CLASSROOM: FOLKLORE x BOARD GAME DESIGN

 

 

FOLKLORE?
BOARD GAME?

ทั้งสองเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

วันนี้เราจะพาไปชมห้องเรียนคติชน 2018 กัน

 

 

ก่อนอื่นเลย – คติชนหรือ FOLKLORE คืออะไร?

 

เรื่องเล่า นิทาน ตำนาน พิธีกรรม เพลง การละเล่น รวมถึงวัตถุที่ใช้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ จำพวกถ้วยชา ผ้าทอ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อมูลคติชนด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ไหลเวียนอยู่ในแต่ละวัฒนธรรม มีความหมาย มีบทบาทในสังคม และนำมาศึกษาได้หลากหลายแนวทาง

 

นอกจากผู้เรียนวิชาคติชนจะได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ผู้ที่สนใจคติชนประเภทต่าง ๆ ยังอาจนำข้อมูล
คติชนเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การนำนิทานมาสื่อสารใหม่ในรูปแบบอนิเมชั่น การสร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเรื่องเล่าในสังคม รวมถึงการสร้างสรรค์บอร์ดเกมจากนิทานตำนานต่าง ๆ ด้วย

 

ห้องเรียนคติชนในปี 2018 หรือ รายวิชาคติชนวิทยา ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเทอมนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรมินท์ จารุวร จึงได้เชิญคุณมัช คุณพงษ์ และคุณไตเติ้ล วิทยากรผู้มีประสบการณ์ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อคนไร้บ้าน “Homeless Home More” และได้รับรางวัลด้านการออกแบบบอร์ดเกมต้านคอรัปชั่นมาบรรยายและแบ่งปันความรู้ให้แก่บรรดานิสิต

 

 

 

แล้ว BOARD GAME คืออะไรกันนะ?

 

กล่าวเบื้องต้นนั้น บอร์ดเกมก็คือเกมกระดาน ส่วนใหญ่มีผู้เล่นมากกว่า 1 คน (เกมที่มีผู้เล่น 1 คนก็มี แต่มีจำนวนน้อย เช่น FRIDAY) ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันผ่านกติกาที่กำหนดเฉพาะในแต่ละเกม อย่างบันไดงู หรือเกมเศรษฐีก็นับเป็นบอร์ดเกมเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีร้านบอร์ดเกมหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ มีกลุ่มผู้เล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ละเกมก็จะเหมาะกับผู้เล่นแต่ละช่วงอายุ

 

ขึ้นชื่อว่า เกม หลายคนอาจคิดว่า “หาสาระมิได้” แต่แท้จริงแล้วเกมในปัจจุบันก็มีบทบาทไม่ต่างจากการละเล่นไทยในอดีตที่นอกจากจะเล่นกันเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังสอดแทรกความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้สื่อสารกันด้วย ตัวอย่างเช่น เกม Timeline ที่มีการ์ดมาให้หนึ่งสำรับ กติกาคือให้ผู้เล่นเรียงช่วงเวลาของเหตุการณ์ในการ์ดให้ถูกต้อง ทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่าเหตุการณ์หรือสิ่งประดิษฐ์ใดเกิดก่อนหลัง

 

 

 

คติชนกับบอร์ดเกมเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

บอร์ดเกมมีหลายประเภท แนวทางกติกาก็หลากหลาย รวมถึงมีแนวเรื่อง หรือ Theme ของเกมที่แตกต่างกัน แบ่งกว้าง ๆ ได้เป็นหมวดประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้บอร์ดเกมเป็นที่สนใจของคนในสังคมโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น

 

เมื่อบอร์ดเกมเป็นกระแสหนึ่งที่มาแรงในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ (มีคาเฟ่หลายแห่งที่มีบอร์ดเกมให้เล่น และบางร้านก็เน้นไปทางบอร์ดเกมโดยเฉพาะ) ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบอร์ดเกมมีบทบาทต่อสังคมและน่าสนใจศึกษา

 

นอกจากแนวเรื่องที่หลากหลายอย่างยิ่งแล้ว องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งกติกา วัตถุที่ใช้ในเกม เรื่องเล่า ปฏิกิริยาผู้เล่นที่มีต่อกัน รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่นักคติชนน่านำมาศึกษาด้วย

 

แต่เดี๋ยวก่อน คาบเรียนวิชาคติชนในวันนี้ไม่ได้ให้เล่นหรือเลือกเกมแล้วมาศึกษาวิเคราะห์ แต่มีโจทย์คือ เราจะนำข้อมูลคติชนมาสร้างสรรค์เป็นบอร์ดเกมได้อย่างไร?

 

เหตุที่อาจารย์ปรมินท์ตั้งโจทย์ให้เช่นนี้ อาจารย์มีความเห็นว่า ผู้เรียนมีเนื้อหา (content) เกี่ยวกับคติชนที่เรียนกันมาเข้มข้นแล้วตั้งแต่ต้นเทอม จึงต้องการหาวิธีการนำเสนอและการประยุกต์ใช้คติชนให้สอดคล้องกับความสนใจของคนสมัยใหม่ และเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนทางคติชนได้ต่อไป อาจารย์หวังว่าเรียนคติชนแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในทางวิชาการและวิชาชีพ

 

 

 

 

 

BOARD GAME DESIGN 101

 

ก่อนเริ่มต้นการบรรยายเนื้อหาว่าด้วยการออกแบบบอร์ดเกม คุณมัช คุณพงษ์ และคุณไตเติ้ลได้ลองนำบอร์ดเกมหลากหลายแบบมาให้นิสิตได้ลองเล่น เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เคยรู้จักหรือไม่คุ้นเคยกับบอร์ดเกมได้เรียนรู้ธรรมชาติและลักษณะของบอร์ดเกมก่อน รวมถึงให้รับรู้ประสบการณ์ตรงเพื่อฟังการบรรยายได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

 

หลังจากทุกคนในห้องเรียนได้ลองเล่นบอร์ดเกมไปคนละ 3-4 เกม ใช้เวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทุกคนก็ได้สัมผัสประสบการณ์ “อิน” ไปกับบอร์ดเกมแต่ละแบบ ทั้งแบบที่มุ่งให้ผู้เล่นเล่าเรื่อง แบบนับคะแนน แบบขบคิดวางแผน แบบร่วมทีมกัน และแบบต่อสู้กัน

 

 

หลังจากจบเกมของทุกคน คุณธนวัฒน์ ปิ่นนราทิพย์ หรือ มัช ก็ได้เริ่มบรรยายถึงแนวทางการออกแบบบอร์ดเกมให้พวกเราฟังว่า การออกแบบบอร์ดเกมไม่ใช่แค่การออกแบบตัวเกม แต่เรากำลังออกแบบประสบการณ์ของผู้เล่นว่าจะให้เขารู้สึกอย่างไรด้วยวิธีการใดในแต่ละช่วงของเกม (นึกดูแล้วก็คล้ายกับการที่เราแต่งเรื่อง ที่ต้องคำนึกถึงจุด Climax ของเรื่องอยู่เหมือนกัน)

 

มัชเน้นย้ำว่าหลักสำคัญที่สุดและเป็นขั้นตอนแรกของการออกแบบเกมคือการกำหนดเป้าหมาย หรือ Goal ให้ชัดเจน ว่าเกมนี้เล่นเสร็จแล้วอยากให้ผู้เล่นได้อะไร รู้อะไร โดยเป้าหมายนี้ควรเป็นประโยคเดียวที่เข้าใจได้ง่าย เช่น เป้าหมายของเกมจับปลาคือ “จับปลาให้ได้มากที่สุด โดยที่ปลาไม่หมดไปจากแหล่งน้ำ” เพื่อให้ผู้เล่นได้เรียนรู้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

เมื่อมีเป้าหมาย ก็จะนำไปสู่การกำหนดแนวเรื่องที่จะใช้ในเกม แล้วก็ลองสร้างเกมต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดลองเล่น การทดสอบเกมนั้นใช้เวลาและเล่นกันเป็นหลายร้อยครั้งกว่าจะผลิตเกมออกมาได้สักเกมหนึ่ง เมื่อทดลองเกมต้นแบบจนพอใจแล้วว่าเกมนี้นำผู้เล่นไปสู่เป้าหมายของผู้สร้างเกม ก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือการเผยแพร่เกมสู่สาธารณะ

 

ในเนื้อหาของเกมนั้น มัชอธิบายเพิ่มเติมว่า มีรายละเอียด 3 ส่วน ได้แก่

 

1.Must Have

2.Should Have

3.Good to Have

 

(ส่วนที่สามนั้นมักเป็นการสอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไว้ในเกม เช่นในเกม The Network ที่ล้อซีรี่ส์ Game of Thrones เป็น Game of Train)

 

ส่วนคุณสมบัติของบอร์ดเกมที่ดีนั้น มัชอ้างอิงตาม Gil Hova นักออกแบบบอร์ดเกม ว่าบอร์ดเกมที่ดีต้องมีคุณสมบัติดังนี้

 

1.FLOW (เกมดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ด้วยการมอบเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่ผู้เล่น)

2.FIERO (ต้องมีช่วงจังหวะที่ผู้เล่นรู้สึกอินจัด ฟิน หรือร้องตะโกนดีใจสุดขีด)

3.HEURISTIC (ต้องมีอะไรให้ผู้เล่นได้เรียนรู้)

4.CORE ENGAGEMENT (ดึงดูดผู้คนได้ด้วย Theme ที่น่าสนใจ เช่น เกมแมวปั่น ดึงดูดทาสแมวให้มาเล่น)

 

 

 

นอกจากนี้ มัชยังสรุปปิดท้ายว่า ที่จริงแล้วข้อมูลในสังคมวัฒนธรรมไทยเราก็นำเนื้อหามาประยุกต์และสร้างสรรค์เป็นบอร์ดเกมได้เช่นเดียวกัน วิธีง่าย ๆ เลยก็คือการถอดเนื้อเรื่องของเกมที่มีอยู่ออก แล้วลองสวมเนื้อหาของเราลงไป ตัวอย่างเช่นลองถอดเนื้อหาของเกม Tokaido ที่เป็นเกมท่องเที่ยวเมืองโทไคโดะของญี่ปุ่นออกแล้วลองสวมกรุงเทพฯ ทับเข้าไป

 

ส่วนใครที่สนใจจริงจังด้านการออกแบบบอร์ดเกม มัช พงษ์ และไตเติ้ล แนะนำให้เข้าไปติดตามข้อมูลความรู้ได้หลายช่องทางดังนี้

Website: boardgamegeek.com

Podcast: Ludology

Facebook Fanpage: Fringer on Board Games, เล่นเอาเรื่อง

 

—-

 

น่าติดตามว่าห้องเรียนออกแบบบอร์ดเกมในครั้งนี้จะบันดาลใจให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มจะนำเอาข้อมูลคติชนมาใช้สร้างสรรค์บอร์ดเกมกันอย่างไรและมีแนวคิดหรือเป้าหมายในการสร้างสรรค์แต่ละเกมอย่างไร

 

 

 

โปรดติดตามตอนต่อไป…

 

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: