บีเลิฟด์ (BELOVED) : ชื่อนามกับนิยามตัวตนคนผิวสี

 

 

เมื่อเอ่ยถึงนวนิยายเรื่องบีเลิฟด์ ของโทนี มอร์ริสัน เราอาจเล่าเรื่องให้สั้นกระชับได้ว่า “แม่ฆ่าลูก” จากนั้นสามคำนี้ก็ชวนให้คิดต่อและรู้สึกได้มากมาย และนั่นคือนวนิยายของนักเขียนรางวัลโนเบล ที่นำเสนอความรักของแม่กับลูกในบริบทสังคมอเมริกายุคที่ยังก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความเป็นทาสและความเป็นไทได้อย่างถึงแก่น

 

นอกจากประเด็นความรักระหว่างแม่ลูกแล้ว การที่ชื่อเรื่องนวนิยายนี้คือ บีเลิฟด์ อันเป็นชื่อของตัวละครหลัก ยังได้นำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยชื่อตัวละคร

 

บีเลิฟด์, เดนเวอร์, เซเธอ, เจนนี วิทโลว์, เบบี้ ซักส์, แสตมป์ เพด, ฮาลเล, พอล เอ, พอล ดี, พอล เอฟ, ซิกซ์โอ, การ์เนอร์, บราเธอร์, มิสเตอร์ ฯลฯ

 

ชื่อตัวละครเหล่านี้ปรากฏบ่อยครั้งในเรื่องบีเลิฟด์ และการได้มาซึ่งชื่อเหล่านั้นมีสาเหตุแตกต่างกันไป เมื่อพิจารณาแล้วพบว่านวนิยายเรื่องนี้ได้สื่อถึงความเป็นไทและความเป็นทาสที่ก้ำกึ่งกันอยู่อย่างแยบยลผ่านชื่อ ทั้งในกระบวนการตั้งชื่อ เปลี่ยนชื่อ และเรียกชื่อ

 

ชื่อคือเครื่องนิยามตัวตนของเจ้าของชื่อ ปกติแล้วการตั้งชื่อจะกระทำโดยผู้มีอำนาจมากกว่า คือพ่อแม่ซึ่งมีอำนาจในฐานะผู้ให้กำเนิด ให้ชีวิต และเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นชีวิตที่เกิดขึ้นจึงถูกนิยามได้ด้วยชื่ออันแฝงฝังทัศนคติของผู้ตั้งชื่อ และเมื่อได้รับชื่อ ตัวตนของผู้นั้นจึงปรากฏชัดในสังคม

 

ในเรื่องนี้คนขาวที่กระทำสิ่งเลวร้ายอย่างครูโรงเรียนไม่มีชื่อ ขณะที่ไก่โต้งและต้นไม้ที่บ้านสวีทโฮมมีชื่อว่า มิสเตอร์ และ บราเธอร์ ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่มีนัยยะของความเป็นมนุษย์ ลักษณะนี้แสดงให้เห็นขั้วตรงข้ามอย่างยิ่งระหว่างมนุษย์ไร้ชื่อที่ทารุณผู้อื่น กับสัตว์และพืชที่ไม่ได้เป็นมนุษย์โดยกายภาพแต่กลับมีชื่ออย่างมนุษย์

 

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าชื่อและการตั้งชื่อตัวละครในเรื่องบีเลิฟด์ แสดงและสื่อสารความหมายอย่างไร

 

ชื่อตัวละครที่ปรากฏในเรื่องแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ชื่อที่คนขาวกำหนดให้ และชื่อที่คนผิวสีเลือกเอง แต่ละลักษณะล้วนสื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงอำนาจและนัยยะที่ซ่อนเร้นอยู่ในชื่อและกระบวนการตั้งชื่อเหล่านั้น

 

ฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2563 โดยสำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์

 

ชื่อที่ได้รับมากับตัวตนในสายตาของคนอื่น

 

ในสังคมอเมริกันยุคกึ่งไทกึ่งทาส ขณะที่แม่ผิวสีบางคนเลือกไม่ตั้งชื่อให้ลูกของตนเองเนื่องจากไม่ต้องการสร้างความผูกพันระหว่างตนและลูก เพราะอีกไม่นาน ลูกของพวกเธอจะเติบใหญ่และโดนพรากไปเป็นแรงงานที่ไหนสักแห่งอย่างไม่รู้ชะตากรรม ดังนั้น คนผิวขาวจึงเป็นผู้ตั้งชื่อให้ทาสที่อยู่ในการปกครอง

 

ในเรื่องบีเลิฟด์ มิสเตอร์และมิสซิสการ์เนอร์เป็นคนผิวขาวเจ้าของบ้านที่ชื่อว่า “สวีทโฮม” ที่นั่นเลี้ยงดูและใช้งานคนผิวสีทั้งชายและหญิงอย่างเป็นธรรม ไม่ทำร้ายร่างกาย รับฟัง และให้เกียรติบรรดาคนผิวสี

 

กระนั้น ชื่อที่การ์เนอร์เรียกคนผิวสีในเรือนของตนก็มีนัยยะของการทำให้ไม่เป็นมนุษย์เพราะมีลักษณะของการจัดลำดับสิ่งของมากกว่าจะเป็นชื่อเฉพาะบุคคล เห็นได้จากชื่อ พอล เอ, พอล ดี, พอล เอฟ และชื่อ ซิกซ์โอ ที่หมายถึงเลขหก ทำให้ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่มีความหมายเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณค่า

 

การ์เนอร์อาจตั้งชื่อให้บรรดาพอลและซิกซ์โอเช่นนี้เพื่อความสะดวกสบายในการเรียก กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความหมายของชื่อเหล่านี้ลดทอนความเป็นมนุษย์อันมีบุคลิกลักษณะเฉพาะต่างไปในแต่ละคน ตัวตนของตัวละครเหล่านี้จึงถูกลดทอนให้เหลือเพียงลำดับและตัวเลขจนคล้ายว่าตัวตนความเป็นมนุษย์ของพวกเขาถูกกลืนหายไปในชื่อที่บ่งปริมาณมากกว่าคุณภาพหรือความหมาย

 

เมื่อพิจารณาต่อเนื่องไป จะพบว่ามิสเตอร์การ์เนอร์ผู้แสนดี ที่มอบความไว้วางใจให้แก่คนผิวสีจนถึงขนาดให้พวกเขาพกปืนได้ ยังคงมีทัศนคติว่าชื่อใดไม่เหมาะกับความเป็นไท ดังที่เขาพูดกับเบบี้ ซักส์ ว่า “ถ้าฉันเป็นเธอนะ ฉันจะใช้ชื่อว่าเจนนี วิทโลว์ มิสซิสเบบี้ ซักส์ ไม่ใช่ชื่อของนิโกรที่ได้รับอิสระแล้วเท่าไหร่” (ฉบับแปลไทย โดยรังสิมา ตันสกุล, สนพ. ไลบรารี่ เฮ้าส์, 2563: 226)

 

ทัศนคติในการเลือกและเรียกชื่อดังกล่าวของการ์เนอร์จึงอาจนับได้ว่าเป็นการควบคุมบงการคนผิวสีว่าแม้เบบี้ ซักส์จะเป็นไทแล้ว แต่เธอก็ควรมีชื่ออย่างคนที่เป็นไท ซึ่งสื่อได้อีกนัยหนึ่งว่า แม้คนผิวสีจะเป็นไทแล้ว แต่ก็ควรมีชื่อที่เหมาะสมตามความเห็นของคนขาวนั่นเอง

 

มิสเตอร์การ์เนอร์จึงเป็นตัวแทนของคนผิวขาวผู้ปฏิบัติต่อคนผิวสีในอาณัติของตนอย่างเท่าเทียม ทว่าแท้จริงแล้วก็ยังคงแฝงเร้นทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นไทและทาส ผ่าน “ชื่อ” ทั้งการตั้งชื่อให้พวกผู้ชายในบ้านสวีทโฮม และการวิจารณ์ชื่อของเบบี้ ซักส์

 

การตั้งชื่อเองเพื่อดำรงตัวตน

 

            นอกจากชื่อที่ได้รับจากคนขาวแล้ว ตัวละครผิวสีในเรื่องอย่างเบบี้ ซักส์ และแสตมป์ เพดได้ตั้งชื่อตนเอง ส่วนเซเธอก็ตั้งชื่อลูกของตน ตัวละครเหล่านี้เลือกชื่อให้ตนเองและผู้อ่านด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อยืนยันถึงความทรงจำและการมีอยู่ของตน

 

เบบี้ ซักส์ เลือกใช้ชื่อนี้แทน เจนนี วิทโลว์ ซึ่งเป็นชื่อที่ระบุในใบซื้อขายทาส เพราะเธอต้องการคง “ซักส์” อันเป็นชื่อของสามีไว้ และเบบี้ก็เป็นชื่อที่สามีเธอเรียก ดังนั้น เบบี้ ซักส์ จึงเป็นชื่อที่ผูกโยงถึงตัวตนความเป็นแม่และเมียของเธอไว้ ชีวิตของเธอไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนขาวหรือใบซื้อขายทาส แต่กำหนดโดยดวงใจของเธอซึ่งมีความรักและความหวังว่าสักวันหนึ่งสามีอาจจะตามหาเธอพบ ถ้าหากเธอยังคงใช้ชื่อที่เขาจดจำได้

 

โจชัว เคยอยู่ในอาณัติของคนขาว และประสบชะตากรรมอันเลวร้ายที่ต้องคอยรับรู้ว่า วาชไต ภรรยาของเขา จำต้องขึ้นเรือนไปกับลูกชายของนาย วันหนึ่งเขาหมดสิ้นความอดทนและหนีจากมา พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สแตมป์ เพด และอุทิศชีวิตช่วยเหลือคนผิวสีมาแล้วมากมาย

 

กระทั่ง เซเธอผู้เป็นตัวละครแม่ที่ลงมือสังหารลูก ก็ยังตั้งชื่อลูกของหล่อนทุกคน และชื่อที่สำคัญสองชื่อคือ บีเลิฟด์ และ เดนเวอร์

 

บีเลิฟด์ คือลูกสาวคนแรกของเซเธอ ชื่อนี้ปรากฏขึ้นหลังจากความตายมาบรรจบที่หลุมฝังศพ เซเธอแลกกายของเธอสิบนาทีให้แก่ช่างสลักหินป้ายหลุดศพ ความเจ็บปวดจากกำหนัดได้ปรากฏร่องลึกเป็นชื่อของลูกสาวคนแรก ชื่อที่มีความหมายว่า “ที่รัก”

 

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อนี้ก็ถูกลืมเลือน แม้ตัวตนของบีเลิฟด์จะปรากฏชัดเมื่อเซเธอจำเธอได้ในตอนกลางเรื่อง และเมื่อเดนเวอร์หรือพอล ดี เอ่ยชื่อเธอ แต่นอกจากนั้นแล้ว ในท้ายที่สุดผู้คนลืมเลือนเธอ และตัวตนของเธอก็สูญหายไปด้วยเช่นกัน

 

เดนเวอร์ คือลูกสาวคนที่สองของเซเธอ ชื่อของเธอมาจาก “เอมี เดนเวอร์” สาวคนขาวที่เซเธอพบในป่าและช่วยเซเธอทำคลอดเดนเวอร์ การตั้งชื่อเดนเวอร์จึงมีเหตุมาจากความประทับใจ ความงาม และคำขอบคุณ และภายหลังชื่อของเดนเวอร์ก็ได้รับการเอ่ยขานจากคนผิวสีอื่นๆ ในชุมชน ทำให้ตัวตนของเธอเข้มแข็งขึ้นจนกระทั่งฮึดสู้กับเรี่ยวแรงอาฆาตมาดร้ายของบีเลิฟด์ได้

 

ดังนั้น ตัวละครผิวสีที่ตั้งชื่อให้ตนเองอย่างเบบี้ ซักส์ และสแตมป์ เพด จึงเป็นการกำหนดชีวิตใหม่ที่ได้เลือกด้วยตนเอง ชื่อของเบบี้ ซักส์ ผูกโยงกับความทรงจำเกี่ยวกับสามีจนกลายเป็นตัวตนของเธอที่ไม่ถูกคนขาวบงการ ส่วนสแตมป์ เพดก็ใช้ชื่อลบลืมความทรงจำในชีวิตเก่า เพื่อให้ตนเองได้มีชีวิตใหม่ที่เป็นไท

 

ขณะเดียวกัน ชื่อของบีเลิฟด์และเดนเวอร์ได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่แม่พยายามจะกำหนดคุณค่าและความหมายให้ลูกของตน ชื่อบีเลิฟด์ตั้งขึ้นภายหลังจากที่เด็กหญิงเสียชีวิตไปแล้ว จนเกิดเป็นตัวตนเหนือธรรมชาติราวกับว่าเธอได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งขึ้นมา ส่วนชื่อเดนเวอร์ก็มีชีวิตและตัวตนชัดเจนขึ้นทุกขณะ เพราะในตอนท้ายไม่เพียงเซเธอกับพอล ดี ที่รู้จักและเรียกชื่อเดนเวอร์ แต่คือคนผิวสีทั้งชุมชนที่ทักทาย เรียกชื่อ และเอ่ยถึงเธอ ทำให้เดนเวอร์มีตัวตนชัดเจน

 

ชื่อ เรื่องเล่า ตัวตน ที่ผูกโยงกับความเป็นไทและความเป็นทาส

 

            เมื่อมีชื่อจึงมีเรื่องเล่าอันก่อรูปเป็นความทรงจำและกลายเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล บีเลิฟด์ เป็นชื่อเรื่องและชื่อตัวละครสำคัญที่มีตัวตนแจ่มชัด เธอเรียกร้องให้พอล ดี เรียกชื่อของเธอ เพื่อให้เธอมีพละกำลังและอำนาจในการครอบงำเขา ในแง่มุมนี้พอล ดี จึงกลายเป็นทาสของบีเลิฟด์ไปชั่วขณะ เพราะเขาได้เอ่ยชื่อซึ่งเธอได้กำหนดให้เอ่ย

 

ส่วนเดนเวอร์ที่เลือกก้าวออกจากบ้านอย่างหวั่นหวาดเพื่อไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวก็มีตัวตนเข้มแข็งชัดเจนขึ้นทุกครั้งที่คนอื่น เช่น เลดี้ โจนส์ และ เนลสัน ลอร์ด จนกระทั่งคนทั้งเมือง เรียกและจดจำชื่อของเธอได้

 

ขณะเดียวกัน เบบี้ ซักส์ ผู้ไม่ยอมเป็นเจนนี วิทโลว์ ก็ได้ยืนยันความเป็นไทของเธอด้วยการยึดมั่นในความทรงจำต่อสามี และสแตมป์ เพด ก็เลือกที่จะเป็นไทผ่านชื่อใหม่ที่ตนเองตั้งขึ้น กระทั่งซิกซ์โอก็ยังประกาศก้องว่า “เซเว่นโอ” ซึ่งเป็นชื่อลูกของเขาในขณะที่เขาถูกเผาทั้งเป็น

 

การตั้งชื่อให้ตัวเองและตั้งชื่อให้ผู้อื่นในครอบครัวจึงเป็นอำนาจที่แสดงออกถึงความเป็นไทของคนผิวสีได้อย่างดี เพียงคำไม่กี่พยางค์แต่กลับก่อให้เกิดความทรงจำผนึกแน่น ก่อให้เกิดอำนาจแห่งความเชื่อมั่นที่ทำให้บรรดาตัวละครผิวสีทั้งหลายหลุดพ้นจากความเป็นทาสและกลับมามีชีวิตของตนเองอีกครั้ง

 

 

ดังนั้น พึงระวังเมื่อจะตั้งชื่อหรือฉายาให้ใคร เพราะคุณอาจกำลังบงการหรือกำหนดนิยามตัวตนของเขาหรือเธออยู่ ขณะเดียวกัน วันใดที่คุณรู้สึกคล้ายว่าได้ตกเป็นทาสของบางสิ่งบางอย่าง ขอให้ลองย้อนกลับมาเรียกชื่อตนเองให้เต็มเสียงอีกครั้ง เพื่อที่คุณจะได้ระลึกถึงความทรงจำและตัวตนที่มีความหมายยิ่ง อันเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตคุณไม่ตกเป็นทาสของใครหรือสิ่งใด

 

 

 

 

บีเลิฟด์ แปลจาก BELOVED
โทนี มอร์ริสัน  เขียน
รังสิมา ตันสกุล  แปล
นลัท ตั้งพรพิพัฒน์ และ สุนันทา วรรณสินธ์ เบล  บรรณาธิการต้นฉบับ
นิชานันท์ นันทศิริศรณ์  พิสูจน์อักษร
มานิตา ส่งเสริม  ออกแบบปกและรูปเล่ม
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์


ขอขอบคุณ
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮ้าส์ สำหรับภาพอาร์ตเวิร์กประกอบบทความในกรุงเทพธุรกิจ
ชุตินันท์ มาลาธรรม สำหรับภาพถ่ายบทความในหน้าหนังสือพิมพ์
 เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

error: