เมื่อหนังสือเล่มหนึ่ง เขียนความคิด – ปันนารีย์

 

บุษบา บานเช้า เขียนถึง “แบบจำลองของเหตุผล” ของจรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์

 

ความเรียง จะนิยามว่าอะไร เอาข้อความมาเรียงกัน อ่านแล้วมุ่งประเด็นให้ความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่ง

ถ้าคุณเคยอ่านความเรียง

หนังสือเล่มนี้  ก็ไม่ใช่ความเรียงทั่วไป

เป็นเล่มที่เหมือนผู้เขียนตั้งคำถามกับผู้อ่านตลอดเวลา  ไม่ว่าเขาจะเดินไปสู่สถานการณ์ใด

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือปรัชญาประเภทมีหลักการมารองรับการเสาะแสวงหา

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือรวบรวมคำคม

 

จรรยา อำนาจพันธุ์พงศ์ เขียนงานทั้งบทกวี เรื่องสั้น มายาวนาน

ไม่ต้องพูดถึงรางวัลที่เขาได้รับจากทั้งกวีนิพนธ์และเรื่องสั้น

รางวัลเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันต่อการพยายามยืนหยัดต่องานเขียนแบบกระแสสำนึกอย่างมุ่งมั่น

ยี่สิบปีที่เขาสั่งสมการอ่านการเขียน สไตล์งานของจรรยา  ไม่เหมือนใคร

ความสามารถอันโดดเด่นด้านภาษาของเขา สร้างภาพบรรยากาศอันแช่มช้าและอ้อยสร้อยเสมอ

ในบทกวี เขาคือบทสรุปของงานที่สะท้อนจิตสำนึกของกวีผู้รังสรรค์กวีนิพนธ์อันวิจิตร

และในเรื่องสั้น เขาได้สร้างภาพฝันอันคลุมเครือเพื่อมุ่งแสวงหาบทสรุปในตอนท้าย

ความเรียงเล่มนี้เหมือนเป็นการพยายามจะหาเหตุผลมารองรับการทำงานเขียนของเขาตลอดเวลาที่ผ่านมา

ฉันเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนน่าจะใช้พลังมหาศาล

เพื่อการตกผลึกทางความคิด

ที่สำคัญ เขาพยายามส่งสารไปยังผู้อ่านให้เรียบง่ายที่สุด

เล่มนี้จรรยาเคยพูดไว้ในเฟชบุ๊คว่าเป็นงานเขียนที่ใช้เวลากลั่นกรองความคิดยาวนานถึงสามปี และแน่นอน มันต้องมาจากการจำลองเหตุและผลที่เขาใช้ประสบการณ์ในการทดลองสภาวการณ์ต่าง ๆ  ทั้งหมดด้วยตนเอง

เหล่านี้คือสิ่งกล่อมเกลากลั่นกรอง แล้วนำมาสู่การแบ่งปัน

 

 “เมื่อฉันโดดเดี่ยวมากขึ้น ฉันกลายเป็นที่รักของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เกลียดชังตัวเองไปด้วย

สมดุลของสองสิ่งหลอมรวมเป็นหนึ่ง เดินออกไปเผชิญความจริงทุกสิ่งพร้อมกัน” (น.111)

 

งานบางชิ้นเหมือนบทกวี เป็นจริงที่กวีไม่อาจสลัดความเป็นกวีได้เลย

 

“หลายสิ่งผ่านเลยไป ริ้วรอยของเมฆ มิอาจเรียกว่าความทรงจำ

ที่เลือน ๆ อยู่กลางเส้นโค้งฟ้า และที่เรื่อเรืองอยู่ตรงขอบฟ้าก็ดุจเดียวกัน” (น.315)

 

ไม่ต้องพูดว่ามันซ่อนเชิงปรัชญานุ่มลึกเอาไว้

 

“การพยายามอยู่รอดอาจคือการดึงพลังทุกอย่างเพื่อจุดไฟแสงสว่างขึ้นมาในความคิด

เพื่อเดินหาความรู้สึกก่อนหน้านั้น ความรู้สึกที่มีมิอาจย้อนกลับไป

ไม่ว่าจะด้วยการมองเห็นแบบลืมตาหรือหลับตาก็ตาม” (น.187)

 

เล่มนี้ ถ้าอ่านต่อเนื่อง จะพบว่ามีวิธีการไล่เรียงเรื่องคล้ายกึ่งฝันกึ่งจริงอยู่บ้าง

หนักเบาสลับกันไปมา  หลายชิ้นพบความเกี่ยวเนื่องในความรัก

 

“ฉันแค่อยากคิดว่า การมีความรักคือของแถมที่มาจากการหลอกลวง

คือมันจะจริงได้ยังไง เราก็ปลอมมันขึ้นมาทั้งนั้น

ปลอมแม้แต่ความรู้สึก” (น.192)

 

และบางชิ้นก็หนักเอาการ

 

“ความเข้าใจที่ฉันมีต่อโลก

ได้เก็บส่วนที่เป็นความลับเอาไว้

กระทั่งเมื่อความรู้โยนมันออกมาวางอยู่ตรงหน้า

ฉันถึงได้เห็นว่า มีฉันนอนกองอยู่ตรงนั้นในสภาพที่เต็มไปด้วยบาดแผล” (น.56)

บ้างที่มันอาจส่งเสียงร้องเตือน  สะกิดต่อมความคิด

 

“ “ผ่านไปไม่นาน”  “ผ่านไปแล้ว”  สองสิ่งนี้คืออดีต

ปัญหาของเราคือการพยายามแยกมันออกจากกันในเวลาของปัจจุบัน

จึงเป็นเราเองมิใช่หรือ  ที่เผลอทำอดีต แตกสลาย” (น.70)

 

ข้อความที่จะโอบกอดแล้วปลอบประโลมใจเราอย่างเข้าอกเข้าใจ

“หยดน้ำไม่ได้ร่วงลงช้า ๆ หรอก

แต่มันร่วงลงสู่ความเชื่องช้าในขณะที่เราฟังมันในความเงียบ”

(น.82)

 

ไม่ใช่เพียงข้อความที่ผู้อ่านจะเห็นด้วยทั้งหมด

บางครั้งก็แอบปฏิเสธสิ่งที่เขาเขียน

สิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้เกิดภาวะครุ่นคิดในตัวเรา ขึ้นมา

ข้อความเหล่านี้พยายามหาคำตอบของเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ

มันไม่ได้อยู่ในประเด็นว่า ผู้เขียนจะตอบเราไว้แล้ว

หรือเป็นเราเองจะต้องตอบตัวเองให้ได้หลังจากการอ่าน

 

แบบจำลองของเหตุผล เล่มนี้พิมพ์จำนวนจำกัด คลิกที่ภาพเพื่อเดินทางไปตามหาเหตุผล

 

ความเรียงจำนวน 231 ชิ้น เข้าเล่มปกเย็บกี่อย่างดี

ออกแบบสวยงาม ตรวจทานข้อความถูกต้องครบถ้วน อ่านไม่สะดุด

สักกี่ฤดูชีวิตที่หมุนวนกลับไปมา

หนังสือสักเล่มที่จะอยู่ข้าง ๆ ความคิดของเราเสมอ

 

 

หากสักครั้ง ได้มีโอกาสถามเขา

ฉันจะถามเขาว่าเหตุผลแท้จริงของคนเราจะสามารถตีความว่าสิ่งนั้น  ถูก / ผิด/ ชั่วหรือดี

ในจิตของคนเราต้องจำลองเหตุและผลใด มารองรับ

หรือบางที ก็ไม่ต้องถามเขา นอกจากหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านซ้ำ ๆ ช้า ๆ

 

 


 

บุษบา บานเช้า

บุษบา บานเช้า

นักบันทึกการอ่านผู้พิสมัยเรื่องสั้นและบทกวี

 

 

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: