การข่มขืนซ้ำผ่านสื่อ “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย”

 

 

รวมเรื่องสั้น “ความรัก” (I Was Born To Be Yours) เป็นหนังสือในโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์อาเซียน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยคัดเลือกเรื่องสั้นจากนักเขียนอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย ของไพฑูรย์ ธัญญา (ไทย) การค้นหาเฮอร์มัน ของดี เลสทารี (อินโดนีเซีย) ร้านเหล้าข้างป่าช้า ของบุนทะนอง ชมไชผน (ลาว) ความรัก ของอัชมาน อุสเซน (มาเลเซีย) วันแห่งดอกทานตะวัน ของเหวียน เทียน งัน (เวียดนาม) ลาหัดดา (ต้นหอม) ของคาร์โล อันโตนิโอ กาเลย์เดวิด (ฟิลิปปินส์) มุกลอย ของจ่มโน ฬึก (กัมพูชา) ประตู ของอีซา กามารี (สิงคโปร์) พ่อเฒ่ากับสองผู้ลี้ภัยกลางฤดูหนาว ของแลมป์ เลดี้ ดร.ไนติงเกล (เมียนมาร์) และน้ำในขวด ของเซฟรี อารีฟ (บรูไนดารุสซาลาม)

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ กวี นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ ปี 2530 จากรวมเรื่องสั้น “ก่อกองทราย” และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2559

 

ปัจจุบัน (2562) รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร จ.พิษณุโลก มีผลงานเขียนทางวรรณกรรมทั้งบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ และงานเขียนทางวิชาการด้านทฤษฎีวรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์

 

บทความนี้จะวิเคราะห์ผู้หญิงกับนัยแห่งการจ้องมองและการคุกคามทางเพศด้วยวาจาเปรียบเทียบกับการข่มขืนซ้ำผ่านสื่อ

 

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา ให้ “หล่อน” หรือสรรพนามบุรุษที่ 3 เป็นผู้เล่าเรื่องเสมือนมีตัวตนแบบผู้รู้ ที่คล้ายกับผู้เล่าเรื่องแบบผู้ประพันธ์ คือแสดงความเห็น ตีความ วิจารณ์ สามารถถ่ายทอดอดีต ปัจจุบันและอนาคตของตัวละครได้ ส่วนที่ต่างคือ ผู้เล่าเรื่องประเภทนี้จะไม่เรียกตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หรือ “ผู้เขียน” แต่จะเป็นเพียง “เสียงบนหน้ากระดาษ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกและเหตุการณ์ผ่านการกระทำ คำพูดหรือความคิดของตัวละครที่ถูกกล่าวถึง

 

เรื่องสั้นนี้เป็นเรื่องของเธอผู้เป็นพนักงานประจำคาเฟ่ในโรงแรม เริ่มต้นเมื่อเช้าวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุอาคารห้าชั้นยุบถล่มลงมาโดยไม่มีเค้าลางหรือสัญญาณเตือน เธอติดอยู่ใต้ซากตึกกับชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นเวลาสี่วัน เขาพูดให้กำลังใจและเสียสละช่วยเธอจนตัวตาย เธอรอดชีวิต ทำให้รายการโทรทัศน์ติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่สิ่งที่เธอได้ตอบคำถามพิธีกรชายหญิง ซึ่งอยากรู้แค่เรื่องติดอยู่กับชายหนุ่มแปลกหน้า กลายเป็นความบันเทิงที่สุดท้ายทำให้เธอต้องสูญเสียตัวตนและคนรักไป

 

 

ผู้หญิงกับนัยแห่งการจ้องมอง

 

หลังเธอติดอยู่ใต้ซากตึกเป็นเวลานานสี่วันและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกสามวัน หลายคนเห็นด้วยที่เธอจะไปออกรายการโทรทัศน์ เพื่อ “ให้กรณีของหล่อนเป็นอุทาหรณ์สำหรับเพื่อนมนุษย์คนอื่น” และ “ทั้งหมดจะนำไปสู่การเรียกร้องให้เกิดสำนึกและความรับผิดชอบในใจของเหล่านายทุนเห็นแก่ได้” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 19) โดยมีคนรักคอยสนับสนุนและไปเป็นเพื่อน

 

แต่แทนที่เธอจะได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาคารห้าชั้นยุบถล่มลงมา เพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดความตื่นตัวและสำนึกรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากลุ่มนายทุนหรือภาครัฐ พิธีกรชายหญิงกลับสอบถามแต่เรื่องที่เธอกับชายหนุ่มติดอยู่ใต้ซากตึก

 

 

“ในกรอบสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ของเครื่องรับโทรทัศน์นั้น หล่อนเห็นตัวเองนิ่งอึ้งเหมือนคนเป็นใบ้ นัยน์ตาเบิกกว้างเหมือนหนึ่งได้เผชิญกับความพรั่นพรึงในทันทีทันใด และแล้วหล่อนปล่อยคอตก ยกมือปิดหน้า ภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ตัวของหล่อนอีกต่อไป แต่มันคือใครสักคนหนึ่งที่หล่อนคุ้นเคยซึ่งกำลังถูกพันธนาการอยู่บนแท่นเขียงขนาดใหญ่ สิ้นคิดและไร้หนทางป้องกันตัวเอง ในขณะที่คนพวกนั้นกำลังช่วยกันเปลื้องต่อหน้าผู้คนที่นั่งดูกันเรียงรายด้วยใจจดจ่อ ต่อหน้ากล้องบันทึกภาพที่คอยกวาดส่ายเหมือนดวงตาของเหล่าปีศาจ พวกเขาทั้งหมดกำลังจ้องดูเธออย่างห่ามกระหาย”

(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ข้อความข้างต้น เมื่อเธอตกลงไปออกรายการโทรทัศน์ หมายความว่าเรื่องราวส่วนตัวของเธอต้องถูกเปลื้องต่อหน้าสาธารณะ การถูกกล้องและพวกเขา “จ้องดูอย่างห่ามกระหาย” กลายเป็นมายาคติที่ผู้หญิงตกเป็นวัตถุแห่งการจ้องมอง (gaze) ในสังคมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) โดยนำเสนอผ่านสื่อ “ด้วยวิธีการอันชาญฉลาดและชำนิชำนาญต่อหน้าผู้คนที่นั่งดู” ซึ่งถูกทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนชื่อเรื่องสั้น เพราะเธอมาออกรายการด้วยความสมัครใจ จึงขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะสงสาร เห็นใจ และตีความวาทกรรมคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติหรือความบันเทิง

 

ทั้งนี้ การเห็นตัวเองในโทรทัศน์จึงเป็นการถูกจ้องมองซ้ำ หลังถูกกล้องและผู้ชมในห้องส่งจ้องมองก่อนหน้า กระแสความคิดของเธอหลังเห็นตัวเองปรากฏผ่านสื่อจึงตอกย้ำวัฒนธรรมทางสายตาที่นอกจากแฝงรหัสด้วยภาพเคลื่อนไหวแล้ว มุมกล้องยังสื่อถึงประเด็นที่รายการเลือกนำเสนอภาพได้อีกด้วย สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ความหมายเชิงสังคมหรือจินตนาการว่าผู้หญิงตกเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองและความปรารถนาทางเพศ

 

 

การคุกคามทางเพศด้วยวาจากับการข่มขืนผ่านสื่อ

 

“เอ้อ… คือผมอยากสมมุติสักนิดนะครับ ผมเพียงแค่สมมุติเท่านั้นเองว่า ถ้าชายหนุ่มที่อยู่กับคุณเกิดนึกอะไรบ้า ๆ ขึ้นมา เอ้อ… คือผมคิดแบบผู้ชายนะครับ ว่าหากเขาเกิดอยากทำอะไรขึ้นมาที่มันไม่ดีกับคุณ… คือผมคิดว่ามันอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น คุณเป็นหญิงสาวไม่มีทางป้องกันตัวเอง และในที่ลี้ลับ อย่างนั้น… คือคนเราน่ะ มันมองไม่ออกหรอกใช่มั้ยครับว่าลึก ๆ แล้วเขาคิดอะไรอยู่…”

(ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ข้อความข้างต้น เป็นคำถามย้ำของพิธีกรหนุ่มซึ่งคุกคามทางเพศด้วยวาจา (verbal harassment) โดยใช้คำพูดเพื่อสร้างสถานการณ์สมมุติที่กลายเป็นการล่วงเกินทางเพศ ผ่านคำถามถึงความสัมพันธ์ของเธอกับชายหนุ่มที่นอนทับกันใต้ซากตึกตามลำพังถึงสี่วัน พิธีกรชายใช้ทัศนคติ “แบบผู้ชายทั่วไป” มาตัดสิน เพราะพนักงานคาเฟ่ในโรงแรมต้องแต่งชุดสั้นและรัดรูป ซึ่งเป็นการวิจารณ์การแต่งตัวของเธอที่ส่อไปในทางตำหนิ

 

ทั้งนี้ ความคิดที่ว่าการที่ผู้หญิงถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ เพราะพวกเธอแต่งตัวโป๊หรือล่อแหลม นับเป็นการมองแบบผู้ชายที่มีอคติและบางครั้งยังเป็นการเน้นย้ำและซ้ำเติมด้วยว่า สังคมไทยยังยอมรับอำนาจจากความต้องการทางเพศของเพศชายมากกว่าเพศหญิง

 

จากการยึดติดมายาคติและยึดเอาความหมายเสรีภาพทางเพศแบบอนุรักษ์ ที่คิดว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ไม่นอกใจ ทำให้ชายคนรักของเธอ “ลุกไปจากที่ที่เคยนั่งและไม่มีโอกาสได้เห็นแม้แต่เงาในวันต่อ ๆ มา” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 25) เมื่อเธอตอบคำถามพิธีกรว่า “ถึงไม่ไว้ใจ แล้วคุณคิดว่าฉันทำอะไรได้ ฉันไม่มีทางเลือก” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 24)

 

ในสถานการณ์ยากลำบาก ความเป็นความตายรออยู่เบื้องหน้า “คนพวกนั้นไม่เคยรู้หรอกว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างหล่อนกับชายหนุ่มคนนั้น เพราะสิ่งที่พวกเขาอยากรู้และเพียรถามหาใช่สิ่งที่หล่อนตั้งใจจะบอก แต่สิ่งที่หล่อนอยากบอกนั่นต่างหากที่พวกเขาไม่ได้ถาม” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 25)

 

กลายเป็นว่าเธอต้องสูญเสียตัวตนและคนรักไป เพราะความอยากรู้ การถูกจ้องมองและคุกคามทางเพศด้วยวาจาผ่านสื่อจากการถูกกระทำซ้ำในที่สาธารณะ ไม่ต่างจากกรณีเด็กสาวที่ถูกรุมโทรมข่มขืนและไม่ยอมไปแจ้งความในตอนต้นเรื่อง เพราะ “พวกเธอคงไม่อยากถูกกระทำชำเราเป็นครั้งที่สอง” (ไพฑูรย์ ธัญญา, 2562: 18) ที่เธอเคยหัวเราะเยาะและมองว่าเป็นเรื่องโง่หรือเสียสติ แต่เมื่อต้องประสบกับตัวเอง มันยิ่งกว่าการถูกข่มขืนซ้ำ ๆในที่สาธารณะ ซึ่งทิ้งค้างและตอกย้ำความรู้สึกไว้ในตอนจบเรื่องแบบปลายเปิด ให้ผู้อ่านพิจารณา

 

เรื่องสั้น “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย” ของไพฑูรย์ ธัญญา สะท้อนให้เห็นมายาคติและวาทกรรมในชีวิตประจำวันที่สังคมขาดความเข้าใจ ยังมองผู้หญิงเป็นวัตถุแห่งการจ้องมองหรือความปรารถนาทางเพศ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศด้วยวาจาของพิธีกรชายหญิงในรายการโทรทัศน์ก็มุ่งเน้นแต่เรื่องบันเทิงหรือข้อเท็จจริงมากกว่าความจริงที่ยังไม่ได้เล่า ไม่ (อยาก) รู้และไม่ได้ถาม “เพราะนี่ไม่ใช่สิ่งที่ (พวกเขา) ต้องการจะรู้”

 

ดังนั้น การเห็นภาพตัวเองในโทรทัศน์จึงไม่ต่างจากการถูกข่มขืนซ้ำด้วยเรื่องเล่าของเธอผ่านกล้องและสายตาของผู้ชมที่ทำให้ความคิด ความเชื่อในชีวิตสับสน สิ้นหวัง ไม่เหลือค่า ตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ต้องการอุทาหรณ์สอนใจคนอื่น แต่เธอไม่อาจโต้กลับ เหลียวมอง หรือปกป้องสิทธิ์ของตนเองในฐานะผู้ถูกจ้องมองได้เลย

 

 

บรรณานุกรม

ไพฑูรย์ ธัญญา (นามแฝง). (2562). “ในที่สาธารณะและถูกต้องตามกฎหมาย”. ใน ความรัก. กรุงเทพฯ: สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, 18-26.

รัชฎาภรณ์ ศรีรักษา. (2557). วาทกรรมการคุกคามทางเพศในชีวิตประจำวัน: การศึกษาวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์การศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สรณัฐ ไตลังคะ. (2560). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุง. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่งานวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร. (2562). ภาพถ่าย การจ้องมอง และความปรารถนาทางเพศในนวนิยายเรื่อง พญาปลา. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ ศิลปกรรมวิจัยครั้งที่ 5 “ศิลปะสร้างโลก” เล่มที่ 1. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 3-10.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: