การอ้างถึง ในรวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)”

 

 

โสพล โสภณอักษรเนียม แนะนำประวัติตนเองด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวนเก้าบท ถึงที่มาที่ไปว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน เป็นคนลักษณะนิสัยอย่างไร อย่างหลังขอขยายความว่า เขาเป็นคนดีชั่วปะปนกัน “ดีดีชั่วชั่วปน ปรกติ” และไม่เคย “สูบเลือดเนื้อใคร” โดยมีครูกวีคนแรกคือ “สมโชค สิกขาจารย์” ผู้สอนให้เขาแต่งกลอนตอนม.1 เขาจึงเริ่มเสาะสร้างหนทางตนเอง จนมาพบครูอีกคนผู้เป็นต้นแบบคือ “ประมวล มณีโรจน์” ผู้ที่ทำให้เขาคิดไต่เต้าเติบโตบนเส้นทางวรรณกรรม กลายเป็น “กวีเยี่ยงลมหายใจ เข้าออก” และ “หากชีพยังใฝ่เฝ้า เพาะสร้างอย่างกวี” ซึ่งเป็นการอ้างถึง (allusion) ตนเองผ่านบทกวี ให้เห็นถึงประวัติและเส้นทางของคนธรรมดาที่มุ่งมั่น มีความคิดและจินตนาการในการสร้างสรรค์

 

“ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)” ของโสพล โสภณอักษรเนียม เป็นรวมบทกวีที่แบ่งออกเป็นสองภาค จำนวน 44 ชิ้น ไม่มากไม่น้อยเกินไป บทกวีส่วนใหญ่ในเล่มนำเสนอรูปแบบไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า และฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพหรือกลอนแปดประปราย (ที่เขาอาจแทรกไว้คั่นอารมณ์)

 

โดยจัดวางรูปแบบบทกวีเปิดเล่มภาคแรกด้วย “แผ่นดินจินตกรรม” หมายถึงแผ่นดินในจินตนาการที่ถูกกระทำหรือประกอบสร้างความหมาย แนวคิด ภาษาหรือวัฒนธรรมขึ้นมาและปิดท้ายภาคหลังด้วยบทกวี “ที่ที่เราจะไป” ที่ “ใกล้คือไกล ไกลคือใกล้ ที่ที่อนาคตเพียงล่วงผ่าน และอดีตกาลรอเราอยู่ปลายทาง” หมายถึงเราต้องรู้จักสถานที่หรือรากเหง้าตัวตนที่เป็นมา ก่อนจะก้าวไปข้างหน้า เพราะ “ที่ซึ่งปัจจุบันถูกปฏิทินฉีกทิ้งทุกขณะ และอนาคตคืออดีต”

 

ความน่าสนใจก่อนจะอ่านตัวบทคือ บทนำ “ระหว่างที่ที่เราจะไป…” : ภาพ ภาษาและกวีนิพนธ์ กับโวหารของอุดมการณ์ ของพิเชฐ แสงทอง ที่นำแนวคิดจากบทความเรื่อง Rhetoric of the Image (โวหารของภาพ) ของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) มาวิเคราะห์ลายเส้นและภาพแมวในรวมบทกวีเล่มนี้ ให้เราพิจารณาความหมายของภาษา โวหาร และภาพไปพร้อมกัน

 

บทความนี้จะศึกษาและวิเคราะห์การอ้างถึงในรวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย)” ของโสพล โสภณอักษรเนียม

 

เพียงชื่อของกวีก็สื่อถึงการปะทะกันของความหมาย ในบทกวี “ประเทศของเรา (บทกวีของโสพล อักษรเนียม)” ที่แม่แจ้งนายทะเบียนว่าชื่อ “โสพล” พอเข้าโรงเรียนครูกลับเรียกเขาว่า “โสภณ” โดยอิงความหมายตามพจนานุกรม และเขาก็ใช้ชื่อหลังนี้อยู่หกปี จนเข้าเรียนชั้นมอหนึ่งจึงกลับไปใช้ชื่อเดิมตามที่แม่ตั้งให้ ก่อนจะกลายมาเป็นนามปากกาโสพล โสภณอักษรเนียมตามชื่อปกหนังสือเล่มนี้ สื่อความหมายว่าเรื่องราวเล็ก ๆ ในชีวิตก็สามารถนำมาเล่าเรื่องได้ และการปะทะกันของความหมายของชื่อที่แม่-หญิงพื้นเมืองคนหนึ่งตั้งชื่อลูกว่า “โสพล” (คำว่า พล หมายถึง กำลัง) กลับถูกครูและพจนานุกรมเปลี่ยนความหมายไปสู่ “โสภณ” หมายถึง งาม จึงเกิดพรมแดนของภาษากับการมีความหมาย การไม่มีความหมาย และตัวตนที่ถูกครอบงำทางความคิด ให้เราเชื่อหรือคล้อยตามไปกับอิทธิพลหรืออำนาจของภาษาที่แฝงเร้นแม้กระทั่งชื่อ สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันทางภาษาระหว่างแม่กับครู

 

 

ขอบฟ้าความคิดกับรูปรอยของถ้อยคำ “าควมรจิง”

โสพลเปิดเล่มภาคแรกด้วยบทกวี “แผ่นดินจินตกรรม” กล่าวถึงขอบฟ้าความคิดที่ถูกสืบทอด “นับเนื่องแต่มะโว้สุโขทัย เลื่อนไหลมวลสารจักรวาลทัศน์” สะท้อนให้เห็นการ “กุม ครอบ กำหนด” โดยอ้าง “ความร่มเย็นเป็นสุขทุกสิ่งปวง” อันเป็นความจริงขั้นปรมัตถ์ให้เราเชื่อและผลิตซ้ำวาทกรรมชาตินิยม ที่บทสรุปของบทกวีได้ตอกย้ำว่า “ขอบฟ้าโพ้นไกลไม่มีจริง” หมายความว่า แม้ความจริงที่เรารับรู้ก่อนหน้าจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่กลายเป็นการอุปโลกน์ความคิด “ก่อพรมแดนสังกัดรูปขอบฟ้า” เพื่อสมาทานการ “เบียดขับเมินหมิ่นแผ่นดินอื่น หยัดยืนความหมายไว้เหนือกว่า”

 

ดังนั้น ชุดความรู้จากมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดจึงกลายเป็นการผลิตความจริงให้จริงยิ่งกว่า จนความจริงกลายเป็น “าควมรจิง” ที่โสพลเล่นล้อกับภาษาที่มีชีวิต เลื่อนไหลและสลับที่กันได้ เพื่อยืนยันว่าความจริงอาจมีความจริงอีกชุด หลายชุดหรือไม่มีแม้แต่ความจริงใดในโลกนี้

 

สุดท้ายความจริงที่เรารับรู้และเชื่อถืออาจเป็นสุสานทางความคิดหรือความจริง คือสิ่งไม่แน่นอนเป็นสิ่งแน่นอน และความไม่แน่นอนกลายเป็นสัจจะที่นิยามหรือสมมติขึ้นเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ไม่ควรปิดกั้นความคิดให้ติดอยู่ในกรอบหรือถูกครอบด้วยวาทกรรมต่าง ๆ จนไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง หรือความหมายที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากชุดความรู้หรือประสบการณ์ชีวิต จนต้องตกอยู่ “ใต้อาณัติของภาษา” หรือรูปรอยของถ้อยคำที่ยังมีความจริง-ลวงให้ไขว่หาและฝ่าข้ามออกไปจากขอบฟ้าหรือกระหม่อมกะลาของตนเอง

 

ข้อสังเกตคือ ขอบฟ้าหรือองค์ประกอบทางความคิดบางส่วนของโสพลยังถูกชุดคำและกรอบของฉันทลักษณ์ครอบไว้ จนบางบทกวีวิพากษ์ค่อนข้างอ่านและตีความยาก “ภายใต้รูปสัญญะ” จน “แย้งย้อนผลิตซ้ำความคิดนึก เป็นผลึกอำนาจทุกชาติไป”  ที่ยังดูแข็งกร้าว ไม่ปลดปล่อยให้เป็นอิสระเหมือนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

 

การอ้างถึงในบทกวีไร้ฉันทลักษณ์

การอ้างถึง (allusion) คือการนำชื่อบุคคล ตัวละคร สถานที่ เหตุการณ์ เรื่องราวในอดีต นิทาน วาทะสำคัญที่รู้จักกันดีแล้วมาอ้าง ทำให้สื่อความหมายได้รวดเร็วและลึกซึ้ง เช่น บทกวี “ใต้พลุไฟดวงหนึ่ง” โสพลยกเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพภูมิต่าง ๆ ของสัตว์โลกมาปิดท้ายบทกวีด้วยภาพพจน์กล่าวเกินจริง (hyperbole) ได้สัมผัสใจ สื่อความหมายพื้นที่ผ่านสงครามที่ใช้นกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพกลาง “สนามรบต่างหากคือบ้านของเรา” ที่ขนของมัน  “ปลิดผล็อยราวปุยหิมะ ถมท่วมยอดเขาพระสุเมรุ” เป็นการใช้ภาพพจน์คำตรงข้าม (paradox) ความหนักเบาที่ลึกซึ้งและก่อจินตภาพ จังหวะคำลงตัว กระตุกความคิดว่าดินแดนที่มนุษย์ยังไม่หยุดเข่นฆ่าทำลายล้าง ความสูญเสียโศกเศร้าย่อมถมท่วมสถานที่หรือโลกที่เราอยู่อาศัย

 

หรือการอ้างถึงสถานที่จากบทกวี “เงา (ไม่มีใครอยากไปปัตตานี) ของอภิชาติ จันทร์แดง” ได้รับรางวัลชนะเลิศพานแว่นฟ้า ปี 2553 ในบทกวี “สงครามที่หน้าประตู” ที่นำเสนอให้ตัวละครผัวเมียทุ่มเถียงกันเรื่อง “ผม” จะไปปัตตานี “จะไปไหน!ไปตานี ไปทำไม!อันตรายรู้ไหม” (ซ้ำ) “จะไปไหนนนนนนนนน!…ไปตานี… ไปทำไมมมมมมมมมมมมม!… อันตรายรู้ไหมมมมมมมมมม”-เมียผมถาม” (โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 74-75) ที่โสพลไม่ยึดติดอยู่ในกรอบฉันทลักษณ์หรือจำนวนคำของกลอนสุภาพ โดยออกแบบให้คำถามรัวของเมียยาวทะลุไปอยู่อีกหน้า สุดท้ายเหตุทะเลาะหน้าประตูก็เป็นสงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่ “ผม” ไม่ต้องไปถึง “เมืองตานี”

 

มันคือคราบไคลเกลือ

บนแผ่นหลังเสื้อของพ่อ

นิ่งสงบอยู่บนราวใต้ถุนบ้าน

หลังกรำงาน เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์

ในเรือนไร่แรงร้อน

ดูสิ รอยกระด้างกระด่าง

ขีดร่างเป็นแผนที่

ชำแรกแตกลาย

เป็นต้นไม้ สายน้ำ ภูเขา ทุ่งราบ

และผู้คน

ในขอบเขตปริมณฑล

ที่พรมแดนแสนพร่าเลือน

มันเป็นคราบไคลเกลือ

ชำแรกมาจากเลือดเนื้อ

ที่อองรี มูโอต์ ไม่เคยค้นพบ.

(โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 110)

 

บทกวีข้างต้นชื่อ “อองรี มูโอต์ไม่เคยบันทึก” โสพลอ้างถึงพ่อกับอองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสถึงการบันทึกแผนที่ทางภูมิประวัติศาสตร์กับชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่ต่างกันเพราะแผนที่ของพ่อเกิดจากเลือดเนื้อเหงื่องานบนแผ่นหลังเสื้อ ที่อองรี มูโอต์อาจไม่เคยเห็น สำรวจ ค้นพบหรือเรื่องราวเล็ก ๆ ของพ่อไม่เคยถูกบันทึกไว้ สะท้อนให้เห็นมิติความสำคัญของประวัติศาสตร์ส่วนรวมกับส่วนตัวในเชิงเปรียบเทียบ

 

หยดน้ำค้างกลุ่มหนึ่ง

เกาะใสบนกลีบกุหลาบหน้าบ้าน

สงบนิ่งอยู่ในเงาภูเขาตะวันออก

ฉันรู้- –

สักครู่มันจะค่อย ๆ หมาดแห้งด้วยแดดยามสาย

ระเหยหายกลายเป็นเมฆฝน

ปกคลุมผืนป่า

ทั่วหุบเขา

หลวงปู่นัท ฮันห์เคยปุจฉา

เธอเห็นเมฆล่องไหลในกระดาษสีขาวไหม

นั่นล่ะ- –

กวีบทหนึ่งจึงจารึกบนหยาดน้ำค้าง

หอมกรุ่นสุคนธมาลย์อยู่ในวรรควลี.

(โสพล โสภณอักษรเนียม, 2562: 97)

 

บทกวีข้างต้นชื่อ “กุหลาบของนัท ฮันห์” โสพลอ้างถึงหลวงปู่นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ที่ปุจฉาปริศนาธรรมผ่านอาการเคลื่อนไหวของธรรมชาติ สอดแทรกแนวคิดหรือปรัชญาตะวันออกเรียบง่ายว่า หากเราเฝ้าสังเกตและเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าด้วยตาและใจตนเองผ่านการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ก็จะพบธรรมะและบทกวีที่ล้วนเกิดจากธรรมชาติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับการเคลื่อนที่ของชีวิต สายน้ำ ก้อนเมฆหรือลมหายใจ

 

นอกจากนี้ รวมบทกวี “ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย) ยังมีมุมมองที่โสพลแสดงทัศนะต่อคนรุ่นใหม่-เก่า กระแสโลกาภิวัตน์ ปรากฏการณ์สังคมร่วมสมัย ธรรมชาติ ความรัก ความทรงจำและความเป็นอื่น (otherness) นำเสนอผ่านการเล่าเรื่องและสร้างตัวละคร อ้างถึงบุคคลและสถานที่ที่มีอยู่จริงในโลก ชีวิต ประวัติศาสตร์และงานวรรณกรรม เป็นการประกอบสร้างความจริงอีกรูปแบบหนึ่งในมุมมองของตนผ่านความจริงหลากหลายรูปแบบได้โดดเด่น น่าสนใจและมีเสน่ห์อยู่ในรูปรอยถ้อยคำจากประสบการณ์ชีวิตที่ต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวของเขาและเราเอง จนกลายเป็นการจำลองความจริงให้อยู่เหนือความจริงอีกชุด ที่ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นความจริงแท้หรือแค่เล่นล้ออยู่กับ “าควมรจิง”

 

 

บรรณานุกรม

มติชน. (2547). พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพฯ: มติชน.

โสพล โสภณอักษรเนียม (นามแฝง). (2562). ที่ที่เราจะไป (และแมวตัวหนึ่งด้วย). พัทลุง: นกเช้า.

 


 

ชาคริต   แก้วทันคำ

ชาคริต แก้วทันคำ

jaochaiyoy@hotmail.com

กวี นักเขียนและชาวสวน ผู้รักแมวและการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

 

 

 

 

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: