คำบรรยายของประยูร จรรยาวงษ์ ว่าด้วยการ์ตูนและนักเขียนการ์ตูน

 

สำหรับผมถือว่าทุกอย่างอยู่ที่ความเพียร ความเพียรพยายามอย่างที่ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่าหัดเขียนเท้าไม่ได้ บางคนเขียนหญ้าบังเสียก็เลยเขียนเท้าไม่ได้ อีกสักยี่สิบเท้า พันเท้า หมื่นเท้า มันต้องเขียนได้เข้าวันหนึ่ง แบบที่คนหนุ่มๆ ว่า “ตื๊อเท่านั้นจะครองโลก” นั่นแหละครับ ผมใช้หลักนี้แล้วก็ทำงานวาดเขียนของผมได้สำเร็จ

– ประยูร จรรยาวงษ์
นักเขียนการ์ตูนการเมืองและการ์ตูนเรื่องยาวนิทานไทย

 

 

หนังสือที่หนาเพียง 36 หน้านี้คือเอกสารการบรรยายและอภิปรายเกี่ยวกับศิลปสมัยปัจจุบันของกรมศิลปากร อันดับที่ 6 พิมพ์เมื่อปี 2513 ว่าด้วย การบรรยายเรื่อง ภาพการ์ตูน โดย ประยูร จรรยาวงษ์ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2512

 

ตลอดทั้งเล่มนี้ ประยูรได้เริ่มต้นตั้งแต่ความหมายของการ์ตูน จำแนกประเภทของการ์ตูน ประโยชน์ด้านต่างๆ ของการ์ตูน ก่อนจะเล่าเรื่อยไปถึงนักวาดการ์ตูนทั้งไทยและต่างประเทศที่เขาเคยได้รับชมผลงานหรือพูดคุยเป็นการส่วนตัว นอกจากนี้ภายในเล่มยังมีตัวอย่างผลงานภาพวาดของเขาจำนวน 4 หน้าด้วย

 

 

ความหมาย ประเภท และประโยชน์ของการ์ตูนในทัศนะของประยูร จรรยาวงษ์

 

ความหมายของการ์ตูนในความเห็นของประยูรไม่ใช่สิ่งสูงส่งหรือต่ำต้อย แต่เป็นสิ่งที่คนทั่วๆ ไปสัมผัส รับรู้ และสร้างสรรค์ได้ ดังที่เขากล่าวว่า

 

“การ์ตูนคือ ภาพที่แทน ภาพโย้ๆ เย้ๆ ภาพไม่เหมือนของจริง จะเป็นคนหรือสัตว์หรือสิ่งของอะไรก็ตาม ที่มันวิกลวิกาลผิดไปจากภาพธรรมดา ซึ่งทุกคนผมเชื่อว่าเขียนได้ เขียนได้อย่างง่ายด้วย ส่วนจะเขียนออกมาอย่างอาชีพนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้จะเขียนเล่นๆ ออกมาอย่างความรู้สึกอยากจะเขียนละก้อเขียนได้ทุกท่าน” (ประยูร จรรยาวงษ์, 2513: 6)

 

ส่วนประเภทของการ์ตูน ประยูรได้กล่าวไว้โดยสังเขปว่าเขาแบ่งเป็น 3 ประเภทคือการ์ตูนที่เขียนภาพสัตว์ให้มีบุคลิกลักษณะท่าทางอย่างคน การ์ตูนที่เขียนคนให้แปลกไปจากปกติ และการ์ตูนแบบ “วิจิตรภาพสมัยใหม่” ที่ไม่เป็นทั้งสัตว์ทั้งคน อาจเป็นรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ เมื่อพิจารณาในด้านพื้นที่ การ์ตูนที่เขียนภาพสัตว์ให้กระทำกิริยาอาการอย่างคนนั้นเป็นที่นิยมในอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคืองานของวอลท์ ดิสนีย์ ส่วนการ์ตูนอีกสองประเภทนั้นนิยมวาดกันในแถบยุโรป

 

ประโยชน์ของการ์ตูนในทัศนะของประยูรมี 3 ข้อสำคัญคือ 1.เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 2.เพื่อนำเสนอเนื้อหาทางการเมือง 3.เพื่อใช้ประกอบเทคนิคต่างๆ ในการสร้างภาพยนตร์ คือเป็นการนำเอาภาพการ์ตูนไปผสมผสานกับภาพที่เกิดจากการถ่ายทำจริง คล้ายกับเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ในภาพยนตร์ปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ประยูรยังขยายความเกี่ยวกับข้อควรรู้และปฏิบัติของนักเขียนการ์ตูนการเมืองไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า

 

“ภาพการ์ตูนการเมืองนั้น นอกจากจะต้องรอบรู้หูไวตาไวแล้ว จะต้องรู้กฎหมายบ้านเมืองด้วยว่าเขียนแล้วไม่เข้าตะราง ตลอดเวลาผมทำงานการ์ตูนมาเฉี่ยวซ้ายเฉี่ยวขวามาเรื่อยตลอดเวลา ผมหาได้พ้องพานเข้าไปไม่ มีครั้งหนึ่งถูกหมายเรียกตัวเข้าไปก็เพียงแต่ติดหลังแหเข้าไปมอบตัว ตำรวจบอกว่าสำหรับผมเขาไม่เอา กลับได้ เขาจับเพื่อนฝูงของผมไปทุกคน เหลือผมคนเดียวเขาปล่อยมา […] ถ้าเขียนออกไปด้วยบันดาลโทสะแล้ว การ์ตูนของท่านที่เขียนนั้นมันจะเคร่งเครียด จะดูแล้วเผ็ดร้อนมันไม่นุ่มคือจะเขียนการ์ตูนถึงใครจะให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือต่อคนนั้นแล้ว ควรจะเอาความเมตตาเข้าใส่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และผมว่าการ์ตูนชิ้นนั้นมันจะมีกำลัง สมัยนี้เขาเรียนพลังภายใน ในตัวของมันเอง ถ้ามัวไปเขียนการ์ตูนแบบโกรธเช้าโกรธเย็นก็ไปเขียนการ์ตูนแบบใบปลิว […] ผมดับ (ความโกรธ) มาแล้วหลายอันโดยเอาความขันเข้าไปบ่อนทำลายสิ่งที่ผมไม่ชอบไม่ควรได้ผลหลายอัน พอคนฮาเท่านั้นสิ่งที่เรากล่าวถึงนั้นไม่มีความหมายเลย หมดไปทันที” (ประยูร จรรยาวงษ์, 2513: 27-28)

 

นักวาดการ์ตูนไทยจากคำบอกเล่าของประยูร จรรยาวงษ์

 

เมื่อกล่าวถึงหนังสือการ์ตูน หลายคนย่อมนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก โดเรม่อน วันพีซ นารูโตะ ส่วนการ์ตูนไทยนั้น บ้างอาจเอ่ยชื่อขายหัวเราะ มหาสนุก การ์ตูนของชัย ราชวัตร ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือการ์ตูนหัวแตงโมขององอาจ ชัยชาญชีพ บางครั้งเราก็เกือบลืมไปว่าในอดีตเคยมีนักวาดการ์ตูนไทยที่น่าสนใจอยู่หลายคน

 

ในหนังสือเล่มนี้ ประยูรได้กล่าวถึงนักวาดการ์ตูนไทยหลายคนที่น่าสนใจ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ไล่มาถึง คุณธัญญะ อุทธกานนท์ คุณสวัสดิ์ จูทะรพ คุณวิตต์ สุทธเสถียร และคุณจำนงค์ รอดอริ

 

คนที่น่าสนใจยิ่งคือคุณสวัสดิ์ จูทะรพ เพราะเป็นผู้นำวรรณคดีไทยหรือนิทานไทยมาเขียนเป็นการ์ตูน ทั้งเรื่องสังข์ทอง ไกรทอง ทั้งยังสร้างตัวละคร “ขุนหมื่น” ที่เลียนบุคลิกของป๊อปอายมาใช้สร้างความขบขันให้แก่เรื่องต่างๆ จนเป็นที่จดจำได้ด้วย นอกจากนี้คุณสวัสดิ์ยังเป็นคนละเอียดยิ่งดังที่ประยูรเล่าว่า

 

“หนังสือพิมพ์ก็มักจะขอต้นฉบับขุนหมื่นไปลงเป็นประจำ แต่ว่าคุณสวัสดิ์ จูทะรพเป็นคนที่ทำงานละเอียดมาก วันหนึ่งจะผลิตต้นฉบับได้ไม่เกิน 1 ชิ้น เพราะคุณสวัสดิ์ จูทะรพเป็นคนละเอียดเหลือเกิน ร่างและตัดเส้นหมึกกับดินสอถึงกับต้องทับกันสนิท จะเกินกันขาดกันไม่ได้เป็นอันขาด” (ประยูร จรรยาวงษ์, 2513: 22)

 

การ์ตูนไทยในอดีตสืบเนื่องมาจนปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่นักวาดการ์ตูนไทยได้นำวรรณคดีไทยและเรื่องเล่าพื้นบ้านมาเขียนเป็นการ์ตูนเรื่องยาวอย่างที่คุณสวัสดิ์ จูทะรพได้ทำไว้

 

 

วิธีคิดและการทำงานของนักเขียนการ์ตูน

 

ประยูร จรรยาวงษ์เป็นนักเขียนที่พยายามพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีหูตากว้างไกลรู้รอบอยู่เสมอ ทำงานหนักและอาศัยความเพียรเป็นที่ตั้ง ดังที่เขาเล่าไว้ว่า

 

“วิธีเขียนการ์ตูนการเมืองนั้นยากลำบากกว่าเขียนการ์ตูนเรื่องยาวมากมายหลายเท่า คือต้องมีข่าวมีวิทยุฟังถ้าได้ฟังทั่วโลกยิ่งดีที่สุด ผมบังเอิญเป็นคนไม่ค่อยหลับไม่ค่อยนอน นอนเท่าที่ร่างกายจำเป็น […] ผมใช้ความเพียรตัวเดียวเท่านั้นเอง ผมไม่เชื่อว่าอัจฉริยะจะมีในตัวผม จริงอยู่อัจฉริยะอาจจะมีในคนอื่นอาจเป็นได้ แต่สำหรับผม ผมขอประทานโทษเถอะ ผมขอยกตัวเอาออกได้ สำหรับผมถือว่าทุกอย่างอยู่ที่ความเพียร ความเพียรพยายามอย่างที่ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่าหัดเขียนเท้าไม่ได้ บางคนเขียนหญ้าบังเสียก็เลยเขียนเท้าไม่ได้ อีกสักยี่สิบเท้า พันเท้า หมื่นเท้า มันต้องเขียนได้เข้าวันหนึ่ง แบบที่คนหนุ่มๆ ว่า “ตื๊อเท่านั้นจะครองโลก” นั่นแหละครับ ผมใช้หลักนี้แล้วก็ทำงานวาดเขียนของผมได้สำเร็จ” (ประยูร จรรยาวงษ์, 2513: 24-25)

 

 

นอกจากเรื่องความเพียรแล้ว ประยูรยังแนะนำไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับการลอกเลียนผลงานว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง และขอให้สร้างสรรค์งานจนเกิดเป็นแนวทางของตนเองจะดีกว่า ดังที่ประยูรกล่าวว่า

 

“ถ้าหากว่าท่านผู้ใดอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนในวันข้างหน้าแล้ว ผมขอความกรุณาอย่าได้ลอกการ์ตูนของผมหรือของใครในโลกเป็นอันขาด เพราะถ้าตามแล้วก็จะไม่มีโอกาสขึ้นหน้า ถ้าท่านไม่ตาม ถ้าท่านสร้างแนวของท่านขึ้นเองแล้ว ท่านมีโอกาสขึ้นหน้าและชนะผมในวันหนึ่ง คุณสังเกตเถอะว่าปลาเข็มน่ะ ที่มันตามกันอยู่น่ะไม่มีโอกาสขึ้นหน้า มันก็ตามกันตลอดไป ถ้าหากว่าคุณไม่ต้องมาห่วงผม คุณบุกออกไปเลย คุณสร้างแนวบรรยากาศของคุณเอง ผมเชื่อว่าความเพียรเท่านั้นแหละจะทำให้คุณเป็นนักเขียนการ์ตูนขึ้นมาในวันข้างหน้าเป็นอย่างดี เพราะผม 55 แล้ว ผมจะซาโยนาระเมื่อไรก็ไม่ทราบ” (ประยูร จรรยาวงษ์, 2513: 26)

 

ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงได้ทำให้ผู้อ่านอย่างเรารู้จักการ์ตูนและคนในแวดวงการ์ตูนไทยในอดีตมากยิ่งขึ้น แม้จะโดยสังเขปแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจและอยากจะติดตามผลงานของนักเขียนการ์ตูนไทยเหล่านั้นต่อ รวมถึงชวนให้เราได้กลับมามองแวดวงการ์ตูนไทยปัจจุบันด้วยว่าดำเนินไปในทิศทางใดบ้าง

 

หนังสือบางๆ เล่มนี้ที่น่าจะหาซื้อได้ยากแล้ว (เราเองก็มีโอกาสได้มาจากร้านหนังสือกรมศิลปากรที่หอสมุดแห่งชาติ) เล่มนี้เป็นหนังสืออันดับที่ 6 เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีเล่มอื่นๆ อีกในชุดเดียวกันนี้ เราคิดว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าหากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรหยิบจับหนังสือเก่าที่เป็นบันทึกการบรรยายเหล่านี้มารวบรวมพิมพ์ใหม่อีกครั้ง

 

 

หนังสือนอกแผงตอนหน้าจะว่าด้วยหนังสือเล่มใด…โปรดติดตาม 😉

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: