“พิซซ่า” กับวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ในเรื่องสั้นของแพรพลอย วนัช

 

 

 

“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ห้าหกปีหลังคลอดลูกคนที่สอง แพนแทบไม่แตะเนื้อต้องตัวเธอ บางครั้งเขามองเธอเหมือนมองก้อนเนื้อหยุ่น ๆ ก้อนหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับรังเกียจ แต่ไม่บอกความรู้สึกใดมากไปกว่าเมินเฉย ครั้งหนึ่งเธอเคยฮึดลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง โหมลดน้ำหนักลงมาได้ถึงแปดเก้ากิโล บำรุงผิวแต่งหน้าทาปากให้น่ามองขึ้น แม้ไม่สะโอดสะองเหมือนสาวแรกรุ่น กระนั้นลูกชายคนเล็กถึงกับออกปากชมว่าแม่ดูสาวขึ้นตั้งมาก ส่วนพ่อของลูกน่ะหรือ เขาไม่สังเกตด้วยซ้ำ”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 153)

 

ข้อความข้างต้น จะเห็นว่าการมีลูกทำให้เรือนร่างของเธอเปลี่ยนแปลงไป การตระหนักรู้ในเรื่องนี้ทำให้เธอลุกขึ้นมาปฏิวัติตนเองด้วยการลดน้ำหนัก เพื่อให้คนในครอบครัวเห็นคุณค่าในตัวเธอ แต่มีเพียงลูกชายคนเล็กเท่านั้นที่ “ออกปากชมว่าแม่ดูสาวขึ้น” เพราะเรือนร่างผู้หญิงยังเป็นวัตถุสำหรับการจ้องมองในระบบชายเป็นใหญ่ ส่วนสามีกลับไม่สังเกตด้วยซ้ำ ซึ่งหมายความว่าเขากำลังสื่อถึงการไร้ตัวตนของเธอ

 

นอกจากนี้ ความรู้สึกของเธอเมื่อ “แพนแทบไม่แตะเนื้อต้องตัวเธอ บางครั้งเขามองเธอเหมือนก้อนเนื้อหยุ่น ๆ” อาจตีความได้ว่า ความเมินเฉยของเขาสะท้อนการกดทับทางเพศผ่านการแสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดแจ้ง กลายเป็นระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา ที่สร้างความหงุดหงิดให้กับชีวิตเธอจนขาดไร้ความสุขในครอบครัว

 

 

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช พิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้น “คนธรรพ์” ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปี 2562 โดยจะวิเคราะห์ตัวละครหลักกับบทบาทความเป็นภรรยาและแม่ผ่านนัยยะวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่

 

เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช ให้ “เธอ” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือแสดงความห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้ ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

 

 

บทบาทของภรรยากับภาวะการถูกกดทับ

ชีวิตครอบครัวเธอสมบูรณ์ ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายสองคน มันควรจะมีความสุขตามแบบครอบครัวเดี่ยวทั่วไป ครั้นความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาถูกความรู้สึก “อดทนกับการประคับประคอง” มาคั่นกลาง และสามีก็ไม่สื่อสารทั้งกายและใจ ทำให้เธอเหมือนคนแปลกหน้าและไร้ตัวตนจนเกิดความเครียดและคล้ายจะเป็นโรคซึมเศร้า

 

จากวัยสาวที่เคยสวยเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว สมัยทำงานมีหนุ่ม ๆ ผ่านมาขายขนมจีบ แต่เธอไม่มองใครนอกจากเขา พอแต่งงาน มีลูก ความรู้สึกที่เขาเคยสนใจในตัวเธอกลับห่างเหิน ไม่มีเธอในโลกของเขา

 

 

“เพื่อลูก— ข้ออ้างที่บอกตัวเองซ้ำ ๆ ลูกที่เธอคิดว่าจะเข้ามาเติมเต็มความขาดหายระหว่างเธอและเขา หลังจากอยู่กินกันมาแบบอด ๆ อยาก ๆ นานถึงเจ็ดปีเต็ม หากแล้วการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่คิด จากสิ่งที่เฝ้ารอ กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกไปชั่วชีวิต อย่างน้อยก็จนกว่าเธอจะตายจากโลกนี้ไป โดยไม่คิดมาก่อนว่าการมีลูกจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะแปดปีให้หลัง”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 150)

 

ข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียพื้นที่ของผู้หญิงที่เคยมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ จากการทำงานนอกบ้าน กลายเป็นการแต่งงาน มีลูก ทำให้เธอต้องกลับเข้าสู่พื้นที่ครัวเรือน ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ของภรรยาและแม่ การกลายเป็นแม่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยคาดคิด โดยเฉพาะการไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ

 

ทั้ง ๆ ที่เขาลาออกจากงานมาเปิดบริษัทรับสร้างบ้านกับเพื่อน ทีแรกก็ดีอยู่ แต่พอหลัง ๆ ลูกค้าหดหายเกิดปัญหาภายใน สร้างความเครียดให้กับเขา ซึ่งต่อมาส่งผลให้เขาละเลยหน้าที่พ่อและไม่ใส่ใจดูแลเธอ จนทำให้เธอคิดอยากแยกทาง

 

 

บทบาทของแม่กับภาระในบ้านและการเลี้ยงลูก

แม้ว่าเธอจะมีอำนาจในพื้นที่ครัวเรือน ที่ต้องรับผิดชอบการงานในบ้านและเลี้ยงลูก แต่สามีกลับผลักตัวเองออกห่างจากความรับผิดชอบอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าตนเป็นผู้นำและหาเลี้ยงครอบครัว อาจมองได้ว่าผู้เขียนเรื่องสั้นนี้ได้กำหนดบทบาทของตัวละครไว้อย่างชัดเจนผ่านเพศหญิงและชาย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบ้าน จึงเป็นเรื่องที่เธอต้องจัดการแก้ไข การที่ลูกชายคนเล็ก “ยังต้องให้เธอคอยตามล้างตามเช็ดก้นให้อยู่” จึงเป็นความผิดของเธอที่ไม่สอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง

 

ทั้งนี้ ความเหน็ดเหนื่อยสะสมจากการงานในบ้านและเลี้ยงลูกรุมเร้าเธอ รวมทั้งความเบื่อหน่ายในพฤติกรรม “ไม่สื่อสาร” หรือเอาแต่ตอบคำถามว่า “ก็แล้วแต่” ทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาต้องหันหน้าปรึกษากัน หรือการขับรถผละออกไปยามที่เธอปรี๊ดจากการสอนลูก เหล่านี้ล้วนเป็นวิธีการที่เขาใช้เป็นทางออก เมื่ออดทนถึงขีดสุด เธอจึงเลือกใช้วิธีนี้บ้าง กระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น

 

 

“เธอรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นเมื่อก้าวเท้าเข้าบ้าน แปลก… ไม่กี่นาทีที่จากไปรู้สึกเหมือนยาวนานชั่วชีวิต นี่ลูก ๆ คงจัดการอาหารเช้าเรียบร้อยแล้วกระมัง สังเกตได้จากคราบนมและซีเรียลที่หกเลอะเทอะบนโต๊ะ เธอลดมือจากการนวดเฟ้นท้ายทอยเพราะขัดยอก ยกชามซีเรียลเข้าไปเก็บในครัว”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 160)

จากข้อความข้างต้น การขับรถหนีออกจากบ้าน เกิดจากความเคร่งเครียดผลักดันและชีวิตของเธอคุ้นชินกับเส้นทางระหว่างบ้าน โรงเรียน ไปรษณีย์เท่านั้น หลังเกิดอุบัติเหตุ เธอไม่รู้จะไปไหนต่อ การกลับบ้านจึงหมายความว่า บ้านคือพื้นที่ของเธอ พื้นที่แห่งความรู้สึกปลอดโปร่งและปลอดภัย ที่สำคัญเธอต้องกลับมาทำหน้าที่แม่ “ยกชามซีเรียลเข้าไปเก็บในครัว” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวาทกรรมครอบครัวที่รัญวรัชญ์ พูลศรี (2562: 442) ได้ตอกย้ำบทบาทตายตัวของผู้หญิงว่า “หากบ้านปราศจากภรรยาและแม่แล้ว ครอบครัวก็ไม่อาจอยู่ในสภาพปกติได้”

 

 

นัยยะของพิซซ่ากับวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่

เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช สะท้อนวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ที่วิถีการเลี้ยงลูกแตกต่างออกไปจากเดิม การให้กินไก่ทอด พิซซ่า นมกับซีเรียล หรือให้ลูกเล่นเกมในคอมพิวเตอร์และแท็บเลต แสดงให้เห็นถึงการเน้นที่วัตถุนิยมและบริโภคนิยมที่หลีกเลี่ยงได้ยากในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก และการไม่ค่อยทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวนี้ ยังสื่อให้เห็นสัมพันธภาพที่ไม่ดีระหว่างกันด้วย

 

เหตุการณ์หลังเธอกลับถึงบ้านและเห็นว่าลูกไม่ได้กินพิซซ่าสองชิ้นที่เหลือ เมื่อลูกชายคนโตบอกว่าพ่อเก็บไว้ให้แม่ ทั้ง ๆ ที่เขารู้ว่าเธอไม่ชอบมัน ทำให้เธอมองอาหารที่ยังอยู่ในกล่องกระดาษด้วยความเข้าใจผิด แต่เรื่องก็หักมุม เมื่อลูกชายคนโตตะโกนกลับมาบอกว่า “ไมโครเวฟเสีย ใครจะกินพิซซ่าให้รอแม่กลับมาทำความสะอาดฝาอบก่อน พ่อขี้เกียจล้าง” เช่นที่รัญวรัชญ์ พูลศรี (2562: 442) ตอกย้ำว่าบทบาทของแม่ “คือผู้จัดการทุกอย่างในบ้านให้เข้าที่” ทำให้ผู้หญิงต้องจำนนต่อวาทกรรมครอบครัวในที่สุด

 

 

“มองพิซซ่าในมือแล้ววางลงในกล่องกระดาษอีกครั้งข้างชิ้นที่เหลืออยู่ วูบหนึ่งของความคิดแวบผ่าน บางทีแม่อาจพูดถูกสิบห้าปีนานพอที่จะเบื่อ แต่ยังห่างไกลคำว่าอดทน บางทีตัวเธอหรือสัมพันธภาพระหว่างเธอและเขาคงไม่ต่างจากพิซซ่าสองชิ้นนี้— ค้างคืน เย็นชืด แห้งแล้ง ไม่น่าพิสมัย อุ่นให้ตายอย่างไรรสชาติก็ไม่เหมือนเดิมนอกจาก ‘แค่พอกินได้’”

(แพรพลอย วนัช, 2562: 162)

 

ข้อความข้างต้น ผู้เขียนเรื่องสั้นนี้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ในชีวิตครอบครัวตัวเองผ่านอาหารให้เห็นถึงมิติความรักของคู่รักในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจนและสื่อความหมายตามอารมณ์ของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ที่ตระหนักรู้หลังผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้เธอไม่อาจหนีไปไหนได้

 

อย่างไรก็ตาม การที่เธอ “ยิ้มเนือย ๆ สิบนาทีต่อมามือยังถือกล่องพิซซ่า หากจนแล้วจนรอดก็ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเก็บพิซซ่าสองชิ้นนี้ไว้ที่ไหน เมื่อพบตัวเองยืนอยู่ตรงกลางระหว่างตู้เย็นกับถังขยะ” (แพรพลอย วนัช, 2562: 162) ซึ่งเป็นประโยคจบเรื่องสั้นแบบปลายเปิดให้ผู้อ่านได้ขบคิดและตีความต่อไป

 

ดังนั้น “สัมพันธภาพระหว่างเธอและเขาคงไม่ต่างจากพิซซ่าสองชิ้นนี้” เมื่อเธอต้องเลือกหรือตัดสินใจระหว่าง เก็บไว้ในตู้เย็นต่อไป แช่แข็งความรู้สึกและยอมรับกับสภาพครอบครัวแบบนี้ดังเดิม หรือจะทิ้งถังขยะ ปล่อยวางความสัมพันธ์ทุกอย่าง ทั้งบทบาทของภรรยาและแม่ที่แบกรับไว้ทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่เธอจะยอมเลือกทิ้งบ้านและครอบครัวที่ตกอยู่ใต้อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ไปได้จริงหรือ? เพราะ “แม้อยากแยกจากแพนใจจะขาด แต่ลึก ๆ เธอขลาดเกินกว่าจะก้าวออกไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้งโดยไม่มีเขา ยิ่งเมื่ออายุแตะเลขสี่มาใหม่หมาดเช่นนี้ด้วยแล้ว” (แพรพลอย วนัช, 2562: 150)

 

สุดท้าย เรื่องสั้น “พิซซ่า” ของแพรพลอย วนัช มีความโดดเด่นในการใช้ภาษาเล่าเรื่องได้กระชับและเรียบง่าย สื่ออารมณ์หงุดหงิดและเบื่อหน่ายของตัวละครให้เห็นถึงภาวะการถูกกดทับจากความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่บนระยะห่างความสัมพันธ์ของคู่รัก ผ่านบทบาทภรรยาและแม่ที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายแบกรับหรือจำนน

 

ผู้เขียนเรื่องสั้นนี้ได้ประกอบสร้างความจริงผ่านเรื่องเล่าจากวาทกรรมครอบครัวสมัยใหม่ให้ผู้อ่านมองเห็นสัมพันธภาพและบทบาทเชิงอารมณ์ของผู้หญิงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

บรรณานุกรม

กำพล นิรวรรณและคนอื่น ๆ. (2562). คนธรรพ์. ปทุมธานี: นาคร.

รัญวรัชญ์ พูลศรี. (2562). “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว: สตรีนิยมในพระราชนิพนธ์แปล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”. ใน วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. 26(1): 436-455.

อิราวดี ไตลังคะ. (2543). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: