สามวิธีตรึงใจผู้อ่าน ใน ลิขิตรักจำหลักใจ

 

 

ลิขิตรักจำหลักใจ เขียนโดย Raina เป็นนวนิยายแฟนตาซีภาคต่อจาก ลำนำอตีตา เรื่องราวว่าด้วยการตามหาความทรงจำที่สูญหาย มิใช่เพียงความทรงจำเดียว แต่คือความทรงจำทั้งมวล นับตั้งแต่แรกกำเนิดจักรวาล เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำให้เทพอาลักษณ์ต้องทำหน้าที่ตามเก็บความทรงจำทั้งมวลกลับคืนมา โดยมีหัวหน้าเทพนักรบรับอาสาคุ้มครอง แล้วการผจญภัยในโลกมนุษย์ของเทพทั้งสองก็เริ่มต้น

 

(ติดโพสต์อิทในจุดที่อ่านแล้วชอบไว้เยอะมาก)

 

นวนิยายเรื่องนี้ แม้จะเป็นภาคต่อ แต่ก็สามารถอ่านแยกขาดจากเรื่องลำนำอตีตาได้ หลังจากเราได้อ่านแล้ว พบว่า Raina มี 3 วิธีสำคัญที่ทำให้นวนิยายน่าติดตาม คือ 1) การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ 2) การสร้างปมในใจของตัวละคร 3) การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

 

1. การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ

              นวนิยายเรื่องนี้ มีตัวละครหลักในเรื่องประกอบด้วย องค์มหิศร องค์กาล บรรณเทวี ผู้เป็นเทพอาลักษณ์ และหัวหน้าเทพนักรบอย่างอานนท์ โดยตัวละครสำคัญคือ บรรณเทวีและอานนท์จะต้องละภาวะเทพลงมากระทำภารกิจในโลกมนุษย์

 

หากพิจารณาแล้ว องค์มหิศรมีบทบาทหน้าที่ในจักรวาลของเรื่องเล่านี้คล้ายกับพระศิวะหรือพระอิศวร ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล ส่วนองค์กาลก็มีอุปนิสัยอุทิศตนให้ความรักคล้ายพระแม่อุมา ผู้เป็นชายาของพระศิวะ ขณะที่บรรณเทวีหรือเทพอาลักษณ์ ตัวละครหลักของเรื่องคล้ายกับเทพแห่งศิลปวิทยาการคือพระสุรัสวดี (เทพีแห่งอักษรศาสตร์) ส่วนเทพนักรบอย่างอานนท์ แม้ในเรื่องจะไม่ใช่เทพเจ้าโดยกำเนิดแต่ก็น่าสนใจ เพราะเป็นเทพที่เกิดมาจากดวงจิตอันบริสุทธิ์ของมนุษย์

 

บรรณเทวี เทพอาลักษณ์ และอานนท์ เทพนักรบ ภาพโดย @Movideae

 

ดังนั้นจะเห็นว่า Raina ได้แฝงคติความเชื่อฮินดูผ่านการสร้างตัวละคร ไม่เพียงแค่การกำหนดชื่อ แต่ยังหมายรวมถึงการเขียนให้ตัวละครเหล่านั้นมีอุปนิสัยและพฤติกรรม ที่สอดคล้องกับองค์เทพต่างๆ และทำให้ผู้อ่านสามารถหวนนึกถึงคติความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมได้

 

นอกจากตัวละครหลักแล้ว ยังมีอสูร และญิน ที่คอยกินความทรงจำจักรวาลเพื่อเพิ่มพลังของตน หากสืบค้นเพิ่มเติม จะพบว่า ญินคือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในความเชื่อของชาวอาหรับ และที่อยู่ของบรรดาอสุรกายเหล่านี้ก็คือโลกันตนรก ซึ่งอิงมาจากคติความเชื่อว่าด้วยโลกและจักรวาลในเตภูมิกถา

 

การแฝงคติความเชื่อเหล่านี้ไว้ในตัวละครช่วยทำให้นวนิยายแฟนตาซีเรื่องนี้มีรายละเอียดที่สมจริงน่าติดตาม และในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้ผู้อ่านซึบซับรับรู้เรื่องเล่าได้ง่ายขึ้นเพราะผู้อ่านคุ้นเคยกับคติความเชื่อเหล่านั้นมาก่อนแล้ว

 

2. การสร้างปมในใจของตัวละคร

นวนิยายที่ชวนติดตามมักมีส่วนประกอบของเรื่องราวความรักและปมปัญหาของตัวละคร เมื่อผู้เขียนสร้างตัวละครให้มีปมในใจที่สมเหตุสมผลได้ ย่อมนำไปสู่การโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อและรู้สึกตามตัวละคร ปมในใจตัวละครที่กระทบใจผู้อ่านได้มากมักเป็นเรื่องความรักและอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานอื่น เช่น ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ความแค้น การให้อภัย ความรักที่ยอมเจ็บปวดแทนคนที่เรารัก

 

ในลิขิตรักจำหลักใจ Raina ได้สร้างให้ตัวละครหลักมีปมในใจที่เกี่ยวข้องกับความรักในหลากหลายมิติ ทั้งการรักพี่น้อง การรักแบบคู่รัก และการรักตนเอง ตัวละครหลักทั้งบรรณเทวีและอานนท์ต่างก็มีปมในใจ ที่ทำให้ทั้งสองไม่อาจสื่อสารกันด้วยใจจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ ปมดังกล่าวนี้จะค่อยคลี่คลายไปในแต่ละเหตุการณ์ของนวนิยายเรื่องนี้

 

การสร้างปมในใจของตัวละครหลัก นอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินเรื่องแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นการจำลองความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและทำให้เรื่องเล่านี้มีมิติมากยิ่งขึ้นผ่านพฤติกรรมของตัวละครที่มีเหตุมาจากปมในใจที่ตัวละครไม่อาจเอ่ยออกไปเป็นถ้อยคำ

 

การเขียนบทบรรยายหรือบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสดงให้เห็นปมปัญหาของเรื่องหรือปมในใจของตัวละครเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการสื่อสารผ่านการวางแผนพัฒนาและสร้างพฤติกรรมและเหตุการณ์ในเรื่องเล่า แต่หากนักเขียนคนใดทำได้ เขาหรือเธอย่อมแสดงให้เห็นถึงทักษะอันสามารถ ที่ส่งเสริมให้เรื่องเล่าซับซ้อนลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และ Raina ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ใช้พล็อตเรื่องผลักดันให้ตัวละครมีพฤติกรรมต่างๆ และนำไปสู่การเผยให้เห็นทั้งปมในใจของตัวละครและปมปัญหาของเรื่อง

 

 

3. การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

การนำเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย มาสร้างภาพประกอบที่ช่วยในการเล่าเรื่อง นับเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ (หากนึกไม่ออก ลองนึกถึงละครพระเอกนางเอกคุยไลน์กันแล้วมีช่องแชตไลน์ปรากฏขึ้นมาที่หน้าจอ)

 

วิธีการเช่นนี้ เราคิดว่าให้ผลคล้ายกับวิธีการแรกคือเป็นการเล่นกับความคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของผู้อ่าน ในนวนิยายเรื่องนี้จะเห็นว่า Raina ได้สร้างบทสนทนาระหว่างตัวละครในรูปแบบของการพูดคุยไลน์กลุ่ม (ดังภาพ)

 

 

นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวปรากฏในนวนิยายเรื่อง ลำนำอตีตา ซึ่งเป็นเล่มก่อนหน้าของ Raina ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า Raina เลือกใช้วิธีการดังกล่าวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนของตน

 

การจำลองบทสนทนาไลน์กลุ่มเช่นนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับความคุ้นเคยของผู้อ่านปัจจุบัน หากมองไปในอนาคต ผลงานของ Raina ก็จะเป็นเสมือนบันทึกเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสมัยหนึ่งๆ ไว้ด้วย

 

นอกจากนี้ การให้ตัวละครที่เป็นเทพเจ้าซึ่งมีอายุนับร้อยนับพันปีมาใช้เทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดความย้อนแย้งที่น่าสนุก ไม่ต่างจากนวนิยายจำพวกย้อนเวลาไปสู่อดีตหรือเดินทางข้ามเวลาไปสู่อนาคต เพียงแต่นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้ข้ามเวลาหรือข้ามภพ แต่คือการเดินทางของเหล่าทวยเทพ คล้ายเป็นการเดินทางจากมิติหนึ่งไปยังอีกมิติหนึ่งมากกว่า

 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหนังสือนอกแผงเรื่อง ลิขิตรักจำหลักใจ นี้ มีวิธีการสร้างเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ผู้ที่สนใจการเขียน อาจนำวิธีการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับงานเขียนของตนได้ (อย่าเพิ่งเชื่อเราทั้งหมด ไปทดลองและหาแนวทางของแต่ละคนนะ ^^)

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ภาษาและคุณภาพของการจัดพิมพ์แล้ว เรายังขอยกนิ้วให้ Raina เช่นเคย ทั้งภาพปก ภาพประกอบที่ลงตัว ภาษาที่สละสลวยแต่ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฝือ แลแทบจะหาคำผิดไม่ได้เลย (น่านับถือ)

 

เราขอจบการบันทึกไว้เพียงเท่านี้ ไม่ได้ยกตัวอย่างในเนื้อเรื่องมาเพราะไม่อยากสปอยล์และอยากให้ได้ลองอ่านกันเอง

 

และด้วยความที่เป็นหนังสือนอกแผง จึงหาไม่ได้ตามร้านหนังสือค่ะ หากใครสนใจอ่านนวนิยายเรื่องนี้ ติดต่อไปที่เพจ Raina&Mouthia นะคะ 😉

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: