetess of the 21th Century” โดยหวังว่า ต้นฉบับภาษาอังกฤษนี้จะช่วยให้ผู้อ่านที่ไม่ได้เป็นคนไทย จะพอได้ซึมซับรับทราบเนื้อหาและลีลาของนันดานีบ้าง และบางทีอาจช่วยดึงให้ผู้อ่านต่างประเทศหันมาสนใจวรรณกรรมไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 

การทำงานดังกล่าว เราได้มอบหมายนักแปลที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรมแปลมากกว่าสิบปีอย่างวรางคณา เหมศุกล ให้มาถ่ายทอดเรื่องราวของนันดานี และเมื่อต้นฉบับแปลภาษาอังกฤษลุล่วงในร่างแรก เราได้ติดต่อนลิน สินธุประมา ผู้มีประสบการณ์อ่านงานของนันดานีมานานหลายปี และมีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีและรสนิยมของผู้เขียน ให้มาร่วมงานในฐานะบรรณาธิการต้นฉบับแปลเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งผลที่ได้ กลายเป็นการรวมทีมที่ลงตัว

 

 

ในเบื้องแรกนั้น เรามุ่งหมายเพียงต้องการแปลเป็นภาษาอังกฤษตามแบบอย่างที่มูราคามิเล่าว่า เขาเตรียมต้นฉบับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของตนเอง โดยไม่รอให้เอเจนซีใดติดต่อมาก่อน และนั่นทำให้เขาพร้อมคว้าโอกาสในแวดวงวรรณกรรมโลก ต่างจากนักเขียนที่มีเพียงต้นฉบับภาษาเดียวในมือ

 

การจัดพิมพ์ “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ปกสีเหลืองๆ โดยมีเรื่องสั้นฉบับภาษาอังกฤษแถมท้าย เล่มนี้นอกจากจะดำเนินรอยตามแนวคิดดังกล่าว การลงมือแปลกันเองในทีมที่เหมาะสม มีประสบการณ์ มีความเข้าใจนักเขียนและผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่และคาดไม่ถึงด้วย

 

การเลือกเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” มาแปลนี้ได้ทำให้เราเห็นมุมมองที่มากขึ้นในการทำงานต้นฉบับ ทั้งผู้แปล บรรณาธิการต้นฉบับแปล บรรณาธิการเล่ม ได้หารือกันเกี่ยวกับถ้อยคำสำนวนต่างๆ ยิงคำถามกลับไปยังนักเขียน ว่าคำนี้อารมณ์ระดับไหน หรือมีประเด็นเช่นว่า เราควรคงศัพท์เฉพาะไว้ หรือแปลอย่างอธิบายความ ถ้าพูดถึง “เว็บไซต์เด็กน้อย” คนไทยเราอาจนึกถึงเว็บไซต์เด็กดีได้ไม่ยาก แต่ชาวต่างชาติเล่า เราจะแปลอย่างไรให้สื่อสารบริบทของสังคมไทยได้มากและดีเท่าที่จะทำได้ เหล่านี้คือสิ่งที่ทีมครุ่นคิดกว่าจะมาเป็นเวอร์ชั่นที่เห็นในเล่ม

 

นอกจากนี้ เมื่อหนังสือพิมพ์เป็นเล่มแล้ว เรายังได้รับฟีดแบ็กมาว่า เรื่องอื่นๆ ก็น่าแปลเป็นภาษาอังกฤษ บางคนโหวต “การรุกรานของขยะ” ว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

 

แล้วคุณล่ะ ได้อ่านเล่มนี้หรือยัง อยากให้แปลเรื่องไหนอีกบ้าง

 

 

แถมท้าย

 

หากผู้อ่านคนใดสนใจการแปล อาจลองพลิกไปมาระหว่างเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษของเรื่อง “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ได้ เพื่อเทียบเคียงเนื้อความและถ้อยคำ ถ้ามีความเห็นอย่างไร ก็พูดคุยกับเราได้เสมอที่ anthillarchive@gmail.com

 

ส่วนนักเขียนคนใดที่ต้องการจะตระเตรียมต้นฉบับของตนเองให้เป็นภาษาอังกฤษ ลองติดต่อของคำปรึกษาจาก วรางคณา เหมศุกลที่ WaraWords.com ได้เลย

 

เพราะการพบกันของทีมงานที่ลงตัว นำมาซึ่งความมหัศจรรย์เสมอ 🙂

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ: แฟนตาซีผีไทย ร่วมสมัยทันเหตุการณ์

 

 

 

 

ขณะที่โควิคคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย เกิดวิกฤตหลายด้าน ทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับ New Normal หมอพยาบาลมีอาชีพหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัคซีน แล้วนักเขียนล่ะ นักเขียนจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้

 

 

Raina เป็นนามปากกาของนักเขียนนิยายแนวแฟนตาซี ที่มักจะสอดแทรกปมปัญหาเข้มข้นให้ผู้อ่านติดตาม เมื่อเกิดโควิดลากยาวมาเรื่อยๆ ในฐานะนักเขียน Raina จึงเริ่มเขียน “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” เป็นตอนสั้นๆ ลงใน Read A Write ด้วยหวังใจว่าจะคลายเครียดให้คุณผู้อ่าน ดังที่เขียนไว้ในคำนำว่า

 

“เพราะภาวะโควิด-19 ที่ทุกอย่างล็อกดาวน์ ตอนนั้นเราถามตัวเองว่า นักเขียนตัวน้อยๆ อย่างเราทำอะไรได้บ้าง เลยคิดว่า เราเขียนได้ ก็เขียนเรื่องตลกคลายเครียด เอาเป็นพื้นที่ฝากร้านละกัน!”

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดหนังสือที่เรียกว่า “หนังสือนอกแผน” คือนอกแผนการเขียนที่เคยวางไว้นั่นเอง

 

 

 

แฟนตาซีผีไทย

นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักที่ไม่ใช่คน เต็มไปด้วยผีสางนางไม้ พระภูมิเจ้าที่ มีคนแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ไม่ได้น่ากลัว เพราะเป็นเรื่องตลกขำขัน บรรดาภูตผีในเรื่องก็อ้างอิงจากเรื่องเล่าพื้นบ้านของไทย ทั้งเจ้ตะเคียน เจ้าจุก เจ้าแก้ว  และเราเดาว่าผีบางตัวน่าจะมีที่มาจากเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกด้วย (ขอไม่เฉลยๆ โปรดอ่านและเดากันเอง)

 

แม้จะไม่ยาวนักและเป็นเรื่องที่เขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลาย แต่ข้อมูลที่ใช้ การสร้างภาพตัวละครให้ชัดเจนมีรายละเอียดนั้น Raina ก็ยังทำได้ดี ทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละคร และบทสนทนาที่แสดงให้เห็นอุปนิสัยของตัวละครต่างๆ

 

 

ร่วมสมัย ทันเหตุการณ์

หากใครเคยอ่านงานของ Raina จะรู้ว่า นอกจากการนำตำนานและความเชื่อโบราณของชนชาติต่างๆ มาใช้สร้างเรื่องแล้ว Raina ยังถนัดในการนำเทคโนโลยี หรือเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบันมาผนวกรวมเข้าไว้ในเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ประดักประเดิด

 

ในครั้งนี้ Raina ใช้เรื่องบริการดิลิเวอร์รี่ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคที่คนต้องกักตัวไม่ออกไปไหน มาผนวกเข้ากับเรื่อง “หวย” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยและมักมีประสบการณ์ร่วม อีกทั้งยังสอดแทรกชื่ออาหารและขนมลงในบทสนทนา เพื่อปูทางไปสู่การฝากร้านในท้ายตอนและท้ายเรื่องด้วย การฝากร้านนี้ ไม่ใช่การขอสปอนเซอร์มาใส่ไว้ในเล่ม แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าที่ทุกวันนี้ต้องพยายามปรับตัวเพื่อสู้กับความซบเซาทางเศรษฐกิจเพราะพิษโควิดได้มีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้คนมากขึ้น

 

 

นอกจากความผ่อนคลายที่ได้รับจากการอ่านเล่มนี้ (และความหิวเกือบตลอดเวลา) เรายังพบว่า Raina ยังไม่ลืมสอดแทรกบทสนทนาอันอบอุ่นระหว่างตัวละครหลัก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ตั้งแต่ในเล่มก่อนๆ นี้แล้ว อย่างในเล่ม “ลำนำอตีตา” และ “ลิขิตรักจำหลักใจ”

 

 

แถมท้าย

หลังจากอ่านงานของ Raina มาหลายเล่ม เราพบว่า ทั้งงานจริงจังเข้มข้นและงานคลายเครียด ล้วนมีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นความเป็น Raina 3 ประการ คือ 1. การใช้ข้อมูลจำพวกตำนานความเชื่อทางศาสนาและอารยธรรมโบราณต่างๆ 2. การนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน (เช่นตัวละครที่เป็นเทพเจ้า แต่เล่นทวิตเตอร์ หรือ เจ้ตะเคียนที่มีไอโฟนกงเต๊ก เบิกมาด้วยแต้มบุญที่สะสมไว้) 3. ความรักระหว่างตัวละครเอกที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (หากไม่ต่างชนชั้น ก็ต่างภพภูมิ)

 

 


 

 

ใครที่สนใจ “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” ของ Raina แบบรูปเล่ม ตอนนี้มีจำหน่ายที่ร้านกลิ่นหนังสือ

หรือจะทดลองอ่านก่อน ที่ Read A Write

ถ้าใครอยากติดตามและพูดคุยกับนักเขียน ก็ขอเชิญที่เพจ Raina

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

ปันนารีย์และเราล้วนอยู่ในสมรภูมินักรบของตัวเอง

 

“ฉันมีถนนสายที่ต้องออกเดินทางเสมอ ถนนเส้นที่นำพาไปยังสถานที่ที่ทำให้ท้องหายหิว ด้วยยิ่งถือหลักการที่ถูกบ่มเพาะมาว่า ผู้อยู่ในวัยเยาว์ไม่ควรได้รับอนุญาตให้รู้จักความหิวจนกว่าพวกเขาจะพ้นระยะการพิทักษ์จากผู้นำครอบครัว ถนนสายที่ทำให้ชีวิตครึ่งหนึ่งในกิจกรรมทั้งหมดของฉันตกอยู่หลังพวงมาลัย…”

(ปันนารีย์, 2562: 43)

Read More

บีเลิฟด์ (BELOVED) : ชื่อนามกับนิยามตัวตนคนผิวสี

 

 

เมื่อเอ่ยถึงนวนิยายเรื่องบีเลิฟด์ ของโทนี มอร์ริสัน เราอาจเล่าเรื่องให้สั้นกระชับได้ว่า “แม่ฆ่าลูก” จากนั้นสามคำนี้ก็ชวนให้คิดต่อและรู้สึกได้มากมาย และนั่นคือนวนิยายของนักเขียนรางวัลโนเบล ที่นำเสนอความรักของแม่กับลูกในบริบทสังคมอเมริกายุคที่ยังก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็นทาสและความเป็นไทได้อย่างถึงแก่น

 

นอกจากประเด็นความรักระหว่างแม่ลูกแล้ว การที่ชื่อเรื่องนวนิยายนี้คือ บีเลิฟด์ อันเป็นชื่อของตัวละครหลัก ยังได้นำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยชื่อตัวละคร

 

บีเลิฟด์, เดนเวอร์, เซเธอ, เจนนี วิทโลว์, เบบี้ ซักส์, แสตมป์ เพด, ฮาลเล, พอล เอ, พอล ดี, พอล เอฟ, ซิกซ์โอ, การ์เนอร์, บราเธอร์, มิสเตอร์ ฯลฯ

 

ชื่อตัวละครเหล่านี้ปรากฏบ่อยครั้งในเรื่องบีเลิฟด์ และการได้มาซึ่งชื่อเหล่านั้นมีสาเหตุแตกต่างกันไป เมื่อพิจารณาแล้วพบว่านวนิยายเรื่องนี้ได้สื่อถึงความเป็นไทและความเป็นทาสที่ก้ำกึ่งกันอยู่อย่างแยบยลผ่านชื่อ ทั้งในกระบวนการตั้งชื่อ เปลี่ยนชื่อ และเรียกชื่อ

 

ชื่อคือเครื่องนิยามตัวตนของเจ้าของชื่อ ปกติแล้วการตั้งชื่อจะกระทำโดยผู้มีอำนาจมากกว่า คือพ่อแม่ซึ่งมีอำนาจในฐานะผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิต และเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นชีวิตที่เกิดขึ้นจึงถูกนิยามได้ด้วยชื่ออันแฝงฝังทัศนคติของผู้ตั้งชื่อ และเมื่อได้รับชื่อ ตัวตนของผู้นั้นจึงปรากฏชัดในสังคม

 

ในเรื่องนี้คนขาวที่กระทำสิ่งเลวร้ายอย่างครูโรงเรียนไม่มีชื่อ ขณะที่ไก่โต้งและต้นไม้ที่บ้านสวีทโฮมมีชื่อว่า มิสเตอร์ และ บราเธอร์ ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่มีนัยยะของความเป็นมนุษย์ ลักษณะนี้แสดงให้เห็นขั้วตรงข้ามอย่างยิ่งระหว่างมนุษย์ไร้ชื่อที่ทารุณผู้อื่น กับสัตว์และพืชที่ไม่ได้เป็นมนุษย์โดยกายภาพแต่กลับมีชื่ออย่างมนุษย์

 

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าชื่อและการตั้งชื่อตัวละครในเรื่องบีเลิฟด์ แสดงและสื่อสารความหมายอย่างไร

 

ชื่อตัวละครที่ปรากฏในเรื่องแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ชื่อที่คนขาวกำหนดให้ และชื่อที่คนผิวสีเลือกเอง แต่ละลักษณะล้วนสื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงอำนาจและนัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่ในชื่อและกระบวนการตั้งชื่อเหล่านั้น

 

ฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2563 โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

 

ชื่อที่ได้รับมากับตัวตนในสายตาของคนอื่น

 

ในสังคมอเมริกันยุคกึ่งไทกึ่งทาส ขณะที่แม่ผิวสีบางคนเลือกไม่ตั้งชื่อให้ลูกของตนเองเนื่องจากไม่ต้องการสร้างความผูกพันระหว่างตนและลูก เพราะอีกไม่นาน ลูกของพวกเธอจะเติบใหญ่และโดนพรากไปเป็นแรงงานที่ไหนสักแห่งอย่างไม่รู้ชะตากรรม ดังนั้น คนผิวขาวจึงเป็นผู้ตั้งชื่อให้ทาสที่อยู่ในการปกครอง

 

ในเรื่องบีเลิฟด์ มิสเตอร์และมิสซิสการ์เนอร์เป็นคนผิวขาวเจ้าของบ้านที่ชื่อว่า “สวีทโฮม” ที่นั่นเลี้ยงดูและใช้งานคนผิวสีทั้งชายและหญิงอย่างเป็นธรรม ไม่ทำร้ายร่างกาย รับฟัง และให้เกียรติบรรดาคนผิวสี

 

กระนั้น ชื่อที่การ์เนอร์เรียกคนผิวสีในเรือนของตนก็มีนัยยะของการทำให้ไม่เป็นมนุษย์เพราะมีลักษณะของการจัดลำดับสิ่งของมากกว่าจะเป็นชื่อเฉพาะบุคคล เห็นได้จากชื่อ พอล เอ, พอล ดี, พอล เอฟ และชื่อ ซิกซ์โอ ที่หมายถึงเลขหก ทำให้ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่มีความหมายเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณค่า

 

การ์เนอร์อาจตั้งชื่อให้บรรดาพอลและซิกซ์โอเช่นนี้เพื่อความสะดวกสบายในการเรียก กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความหมายของชื่อเหล่านี้ลดทอนความเป็นมนุษย์อันมีบุคลิกลักษณะเฉพาะต่างไปในแต่ละคน ตัวตนของตัวละครเหล่านี้จึงถูกลดทอนให้เหลือเพียงลำดับและตัวเลขจนคล้ายว่าตัวตนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกกลืนหายไปในชื่อที่บ่งปริมาณมากกว่าคุณภาพหรือความหมาย

 

เมื่อพิจารณาต่อเนื่องไป จะพบว่ามิสเตอร์การ์เนอร์ผู้แสนดี ที่มอบความไว้วางใจให้แก่คนผิวสีจนถึงขนาดให้พวกเขาพกปืนได้ ยังคงมีทัศนคติว่าชื่อใดไม่เหมาะกับความเป็นไท ดังที่เขาพูดกับเบบี้ ซักส์ ว่า “ถ้าฉันเป็นเธอนะ ฉันจะใช้ชื่อว่าเจนนี วิทโลว์ มิสซิสเบบี้ ซักส์ ไม่ใช่ชื่อของนิโกรที่ได้รับอิสระแล้วเท่าไหร่” (ฉบับแปลไทย โดยรังสิมา ตันสกุล, สนพ. ไลบรารี่ เฮ้าส์, 2563: 226)

 

ทัศนคติในการเลือกและเรียกชื่อดังกล่าวของการ์เนอร์จึงอาจนับได้ว่าเป็นการควบคุมบงการคนผิวสีว่าแม้เบบี้ ซักส์จะเป็นไทแล้ว แต่เธอก็ควรมีชื่ออย่างคนที่เป็นไท ซึ่งสื่อได้อีกนัยหนึ่งว่า แม้คนผิวสีจะเป็นไทแล้ว แต่ก็ควรมีชื่อที่เหมาะสมตามความเห็นของคนขาวนั่นเอง

 

มิสเตอร์การ์เนอร์จึงเป็นตัวแทนของคนผิวขาวผู้ปฏิบัติต่อคนผิวสีในอาณัติของตนอย่างเท่าเทียม ทว่าแท้จริงแล้วก็ยังคงแฝงเร้นทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นไทและทาส ผ่าน “ชื่อ” ทั้งการตั้งชื่อให้พวกผู้ชายในบ้านสวีทโฮม และการวิจารณ์ชื่อของเบบี้ ซักส์

 

การตั้งชื่อเองเพื่อดำรงตัวตน

 

            นอกจากชื่อที่ได้รับจากคนขาวแล้ว ตัวละครผิวสีในเรื่องอย่างเบบี้ ซักส์ และแสตมป์ เพดได้ตั้งชื่อตนเอง ส่วนเซเธอก็ตั้งชื่อลูกของตน ตัวละครเหล่านี้เลือกชื่อให้ตนเองและผู้อ่านด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อยืนยันถึงความทรงจำและการมีอยู่ของตน

 

เบบี้ ซักส์ เลือกใช้ชื่อนี้แทน เจนนี วิทโลว์ ซึ่งเป็นชื่อที่ระบุในใบซื้อขายทาส เพราะเธอต้องการคง “ซักส์” อันเป็นชื่อของสามีไว้ และเบบี้ก็เป็นชื่อที่สามีเธอเรียก ดังนั้น เบบี้ ซักส์ จึงเป็นชื่อที่ผูกโยงถึงตัวตนความเป็นแม่และเมียของเธอไว้ ชีวิตของเธอไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนขาวหรือใบซื้อขายทาส แต่กำหนดโดยดวงใจของเธอซึ่งมีความรักและความหวังว่าสักวันหนึ่งสามีอาจจะตามหาเธอพบ ถ้าหากเธอยังคงใช้ชื่อที่เขาจดจำได้

 

โจชัว เคยอยู่ในอาณัติของคนขาว และประสบชะตากรรมอันเลวร้ายที่ต้องคอยรับรู้ว่า วาชไต ภรรยาของเขา จำต้องขึ้นเรือนไปกับลูกชายของนาย วันหนึ่งเขาหมดสิ้นความอดทนและหนีจากมา พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สแตมป์ เพด และอุทิศชีวิตช่วยเหลือคนผิวสีมาแล้วมากมาย

 

กระทั่ง เซเธอผู้เป็นตัวละครแม่ที่ลงมือสังหารลูก ก็ยังตั้งชื่อลูกของหล่อนทุกคน และชื่อที่สำคัญสองชื่อคือ บีเลิฟด์ และ เดนเวอร์

 

บีเลิฟด์ คือลูกสาวคนแรกของเซเธอ ชื่อนี้ปรากฏขึ้นหลังจากความตายมาบรรจบที่หลุมฝังศพ เซเธอแลกกายของเธอสิบนาทีให้แก่ช่างสลักหินป้ายหลุดศพ ความเจ็บปวดจากกำหนัดได้ปรากฏร่องลึกเป็นชื่อของลูกสาวคนแรก ชื่อที่มีความหมายว่า “ที่รัก”

 

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อนี้ก็ถูกลืมเลือน แม้ตัวตนของบีเลิฟด์จะปรากฏชัดเมื่อเซเธอจำเธอได้ในตอนกลางเรื่อง และเมื่อเดนเวอร์หรือพอล ดี เอ่ยชื่อเธอ แต่นอกจากนั้นแล้ว ในท้ายที่สุดผู้คนลืมเลือนเธอ และตัวตนของเธอก็สูญหายไปด้วยเช่นกัน

 

เดนเวอร์ คือลูกสาวคนที่สองของเซเธอ ชื่อของเธอมาจาก “เอมี เดนเวอร์” สาวคนขาวที่เซเธอพบในป่าและช่วยเซเธอทำคลอดเดนเวอร์ การตั้งชื่อเดนเวอร์จึงมีเหตุมาจากความประทับใจ ความงาม และคำขอบคุณ และภายหลังชื่อของเดนเวอร์ก็ได้รับการเอ่ยขานจากคนผิวสีอื่นๆ ในชุมชน ทำให้ตัวตนของเธอเข้มแข็งขึ้นจนกระทั่งฮึดสู้กับเรี่ยวแรงอาฆาตมาดร้ายของบีเลิฟด์ได้

 

ดังนั้น ตัวละครผิวสีที่ตั้งชื่อให้ตนเองอย่างเบบี้ ซักส์ และสแตมป์ เพด จึงเป็นการกำหนดชีวิตใหม่ที่ได้เลือกด้วยตนเอง ชื่อของเบบี้ ซักส์ ผูกโยงกับความทรงจำเกี่ยวกับสามีจนกลายเป็นตัวตนของเธอที่ไม่ถูกคนขาวบงการ ส่วนสแตมป์ เพดก็ใช้ชื่อลบลืมความทรงจำในชีวิตเก่า เพื่อให้ตนเองได้มีชีวิตใหม่ที่เป็นไท

 

ขณะเดียวกัน ชื่อของบีเลิฟด์และเดนเวอร์ได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่แม่พยายามจะกำหนดคุณค่าและความหมายให้ลูกของตน ชื่อบีเลิฟด์ตั้งขึ้นภายหลังจากที่เด็กหญิงเสียชีวิตไปแล้ว จนเกิดเป็นตัวตนเหนือธรรมชาติราวกับว่าเธอได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งขึ้นมา ส่วนชื่อเดนเวอร์ก็มีชีวิตและตัวตนชัดเจนขึ้นทุกขณะ เพราะในตอนท้ายไม่เพียงเซเธอกับพอล ดี ที่รู้จักและเรียกชื่อเดนเวอร์ แต่คือคนผิวสีทั้งชุมชนที่ทักทาย เรียกชื่อ และเอ่ยถึงเธอ ทำให้เดนเวอร์มีตัวตนชัดเจน

 

ชื่อ เรื่องเล่า ตัวตน ที่ผูกโยงกับความเป็นไทและความเป็นทาส

 

            เมื่อมีชื่อจึงมีเรื่องเล่าอันก่อรูปเป็นความทรงจำและกลายเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล บีเลิฟด์ เป็นชื่อเรื่องและชื่อตัวละครสำคัญที่มีตัวตนแจ่มชัด เธอเรียกร้องให้พอล ดี เรียกชื่อของเธอ เพื่อให้เธอมีพละกำลังและอำนาจในการครอบงำเขา ในแง่มุมนี้พอล ดี จึงกลายเป็นทาสของบีเลิฟด์ไปชั่วขณะ เพราะเขาได้เอ่ยชื่อซึ่งเธอได้กำหนดให้เอ่ย

 

ส่วนเดนเวอร์ที่เลือกก้าวออกจากบ้านอย่างหวั่นหวาดเพื่อไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวก็มีตัวตนเข้มแข็งชัดเจนขึ้นทุกครั้งที่คนอื่น เช่น เลดี้ โจนส์ และ เนลสัน ลอร์ด จนกระทั่งคนทั้งเมือง เรียกและจดจำชื่อของเธอได้

 

ขณะเดียวกัน เบบี้ ซักส์ ผู้ไม่ยอมเป็นเจนนี วิทโลว์ ก็ได้ยืนยันความเป็นไทของเธอด้วยการยึดมั่นในความทรงจำต่อสามี และสแตมป์ เพด ก็เลือกที่จะเป็นไทผ่านชื่อใหม่ที่ตนเองตั้งขึ้น กระทั่งซิกซ์โอก็ยังประกาศก้องว่า “เซเว่นโอ” ซึ่งเป็นชื่อลูกของเขาในขณะที่เขาถูกเผาทั้งเป็น

 

การตั้งชื่อให้ตัวเองและตั้งชื่อให้ผู้อื่นในครอบครัวจึงเป็นอำนาจที่แสดงออกถึงความเป็นไทของคนผิวสีได้อย่างดี เพียงคำไม่กี่พยางค์แต่กลับก่อให้เกิดความทรงจำผนึกแน่น ก่อให้เกิดอำนาจแห่งความเชื่อมั่นที่ทำให้บรรดาตัวละครผิวสีทั้งหลายหลุดพ้นจากความเป็นทาสและกลับมามีชีวิตของตนเองอีกครั้ง

 

 

ดังนั้น พึงระวังเมื่อจะตั้งชื่อหรือฉายาให้ใคร เพราะคุณอาจกำลังบงการหรือกำหนดนิยามตัวตนของเขาหรือเธออยู่ ขณะเดียวกัน วันใดที่คุณรู้สึกคล้ายว่าได้ตกเป็นทาสของบางสิ่งบางอย่าง ขอให้ลองย้อนกลับมาเรียกชื่อตนเองให้เต็มเสียงอีกครั้ง เพื่อที่คุณจะได้ระลึกถึงความทรงจำและตัวตนที่มีความหมายยิ่ง อันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตคุณไม่ตกเป็นทาสของใครหรือสิ่งใด

 

 

 

 

บีเลิฟด์ แปลจาก BELOVED
โทนี มอร์ริสัน  เขียน
รังสิมา ตันสกุล  แปล
นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล  บรรณาธิการต้นฉบับ
นิชานันท์ นันทศิริศรณ์  พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม  ออกแบบปกและรูปเล่ม
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์


ขอขอบคุณ
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ สำหรับภาพอาร์ตเวิร์กประกอบบทความในกรุงเทพธุรกิจ
ชุตินันท์ มาลาธรรม สำหรับภาพถ่ายบทความในหน้าหนังสือพิมพ์
 เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

สามวิธีตรึงใจผู้อ่าน ใน ลิขิตรักจำหลักใจ

 

 

ลิขิตรักจำหลักใจ เขียนโดย Raina เป็นนวนิยายแฟนตาซีภาคต่อจาก ลำนำอตีตา เรื่องราวว่าด้วยการตามหาความทรงจำที่สูญหาย มิใช่เพียงความทรงจำเดียว แต่คือความทรงจำทั้งมวล นับตั้งแต่แรกกำเนิดจักรวาล เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำให้เทพอาลักษณ์ต้องทำหน้าที่ตามเก็บความทรงจำทั้งมวลกลับคืนมา โดยมีหัวหน้าเทพนักรบรับอาสาคุ้มครอง แล้วการผจญภัยในโลกมนุษย์ของเทพทั้งสองก็เริ่มต้น

 

(ติดโพสต์อิทในจุดที่อ่านแล้วชอบไว้เยอะมาก)

 

นวนิยายเรื่องนี้ แม้จะเป็นภาคต่อ แต่ก็สามารถอ่านแยกขาดจากเรื่องลำนำอตีตาได้ หลังจากเราได้อ่านแล้ว พบว่า Raina มี 3 วิธีสำคัญที่ทำให้นวนิยายน่าติดตาม คือ 1) การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ 2) การสร้างปมในใจของตัวละคร 3) การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

 

1. การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ

              นวนิยายเรื่องนี้ มีตัวละครหลักในเรื่องประกอบด้วย องค์มหิศร องค์กาล บรรณเทวี ผู้เป็นเทพอาลักษณ์ และหัวหน้าเทพนักรบอย่างอานนท์ โดยตัวละครสำคัญคือ บรรณเทวีและอานนท์จะต้องละภาวะเทพลงมากระทำภารกิจในโลกมนุษย์

 

หากพิจารณาแล้ว องค์มหิศรมีบทบาทหน้าที่ในจักรวาลของเรื่องเล่านี้คล้ายกับพระศิวะหรือพระอิศวร ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล ส่วนองค์กาลก็มีอุปนิสัยอุทิศตนให้ความรักคล้ายพระแม่อุมา ผู้เป็นชายาของพระศิวะ ขณะที่บรรณเทวีหรือเทพอาลักษณ์ ตัวละครหลักของเรื่องคล้ายกับเทพแห่งศิลปวิทยาการคือพระสุรัสวดี (เทพีแห่งอักษรศาสตร์) ส่วนเทพนักรบอย่างอานนท์ แม้ในเรื่องจะไม่ใช่เทพเจ้าโดยกำเนิดแต่ก็น่าสนใจ เพราะเป็นเทพที่เกิดมาจากดวงจิตอันบริสุทธิ์ของมนุษย์

 

บรรณเทวี เทพอาลักษณ์ และอานนท์ เทพนักรบ ภาพโดย @Movideae

 

ดังนั้นจะเห็นว่า Raina ได้แฝงคติความเชื่อฮินดูผ่านการสร้างตัวละคร ไม่เพียงแค่การกำหนดชื่อ แต่ยังหมายรวมถึงการเขียนให้ตัวละครเหล่านั้นมีอุปนิสัยและพฤติกรรม ที่สอดคล้องกับองค์เทพต่างๆ และทำให้ผู้อ่านสามารถหวนนึกถึงคติความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมได้

 

นอกจากตัวละครหลักแล้ว ยังมีอสูร และญิน ที่คอยกินความทรงจำจักรวาลเพื่อเพิ่มพลังของตน หากสืบค้นเพิ่มเติม จะพบว่า ญินคือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในความเชื่อของชาวอาหรับ และที่อยู่ของบรรดาอสุรกายเหล่านี้ก็คือโลกันตนรก ซึ่งอิงมาจากคติความเชื่อว่าด้วยโลกและจักรวาลในเตภูมิกถา

 

การแฝงคติความเชื่อเหล่านี้ไว้ในตัวละครช่วยทำให้นวนิยายแฟนตาซีเรื่องนี้มีรายละเอียดที่สมจริงน่าติดตาม และในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้ผู้อ่านซึบซับรับรู้เรื่องเล่าได้ง่ายขึ้นเพราะผู้อ่านคุ้นเคยกับคติความเชื่อเหล่านั้นมาก่อนแล้ว

 

2. การสร้างปมในใจของตัวละคร

นวนิยายที่ชวนติดตามมักมีส่วนประกอบของเรื่องราวความรักและปมปัญหาของตัวละคร เมื่อผู้เขียนสร้างตัวละครให้มีปมในใจที่สมเหตุสมผลได้ ย่อมนำไปสู่การโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อและรู้สึกตามตัวละคร ปมในใจตัวละครที่กระทบใจผู้อ่านได้มากมักเป็นเรื่องความรักและอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานอื่น เช่น ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ความแค้น การให้อภัย ความรักที่ยอมเจ็บปวดแทนคนที่เรารัก

 

ในลิขิตรักจำหลักใจ Raina ได้สร้างให้ตัวละครหลักมีปมในใจที่เกี่ยวข้องกับความรักในหลากหลายมิติ ทั้งการรักพี่น้อง การรักแบบคู่รัก และการรักตนเอง ตัวละครหลักทั้งบรรณเทวีและอานนท์ต่างก็มีปมในใจ ที่ทำให้ทั้งสองไม่อาจสื่อสารกันด้วยใจจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ ปมดังกล่าวนี้จะค่อยคลี่คลายไปในแต่ละเหตุการณ์ของนวนิยายเรื่องนี้

 

การสร้างปมในใจของตัวละครหลัก นอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินเรื่องแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นการจำลองความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและทำให้เรื่องเล่านี้มีมิติมากยิ่งขึ้นผ่านพฤติกรรมของตัวละครที่มีเหตุมาจากปมในใจที่ตัวละครไม่อาจเอ่ยออกไปเป็นถ้อยคำ

 

การเขียนบทบรรยายหรือบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสดงให้เห็นปมปัญหาของเรื่องหรือปมในใจของตัวละครเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการสื่อสารผ่านการวางแผนพัฒนาและสร้างพฤติกรรมและเหตุการณ์ในเรื่องเล่า แต่หากนักเขียนคนใดทำได้ เขาหรือเธอย่อมแสดงให้เห็นถึงทักษะอันสามารถ ที่ส่งเสริมให้เรื่องเล่าซับซ้อนลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และ Raina ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ใช้พล็อตเรื่องผลักดันให้ตัวละครมีพฤติกรรมต่างๆ และนำไปสู่การเผยให้เห็นทั้งปมในใจของตัวละครและปมปัญหาของเรื่อง

 

 

3. การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

การนำเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย มาสร้างภาพประกอบที่ช่วยในการเล่าเรื่อง นับเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ (หากนึกไม่ออก ลองนึกถึงละครพระเอกนางเอกคุยไลน์กันแล้วมีช่องแชตไลน์ปรากฏขึ้นมาที่หน้าจอ)

 

วิธีการเช่นนี้ เราคิดว่าให้ผลคล้ายกับวิธีการแรกคือเป็นการเล่นกับความคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของผู้อ่าน ในนวนิยายเรื่องนี้จะเห็นว่า Raina ได้สร้างบทสนทนาระหว่างตัวละครในรูปแบบของการพูดคุยไลน์กลุ่ม (ดังภาพ)

 

 

นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวปรากฏในนวนิยายเรื่อง ลำนำอตีตา ซึ่งเป็นเล่มก่อนหน้าของ Raina ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า Raina เลือกใช้วิธีการดังกล่าวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนของตน

 

การจำลองบทสนทนาไลน์กลุ่มเช่นนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับความคุ้นเคยของผู้อ่านปัจจุบัน หากมองไปในอนาคต ผลงานของ Raina ก็จะเป็นเสมือนบันทึกเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสมัยหนึ่งๆ ไว้ด้วย

 

นอกจากนี้ การให้ตัวละครที่เป็นเทพเจ้าซึ่งมีอายุนับร้อยนับพันปีมาใช้เทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดความย้อนแย้งที่น่าสนุก ไม่ต่างจากนวนิยายจำพวกย้อนเวลาไปสู่อดีตหรือเดินทางข้ามเวลาไปสู่อนาคต เพียงแต่นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้ข้ามเวลาหรือข้ามภพ แต่คือการเดินทางของเหล่าทวยเทพ คล้ายเป็นการเดินทางจากมิติหนึ่งไปยังอีกมิติหนึ่งมากกว่า

 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหนังสือนอกแผงเรื่อง ลิขิตรักจำหลักใจ นี้ มีวิธีการสร้างเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ผู้ที่สนใจการเขียน อาจนำวิธีการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับงานเขียนของตนได้ (อย่าเพิ่งเชื่อเราทั้งหมด ไปทดลองและหาแนวทางของแต่ละคนนะ ^^)

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ภาษาและคุณภาพของการจัดพิมพ์แล้ว เรายังขอยกนิ้วให้ Raina เช่นเคย ทั้งภาพปก ภาพประกอบที่ลงตัว ภาษาที่สละสลวยแต่ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฝือ แลแทบจะหาคำผิดไม่ได้เลย (น่านับถือ)

 

เราขอจบการบันทึกไว้เพียงเท่านี้ ไม่ได้ยกตัวอย่างในเนื้อเรื่องมาเพราะไม่อยากสปอยล์และอยากให้ได้ลองอ่านกันเอง

 

และด้วยความที่เป็นหนังสือนอกแผง จึงหาไม่ได้ตามร้านหนังสือค่ะ หากใครสนใจอ่านนวนิยายเรื่องนี้ ติดต่อไปที่เพจ Raina&Mouthia นะคะ 😉

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

กาแล็กซี่ที่บึงหลังบ้าน

 

 

หลายคนเมินหน้าหนีโลก

เพียรเพ่งมองออกไป

เป็นสุขกับสิ่งสร้างไกลแสน

แหงนคอดูพระจันทร์

รอคอยอธิษฐาน

ขอพรจากการหล่นร่วงของดวงดาว

หรือมนุษย์นิยมโชคลาภจากหายนะผู้อื่น?

 

ฉันจ้องบึงน้ำหลังบ้าน

เห็นเขียวขุ่นดำเข้ม

แม่บอกในนั้นเต็มไปด้วยไดอะตอม

สาหร่ายเซลล์เดียวนานาชนิด

 

ตาฉันมองไม่เห็น ไม่เคยรู้

แค่เชื่อคำแม่ – ว่ามันมีอยู่

 

วันหนึ่ง ฉันแอบเข้าไปในห้องแล็บแม่

กล้องจุลทรรศน์ขยายขนาดพวกมัน

ที่เล็กยิ่งกว่าเล็ก

จึงใหญ่ยิ่งกว่าก่อน

มันขยับไหว ใช้ชีวิต

รูปทรงสมมาตรสวยงาม

เส้นโค้งเคลื่อนคลายขยับ

มีรูยิบย่อยนับไม่ถ้วน

พร่างสีรุ้งและรูปทรงคล้ายกาแล็กซี่

 

นับแต่นั้น

ก็ไม่เคยขอพรจากดาวตก

ฉันตกอยู่ในกาแล็กซี่นับล้าน

อธิษฐานในบึงหลังบ้าน

 

ขอพรจากชีวิตที่ขยับไหว

ชีวิตที่ยังดำเนินไป

ไม่ใช่การดิ่งร่วงของดวงดาว

 


 

อิสราวสี

อิสราวสี

เก็บเล็กผสมน้อย จนกลายเป็นบทกวีกระจ้อยร่อยแต่ละบท

จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ในเรื่องสั้นของกำพล นิรวรรณ

 

 

แม้ปัจจุบันจะมีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมชายเป็นใหญ่ เรือนร่างของผู้หญิงยังเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง ตอกย้ำวัฒนธรรมทางสายตาที่ผู้หญิงเป็นได้ทั้ง “ภาพแทน” และ “ภาพลักษณ์” ที่ตอบสนองความเพลิดเพลินหรือความปรารถนาทางเพศของผู้ชายจากการจ้องดูผู้หญิง ซึ่งบางครั้งผู้ถูกจับจ้องไม่รู้ตัวว่าถูกจ้องมอง หมายความว่าผู้จ้องมองมีอำนาจมากกว่าผู้ถูกมอง

 

ในงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมีนักเขียนทั้งหญิงและชายนำเสนอประเด็น “ผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง” เช่น เรื่องสั้น “หมวกใบที่สอง” ของอุรุดา โควินท์  “สเต๊ก” ของแพรพลอย วนัช  “นอนเปลือยกาย” ของเจษฎา กลิ่นยอ และ “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ

 

กล่าวเฉพาะกำพล นิรวรรณ นักอ่านวรรณกรรมมักคุ้นชื่อหรือเคยอ่านผลงานแปลฝีมือเขาบ้าง เช่น “เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง” ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ “เปรโด ปาราโม” ของฆวล รุลโฟ “ปริศนาวันล่าสัตว์” ของอันตัน เชคอฟ “เอเรนดีร่าผู้บริสุทธิ์” ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ “ชายขี้เมาแห่งปารีสผู้กลายเป็นตำนาน” ของโจเซฟ รอซ เป็นต้น ขณะเดียวกันกำพล นิรวรรณก็มีผลงานเขียนทางวรรณกรรม เขาเคยได้รับรางวัลยอดเยี่ยมกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 จากเรื่องสั้น “คนธรรพ์แห่งภูบรรทัด” และล่าสุดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยผจญภัยสำนักพิมพ์

 

บทความนี้มุ่งศึกษาเรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ” โดยจะวิเคราะห์ความหมายและสัญญะของถ้ำ การถ้ำมองของตัวละครที่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อเติมเต็มความปรารถนาทางเพศ และอาการติดถ้ำที่นำไปสู่บทสรุปของเรื่อง

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ ให้ “ครูพัน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องแบบรู้จำกัดว่า เขาเป็นครูแก่ ๆ ของวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่วันหนึ่งได้รับจดหมายจากกลุ่มนักศึกษาสาวในภาควิชาประวัติศาสตร์ไทยชวนไปเที่ยวถ้ำที่ยังไม่มีชื่อเรียกและอยู่ลึกเข้าไปในเขตป่าเขา ระหว่างเดินทางขึ้นเขา ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวก็สนทนาถึงเรื่องถ้ำว่าใครเคยมากันบ้างแล้ว ซึ่งกลุ่มนักศึกษาสาวบอกว่าพวกเธอมากันแล้วสามหน ส่วนครูพันมาคนเดียวหลายหน จนเดินมาถึงปากถ้ำ ทุกคนจึงพากันเข้าไปเพราะชอบฝูงรุ้งที่ออกมากินน้ำกลางโถง ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวต้องมุดน้ำว่ายไป ระหว่างนั้นครูพันจ้องมองเรือนร่างนักศึกษาสาวที่เสื้อผ้ารัดรึงเห็นสัดส่วนโค้งเว้าจนเกิดจินตนาการทางเพศ ที่กำพลเปรียบว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเทพกับมาร เมื่อห่าฝนพรั่งพรูลงมา พวกนักศึกษาสาวต่างพากันลุยน้ำออกจากถ้ำ แต่ครูพันยังยืนอยู่ตรงนั้น ปล่อยให้ระดับน้ำท่วมเข่า เอว อกและคอตัวเอง

 

 

ความหมายและสัญญะของ “ถ้ำ”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554: 531) คำว่า “ถ้ำ” หมายถึง ช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำขึ้น มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้ ซึ่งเป็นความหมายของสถานที่ที่ครูพันและกลุ่มนักศึกษาสาวพากันไปเที่ยว สอดคล้องกันเมื่อกำพลบรรยายว่า “ถึงปากโพรงหินแคบ ๆ กว้างไม่เกินสองศอก สูงพอท่วมหัว มีแสงเรือง ๆ สะท้อนออกมาจากข้างใน” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

ความน่าสนใจของคำว่า “ถ้ำ” ไม่ได้อยู่ที่ความหมายของสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่ถ้ำในเรื่องสั้นนี้ยังแฝงสัญญะเรื่องเพศไว้ด้วย

 

“เหมือนรูปพนมมือ” เขาเอ่ยเบา ๆ

“อะไรคะ” ลัดดาถาม

“ก็ปากถ้ำไง ดูให้ดีสิ ธรรมชาตินี่มันก็แปลกดีนะ”

“จริงเลยค่ะ”

“แล้วข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ เสียด้วย” เพื่อนจอมแก่นของเธอเอ่ย พร้อมกับชี้มือให้ทุกคนดู “ธรรมชาติแปลกจริง ๆ อย่างที่ครูว่า”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 55)

 

บทสนทนาเพียง 6 บรรทัดที่ยกมาข้างต้นแฝงนัยน่าตีความสัญญะ โดยเฉพาะคำว่า “เหมือนรูปพนมมือ ปากถ้ำและข้างในก็มีแสงสีชมพูเรื่อ ๆ” ซึ่งลักษณะของถ้ำที่ตัวละครกล่าวเปรียบเหมือนอวัยวะเพศหญิง ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา

 

เช่นเดียวกับ “ภาพของแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายของมันพะเยิบพะยาบอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิล” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 57) เป็นการตอกย้ำว่า “ลักษณะของปากโพรงถ้ำ” ตามความคิดของครูพันเมื่อเห็นภาพนั้นแฝงสัญญะถึงอวัยวะเพศหญิง ทั้งนี้ยังไม่รวมองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นคำว่า เนินทราย เชิงผาเป็นพงรกปกคลุมด้วยซุ้มเถาวัลย์หนาทึบ

 

 

จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ

ครูพันเล่าไว้ตอนต้นเรื่องว่า เขาเคยบวชเรียนอยู่หลายปีเพื่อแสวงหาวิมุตติ แต่ต้องพ่ายแพ้ต่อไฟปรารถนาและยังเชื่อในหลักคำสอนของวาตสยายน จนผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตสี่หรือห้าคน โดยเฉพาะคนที่ห้าเขียนข้อความไว้ว่า “รักนะคะ แต่ไม่ไหวค่ะ” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 45) คำว่า “ไม่ไหว” น่าจะหมายถึงความหมกมุ่นเรื่องเพศของครูพันหลังเคยศึกษาคัมภีร์กาลามสูตร จนอีกฝ่ายทนรสบทรักไม่ได้

 

ความเก็บกดทางเพศของครูพันจึงนำไปสู่จินตนาการแบบถ้ำมองที่เติมเต็มความปรารถนาทางเพศ ตั้งแต่การชายตามองเรียวขาของพวกนักศึกษาสาวที่กำลังเดินไปเที่ยวถ้ำ

 

“แทนที่จะเดินกันกลางทาง ไปย่องกันอยู่ข้างทาง” หรือ “กลัวกับระเบิดค่ะ แหม ว่าแต่พวกหนู ครูเองก็เดินคร่อมทางโหย่ง ๆ มาเหมือนกัน”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 49)

 

ข้อความข้างต้น คำว่า “ย่องกันอยู่ข้างทาง” กับ “เดินคร่อมโหย่ง ๆ” แฝงนัยว่า การไปเที่ยวถ้ำหรือพูดถึงเรื่องถ้ำที่นอกเหนือจากความหมายของสถานที่นั้น ไม่สามารถพูดคุยได้ตรง ๆ ดังนั้นไม่ว่าการพูดเรื่องเพศหรือการถ้ำมองเปรียบกับการเดินที่ต้องแอบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายศีลธรรมระหว่างครูกับศิษย์ รวมถึงการคุกคามทางเพศด้วยสายตาและวาจา กลายเป็นว่าการเดินย่องข้างทางหรือเดินคร่อมทาง คือความกลัวที่จะเปิดเผยความคิดหรือตัวตนอีกด้านออกมานั่นเอง

 

“เรือนร่างของพวกเธอถูกเสื้อผ้ารัดรึงจนเห็นโค้งเว้าอันงดงามและสดสะพรั่งดั่งภาพนิรมิต ภาพแมลงภู่ตัวสุดท้ายเมื่อค่ำวานกลับมาปรากฏให้เห็นแจ่มชัดในห้วงคำนึง บั้นท้ายสีดำของมันพะเยิบพะยายอยู่บนปากโพรงถ้ำของดอกสร้อยอินทนิลขณะมันเสพเกสรของบุปผาสีม่วงครั้งสั่งลา ทันใดนั้นกล้ามเนื้อง่ามขาของเขาก็กระตุกขึ้นมาดื้อ ๆ”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 57)

 

ข้อความข้างต้น หลังจากพวกนักศึกษาสาวและครูพันกลั้นหายใจมุดหัวลงน้ำแหวกว่ายเข้าไปในโถงถ้ำ จะเห็นว่าครูพันถ้ำมองกลุ่มนักศึกษาสาวเพื่อแสวงหาความสุขทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ตัว นอกจากนี้ การเปรียบเทียบภาพของแมลงภู่เสพเกสร ถือได้ว่าครูพันจับจ้องแบบถ้ำมอง โดยอุปมาฉากดังกล่าวเพื่อสร้างบรรยากาศกระตุ้นจินตนาการเพ้อฝันที่เกิดขึ้นได้ง่าย ผ่านความปรารถนาบนเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวที่เกาะกลุ่มพลิ้วตัวแหวกว่ายเปรียบเทียบท่วงท่าของแมลงภู่ที่เสพเกสรดอกสร้อยอินทนิล ดังนั้นจินตนาการดังกล่าวจึงสามารถเติมเต็มความปรารถนาทางเพศของครูพัน ถึงขนาดกล่าวว่า “ถ้าเขาจะต้องจมน้ำตายยามนี้เขาก็ยินดี”

 

เมื่อเข้าไปถึงกลางโถงถ้ำ กลุ่มนักศึกษาสาวสนุกสนานกับการไล่จับสายรุ้งและผีเสื้ออยู่บนเนินทราย โดยลืมไปว่ามีครูพันอยู่ด้วย จุดบอดนี้ทำให้สายตาของพวกเธอไม่อยู่กับครูพัน เขาจึงถือโอกาสถ้ำมองพวกเธอได้อย่างมีความสุข เปิดช่องว่างให้เขากับมารได้ต่อสู้กัน สุดท้ายครูพันก็พ่ายแพ้ สูญเสียจิตวิญญาณผ่านดวงตาทั้งคู่ที่กลายเป็นผีเสื้อโลมไล้ลำแขนเรียวขา เกาะหน้าอก และแปลงร่างเป็นลูกชำมะเลียงสุกปลั่งลอยตามไปซอกไซ้ไชชอนทั่วร่าง แล้วมุดเข้าไปในขากางเกงของพวกเธอ

 

จินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48) กล่าวสรุปเรื่องการนำเสนอผู้หญิงในฐานะวัตถุแห่งการจับจ้องไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้จินตนาการแบบถ้ำมองเป็นการพรางตัวอยู่ในความมืด ทำให้ผู้มองคิดว่าสามารถจับจ้องได้อย่างอิสระ ปราศจากการรู้เห็นของผู้อื่น ตัวละครนักศึกษาสาวในเรื่องสั้นนี้มิได้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกจับจ้องโดยครูพันหรือผู้เล่าเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุแห่งการจับจ้องของผู้อ่านงานเขียนซ้อนทับอยู่ด้วย เนื่องจากการอ่านเป็นกิจกรรมที่โดยทั่วไปจะกระทำอยู่เพียงลำพังและยากที่ผู้อื่นจะร่วมรับรู้อย่างแน่ชัดถึงเนื้อหาของสิ่งที่อ่านหรือความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังอ่าน ผู้อ่านจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ต่างจากผู้ถ้ำมองเช่นกัน”

 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ต้องย้อนกลับไปทบทวนบทสนทนาระหว่างครูพันกับนักศึกษาสาวตอนกลางเรื่อง

 

“ครูไม่ชอบน้ำตรงนั้นเลย”

“อ้าว ทำไมหรือคะ”

“ไม่รู้เหมือนกัน คงจะเป็นเพราะมันใสเกินไปมั้ง ดำลงไปแล้วเห็นตัวเองหมดจด เห็นเข้าไปถึงมุมมืดทุกซอกทุกมุม”

(กำพล นิรวรรณ, 2562: 53)

 

บทสนทนาข้างต้น สอดคล้องกับความเห็นของจินดา ศรีรัตนสมบุญ (2555: 48-49) ว่า “ความพึงพอใจจากการมองจะพัฒนาไปสู่มิติการมองเห็นตัวเอง ทั้งตัวละครเห็นเงาตนเองในน้ำใส รวมถึงผู้อ่านที่นำตัวเองเข้าไปสวมทับกับตัวละครในเรื่องและเสพสุขจากการจ้องมอง” ดังนั้นเรือนร่างของพวกนักศึกษาสาวจึงถูกกระทำให้เป็นวัตถุที่กระตุ้นความรูสึกทางเพศให้เทพกับมารต่อสู้กัน จนแดนเนรมิตกลายเป็นแดนนรก เมื่อครูพันไม่ยอมออกจากถ้ำ

 

เรื่องสั้น “ถ้ำ” ของกำพล นิรวรรณ นอกจากจะเสนอความหมายของถ้ำและสัญญะของอวัยวะเพศหญิงแล้ว ควรวิเคราะห์ความเป็นชายของครูพันด้วย ซึ่งสังเกตได้สองแห่งคือ บ้านเช่าหลังเล็กที่มีต้นตาลโตนดเป็นอัญมณีกับปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมา กล่าวได้ว่า ลักษณะตั้งตรงของต้นตาลโตนดเป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย และปากปล่องที่ห่าฝนพรั่งพรูลงมาหมายถึง ความสุขสมหลังจากสำเร็จความใคร่ด้วยสายตา ทำให้เรื่องสั้นนี้ออกแนวอีโรติก ซึ่งกำพลเขียนได้อย่างมีชั้นเชิงและวรรณศิลป์ แฝงสัญญะให้ตีความตลอดทั้งเรื่อง

 

อีกทั้ง กำพลยังใช้จินตนาการปูพื้นตั้งแต่เปิดเรื่อง เพื่อนำไปสู่ตอนจบที่ว่า “เล่ากันว่าเขากลายร่างเป็นค้างคาวเฝ้าถ้ำ แต่บ้างก็ว่าเขากลายเป็นผีเสื้อยักษ์บินโล้รุ้งกินน้ำปะปนกับฝูงผีเสื้อในถ้ำแห่งนั้น” (กำพล นิรวรรณ, 2562: 62) ซึ่งเป็นตอนจบแบบปลายเปิดให้ผู้อ่านใช้จินตนาการผ่านเรื่องเล่าได้อย่างอิสระ ขณะเรื่องเล่าหลักยังคงอยู่ แม้ช่วงเวลาตามท้องเรื่องจะผ่านไปกว่าสี่สิบปี เสียงปืนสงบไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ของทหารป่าแล้ว จนอาจทำให้เกิดความแตกต่างในรายละเอียดจากการเล่าซ้ำได้

 

สุดท้าย ทำไมครูพันถึงไม่ยอมออกจากถ้ำ ถ้าอ่านเพียงผิวเผินอาจตอบได้ว่า ครูพันมีอาการติดถ้ำเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามารมณ์จนสูญเสียดวงตาหรือจิตวิญญาณและไม่สามารถหาทางออกให้กับชีวิตได้ แต่ถ้ามองอีกมุมจะได้คำตอบว่า ความตายของครูพันเกิดจากอาการติดอยู่ในมายาคติของความเป็นชาย สรุปได้ว่า ครูพันตกเป็นเหยื่อในรูปของสัญญะตามที่อธิบายมาแล้วนั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณ. (2562). อาถรรพ์ภาพวาดเสือดำและเรื่องราวอื่น ๆ. กรุงเทพฯ: ผจญภัย.

จินดา ศรีรัตนสมบุญ. (2555). “การประกอบสร้างหญิงไทยให้เป็นวัตถุแห่งความปรารถนาในงานเขียนเยอรมันร่วมสมัย”. ใน ศาสตร์และวรรณคดีคือตรีศิลป์: ทฤษฎี สุนทรียะ สังคม. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 35-60.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

เมื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนความคิด – ปันนารีย์

 

บุษบา บานเช้า เขียนถึง “แบบจำลองของเหตุผล” ของจรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์

 

ความเรียง จะนิยามว่าอะไร เอาข้อความมาเรียงกัน อ่านแล้วมุ่งประเด็นให้ความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่ง

ถ้าคุณเคยอ่านความเรียง

หนังสือเล่มนี้  ก็ไม่ใช่ความเรียงทั่วไป

เป็นเล่มที่เหมือนผู้เขียนตั้งคำถามกับผู้อ่านตลอดเวลา  ไม่ว่าเขาจะเดินไปสู่สถานการณ์ใด

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือปรัชญาประเภทมีหลักการมารองรับการเสาะแสวงหา

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือรวบรวมคำคม

 

จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ เขียนงานทั้งบทกวี เรื่องสั้น มายาวนาน

ไม่ต้องพูดถึงรางวัลที่เขาได้รับจากทั้งกวีนิพนธ์และเรื่องสั้น

รางวัลเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันต่อการพยายามยืนหยัดต่องานเขียนแบบกระแสสำนึกอย่างมุ่งมั่น

ยี่สิบปีที่เขาสั่งสมการอ่านการเขียน สไตล์งานของจรรยา  ไม่เหมือนใคร

ความสามารถอันโดดเด่นด้านภาษาของเขา สร้างภาพบรรยากาศอันแช่มช้าและอ้อยสร้อยเสมอ

ในบทกวี เขาคือบทสรุปของงานที่สะท้อนจิตสำนึกของกวีผู้รังสรรค์กวีนิพนธ์อันวิจิตร

และในเรื่องสั้น เขาได้สร้างภาพฝันอันคลุมเครือเพื่อมุ่งแสวงหาบทสรุปในตอนท้าย

ความเรียงเล่มนี้เหมือนเป็นการพยายามจะหาเหตุผลมารองรับการทำงานเขียนของเขาตลอดเวลาที่ผ่านมา

ฉันเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนน่าจะใช้พลังมหาศาล

เพื่อการตกผลึกทางความคิด

ที่สำคัญ เขาพยายามส่งสารไปยังผู้อ่านให้เรียบง่ายที่สุด

เล่มนี้จรรยาเคยพูดไว้ในเฟชบุ๊คว่าเป็นงานเขียนที่ใช้เวลากลั่นกรองความคิดยาวนานถึงสามปี และแน่นอน มันต้องมาจากการจำลองเหตุและผลที่เขาใช้ประสบการณ์ในการทดลองสภาวการณ์ต่าง ๆ  ทั้งหมดด้วยตนเอง

เหล่านี้คือสิ่งกล่อมเกลากลั่นกรอง แล้วนำมาสู่การแบ่งปัน

 

 “เมื่อฉันโดดเดี่ยวมากขึ้น ฉันกลายเป็นที่รักของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เกลียดชังตัวเองไปด้วย

สมดุลของสองสิ่งหลอมรวมเป็นหนึ่ง เดินออกไปเผชิญความจริงทุกสิ่งพร้อมกัน” (น.111)

 

งานบางชิ้นเหมือนบทกวี เป็นจริงที่กวีไม่อาจสลัดความเป็นกวีได้เลย

 

“หลายสิ่งผ่านเลยไป ริ้วรอยของเมฆ มิอาจเรียกว่าความทรงจำ

ที่เลือน ๆ อยู่กลางเส้นโค้งฟ้า และที่เรื่อเรืองอยู่ตรงขอบฟ้าก็ดุจเดียวกัน” (น.315)

 

ไม่ต้องพูดว่ามันซ่อนเชิงปรัชญานุ่มลึกเอาไว้

 

“การพยายามอยู่รอดอาจคือการดึงพลังทุกอย่างเพื่อจุดไฟแสงสว่างขึ้นมาในความคิด

เพื่อเดินหาความรู้สึกก่อนหน้านั้น ความรู้สึกที่มีมิอาจย้อนกลับไป

ไม่ว่าจะด้วยการมองเห็นแบบลืมตาหรือหลับตาก็ตาม” (น.187)

 

เล่มนี้ ถ้าอ่านต่อเนื่อง จะพบว่ามีวิธีการไล่เรียงเรื่องคล้ายกึ่งฝันกึ่งจริงอยู่บ้าง

หนักเบาสลับกันไปมา  หลายชิ้นพบความเกี่ยวเนื่องในความรัก

 

“ฉันแค่อยากคิดว่า การมีความรักคือของแถมที่มาจากการหลอกลวง

คือมันจะจริงได้ยังไง เราก็ปลอมมันขึ้นมาทั้งนั้น

ปลอมแม้แต่ความรู้สึก” (น.192)

 

และบางชิ้นก็หนักเอาการ

 

“ความเข้าใจที่ฉันมีต่อโลก

ได้เก็บส่วนที่เป็นความลับเอาไว้

กระทั่งเมื่อความรู้โยนมันออกมาวางอยู่ตรงหน้า

ฉันถึงได้เห็นว่า มีฉันนอนกองอยู่ตรงนั้นในสภาพที่เต็มไปด้วยบาดแผล” (น.56)

บ้างที่มันอาจส่งเสียงร้องเตือน  สะกิดต่อมความคิด

 

“ “ผ่านไปไม่นาน”  “ผ่านไปแล้ว”  สองสิ่งนี้คืออดีต

ปัญหาของเราคือการพยายามแยกมันออกจากกันในเวลาของปัจจุบัน

จึงเป็นเราเองมิใช่หรือ  ที่เผลอทำอดีต แตกสลาย” (น.70)

 

ข้อความที่จะโอบกอดแล้วปลอบประโลมใจเราอย่างเข้าอกเข้าใจ

“หยดน้ำไม่ได้ร่วงลงช้า ๆ หรอก

แต่มันร่วงลงสู่ความเชื่องช้าในขณะที่เราฟังมันในความเงียบ”

(น.82)

 

ไม่ใช่เพียงข้อความที่ผู้อ่านจะเห็นด้วยทั้งหมด

บางครั้งก็แอบปฏิเสธสิ่งที่เขาเขียน

สิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้เกิดภาวะครุ่นคิดในตัวเรา ขึ้นมา

ข้อความเหล่านี้พยายามหาคำตอบของเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ

มันไม่ได้อยู่ในประเด็นว่า ผู้เขียนจะตอบเราไว้แล้ว

หรือเป็นเราเองจะต้องตอบตัวเองให้ได้หลังจากการอ่าน

 

แบบจำลองของเหตุผล เล่มนี้พิมพ์จำนวนจำกัด คลิกที่ภาพเพื่อเดินทางไปตามหาเหตุผล

 

ความเรียงจำนวน 231 ชิ้น เข้าเล่มปกเย็บกี่อย่างดี

ออกแบบสวยงาม ตรวจทานข้อความถูกต้องครบถ้วน อ่านไม่สะดุด

สักกี่ฤดูชีวิตที่หมุนวนกลับไปมา

หนังสือสักเล่มที่จะอยู่ข้าง ๆ ความคิดของเราเสมอ

 

 

หากสักครั้ง ได้มีโอกาสถามเขา

ฉันจะถามเขาว่าเหตุผลแท้จริงของคนเราจะสามารถตีความว่าสิ่งนั้น  ถูก / ผิด/ ชั่วหรือดี

ในจิตของคนเราต้องจำลองเหตุและผลใด มารองรับ

หรือบางที ก็ไม่ต้องถามเขา นอกจากหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำ ๆ ช้า ๆ

 

 


 

บุษบา บานเช้า

บุษบา บานเช้า

นักบันทึกการอ่านผู้พิสมัยเรื่องสั้นและบทกวี

 

 

ปลูกดอกไม้ไว้บนภูเขา – เมื่อกวีมองคนชายขอบจากภูสูง

 

 

ในยุคเทคโนโลยีรายล้อมมนุษย์ สเตตัสนับพันหมื่นส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตตลอดวัน คล้ายว่าทุกอย่างรวดเร็วและเท่าเทียม บทกวีมีที่ทางอย่างไร? กวีจำเป็นจะต้องโดดเดี่ยวตนเองเพื่อค้นหาสัจธรรมบางประการหรือไม่?

 

Read More
error: