บทสนทนาของนักคิดหนุ่มตัวร้ายกับสาวนักปรัชญาตัวแสบ – Happy Yogi

 

 

ชาย: คุณพอจะจำคำพูดเท่ๆ ของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสอย่าง Louis Althusser ได้ไหมครับ?

 

หญิง : นี่คุณจะบ้ารึไงคะ อีตาหมอนั่นแกพูดไว้ตั้งหลายประเด็น ที่ดิฉันพอจะจดจำขึ้นใจได้บ้าง ก็คงเป็นแนวคิดเรื่องการครอบงำผ่านอุดมการณ์ของเขานั่นแหละค่ะ

 

ชาย : กลไกด้านการปราบปรามของรัฐ และกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ใช่ไหมครับ?

 

หญิง: อ๋อ นั่นแหละค่ะ ใช่เลยค่ะ

 

ชาย: แล้วคุณคิดเห็นเช่นไรกับคำพูดของเขาที่ว่า “Human-life is structured” ครับ?

 

หญิง : ก็รู้สึกเฉยๆ นะคะ ไม่ได้อินอะไรมากมาย มีปากเขาก็คงพูดไปล่ะมั้งคะ ฮ่าฮ่า ดิฉันแซวเล่นนะคะ

 

ชาย : แต่ทำไมผมกลับรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ประโยคดังกล่าวผุดขึ้นมาในหัวของผมล่ะครับ?

 

หญิง: ขอโทษเถอะค่ะ นั่นมันปัญหาของคุณ มันเป็นปัญหาของตัวคุณเองทั้งนั้น คุณเลิกเพ้อเจ้อสิคะ หยุดฟุ้งซ่านได้แล้ว เผื่ออะไรๆ มันอาจจะดีขึ้นบ้าง

 

ชาย: ไม่ได้ครับ ผมหยุดคิดมันไม่ได้เลย ผมรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองยิ่งรู้ยิ่งไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง

 

หญิง: ยังไงคะ ไหนช่วยอธิบายทีสิคะ?

 

ชาย: ก่อนหน้านี้ผมเคยรู้สึกว่าคำพูดนั่นไร้ราคาไปแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่าตนเองมีเสรีภาพในการเลือก มีเจตจำนงอิสระประกอบการตัดสินใจ ในฐานะของผู้กระทำการที่สามารถต่อรองกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชาญฉลาด แต่ทุกวันนี้ผมกลับไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย

 

หญิง: ก็ไม่เห็นจะแปลกตรงไหนนี่คะ คุณก็เลือกได้จริงๆ เพียงแต่ต้องเลือกภายใต้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางอย่างที่เปิดโอกาสให้คุณได้เลือก ซึ่งมันก็ยังดีกว่าการยัดเยียดให้ตรงๆ ไม่ใช่เหรอคะ?

 

ชาย : มันไม่ง่ายขนาดนั้นน่ะสิครับ ผมรู้สึกผิดหวังอย่างบอกไม่ถูก แบบนี้ก็เท่ากับว่าที่ผ่านมาผมหลงเข้าใจผิดมาโดยตลอด หนำซ้ำยังโง่เง่าหลอกตัวเองให้รู้สึกฝันหวานไปวันๆ เอาเข้าจริงแล้วผมไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรได้จริงเลย เพราะทุกครั้งที่เลือก ผมย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงร่มคันใหญ่ที่ครอบงำการเลือกในแต่ละครั้งไปได้เลย

 

หญิง: คุณก็ทราบดีนี่ค่ะ แล้วคุณจะเจ็บปวดไปทำไมกัน โลกก็เป็นแบบนี้ล่ะค่ะ สิ่งที่เราคิดหวังให้มันเป็นกับสิ่งที่มันเป็นไป โดยมากแล้วมักจะสวนทางกันเสมอ หากคุณไม่อยากรู้สึกเจ็บปวด ขอจงอย่าได้คาดหวังค่ะ

 

ชาย: แต่คนเราอยู่ได้ก็ด้วยความหวังนะครับ ความหวังช่วยให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิต เพราะความหวังไม่ใช่เหรอครับ ที่ทำให้เราอยากตื่นลืมตาขึ้นมาในเช้าวันใหม่ อยากลงมือทำอะไรหลายต่อหลายอย่างให้ชีวิตมีคุณค่า ความหมาย และความหวังอีกเช่นเดียวกันที่ช่วยผลักดันให้โลกใบนี้ยังดำเนินต่อไปได้ ความหวังเป็นเพียงสิ่งเดียวที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเราจินตนาการถึงภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ก็ด้วยความหวังนะครับ

 

หญิง: ขอโทษเถอะนะคะ ขอเชิญคุณกลับไปรับฟังบทเพลงอมตะของคุณศรเพชร ศรสุพรรณ สักหน่อยเถอะค่ะ

 

ชาย : เพลงอะไรเหรอครับ?

 

หญิง: ไอ้หวังตายแน่ ค่ะ “ไอ้หวังตายแน่ ตายแน่ไอ้หวัง ไอ้หวังตายแน่ ตายแน่ไอ้หวัง… ”

 

ชาย: ผมไม่ตลกนะครับคุณผู้หญิง ผมออกจะซีเรียส นี่คุณคิดว่าความเศร้าของผมเป็นเรื่องชวนสมน้ำหน้ารึยังไงครับ?

 

หญิง: ประทานโทษค่ะ ดิฉันเพียงแต่ไม่อยากให้คุณคิดมาก สำหรับดิฉันแล้วความหวังเปรียบเสมือนยาฝิ่นน่ะค่ะ

 

ชาย: ยังไงครับ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจที

 

หญิง: Milan Kundera นักเขียนชาวเช็ก เคยกล่าวไว้ว่า ความหวังเป็นอะไรบางอย่างที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากดำรงชีวิตอยู่ได้ ความหวังว่าชีวิตในอนาคตจะต้องดีกว่านี้แน่ จึงเปรียบเสมือนยาฝิ่นที่ให้ความสุขกับมนุษย์เพราะการมองโลกทางบวกเป็นยาฝิ่นสำหรับประชาชน

 

ชาย: ผมไม่คิดว่าความหวังคือเรื่องผิดบาปแต่ประการใด โลกใบนี้สิ้นหวังมากเกินไปแล้วครับ เราจำเป็นต้องมีความหวัง ส่วนจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

หญิง: Ernst Bloch นักปรัชญาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า ภาวะของการมีความหวังเป็นภาวะที่ยังไม่มาถึง มันเป็นพื้นที่และเวลาของการชะลอหรือเร่งเร้า และยังเป็นพื้นที่ที่มากกว่าหรือน้อยกว่าความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อให้เรารู้จักอดทนอดกลั้นต่อความไม่แน่นอนของอนาคตที่มองไม่เห็น โดยในแง่หนึ่งคงหนีไม่พ้นการคิดปลอบใจตัวเองว่าเราต่างมีความหวังก็เพื่อปรารถนาอะไรที่ดีกว่าเก่า แต่อีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับข้อความย้ำเตือนเราว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีวันมาถึง ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้เรามีความหวังและสิ้นหวังไปพร้อมๆ กัน

 

ชาย: Milan Kundera ก็ดีErnst Bloch ก็ดี เขาทั้งสองคนไม่ใช่พ่อแม่ของผมนี่ครับ ทำไมผมต้องเชื่อฟังเขาด้วย หากคุณหยิบยกข้อคิดเห็นเรื่องความหวังของ Franz Kafka ขึ้นมาแนะนำ ผมอาจจะสนใจอยู่บ้าง แหงล่ะ ก็นั่นมันนักเขียนในดวงใจของผมนี่นาหรือหากเป็นความเห็นจาก Albert Camus นักเขียนและนักปรัชญาแนว Existentialism ผู้เชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ พร้อมให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเลือกของแต่ละบุคคล ผมก็คงจะรับฟังอย่างใจเย็น แต่ในเมื่อมันไม่ใช่ คงไม่มี
ความจำเป็นใดๆ ที่ผมจะต้องเห็นคล้อยตาม

 

หญิง: นั่นมันปัญหาของคุณค่ะ ตามสบายเลย ดิฉันไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไรด้วยอยู่แล้ว เพราะดิฉันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกบิดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้ โดยไม่รู้สึกยินดียินร้ายแต่อย่างใด คนจะมีปัญหาก็ตัวคุณเองทั้งนั้นแหละค่ะ ขอโทษเถอะนะคะอย่าหลงตัวเองให้มากมายนัก อย่าได้ริอาจเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเลยค่ะ ดิฉันเตือนด้วยความหวังดี อะไรยอมได้ก็ยอมบ้างนะคะ ทิ้งตัวตนไปบ้าง เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตของตัวคุณเอง

 

 

 

พยาบาล: เอ่อ คุณธนา และคุณสุดา คะ ได้เวลาทานยากันแล้วค่า หมดเวลาการทำกิจกรรมบำบัดสำหรับวันนี้แล้วนะคะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยมาสนทนากันใหม่เนอะ พวกคุณคุยกันสนุกทีเดียว ดิฉันฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างยังรู้สึกเพลินเลย รีบทานยากันดีกว่าค่า

 

 

ภาพประกอบ: Joshua Ness


 

Happy Yogi

Happy Yogi

(1) นักเขียนไม่เคยรู้สึกเหงาเพราะเขามีโลกแห่งภาษาอยู่เคียงข้างเสมอ (2) วาทกรรมที่ว่าอาชีพนักเขียนไส้แห้ง ไม่จริงเลย เหตุผลเดียวที่นักเขียนจะไส้แห้ง นั่นก็เพราะเขามัวแต่ขีดเขียนตัวหนังสือจนไม่สามารถหอบร่างไปทำกิจกรรมอื่นใดได้ แม้แต่หาข้าวยัดใส่ปากของตัวเอง

Comments

comments

You may also like

Leave a comment

error: