SCHOOL LIFE No.11

อีกฝั่ง

 

ตำราภาษาไทยชั้นมัธยม 4 ที่เธอหยิบมาวางลงบนโต๊ะหนังสือเป็นฉบับตีพิมพ์เก่า หน้าปกเป็นภาพฉากวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าเธอคงได้รับบริจาคมาจากรุ่นพี่สักคน ก็มีเยอะแยะไปที่พอเลื่อนชั้นแล้วก็ส่งหนังสือต่อให้รุ่นน้อง ตำราภาษาไทยฉบับปัจุบันเป็นแค่ปกสีส้มสะท้อนแสงแสบตา

 

ผมเลยไม่สงสัยว่าเธอมาจากที่อื่นจนเธอหยิบซาวด์อเบาท์มาฟังในตอนพักเที่ยงใต้ร่มก้ามปูใหญ่ ณ ลานอเนกประสงค์ระหว่างตึกเรียน

 

“ถ้าแบบนี้ฉันก็บอกอนาคตเธอได้สิ” ผมนั่งลงข้างเธอ

 

เธอถอดหูฟัง ยื่นให้ผม Coldplay อัลบั้ม Parachute

 

“จะบอกล็อตเตอรี่เหรอ” เธอยียวนหน้าตาย

 

“จะทำได้หรือเปล่านะ” ผมสงสัย “เมื่อวานนี้ที่นี่ฝนตก เธอเปียกหรือเปล่า”

 

เธอพยักหน้า ส่วนหนึ่งของเธออยู่ในเวลาของโลกนี้ เธอไม่ได้เป็นอดีตโดยสมบูรณ์ ไม่ได้ท่องข้ามไป-มาระหว่างเวลา

 

“ที่ร้านข้าวมันไก่ตรงสี่แยกนั่น เธอได้นั่งโต๊ะหินอ่อนนอกร้านหรือเปล่า” ผมถาม

 

เธอส่ายหน้า

 

“เห็นคนนั่ง ฉันสะดุดขาม้านั่งจะล้มด้วย แต่มองไม่เห็นมัน เหมือนมันเป็นความไม่ลงรอยของเวลาที่ซ้อนทับกันน่ะ ในเวลาของฉัน มันยังไม่มีโต๊ะหินอ่อนตรงนั้น” เธออธิบาย “บั๊กของระบบล่ะมั้ง”

 

“เหมือนกันล่ะ” ผมตอบ “ฉันก็มองไม่เห็น”

 

ผมยื่นเครื่องเล่นเพลงไฟล์ดิจิตอลรุ่นพกพาให้เธอดู ขนาดเท่านิ้วโป้ง จุได้แค่ 3-4 อัลบั้ม ต้องคัดเพลงที่ชอบ แย่กว่าเขียนแผ่น CD ไว้เล่นกับเครื่องพกพาอีก แต่มันสะดวกในการลบและบันทึกเพลงมากกว่า

 

เราต่างอยู่คนละเวลา และเวลาในโลกที่เราพบกันก็เป็นเวลาอื่น เป็นอนาคตในทศวรรษใกล้ ที่นักเรียนคนอื่นฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือไร้ปุ่มกด

 

……

 

อยู่ๆ วันหนึ่งผมก็ตื่นขึ้นมาพบว่ามีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไป พ่อกับแม่ พ่อบ่นเรื่องเงื่อนไขบริการอินเทอร์เน็ตของโทรศัพท์ไม่ถูกใจ ผมถามพ่อว่า ‘อินเทอร์เน็ตอะไร’ ผมไม่แน่ใจว่าพ่อซื้อโทรศัพท์มือถือที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้แล้วหรือ ระบบนั้นพัฒนาเสร็จแล้ว?

 

พ่อไม่ตอบ

 

ผมต้องถามซ้ำๆ พ่อถึงรู้สึกเหมือนถูกสะกิด

 

“บริการอินเทอร์เน็ตน่ะ อยู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นแบบที่แพงกว่า” พ่อบอก

 

ผมไม่เข้าใจว่าพ่อพูดอะไร พอมองไปที่โทรศัพท์พ่อ ผมนึกถึงคอมพิวเตอร์ขนาดฝ่ามืออย่างเครื่อง Palm หรือ Pocket PC แต่มันบางและกระทัดรัดกว่า

 

ผมรู้ว่าผมอยู่ในเวลาอื่น

 

คำถามคือ แล้วผมในเวลานั้นไปอยู่ไหน

 

“ที่ทำงานผมเขาว่าอะไรหรือเปล่าครับ เรื่องที่ผมขาดงาน” ผมลองถาม แต่ต้องถามถึง 7 ครั้งกว่าพ่อจะรู้สึก

 

พ่อมองผมงงๆ

 

“รีบกินข้าวซะเดี๋ยวไปโรงเรียนสายนะ” พ่อบอก

 

แล้วแม่ก็วางกับข้าวลงตรงหน้า แม่รู้ว่าผมอยู่ตรงนั้น แต่ก็เหมือนพ่อ ยากที่จะมีปฏิกิริยาต่อตัวผม

 

คำถาม

  • เป็นไปได้ยังไงที่พ่อกับแม่อยู่ในอนาคตที่ไกลเป็นทศวรรษแล้วผมยังเรียนมัธยมอยู่? นี่คือการพยายามอุดรอยโหว่ของเวลา? ทุกคนที่ผมพบเข้าใจผมได้ทันที
  • ทำไมผมมองไม่เห็นสิ่งของบางอย่าง ถ้าผมจะมองไม่เห็นสิ่งของจากอนาคต ผมก็ควรไม่เห็นอะไรเลย แม้แต่กับข้าว แต่มีแค่บางอย่างเท่านั้นที่ไม่เห็น ความบกพร่องของระบบ?

 

ผมขอใช้โทรศัพท์พ่อ น่าประทับใจมาก เลยขอให้เขาซื้อราคาถูกที่สุดให้เครื่องหนึ่ง แต่ผมมองไม่เห็นมัน ผมต้องไปซื้อเอง เลือกที่มองเห็นเอง

 

บางวันโทรทัศน์ที่ห้องนั่งเล่นก็เป็นแบบจอตู้สี่เหลี่ยมจัตุรัสรุ่นที่ผมมีในเวลาของผม พ่อก็กดเปิดดูข่าวสารในเวลาของผมได้โดยไม่เอะใจ

 

ผมจะติดในเวลาซ้อนทับแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่?

 

………..

 

“มันก็สนุกดีนะ” เธอพูด “แปลกประหลาดดี”

 

“ฉันเกลียดเพื่อนร่วมห้อง ในเวลาของฉันน่ะ” เธอเล่า “เพื่อนใหม่ดูเป็นหุ่นที่เมินหนีเหมือนฉันไม่มีอยู่ ถ้าไม่กระตุ้นพวกเขาหนักๆ ฉันว่าก็เงียบดี”

 

“ทำไมเราถึงติดอยู่ในเวลาพัวพันแบบนี้นะ” ผมเงยมองฟ้า “มันดูตั้งใจให้เรามา แต่ก็ไม่ตั้งใจด้วย”

 

“เราอาจอยู่ในย่านคลื่นความถี่จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์สติวิปลาสที่เดินระบบเครื่องเปิดมิติก็ได้มั้ง แล้วเขาก็พยายามแก้ระบบอยู่ เพื่อให้คนต่างเวลาอยู่ด้วยกันได้” เธอตั้งสมมติฐาน

 

“ตลกดี แต่ก็เป็นไปได้ ไม่ก็โลกอนาคตคงเฉียดเข้าใกล้หลุมดำอะไรงี้มั้ง” ผมบอก

 

“ฉันเคยได้ยินทฤษฎีหนึ่งล่ะ” เธอพูดเหมือนนึกได้ “ว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง หรือวงกลม เราย้อนอดีตไม่ได้ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะแบบนั้นเรามีแค่คนเดียว คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน ฉันไม่แน่ใจหรอกว่ามันยังไงกันแน่ แต่ถ้าจะมีอนาคตมันต้องมีอดีตก่อนไม่ใช่เหรอ ทำไมมันเดินไปพร้อมกันได้ล่ะ” เธองุนงง

 

“แล้วมันมีความหมายอะไร” ผมสงสัย “ที่เรามาอยู่ในอนาคต”

 

“จะรู้ได้ไง” เธอมองหน้าผมเหมือนจะพูดว่าถามอะไรแปลกๆ

 

เราอาจรู้ข้อมูลในอดีตจากบันทึกในอนาคตนี้ แต่มันก็ไม่มีประโยชน์กับเราเลย ในเมื่อเราไม่ได้กลับไปในโลกของเรา เราก็แค่รู้ไว้ เผื่อเวลานั้นมาถึง

 

บางวัน ถ้าโชคดี เราจะเจอสิ่งของจากอดีตวางไว้ตรงที่เดิมที่มันเคยอยู่

 

อย่างในร้านขายเสื้อผ้าผู้หญิง เราเจอหนังสือคำทำนายนอสตราดามุสวางอิงผนังกระจกที่วางพับยีนส์ไว้ ที่นี่เคยเป็นร้านหนังสือเมื่อเรายังเด็ก เธอหยิบมันไปให้ช่างตัดเสื้อ เขาก็หยิบมาดูราคาที่สัน แล้วขายให้เราเหมือนเป็นเจ้าของร้านหนังสือ

 

“เรารู้ว่าโลกไม่แตกปี 2000 นี่” ผมบอกเธอ

 

“ใช่ ฉันผ่านปี 2000 มาแล้ว แต่รู้สึกสนุกดีก็เลยซื้อมา” เธอพลิกอ่านมัน

 

นิสัยบางอย่างมันติดมาจากเวลาของเราด้วย ในขณะที่เธอฟังเพลงวนซ้ำม้วนเดิมได้ทุกวัน ผมทนทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ผมต้องมีเพลงหลายอัลบั้มบันทึกไว้ในเครื่องเล่น และโลกที่เราอยู่พวกเขาต่างก็ฟังเพลงเป็นล้านๆ จากอินเทอร์เน็ต

 

หรืออย่างเวลาเห็นนักเรียนคนอื่นสูบบุหรี่เธอจะระแวดระวังมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่าพวกเขาไม่ข้องแวะกับเรา ในเวลาของเธอ ยาเสพติดเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่าย และอาชญากรรมจากยาเสพติดก็แพร่ระบาดมาก ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมามันจะเบาบางลงในยุคของผม

 

เราเดินไปทั่วทั้งเมือง ค้นหาสถานที่ที่หลงเหลือจากเวลาของเราทั้งคู่ โรงเรียน บ้าน สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้าเก่ากลางเมือง ร้านข้าวมันไก่ตรงสี่แยก ร้านขายเทป ไม่มีร้านนมแล้ว อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ก็หายไป แต่ร้านหมูกระทะยังอยู่ แค่ลดขนาดลง

 

“ไม่เปลี่ยนเลยแฮะ” เธอยิ้มดีใจ “รสชาติก๋วยเตี๋ยวที่นี่”

 

นี่ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ผ่านเวลาเรามาได้

 

เวลาของเราอยู่ในระยะที่ใกล้กันเพียง 4 ปี เธอยังใช้ซาวด์อะเบ้าท์เพราะเทปยังมีขายทั่วไป ผมใช้เครื่องเล่นไฟล์ดิจิตอลรุ่นแรก คาบเกี่ยวยุคสุดท้ายเครื่องเล่นซีดี โทรศัพท์มือถือเธอจอขาวดำ ของผมเป็นจอสีที่ถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดหยาบๆ ได้

 

แต่ตำราเรียนเราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาเลยแม้ในเวลาที่เราติดอยู่

 

“ฉันสงสัยแฮะ มันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรที่เรารู้ เราก็อยู่ในอนาคตได้เหรอ” เธอสงสัย

 

“อาจได้มั้ง ไม่รู้สิ” ผมหาวง่วง

 

ผมไม่รู้หรอกว่าเราจะอยู่ในเวลานี้อีกนานไหม ถ้าเราติดอยู่ในห้วงเวลานี้ไปกาลนานล่ะ? หมายถึง ไปข้างหน้าพร้อมๆ กับมันจนเราเติบโตและตาย เราจะทำยังไง?

 

มีเราแค่สองคนรึเปล่านะที่อยู่ในกาลเวลาที่ไม่ใช่ของเรา?

 

ผมรู้สึกว่าเราไม่พร้อมที่จะเติบโตไปกับอนาคตนี้ เรามีเวลาที่ถูกพรากและเฝ้ารอที่จะได้กลับไป เราอาจจะปรับตัวได้ ถ้ามองเห็นวัตถุในอนาคตได้ทุกอย่าง และสิ่งของในอดีตไม่เข้ามากวนใจ

 

ผ่านไปหนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือน 1 ปี ก็ยังติดอยู่ในเวลานี้

 

เรายิ่งค้นหาอะไรก็ตามที่ผ่านเวลาของเรา คว้ามัน ขโมยมัน ไม่ยอมให้มันหายไป

 

เหรียญกษาปณ์ หนังสือ เทป ซีดี ปากกาลายสุนัข รสชาติ เสียง กลิ่น

 

เราพบผู้คนที่เราเคยเห็นในเวลาของเรา เราพูดคุยถึงวันเก่าๆ กับเขา ห้องนอนเราเต็มไปด้วยสิ่งของพวกนั้น

 

“วันนี้ฉันได้นี่มาล่ะ” เธอยื่นให้ดู เป็นเรียงเบอร์ปีที่เธอจากมาพับเป็นถุงขนมไข่เต่า

 

ในที่สุดเราก็ปฏิเสธอนาคต

 

ผมเก็บมือถือที่พ่อซื้อให้ เธอไม่ยอมใช้ปากกาที่หาซื้อได้ในห้วงเวลาที่เราติดตรึง

 

แล้ววันหนึ่งเธอก็ไม่มาโรงเรียนอีกเลย

 

โต๊ะเธอว่างเปล่า เธอไม่เคยมาสาย ผมนึกว่าเธอคงได้กลับไปยังเวลาของเธอแล้ว

 

แต่อาจารย์หนุ่มคนหนึ่งเดินมาหา วางจดหมายของเธอที่ทิ้งไว้ให้แม่ผู้อยู่ในกาลเวลาของโลกอนาคต อาจารย์พูดกับผมว่า ‘เสียใจด้วยนะ’

 

‘ฉันเหนื่อยแล้วล่ะ’

 

เธอเขียนไว้แค่นั้น

 

ผมรู้

 

เวลาทำให้เราแปลกแยก เราเป็นคนของเวลาอื่น มันยากเกินไป เรายอมรับเวลาของกันได้เพราะมีความทรงจำบางอย่างสอดคล้องชิดใกล้ แต่เราปฏิเสธเวลาที่เราติดอยู่ เหมือนที่มันปฏิเสธเราก่อน

 

“อาจารย์ครับ” ผมรั้งเขาไว้ เขาก้มมองอย่างอาทร

 

“ผมมาจากเวลาอื่น” ผมบอกเขา ยังมองข้อความที่เธอเขียนทิ้งไว้ให้

 

ผมรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไข ผมร้องขอใครก็ได้พาผมไปจากโศกนาฏกรรมนี้

 

“งั้นเหรอ” เขาพยักหน้า เอื้อมมือมาบีบไหล่ผมเบาๆ

 


 

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

ชินรัตน์ สายอุ่นใจ

Kappasaisai@gmail.com

นักเขียนผู้หลงใหลการลับมีด เจ้าของเรื่องสั้น "ชายชราเบาหวาน" ที่ได้รับรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดประเภทเรื่องสั้น ปี 2555 ปัจจุบันใกล้จะมีนวนิยายของตัวเอง 1 เล่ม กับสำนักพิมพ์ Boligraf Book ยังคงเขียนงานอยู่อย่างต่อเนื่องที่บ้านของตน

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: