นิทานปรัมปรากับกลเกมใน “ลำนำอตีตา”

 

 

“แต่เดิมทุกสิ่งคือ ความว่างเปล่า ปราศจากแสง ความร้อน ความเย็น มีเพียงความมืดมิดไกลสุดสายตา เกินจะคณนา ครั้นนานเข้าความมืดก็ควบตัว ระเบิดกัมปนาท สาดแสงสว่าง ก่อนแสงนั้นจะกวนเข้าหากัน ควบแน่น กำเนิดเป็นองค์มหิศร”

(Raina, 2561: 88-89)

ทวยเทพ

 

ข้อความข้างต้นนี้ไม่ใช่บทเปิดเรื่อง คุณจะต้องอ่านไปสักนิดถึงจะพบเรื่องราวกำเนิดโลกนี้ แต่เหตุที่ยกข้อความนี้มาไว้เปิดบทรีวิวนี้ก็เพราะว่าในข้อความนี้แทบจะสื่อสารถึงเรื่องลำนำอตีตาได้ทั้งหมดทั้งมวล ซ้ำยังแสดงให้เห็นด้วยว่าลีลาภาษาของ Raina เป็นเช่นใด

 

ลำนำอตีตา ของ Raina เป็นนวนิยายแนวแฟนตาซีที่คุณไม่อาจหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไป วันนี้หนังสือนอกแผงจึงขอพาคุณไปรู้จักงานเขียนของ Raina เรื่องนี้ โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนสำคัญที่เราเห็นว่าเป็นลักษณะเด่นที่น่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้ คือ กลเกมชิงบัลลังก์ การเล่าอย่างนิทานและใช้นิทานช่วยดำเนินเรื่อง และถ้อยคำสำนานแลการตรวจทานต้นฉบับ

  

 

กลเกมชิงบัลลังก์?

หากพิจารณาจากหน้าปก ใครหลายคนอาจคิดว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นแนวรักโรแมนติกหรือเจ้าชายเจ้าหญิงในทะเลทรายหรือเป็นแนวชีคอะไรทำนองนั้นหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้ว เราขอกระซิบคุณไว้เลยว่า ตลอดทั้งเรื่องคือกลเกมที่มีเป้าหมายสำคัญยิ่งกว่าอำนาจ กลเกมที่เป็นเสมือนสกาของราชา ทั้งวิธีการเดินหมาก การพลิกกลับมาเอาคืน รวมถึงยุทธวิธีอีกหลากหลายรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในแต่ละตอน (แน่นอนว่าเราเล่ามากกว่านี้ไม่ได้หรอกน่า เดี๋ยวจะกลายเป็นการสปอยล์ไปเสียฉิบน่ะสิ)

 

ขณะที่อ่านผ่านไปในแต่ละบท คุณคงจะตั้งคำถามเหมือนเราว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้คุมเกม และเกมดังกล่าวจะนำไปสู่สิ่งใด ลาภสักการะ อาณาจักรอันไพศาล ความรักอันยิ่งใหญ่ หรืออาจแค่เพียงการได้ปกป้องใครสักคนที่ตนรัก ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นเช่นใดแน่ แต่การแผ้วถางเส้นทางสู่เป้าหมายนั้นก็น่าติดตาม มีบางช่วงบางตอนที่เราพอจะเดาได้บ้าง (ในฐานะที่เดาเหตุการณ์ในละครและซีรีส์ต่าง ๆ ถูกอยู่บ่อย ๆ) แต่บางช่วงก็เกินคาดหมายจริง ๆ

 

ขอกระซิบอีกสักหน่อยว่าตัวละครทั้งสี่คือกฤตยา (องค์หญิงแห่งแคว้นพารณ) มีนา (หญิงรับใช้คนสนิทของกฤตยา) อนันต์ (บุตรพ่อค้าผ้าผู้เปี่ยมด้วยปัญญา) อานนท์ (คู่หมั้นขององค์หญิงกฤตยา) คือตัวละครสำคัญที่อยู่ในระนาบความสัมพันธ์ใกล้เคียงกัน ความสัมพันธ์ของคนทั้งสี่มีเรื่องราวให้ผู้อ่านต้องครุ่นคิดแน่ ๆ ส่วนตัวละครอื่น ๆ รองลงไปก็ต่างทำหน้าที่ของตนเพื่อเสริมให้กลเกมในเรื่องดำเนินไปได้ถึงจุดหมาย แต่จุดหมายนั้นจะใช่บัลลังก์แห่งแคว้นพารณหรือไม่ คุณคงต้องตามอ่านเอง

 

การเล่านิทานและใช้นิทานช่วยดำเนินเรื่อง

นวนิยายบางเล่มดำเนินเรื่องด้วยบทบรรยายและบทสนทนา บ้างตั้งบทด้วยตัวละคร บ้างตั้งบทด้วยกรอบของเวลาในเรื่อง แต่นวนิยายเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 4 บทหลักคือ เรื่องราวปกรณัม นิทาน ตำนาน ลำนำ ชื่อบทเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความคลั่งไคล้ของ Raina ที่มีต่อเรื่องเล่าโบราณที่ผู้คนสืบทอดเล่าต่อกันมา

ภาพประกอบคั่นบทในนวนิยายเรื่อง “ลำนำอตีตา”

 

ไม่เพียงแต่ชื่อบทเท่านั้นที่บอกเป็นนัยให้เราได้รับรู้ถึงการเล่านิทาน แต่การวางเส้นเรื่องของ Raina ยังแสดงให้เห็นเทคนิค “นิทานซ้อนนิทาน” (Tale in tale) ที่ปรากฏอยู่ในนิทานสันสกฤต (หากใครนึกไม่ออก ลองนึกถึงนิทานเวตาลดูก็ได้ ว่าขณะที่เรารับรู้เรื่องที่เวตาลเล่า เราก็รับรู้ผ่านเหตุการณ์ที่เวตาลล่อลวงพระวิกรมาทิตย์ด้วย)

 

นอกจากนี้ ตามแนวทางการเล่านิทานของนักเล่านิทาน (อ้างอิงจากมากาเร็ต รีด แม็คโดนัลด์และวยุพา ทศศะ) ก็ยังมีขั้นตอนของการเตรียมผู้ฟังให้พร้อมก่อนการเล่า ซึ่งน่าสนใจว่าบทเปิดเรื่อง “ลำนำอตีตา” ได้เริ่มบรรยายถึงฉากแห่งความเงียบ คล้ายกับการที่นักเล่านิทานมาถึงแล้วเงียบสักครู่เพื่อให้ผู้ฟังสนใจและตั้งใจฟังก่อนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องดังข้อความที่ว่า

 

ขณะนั้นคือชั่ววูบที่เปลวเทียนไหว คือชั่วขณะที่เสียงสวดภาวนาชะงักลงและแผ่วจางไป จนเหลือเพียงความเงียบงัน (Raina, 2561: 6)

 

ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเล่านิทานคือการพาผู้ฟังเข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง ข้ามจากความจริงไปสู่โลกแห่งจินตนาการแล้วทำให้ผู้ฟังรู้สึกให้ได้ว่าตนกำลังเพลิดเพลินอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เมื่อพิจารณาดูแล้ว  ก็คล้ายว่า Raina จะใช้วิธีนั้นอาจโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

นอกจากนี้ Raina ยังเลือกใช้เรื่องเล่าจำพวกเทพปกรณัม ตำนานกำเนิดโลก ตำนานเมืองมาผูกเข้ากับเรื่องเพื่อช่วยอธิบายหรือส่งเสริมการกระทำของตัวละครและช่วยให้เรื่องดำเนินไปตามแนวทางที่ได้วางไว้ ด้วยการให้ตัวละครเล่าเรื่องนี้แก่กันในแต่ละบทแต่ละตอนของเรื่อง

 

แทนที่ตัวละครจะสอนหรือสั่งตัวละครอื่นด้วยถ้อยคำทั่วไป Raina ก็กลับให้ตัวละครเหล่านั้นเลือกเล่าเรื่องที่ชักจูงและอธิบายเหตุและผลให้ทั้งตัวละครที่ฟังเรื่องเล่าและผู้อ่านได้เข้าใจไปพร้อม ๆ กัน  

 

ถ้อยคำสำนานแลการตรวจทานต้นฉบับ

 

สำนวนสิ! หลายคนอาจคิดเช่นนั้นเมื่อได้อ่านหัวข้อนี้ แต่เราต้องขอบอกคุณว่า “สำนาน” มีอยู่จริง Raina ไม่ได้พิมพ์ผิด คำว่า สำนาน ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เสียง, เสียงพูด

 

เมื่อได้อ่านลำนำอตีตาจนจบ เราพบว่า Raina ใช้ภาษาได้ดี โบราณเหมาะแก่บริบทแต่ก็ไม่ถึงกับยากเกินไปจนคนรุ่นปัจจุบันเข้าใจไม่ได้ ขณะที่ในตอนพิเศษท้ายเล่มก็ใช้ภาษาได้เหมาะกับยุคสมัยที่เรื่องราวเกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดอย่างยิ่งคือพบคำผิดน้อยอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าในสามร้อยกว่าหน้านั้นเราพบคำผิดแค่ประมาณ 1% ในฐานะเราที่เคยพิสูจน์อักษร การที่ Raina เขียนเองและตรวจทานเองด้วย ทำได้ขนาดนี้ถือว่าท็อปฟอร์มมาก ๆ (นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมเราจึงต้องบอกคุณเรื่องนี้) เราต้องชื่นชมเลยว่า Raina ทำงานได้ละเอียดมากและเรียบร้อยกว่าหนังสือที่มี ISBN บางเล่มเสียด้วยซ้ำ

 

หากใครสนใจหนังสือนอกแผงเล่มนี้ เชิญเสาะหาได้ที่เพจเฟสบุ๊กของ Raina
หรือทดลองอ่านได้โดยคลิกที่ภาพปก

 

 

ที่คั่นหนังสือ Limited Edition

 

 

แล้วพบกันใหม่ในหนังสือนอกแผงครั้งหน้าค่ะ 🙂

 

 

 


 

 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: