สถานที่ในเรื่องสั้นของจำลอง ฝั่งชลจิตร

 

 

ฟร็องซัวร์ โมริยัค (1885-1970) นักเขียนแนวสัจนิยมชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1952 กล่าวไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะสร้างนวนิยายได้ หากไม่รู้จัก ‘บ้าน’ ที่จะเป็น ‘เวที’ ให้แก่ตัวละคร ข้าพเจ้าจะต้องรู้จักโดยละเอียดทุกซอกทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นทางเดินที่เร้นลับของสวนใด ป่าใด ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ ท้องถิ่นที่อยู่โดยรอบใด ๆ ข้าพเจ้าจะต้องคุ้นเคยรู้จักและต้องมิใช่การรู้จักแบบผิวเผิน”

(ฟร็องซัวร์ โมริยัค, 1970 อ้างถึงใน วัลยา วิวัฒน์ศร, 2543: 1-2)

จะเห็นได้ว่า โมริยัคให้ความสำคัญกับสถานที่ในนวนิยายของเขา เขาจะต้องรู้จักสถานที่และบริบทของสถานที่ที่เขากล่าวถึงในนวนิยายเป็นอย่างดี รู้จริง รู้ละเอียดและรู้ลึก เมื่อเขาพรรณนาสถานที่ลงบนหน้ากระดาษ ผู้อ่านย่อมสัมผัสความสมจริงที่เขาถ่ายทอดออกมาได้

 

ในการศึกษาเรื่องมิติสถานที่นั้น ควรจะได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสถานที่กับองค์ประกอบอื่น ๆ ในนวนิยาย ได้แก่ ตัวละคร โครงเรื่องและมิติเวลา จึงจะทำให้เห็นบทบาทและหน้าที่ในงานวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วน

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2561ตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้น สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ มา ในวาระครบรอบ 40 ปี การเขียนงานตีพิมพ์ โดยจะวิเคราะห์ธรรมชาติและความหมายของสถานที่ รวมทั้งความกลัวที่เกิดขึ้นกับตัวละครวัยเยาว์ในเรื่องด้วย

 

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง  ฝังชลจิตร ใช้สรรพนามบุรุษที่สามเป็นผู้เล่าเรื่องแบบไม่แสดงทัศนะของตน (impersonal narrator) หรือแบบตากล้อง (camera eye) คล้ายกับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเองโดยไม่มีผู้เล่า เพราะผู้เล่าเรื่องบรรยายเฉพาะลักษณะภายนอก เหตุการณ์ หรือบทสนทนา โดยไม่เข้าไปในความคิดของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านต้องตีความจากการกระทำของตัวละคร

 

เรื่องสั้น “เสือ” เป็นเรื่องราวของวิเชียร นายแพทย์อาวุโสที่ขับรถมาเยี่ยมและกินข้าวกับพ่อแม่ทุกสัปดาห์ ก่อนพยาบาลหน้าห้องจะโทรมาเตือนว่ามีนัดคนไข้ เขาจึงขับรถกลับและขณะที่มองถนนที่เคยวิ่งเล่นในอดีตก็หวนกลับไปคิดถึงเช้าวันเสาร์ที่เขากับพี่ชายไปเที่ยวสวน หลังจากพ่อกับแม่ไม่อยู่บ้าน

 

สองพี่น้องเดินไปตามทางกลางหมู่บ้านและพบกับลุงนัด ชายชราจูงวัวอยู่หน้าบ้านที่ถามพวกเขาว่าจะไปเที่ยวไหนตั้งแต่เช้ามืด และ “ไม่กลัวเสือรึ” พอถึงสวนที่มีหญ้ารกท่วมหัว สองพี่น้องจึงปีนขึ้นต้นลางสาดและคุยกันเรื่องทุเรียนหล่นใส่หัว พุ่มไม้ที่กำลังเคลื่อนไหว หมูป่า แล้วก็วกกลับมาเรื่องเสือที่ลุงนัดถาม สร้างความกลัวในหัวใจ พวกเขาจึงไม่กล้าลงจากต้นไม้ จนพ่อต้องออกตามหา

 

ธรรมชาติและความหมายของสถานที่

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง  ฝั่งชลจิตร ให้ความสำคัญกับฉาก (setting) คือ สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ รวมถึงส่งเสริมจุดมุ่งหมายเฉพาะของเรื่องผ่านบทสนทนา (dialogue) คือถ้อยคำสนทนากันของสองพี่น้องบนต้นลางสาด ที่ช่วยให้การดำเนินเรื่องได้สมจริงและน่าสนใจ

 

 

“สวนของพ่อกว้างใหญ่ มีพุ่มไม้ดงไม้กั้นสวนข้าง ๆ จนมองไม่เห็น เชียรได้ยินทุเรียนสวนใกล้ ๆ หล่นผ่านใบไม้พุ่มไม้ตกพื้นดังเหมือนโยกก้อนหิน เขาเงยมองกิ่งทุเรียนต้นใหญ่ข้างขนำทอดยื่นเหนือต้นลางสาดหวานพอดี ผลทุเรียนกำลังสุกห้อยย้อยเต็มตลอดกิ่ง พ่อบอกว่าตั้งแต่โตมาไม่เคยเห็นทุเรียนหล่นใส่หัวใคร คนไหนทุเรียนหล่นบนหัว คนนั้นโชคร้ายมาก”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 64)

 

 

ข้อความข้างต้น เป็นฉากธรรมชาติ หลังสองพี่น้องเข้าไปเที่ยวสวน อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่ีจริงในเรื่องสั้นที่ผู้เล่ามองเห็นและบรรยายไว้ อีกทั้งยังรวมตัวละครเข้าไว้กับสถานที่เมื่อสองพี่น้องปีนขึ้นต้นลางสาดในเวลาต่อมา นอกจากนี้ “พ่อบอกว่าตั้งแต่โตมายังไม่เคยเห็นทุเรียนหล่นใส่หัวใคร คนไหนทุเรียนหล่นบนหัว คนนั้นโชคร้ายมาก” ยังเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ โชคลาง และเรื่องทุเรียนหล่น ก็สร้างความกลัวให้กับตัวละครด้วยเช่นกัน

 

 

“เสือไม่มาที่นี่”

“ทำไม เสือไม่รู้จักที่นี่หรือ”

“มันไม่มา”

“ใครบอกว่ามันไม่มา”

“มันไม่เคยมา”

“ตอนเรามาลุงนัดแกถาม” เชียรพูด

“แกหยอกเล่น”

“แกพูดจริง แกรู้ว่าเสือมี มันต้องเคยมาแถวนี้ มากินวัว มากินคน”

“อย่าพูดมากไป” ชื่นปราม เขากอดกระชับต้นลางสาดมองเห็นหย่อมโหรากับกอบุกเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ข้างล่าง “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 67)

 

บทสนทนาข้างต้น นอกจากตัวละครจะกลัวทุเรียนหล่นใส่หัวแล้ว พอปีนขึ้นต้นลางสาด สองพี่น้องกลับกลัว “เสือ” ทั้งเสือที่เกิดจากการหยอกเล่นของลุงนัดก่อนเข้าไปเที่ยวสวน  กับ “เสือ” หรือความกลัวที่อยู่ในใจ เพราะสวนมีสภาพรก อาจกล่าวได้ว่า สวนเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าไม่มีสถานที่ก็ไม่มีเรื่องราว นอกจากสวนจะหมายถึงสถานที่หรือเป็นฉากสำคัญในเรื่องสั้นนี้แล้ว สวนยังสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับตัวละครอีกด้วย

 

ดังนั้น เมื่อผู้เขียนกำหนดให้สองพี่น้องเข้าไปเที่ยวสวนตั้งแต่เช้ามืด จึงเป็นการเลือกสถานที่ให้มีความสัมพันธ์กับตัวละครและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสวนมีสภาพรก จึงทำให้สองพี่น้องซึ่งเป็นเด็กชายรู้สึกกลัวเสือขึ้นมา

 

ทั้งนี้ ความกลัวเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และการที่ชื่น “กอดกระชับต้นลางสาดมองเห็นหย่อมโหรากับกอบุกเคลื่อนไหวยวบยาบอยู่ข้างล่าง” และ “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ” เป็นอาการของคนที่ขาดความเชื่อมั่น ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป

 

ความกลัวเกิดจากหัวใจเราเอง

 

ความกลัวสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะแตกต่างออกไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ความกลัวนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมหรือเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น เช่น สถานการณ์ยามเช้ามืดที่ตัวละครเห็นพุ่มไม้ใบหญ้าเคลื่อนไหว จึงกระตุ้นให้บุคคลสนองตอบต่อเหตุการณ์นั้นอย่างรวดเร็ว และไม่อาจควบคุมอารมณ์ของตนได้ เช่น “บอกว่าอย่าพูดถึงเสือ กลัวรึ… พูดถึงมันมาก ๆ มันอาจมาก็ได้” และผลที่ตามมาคือ ความวิตกกังวล

 

ในเรื่องสั้น “ เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ตัวละครกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น คิดเอาเองหรือเพราะคำหยอกเล่นของลุงนัดกันแน่ และในตอนท้ายเรื่อง เมื่อพ่อออกมาตามสองพี่น้องในสวน และได้ยินสองพี่น้องแข่งกันร้องไห้บนยอดไม้ จึงเป็นการตอกย้ำความกลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้ (fear of the unknow) ซึ่งก็คือสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง

 

 

“ขึ้นไปทำอะไรบนนั้น… ลงมาเร็ว ๆ เดี๋ยวมันหัก”

“พ่อแน่นะ” สองพี่น้องแย่งกันถาม

“เสือมั้ง…”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 71)

 

 

จากบทสนทนาข้างต้น เมื่อพ่อออกตามหาสองพี่น้องในสวนและเห็นพวกเขาแข่งกันร้องไห้บนยอดไม้ จึงบอกให้ทั้งสองคนลงมา เกรงว่ากิ่งไม้จะหัก แต่ทั้งสองพี่น้องถามพ่อว่า “พ่อแน่นะ” และพ่อตอบว่า “เสือมั้ง…” จึงเป็นการล้อเลียนความกลัวที่เกิดจากการเรียนรู้และวุฒิภาวะของตัวละคร หากผู้เขียนจบเรื่องสั้นไว้เพียงเท่านี้ จะกลายเป็นการหักมุมจบ (twist ending) ที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้อ่านได้ไม่น้อย

 

 

“เรื่องของพี่น้องขึ้นไปกอดกันร้องไห้บนต้นลางสาดถูกเล่าถ่ายทอดสู่กันฟังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งผู้เล่าแต่งเติมเพิ่มให้สนุกสนาน แม้ช่วงเวลาพ่อเข้าสวนไปพบลูกชายก็คลาดเคลื่อน… บางคนว่าก่อนเที่ยง บางคนยืนยันหนักแน่นว่าหลังเที่ยงวัน บางคนอยากให้มืดค่ำน้ำค้างตกป๊อก ๆ แป๊ก ๆ ไปเลย”

(จำลอง ฝั่งชลจิตร, 2561: 72)

 

ข้อความข้างต้น เป็นตอนจบของเรื่องสั้นแบบปลายเปิด (open ending) ที่ผู้เขียนจงใจให้เรื่องเล่าเลื่อนไหล แต่ละครั้งผู้เล่าแต่งเติมเพิ่มให้สนุกสนาน” จึงเป็นการเปิดโลกจินตนาการของเรื่องเล่าให้กว้างขึ้น ขณะที่เรื่องเล่าหลักยังคงอยู่ แม้ช่วงเวลาที่พ่อเข้าสวนไปพบลูกชายจะคลาดเคลื่อน “บางคนว่าก่อนเที่ยง บางคนยืนยันหนักแน่นว่าหลังเที่ยงวัน บางคนอยากให้มีน้ำค้างตกป๊อก ๆ แป๊ก ๆ ไปเลย” เป็นการขยายเรื่องเล่าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงแสดงความแตกต่างในรายละเอียดที่เกิดจากการเล่าซ้ำ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าเสือยังคงมี เสือยังมีอยู่จริงตามธรรมชาติ เสือยังมีอยู่ในเรื่องเล่าและเสือก็ทำให้เรากลัว

 

ดังนั้น คำหยอกเล่นของลุงนัดว่า “ไม่กลัวเสือรึ” ที่ถามเหมือนขู่ จึงเป็นการเตือนเด็ก ๆ ไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่นซุกซน หรือการที่พ่อตอบคำถามสองพี่น้องว่า “เสือมั้ง” จึงสะท้อนความจริงความลวงที่ปนเปกันระหว่างชีวิตจริงและเรื่องเล่า

 

เรื่องสั้น “เสือ” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร นอกจากจะสะท้อนฉากชีวิตของชาวสวนในแถบถิ่นภาคใต้แล้ว ยังมีความโดดเด่นในการนำเสนอมิติสถานที่ โดยดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาที่มีชีวิตชีวาเหมือนอย่างคนปกติพูด ทำให้อ่านได้อย่างลื่นไหล คล้อยตามความกลัวในหัวใจวัยเยาว์ แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานเรื่องราว ฉาก บรรยากาศ จนเกิดประสิทธิภาพที่ทำให้ตัวบทเป็นนาฏกรรมชีวิต

 

 

บรรณานุกรม

จำลอง ฝั่งชลจิตร. (2561). สมเด็จพระสังฆราช เสด็จฯ มา. นครศรีธรรมราช: แมวบ้าน.

วัลยา วิวัฒน์ศร. (2541). มิติสถานที่ในนวนิยายของฟร็องซัวร์ โมริยัค. กรุงเทพฯ: โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: