เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ: แฟนตาซีผีไทย ร่วมสมัยทันเหตุการณ์

 

 

 

 

ขณะที่โควิคคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย เกิดวิกฤตหลายด้าน ทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับ New Normal หมอพยาบาลมีอาชีพหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวัคซีน แล้วนักเขียนล่ะ นักเขียนจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้

 

 

Raina เป็นนามปากกาของนักเขียนนิยายแนวแฟนตาซี ที่มักจะสอดแทรกปมปัญหาเข้มข้นให้ผู้อ่านติดตาม เมื่อเกิดโควิดลากยาวมาเรื่อยๆ ในฐานะนักเขียน Raina จึงเริ่มเขียน “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” เป็นตอนสั้นๆ ลงใน Read A Write ด้วยหวังใจว่าจะคลายเครียดให้คุณผู้อ่าน ดังที่เขียนไว้ในคำนำว่า

 

“เพราะภาวะโควิด-19 ที่ทุกอย่างล็อกดาวน์ ตอนนั้นเราถามตัวเองว่า นักเขียนตัวน้อยๆ อย่างเราทำอะไรได้บ้าง เลยคิดว่า เราเขียนได้ ก็เขียนเรื่องตลกคลายเครียด เอาเป็นพื้นที่ฝากร้านละกัน!”

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดหนังสือที่เรียกว่า “หนังสือนอกแผน” คือนอกแผนการเขียนที่เคยวางไว้นั่นเอง

 

 

 

แฟนตาซีผีไทย

นวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักที่ไม่ใช่คน เต็มไปด้วยผีสางนางไม้ พระภูมิเจ้าที่ มีคนแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ไม่ได้น่ากลัว เพราะเป็นเรื่องตลกขำขัน บรรดาภูตผีในเรื่องก็อ้างอิงจากเรื่องเล่าพื้นบ้านของไทย ทั้งเจ้ตะเคียน เจ้าจุก เจ้าแก้ว  และเราเดาว่าผีบางตัวน่าจะมีที่มาจากเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกด้วย (ขอไม่เฉลยๆ โปรดอ่านและเดากันเอง)

 

แม้จะไม่ยาวนักและเป็นเรื่องที่เขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลาย แต่ข้อมูลที่ใช้ การสร้างภาพตัวละครให้ชัดเจนมีรายละเอียดนั้น Raina ก็ยังทำได้ดี ทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละคร และบทสนทนาที่แสดงให้เห็นอุปนิสัยของตัวละครต่างๆ

 

 

ร่วมสมัย ทันเหตุการณ์

หากใครเคยอ่านงานของ Raina จะรู้ว่า นอกจากการนำตำนานและความเชื่อโบราณของชนชาติต่างๆ มาใช้สร้างเรื่องแล้ว Raina ยังถนัดในการนำเทคโนโลยี หรือเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบันมาผนวกรวมเข้าไว้ในเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ประดักประเดิด

 

ในครั้งนี้ Raina ใช้เรื่องบริการดิลิเวอร์รี่ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคที่คนต้องกักตัวไม่ออกไปไหน มาผนวกเข้ากับเรื่อง “หวย” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยและมักมีประสบการณ์ร่วม อีกทั้งยังสอดแทรกชื่ออาหารและขนมลงในบทสนทนา เพื่อปูทางไปสู่การฝากร้านในท้ายตอนและท้ายเรื่องด้วย การฝากร้านนี้ ไม่ใช่การขอสปอนเซอร์มาใส่ไว้ในเล่ม แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าที่ทุกวันนี้ต้องพยายามปรับตัวเพื่อสู้กับความซบเซาทางเศรษฐกิจเพราะพิษโควิดได้มีพื้นที่ในการเข้าถึงผู้คนมากขึ้น

 

 

นอกจากความผ่อนคลายที่ได้รับจากการอ่านเล่มนี้ (และความหิวเกือบตลอดเวลา) เรายังพบว่า Raina ยังไม่ลืมสอดแทรกบทสนทนาอันอบอุ่นระหว่างตัวละครหลัก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ตั้งแต่ในเล่มก่อนๆ นี้แล้ว อย่างในเล่ม “ลำนำอตีตา” และ “ลิขิตรักจำหลักใจ”

 

 

แถมท้าย

หลังจากอ่านงานของ Raina มาหลายเล่ม เราพบว่า ทั้งงานจริงจังเข้มข้นและงานคลายเครียด ล้วนมีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นความเป็น Raina 3 ประการ คือ 1. การใช้ข้อมูลจำพวกตำนานความเชื่อทางศาสนาและอารยธรรมโบราณต่างๆ 2. การนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน (เช่นตัวละครที่เป็นเทพเจ้า แต่เล่นทวิตเตอร์ หรือ เจ้ตะเคียนที่มีไอโฟนกงเต๊ก เบิกมาด้วยแต้มบุญที่สะสมไว้) 3. ความรักระหว่างตัวละครเอกที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน (หากไม่ต่างชนชั้น ก็ต่างภพภูมิ)

 

 


 

 

ใครที่สนใจ “เจ้ตะเคียนและหนุ่มดิลิ” ของ Raina แบบรูปเล่ม ตอนนี้มีจำหน่ายที่ร้านกลิ่นหนังสือ

หรือจะทดลองอ่านก่อน ที่ Read A Write

ถ้าใครอยากติดตามและพูดคุยกับนักเขียน ก็ขอเชิญที่เพจ Raina

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

สามวิธีตรึงใจผู้อ่าน ใน ลิขิตรักจำหลักใจ

 

 

ลิขิตรักจำหลักใจ เขียนโดย Raina เป็นนวนิยายแฟนตาซีภาคต่อจาก ลำนำอตีตา เรื่องราวว่าด้วยการตามหาความทรงจำที่สูญหาย มิใช่เพียงความทรงจำเดียว แต่คือความทรงจำทั้งมวล นับตั้งแต่แรกกำเนิดจักรวาล เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นทำให้เทพอาลักษณ์ต้องทำหน้าที่ตามเก็บความทรงจำทั้งมวลกลับคืนมา โดยมีหัวหน้าเทพนักรบรับอาสาคุ้มครอง แล้วการผจญภัยในโลกมนุษย์ของเทพทั้งสองก็เริ่มต้น

 

(ติดโพสต์อิทในจุดที่อ่านแล้วชอบไว้เยอะมาก)

 

นวนิยายเรื่องนี้ แม้จะเป็นภาคต่อ แต่ก็สามารถอ่านแยกขาดจากเรื่องลำนำอตีตาได้ หลังจากเราได้อ่านแล้ว พบว่า Raina มี 3 วิธีสำคัญที่ทำให้นวนิยายน่าติดตาม คือ 1) การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ 2) การสร้างปมในใจของตัวละคร 3) การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

 

1. การแฝงคติความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ

              นวนิยายเรื่องนี้ มีตัวละครหลักในเรื่องประกอบด้วย องค์มหิศร องค์กาล บรรณเทวี ผู้เป็นเทพอาลักษณ์ และหัวหน้าเทพนักรบอย่างอานนท์ โดยตัวละครสำคัญคือ บรรณเทวีและอานนท์จะต้องละภาวะเทพลงมากระทำภารกิจในโลกมนุษย์

 

หากพิจารณาแล้ว องค์มหิศรมีบทบาทหน้าที่ในจักรวาลของเรื่องเล่านี้คล้ายกับพระศิวะหรือพระอิศวร ผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล ส่วนองค์กาลก็มีอุปนิสัยอุทิศตนให้ความรักคล้ายพระแม่อุมา ผู้เป็นชายาของพระศิวะ ขณะที่บรรณเทวีหรือเทพอาลักษณ์ ตัวละครหลักของเรื่องคล้ายกับเทพแห่งศิลปวิทยาการคือพระสุรัสวดี (เทพีแห่งอักษรศาสตร์) ส่วนเทพนักรบอย่างอานนท์ แม้ในเรื่องจะไม่ใช่เทพเจ้าโดยกำเนิดแต่ก็น่าสนใจ เพราะเป็นเทพที่เกิดมาจากดวงจิตอันบริสุทธิ์ของมนุษย์

 

บรรณเทวี เทพอาลักษณ์ และอานนท์ เทพนักรบ ภาพโดย @Movideae

 

ดังนั้นจะเห็นว่า Raina ได้แฝงคติความเชื่อฮินดูผ่านการสร้างตัวละคร ไม่เพียงแค่การกำหนดชื่อ แต่ยังหมายรวมถึงการเขียนให้ตัวละครเหล่านั้นมีอุปนิสัยและพฤติกรรม ที่สอดคล้องกับองค์เทพต่างๆ และทำให้ผู้อ่านสามารถหวนนึกถึงคติความเชื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมได้

 

นอกจากตัวละครหลักแล้ว ยังมีอสูร และญิน ที่คอยกินความทรงจำจักรวาลเพื่อเพิ่มพลังของตน หากสืบค้นเพิ่มเติม จะพบว่า ญินคือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติในความเชื่อของชาวอาหรับ และที่อยู่ของบรรดาอสุรกายเหล่านี้ก็คือโลกันตนรก ซึ่งอิงมาจากคติความเชื่อว่าด้วยโลกและจักรวาลในเตภูมิกถา

 

การแฝงคติความเชื่อเหล่านี้ไว้ในตัวละครช่วยทำให้นวนิยายแฟนตาซีเรื่องนี้มีรายละเอียดที่สมจริงน่าติดตาม และในอีกทางหนึ่งก็ช่วยให้ผู้อ่านซึบซับรับรู้เรื่องเล่าได้ง่ายขึ้นเพราะผู้อ่านคุ้นเคยกับคติความเชื่อเหล่านั้นมาก่อนแล้ว

 

2. การสร้างปมในใจของตัวละคร

นวนิยายที่ชวนติดตามมักมีส่วนประกอบของเรื่องราวความรักและปมปัญหาของตัวละคร เมื่อผู้เขียนสร้างตัวละครให้มีปมในใจที่สมเหตุสมผลได้ ย่อมนำไปสู่การโน้มน้าวให้ผู้อ่านเชื่อและรู้สึกตามตัวละคร ปมในใจตัวละครที่กระทบใจผู้อ่านได้มากมักเป็นเรื่องความรักและอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานอื่น เช่น ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ความแค้น การให้อภัย ความรักที่ยอมเจ็บปวดแทนคนที่เรารัก

 

ในลิขิตรักจำหลักใจ Raina ได้สร้างให้ตัวละครหลักมีปมในใจที่เกี่ยวข้องกับความรักในหลากหลายมิติ ทั้งการรักพี่น้อง การรักแบบคู่รัก และการรักตนเอง ตัวละครหลักทั้งบรรณเทวีและอานนท์ต่างก็มีปมในใจ ที่ทำให้ทั้งสองไม่อาจสื่อสารกันด้วยใจจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ ปมดังกล่าวนี้จะค่อยคลี่คลายไปในแต่ละเหตุการณ์ของนวนิยายเรื่องนี้

 

การสร้างปมในใจของตัวละครหลัก นอกจากจะส่งผลต่อการดำเนินเรื่องแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นการจำลองความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและทำให้เรื่องเล่านี้มีมิติมากยิ่งขึ้นผ่านพฤติกรรมของตัวละครที่มีเหตุมาจากปมในใจที่ตัวละครไม่อาจเอ่ยออกไปเป็นถ้อยคำ

 

การเขียนบทบรรยายหรือบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสดงให้เห็นปมปัญหาของเรื่องหรือปมในใจของตัวละครเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการสื่อสารผ่านการวางแผนพัฒนาและสร้างพฤติกรรมและเหตุการณ์ในเรื่องเล่า แต่หากนักเขียนคนใดทำได้ เขาหรือเธอย่อมแสดงให้เห็นถึงทักษะอันสามารถ ที่ส่งเสริมให้เรื่องเล่าซับซ้อนลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และ Raina ก็เป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ใช้พล็อตเรื่องผลักดันให้ตัวละครมีพฤติกรรมต่างๆ และนำไปสู่การเผยให้เห็นทั้งปมในใจของตัวละครและปมปัญหาของเรื่อง

 

 

3. การสร้างความเชื่อมโยงกับบริบทการสื่อสารปัจจุบัน

การนำเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย มาสร้างภาพประกอบที่ช่วยในการเล่าเรื่อง นับเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ (หากนึกไม่ออก ลองนึกถึงละครพระเอกนางเอกคุยไลน์กันแล้วมีช่องแชตไลน์ปรากฏขึ้นมาที่หน้าจอ)

 

วิธีการเช่นนี้ เราคิดว่าให้ผลคล้ายกับวิธีการแรกคือเป็นการเล่นกับความคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของผู้อ่าน ในนวนิยายเรื่องนี้จะเห็นว่า Raina ได้สร้างบทสนทนาระหว่างตัวละครในรูปแบบของการพูดคุยไลน์กลุ่ม (ดังภาพ)

 

 

นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวปรากฏในนวนิยายเรื่อง ลำนำอตีตา ซึ่งเป็นเล่มก่อนหน้าของ Raina ด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า Raina เลือกใช้วิธีการดังกล่าวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานเขียนของตน

 

การจำลองบทสนทนาไลน์กลุ่มเช่นนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับความคุ้นเคยของผู้อ่านปัจจุบัน หากมองไปในอนาคต ผลงานของ Raina ก็จะเป็นเสมือนบันทึกเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสมัยหนึ่งๆ ไว้ด้วย

 

นอกจากนี้ การให้ตัวละครที่เป็นเทพเจ้าซึ่งมีอายุนับร้อยนับพันปีมาใช้เทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดความย้อนแย้งที่น่าสนุก ไม่ต่างจากนวนิยายจำพวกย้อนเวลาไปสู่อดีตหรือเดินทางข้ามเวลาไปสู่อนาคต เพียงแต่นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้ข้ามเวลาหรือข้ามภพ แต่คือการเดินทางของเหล่าทวยเทพ คล้ายเป็นการเดินทางจากมิติหนึ่งไปยังอีกมิติหนึ่งมากกว่า

 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหนังสือนอกแผงเรื่อง ลิขิตรักจำหลักใจ นี้ มีวิธีการสร้างเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ผู้ที่สนใจการเขียน อาจนำวิธีการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับงานเขียนของตนได้ (อย่าเพิ่งเชื่อเราทั้งหมด ไปทดลองและหาแนวทางของแต่ละคนนะ ^^)

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในแง่ภาษาและคุณภาพของการจัดพิมพ์แล้ว เรายังขอยกนิ้วให้ Raina เช่นเคย ทั้งภาพปก ภาพประกอบที่ลงตัว ภาษาที่สละสลวยแต่ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฝือ แลแทบจะหาคำผิดไม่ได้เลย (น่านับถือ)

 

เราขอจบการบันทึกไว้เพียงเท่านี้ ไม่ได้ยกตัวอย่างในเนื้อเรื่องมาเพราะไม่อยากสปอยล์และอยากให้ได้ลองอ่านกันเอง

 

และด้วยความที่เป็นหนังสือนอกแผง จึงหาไม่ได้ตามร้านหนังสือค่ะ หากใครสนใจอ่านนวนิยายเรื่องนี้ ติดต่อไปที่เพจ Raina&Mouthia นะคะ 😉

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

ปลูกดอกไม้ไว้บนภูเขา – เมื่อกวีมองคนชายขอบจากภูสูง

 

 

ในยุคเทคโนโลยีรายล้อมมนุษย์ สเตตัสนับพันหมื่นส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตตลอดวัน คล้ายว่าทุกอย่างรวดเร็วและเท่าเทียม บทกวีมีที่ทางอย่างไร? กวีจำเป็นจะต้องโดดเดี่ยวตนเองเพื่อค้นหาสัจธรรมบางประการหรือไม่?

 

Read More

“ชีวิตที่บรรเลง” เลียบพรมแดนวรรณกรรมจีนโพ้นทะเลในไทย

 

 

หน้าปกสีแดงสดกับลายเส้นพู่กันจีนขับเน้นให้หนังสือเล่มนี้แสดงความเป็นจีนออกมาอย่างชัดแจ้ง หากมองเผินๆ ใครหลายคนอาจนึกว่านี่คือวรรณกรรมจีนอีกเล่มหนึ่งที่มีผู้แปลมาเป็นภาษาไทย

Read More

นิทานปรัมปรากับกลเกมใน “ลำนำอตีตา”

 

 

“แต่เดิมทุกสิ่งคือ ความว่างเปล่า ปราศจากแสง ความร้อน ความเย็น มีเพียงความมืดมิดไกลสุดสายตา เกินจะคณนา ครั้นนานเข้าความมืดก็ควบตัว ระเบิดกัมปนาท สาดแสงสว่าง ก่อนแสงนั้นจะกวนเข้าหากัน ควบแน่น กำเนิดเป็นองค์มหิศร”

(Raina, 2561: 88-89)

Read More

คำบรรยายของประยูร จรรยาวงษ์ ว่าด้วยการ์ตูนและนักเขียนการ์ตูน

 

สำหรับผมถือว่าทุกอย่างอยู่ที่ความเพียร ความเพียรพยายามอย่างที่ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่าหัดเขียนเท้าไม่ได้ บางคนเขียนหญ้าบังเสียก็เลยเขียนเท้าไม่ได้ อีกสักยี่สิบเท้า พันเท้า หมื่นเท้า มันต้องเขียนได้เข้าวันหนึ่ง แบบที่คนหนุ่มๆ ว่า “ตื๊อเท่านั้นจะครองโลก” นั่นแหละครับ ผมใช้หลักนี้แล้วก็ทำงานวาดเขียนของผมได้สำเร็จ

– ประยูร จรรยาวงษ์
นักเขียนการ์ตูนการเมืองและการ์ตูนเรื่องยาวนิทานไทย

Read More

Kwanrapee กับการนำข้อมูลพื้นบ้านมาสร้างสรรค์การ์ตูนไทย

 

 

การ์ตูนที่นำวรรณคดีหรือวรรณกรรมมาใช้นั้นปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งการ์ตูนรามเกียรติ์ สามก๊ก พระอภัยมณี รวมถึงนิทานพื้นบ้านอื่นๆ ด้วย การนำมาใช้ก็มีทั้งที่เล่าเรื่องเดิมด้วยจังหวะการเล่าอย่างการ์ตูน หรือจะเล่าใหม่โดยตีความเพื่อให้เข้ากับวัตถุประสงค์ที่ต้องการสื่อก็ย่อมได้

Read More
error: