รางวัลที่ปลายไม้ – นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

 

พลาดหวังอีกครา ไอเย็นยังค้างคาอยู่ในปาก กลิ่นและสีส้มเทียมๆ ฉาบผิวลิ้น ปลายนิ้วเหนียวรอยทางของความสดชื่นที่เพิ่งละลายตัว ไม้สีซีดชุ่มน้ำลายไม่ปรากฏร่องรอยรางวัล จบลงที่ความเบื่อหน่าย เขาบอกตนเองว่าไม่เอาอีกแล้ว จะไม่เสี่ยงโชคกับอะไรพรรค์นี้อีก

 

แล้วเด็กหญิงผมเปียใส่แว่นกรอบเงินก็วิ่งรี่มาเกาะรถของลุงเย็น เขาได้แต่มองตาม พยายามควบคุมสายตาไม่ให้ฉายแววอิจฉาเกินควร

 

“อ๊ะ ไม้ฟรี ไว้พรุ่งนี้หนูมาแลกนะคะ เดี๋ยวอ้วน” สิ้นคำเด็กหญิง คำว่าหมั่นไส้ก็ขยายใหญ่คับหัวหูของเขาจนอดไม่ได้ที่จะต้องขยับปากขยุกขยิกล้อเลียนคำนั้นของเธอ

 

“ไอ้ยักษ์! นิ่งเลยมึง จะเริ่มคาบเรียนใหม่แล้วนะเว้ย” ไอ้ผ่องตะโกนเรียกก่อนมันจะวิ่งเข้าห้องเรียน

 

กี่ครั้งแล้วนับตั้งแต่กิจกรรมแจกไม้ฟรีเริ่มต้นขึ้น กี่ครั้งที่เขาพลาด ไม่รู้ เขาเองก็ไม่ได้นับให้ทั่วถ้วน รู้แต่ว่ายาวนาน และนานกว่าระยะเวลาของเด็กหญิงชั้น ป.4 คนนั้น โชคของเธอถี่เหลือเกิน

 

เธอทำบุญด้วยอะไรกัน เขานึกลอยๆ พยายามคำนวณบุญกุศลของตนในคาบเรียนคณิตศาสตร์ หัวข้อที่เรียนวันนี้ – การเทียบบัญญัติไตรยางค์ของระดับชั้น ป.6 – กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกเจ้าของร้านชำที่มีแม่ปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ลับๆ ให้แก่บรรดาลูกค้าที่มาจับจ่ายข้าวของ เขาพากเพียรเรียนรู้วิธีการคิดคำนวณดอกเบี้ย ไม่ใช่เพราะกตัญญูรู้คุณแต่ว่าอยากประจบเอาใจ หวังว่าเมื่อแม่อารมณ์ดีและนึกเอ็นดู แม่ก็จะบอกรับตู้ไอติมมาขายบ้าง แต่ไม่ว่าเขาจะช่วยแม่คิดคำนวณสักกี่ครั้งกี่หน แม่ก็ไม่เคยเห็นคุณงามความดีและเอ่ยถามเขาสักครั้ง ‘คนเก่ง อยากได้อะไรเป็นรางวัล’ ประโยคแบบนั้นไม่เคยหลุดออกจากปากแม่เลย เอาเถิด อย่างน้อยแม่ก็ให้เงินค่าขนมเพียงพอ เขาจึงไปยืนเกาะรถไอติมของลุงเย็นได้ทุกวัน

 

 

ลิ้นสีส้มกลับมาอีกแล้วนะลูก – เปล่า แม่ไม่ทักเขาแบบนั้น แม่เพียงอือเออพยักพเยิดหน้ารับรู้ว่าเขากลับมาแล้ว ข้าวปลาอยู่บนโต๊ะด้วยฝีมือของพี่ถนอม เสี้ยวไข่เจียวที่เหลือกับหมูกรอบผัดพริกเผารอเข้าไปสมทบกับสีส้มเมื่อบ่ายในลิ้นของเขา เพื่อนๆ เริ่มเรียกเขาว่าไอ้ยักษ์ แต่แม่ของเขาไม่เคยรู้ว่าเด็กชายตัวเล็กกระจ้อยได้รับฉายานี้มาได้อย่างไร

 

หลังกินข้าว เขาขึ้นห้องปิดประตูเงียบ โยนไม้ไอติมที่ล้างสะอาดและแห้งดีแล้วใส่กล่องพลาสติก กองไม้ไอติมในกล่องบ่งบอกว่าเขาขาดไร้แต้มบุญมานานแล้ว ถ้าไม่เอาไปขายทิ้งก็จะเอามาต่อเป็นหุ่นยนต์ เขาคิดอย่างนั้นขณะจ้องมองไปที่พวกมัน ก่อนจะคิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่องอื่น

 

ปีหน้าก็ขึ้น ม.ต้นแล้ว ต้องพะวงเรื่องย้ายโรงเรียนอีก ทำไมเด็กผู้หญิงถึงเรียนต่อได้เลยในโรงเรียนเดิมกันนะ ช่างเถอะ เบื่อจะถามแม่แล้ว ถามกี่หนแม่ก็บอกแต่เพียงว่า จองโรงเรียนนี้ไว้ตั้งแต่แกยังไม่เกิด และแกก็ดันเกิดเป็นเด็กผู้ชาย

 

 

“มึงจะไปซื้อไอติมอีกแล้วหรอวะ ไหนมึงบอก…” ยังไม่สิ้นคำเพื่อน เขารีบวิ่งออกไปทันทีที่ได้ยินเสียงสัญญาณพักช่วงบ่าย พร้อมความคิดที่ว่าถ้าไปถึงก่อนเด็กหญิง ป.4 คนนั้น โชคจะเป็นของเขา ไม่ใช่เธอ

 

“วันนี้มาคนแรกเลยนะหนุ่ม”

 

“ครับ ขอยักษ์คู่เหมือนเดิมลุง” แล้วก็เหลียวซ้ายขวา ยิ้มยินดีที่ยังไม่เห็นวี่แววของเด็กหญิง

 

ชายชราส่งไอติมรสส้มเย็นชื่นใจให้เขา เด็กชายรับมาถือค้าง ค่อยๆ ละเลียดอยู่ข้างรถไอติม กะว่าถ้าได้ไม้ฟรีก็จะแลกทันที ไม่สิ ต้องรอแลกตอนที่เด็กหญิงชั้น ป.4 อยู่ด้วยจะได้โอ้อวดดวงดีกันเสียบ้าง

 

ไอติมหมดไปกว่าครึ่งก็ยังไม่เห็นวี่แววทั้งเด็กหญิงและรอยสลักบนไม้ ใจของเขาเริ่มเหี่ยวอีกครั้ง

 

“นี่ลุง ทำไมน้อง ป.4 คนนั้นยังไม่มาแลกไม้อีก”

 

“แหมหนุ่ม มิน่ายืนอ้อยอิ่ง รอน้องเขาล่ะสิเนี่ย”

 

เขาปฏิเสธพัลวันและทำท่าจะเดินกลับแม้ยังกินไม่หมดแท่ง

 

“นั่นไง มาแล้วล่ะหนุ่ม” เขาหันไปมองตามลุง เห็นเด็กหญิงโบกไม้โบกมือให้ลุงเย็นแต่ไกล

 

“วันนี้แลกอะไรดีจ๊ะหนู” ลุงรับไม้ฟรีจากมือเด็กหญิง สายตาชายชราจับจ้องไปที่โบผูกผมสีขาวของเธอ

 

“เอสกิโมเหมือนเดิมค่ะ”

 

ไอ้ยักษ์ยังวอแวข้างรถไอติม แม้ในมือจะเหลือเพียงไม้ไอติมซีดๆ สองแท่ง เขารีรอด้วยอยากรู้ว่าวันนี้เธอพกดวงมาอีกไหม

 

เขายืนชมนกชมไม้ไปพลางเดี๋ยวก็ได้รู้ เพราะเธอมีนิสัยแบบเดียวกันคือกินทันทีต่อหน้าลุง ไม่เดินเงียบหายไปอุบแอบรับรู้โชคชะตาของตนเพียงลำพัง กว่าเธอจะละเลียดเยลลี่แดงๆ นั่นเสร็จ ก็จวนจะหมดเวลาพัก

 

“โอโหหนู ยังงี้ลุงก็กำรี้กำไรหายหดสิ” ลุงเย็นแซวเด็กหญิงที่เพิ่งเปรมปรีดิ์กับเยลลี่หนุบหนับ ส่วนเด็กชายเดินคอตกกลับเข้าชั้นเรียน แว่วเสียงของลุงไล่หลังว่า “พี่เขามารอดูว่าหนูจะได้ไม้ฟรีหรือเปล่าน่ะ”

 

เธอได้ไม้ฟรีติดต่อกันเป็นไม้ที่เท่าไหร่แล้ว ไม้ก่อนหน้านี้เธอก็ไม่ต้องซื้อหา ผิดกับเขา เหี่ยวเฉาน่าอดสู ขนาดกินสองไม้ทุกวันก็ยังไม่เคยได้ไม้ฟรี กระทั่งไอ้ผ่องเอง เมื่อสองวันก่อนมันก็เพิ่งได้ไม้ฟรี นี่จะมีแค่เขาคนเดียวหรือที่เทพเจ้าไม้ฟรีไม่ดูดำดูดี นึกแล้วก็คิดในใจว่าเดี๋ยวพ่อจะกินให้ลิ้นสีส้มถาวรแม่งเลย

 

 

“มึงไม่ลองเปลี่ยนกินแบบอื่นดูบ้าง” ไอ้ผ่องพยายามช่วยคิดหาวิธี

 

“กูแพ้นมวัว ช็อกโกแล็ตก็กินไม่ได้” เขาตอบขณะก้มหน้าก้มตาลอกโจทย์ภาษาไทย วิชานี้เขาต้องทำการบ้านมาให้ไอ้ผ่องลอก แลกกับที่มันให้เขาลอกการบ้านวิทยาศาสตร์

 

“เรื่องมากจริงนะ ร่างกายมึงเนี่ย แต่เออกูได้ยินมาว่า ไอติมที่เป็นไม้ฟรีมันมีวิธีสังเกต บางคนบอกว่ามุมซองจะมีขอบขาวๆ หรือไม่ก็ให้ดูที่บาร์โค้ดตรงซอง มันจะประหลาดๆ กว่าปกติ มึงสังเกตน้องแว่นรึเปล่าวะ ตอนน้องเขาเลือก เขาจ้องไปที่บาร์โค้ดไหม” ไอ้ผ่องควงเหรียญห้าในมือเล่น ครุ่นคิดหาวิธีได้ไม้ไอติมฟรี มันเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีเบื้องหลัง มีที่มา มีเทคนิคที่ผู้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรืออาจมองข้ามไป

 

“ไม่รู้ว่ะ กูให้ลุงหยิบให้ทุกที แต่น้องเขาก็ให้ลุงหยิบให้นะเว้ย จะมีแปลกๆ ก็แค่น้องเขาชอบเอาไม้ไอติมไปเช็ดในกระเป๋ากระโปรงว่ะ”

 

“เออ แปลกจริง หาที่เช็ดได้ประหลาด แต่กูว่านะ ลุงเล่นมึงแล้วล่ะ แม่งเป็นคนขายต้องรู้สิวะว่าห่อไหนฟรีไม่ฟรี”

 

สิ่งที่ไอ้ผ่องพูดก็น่าคิด ร้านชำของแม่ก็มีขนมกรุบกรอบที่ให้ลุ้นของเล่นในซอง แม่เคยบอกว่าขนมพวกนี้หลอกเด็ก มีของเล่นอยู่จริง แต่น้อยยิ่งกว่าน้อย แม่อาศัยสังเกตน้ำหนักซองและเสียงกรุกกริกเวลาเขย่าห่อ แล้วก็เลือกห่อพิเศษเหล่านั้นขายให้เฉพาะลูกค้าขาประจำที่มาซื้อบ่อยๆ

 

พรุ่งนี้เขาจะถามลุงให้รู้กันไป

 

 

“อ้าว ว่าไงหนุ่ม กินอะไรดีวันนี้” ในสายตาลุงเย็น สีหน้าสีตาของไอ้ยักษ์ดูผิดประหลาดกว่าทุกวัน

 

“เหนื่อย… เมื่อไหร่ผมจะได้ไม้ฟรีกับเขาบ้างล่ะลุง” เขาไม่อ้อมค้อมให้ยุ่งยาก

 

“อย่าเพิ่งท้อสิหนุ่ม อีกตั้งหลายเดือนกว่าจะหมดเขต”

 

“ใครๆ เขาก็ได้กันหมด ขนาดไอ้ย้งมันยังได้ไม้ฟรีไปแล้วเลย มันกินเดือนละแท่งเนี่ย แล้วนี่ผมกินทุกวันนะลุง” เขาระบายความอึดอัดใจขณะยืนพิงรถไอติมจนเสื้อนักเรียนเริ่มออกสี

 

“ผมถามลุงจริงๆ นะ ลุงรู้ใช่มั้ยว่าไอติมแท่งไหนจะมีไม้ฟรี”

 

ลุงชะงักนิดหนึ่งคล้ายจะเรียบเรียงคำตอบก่อนเอ่ย “ลุงจะไปรู้ได้ยังไงเล่า”

 

“น่า ลุงบอกความจริงผมเถอะ ถ้าลุงไม่รู้แล้วใครมันจะไปรู้” เขาพยายามตีสีหน้าเศร้าหมองเหมือนลูกหมาแม่เสีย ส่วนลุงก็ยังอมพะนำไม่มีทีท่าว่าจะเผยข้อเท็จจริง

 

“ทำไมผมไม่เคยได้ไม้ฟรีสักทีล่ะลุง” เสียงที่เคยเข้มแข็งปรับให้เริ่มสั่นเครือ “ผมมันคนไร้โชคไร้วาสนา” เด็กชาย ป.6 ตัดพ้อ

 

“อ้าวหนุ่ม อย่าเพิ่งร้องสิ”

 

“ถ้าผมพอจะมีโชคกับเขาบ้าง ป่านนี้ผมก็ได้ไม้ฟรีไปแล้ว เหลือผมคนเดียวแล้วมั้งลุง ก่อนปิดเทอมผมจะได้ไม้ฟรีกับเขาบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้ จบเทอมนี้ผมก็ต้องย้ายแล้วนะลุง ใจคอลุงจะไม่สงสารผมหน่อยหรอ” ไอ้ยักษ์ยังคงรำพึงรำพันต่อไป ไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเด็กหญิงที่อยู่ด้านหลังกำลังขยับแว่นตาและนิ่งฟังเขาบ่นพล่ามอยู่

 

“เออน่า กะอีแค่ไม้ฟรีเองนะหนุ่ม ไม่ได้วันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ได้ มันก็ต้องได้เข้าสักวันน่า เหมือนหวยที่ลุงซื้อน่ะแหละ แล้วยักษ์คู่เนี่ย ถ้าได้ก็ได้ทั้งสองไม้เลยนา” ลุงเย็นพยายามปลอบด้วยคำพูดที่ไอ้ยักษ์คิดว่าลุงแค่พูดไปแกนๆ เท่านั้น ไม่ได้ไยดีเขาอะไรนักหรอก ฟังแล้วก็นึกสมเพชตนเอง ป.6 แล้วยังมากระซิกสะอื้นอะไรหน้ารถขายไอติม แล้วเขาก็ค่อยแผ่วเสียง แขนเสื้อขาวป้ายน้ำมูกใส เดินกลับเข้าห้องเรียน

 

นับตั้งแต่เริ่มกิจกรรมไม้ฟรี นี่เป็นวันแรกที่เขาไม่ได้กินไอติมยักษ์คู่รสส้มแสนชื่นใจ

 

 

กระดาษพับทบสีฟ้าอ่อนส่งต่อจากมือสู่มือ จ่าหน้าด้วยลายมือเล็กจิ๋วว่า พี่ยักษ์ 6/2 ไม่เคยมีใครส่งการ์ด จดหมาย หรือที่คั่นหนังสือเพื่อบอกความในใจกับเขามาก่อน เขาเคยเห็นไอ้ผ่องได้ครั้งหนึ่ง ติดกากเพชรเสียด้วย ข้อความเขียนด้วยหมึกสีชมพูกากเพชรอีกเช่นกัน แต่ก็เป็นการแกล้งกันเล่นๆ ระหว่างเพื่อนในห้อง ครั้งนั้นไอ้ผ่องไล่เตะไอ้ชัยไปรอบห้อง ด้วยมันอุตส่าห์วาดหวังว่าจะมีหญิงมาสารภาพรักตนบ้าง เมื่อความฝันถูกล้อเล่นเช่นนั้น มีหรือไอ้ผ่องจะนิ่งเฉย

 

ยักษ์เก็บกระดาษไว้ในกระเป๋าเสื้อ งุนงงในชะตากรรม เขาไม่เคยหมายปองผู้หญิงคนไหนในโรงเรียน และเท่าที่รู้ก็ไม่น่าจะมีใครมาชอบพอเขามากจนต้องส่งจดหมายน้อยมาเช่นนี้

 

สักพักเขาก็ขอครูไปเข้าห้องน้ำ คลี่กระดาษออกระหว่างทาง ข้อความสั้นๆ ลายมือเดียวกับจ่าหน้า พี่คะ ลุงไม่รู้ แต่ฉันรู้ เจอกันที่ชิงช้าหลังตึก เย็นนี้ ป.ล.เตรียมไม้ไอติมมาด้วย

 

จดหมายไม่ลงชื่อ ทันทีที่อ่านจบ เขารู้ทันทีว่าเป็นเธอ เด็กหญิง ป.4 คนนั้น เธอรู้จริงหรือเพียงแกล้ง เขาย่อมจะได้รู้เย็นนี้

 

 

เธอไกวชิงช้าเนิบๆ รอเขาอยู่แล้ว เขาพยักหน้าเป็นการทักทาย ไม่ได้ถามไถ่ชื่อเธอ ใครๆ ก็เรียกเธอว่ายัยแว่นเขาเลยทึกทักเอาด้วยว่าเธอมีชื่อเสียงเรียงนามอย่างนั้น

 

“พี่ไม่มีทางได้ไม้ฟรี” เธอหยุดชิงช้า เอ่ยประโยคแรกตรงไปตรงมา จ้องมองเขาขณะที่เขาเดินเข้าใกล้ เขาฟังแล้วฉุน ไหนว่าจะบอกเหตุผล แล้วทำไมมาพูดจี้ใจดำกันเช่นนี้

 

“บอกวิธีที่เธอรู้มาสิ”

 

“ไม่มีวิธีหรอกพี่ มีแต่ข้อสังเกตไปเรื่อยของคนนั้นคนนี้”

 

“แล้วทำไมเธอได้ไม้ฟรีบ่อยนัก”

 

“พี่คิดว่าฉันสังเกตจากห่อล่ะสิ ไม่เลย ลุงเย็นก็หยิบให้ฉันเหมือนที่หยิบให้พี่ พี่ก็คงเห็นบ้าง”

 

“ก็ใช่ แต่มันต้องมีวิธีสิ ที่เธอบอกว่าลุงไม่รู้แต่เธอรู้น่ะ”

 

“ฉันรู้มากกว่าลุงเย็น แต่ไม่ได้บอกว่ามันจะช่วยให้พี่ได้ไม้ฟรี”

 

“ช่างเถอะ” ยักษ์ถอนใจ “จะบอกมั้ย จะกลับแล้ว”

 

“ไอติมยักษ์คู่ไม่มีรางวัล” เธอโพล่งขึ้นจนเขาชะงักเท้า

 

“ตลก ถ้าเป็นงั้นจริง เรื่องแค่นี้ทำไมลุงจะไม่รู้”

 

“ไม่มีใครรู้หรอกพี่ คนนึกกันแค่ว่ายักษ์คู่น่ะได้ไม้ฟรียาก เพราะถ้าได้ก็จะได้ทั้งสองไม้ พี่ก็คิดอย่างนั้นใช่มั้ยล่ะ เลยกินแต่ยักษ์คู่รสส้มนั่นทุกวัน”

 

“เธอก็แค่เดามั่วเหมือนคนอื่น” ว่าแต่เธอรู้ได้ยังไงนะว่าเขากินไอติมอะไรทุกวัน

 

“ลูกพี่ลูกน้องฉันในอีกจังหวัดนึงก็ชอบกินแต่ยักษ์คู่ ตานั่นก็ไม่เคยได้ไม้ฟรีเหมือนกัน”

 

“อาจจะบังเอิญก็ได้นี่”

 

“แล้วแต่พี่ ฉันบอกสิ่งที่รู้หมดแล้ว เพราะงั้น ฉันขอไม้ไอติมพี่ด้วย”

 

สิ่งที่เธอบอกไม่ได้ช่วยให้เขากระจ่างขึ้นสักนิด เป็นเพียงสมมติฐานใหม่อีกข้อที่ไม่รู้จะพิสูจน์ให้แจ้ง ได้อย่างไร แต่สิ่งที่เธอขอก็ไม่ได้มากมายนัก แค่ไม้ไอติมของผม เหลือเฟือ เธอจะเอาไปเท่าไหร่ก็ได้

 

“แล้วก็ ฉันเพิ่งได้ไม้ฟรีมาอีกแล้ว อะนี่ ให้พี่แล้วกัน”

 

เขารับมา ทั้งหงุดหงิดและงุนงง สายตาของเธอผ่านกรอบแว่นนั่นดูไม่ใช่คนเลวร้าย เกือบจะรู้สึกแล้วด้วยว่าเขากับเธอน่าจะเป็นเพื่อนกันได้ ไม้ฟรีนอนนิ่งในกระเป๋าเขาแล้วเมื่อเธอเดินจากไป

 

เย็นวันนั้นเขากลับบ้านแล้วตรงไปที่กล่องเก็บไม้ไอติม โยนไม้ที่เธอให้ไว้บนกองไม้ของเขา รอยคำที่บอกว่าเป็นไม้ฟรีเลือนจาง ไม้ฟรีแรกที่เขาได้สัมผัส ไม่กล้าจดจ้องมันโดยตรง รู้สึกละอายคล้ายว่ามันยังไม่เป็นของเขาโดยสมบูรณ์ เขาจึงปล่อยให้มันนอนนิ่งเช่นนั้น แล้วค่อยๆ ลืมเรื่องโชคลางไปเรื่อยๆ ในวันต่อๆ มา

 

 

หลายวันต่อมา เขาก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจึงมีเพียงเขาที่ไม่เคยได้สัมผัสความรู้สึกของการได้ไม้ฟรีเลยสักครั้ง ครั้นจะหันไปกินรสอื่นเพื่อทดลองก็เดี๋ยวจะผื่นขึ้นน่ารำคาญ จะใช้ไม้ฟรีของเธอก็หยิ่งในศักดิ์ศรี ไม่เอาหรอกโชคชะตาของคนอื่น

 

จวนหมดเขตกิจกรรมไม้ฟรีแล้ว เขาก็ได้แต่ยืนกินยักษ์คู่รสส้มอย่างเหงาๆ ปลงเสียแล้วในความพยายามจะได้อย่างที่ทุกคนได้กัน ก่นด่าโชคชะตาว่าไม่ต้องมาเฉียดใกล้เขาแล้วก็ได้ ถึงอย่างไรทุกวันนี้เขาก็ได้กินไอติมวันละสองไม้อยู่แล้ว

 

ขณะที่เขาไม่เคยได้ไม้ฟรีเลย เด็กหญิงคนหนึ่งก็ได้ไม้ฟรีเป็นว่าเล่น เขาเกือบๆ จะเชื่อแล้วว่าโลกกำหนดมาให้คนเราแตกต่างกันอย่างบัดซบ คนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย ในขณะที่อีกคนหนึ่งพยายามแทบตาย

 

เกือบๆ จะเชื่ออยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่ได้เชื่อ ด้วยไปได้ข่าวเสียก่อนว่า ยัยแว่นที่ใครๆ ต่างเรียกขานโดยไม่รู้นามที่แท้จริงนั้นน่ะ เธอถูกจับขณะคุ้ยขยะ พอถามก็ไม่ตอบ จนครูค้นเจอเองว่าเธอเก็บไม้ไอติมเป็นกำไว้ในกระเป๋ากระโปรง

 

หลังจบปีการศึกษา เขาสอบเข้าโรงเรียนในเมือง ส่วนเธอ บทลงโทษทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียน ไม่ได้ต่อ ป.5 ที่เดิม

 

หลายปีต่อมา ใครต่อใครในโรงเรียนเก่าก็ยังพากันเล่าลือว่าไม้ของยัยแว่นหลอกลุงเย็นเสียสนิท และลุงเย็นนั่นแหละที่ต้องตอบคำถามเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่รู้จบว่าเพราะเหตุใดกันแน่ลุงจึงเลินเล่อเช่นนั้น

 

 

*หมายเหตุ
ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า “ไอติม” แทนคำว่า “ไอศกรีม” เพื่อเลียนถ้อยคำอย่างเด็กๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง

 

Photo by Lucas Benjamin on Unsplash


นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

เข้าใจโลกอันแปรปรวนของศิลปินผ่าน “บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์”

 

 

หากใครสักคนหนึ่งในที่ทำงานของคุณมีภาวะเกรี้ยวกราดอยู่เสมอ บุคคลนั้นก็อาจได้รับคำนิยามลับหลังหรือซึ่งหน้าด้วยคำว่า “ไบโพลาร์” บางคนใช้คำนี้อย่างเกลื่อนกลาดเพื่อเหมารวมและปราศจากความเข้าใจที่แท้จริง

 

ขณะที่คำว่า “ไบโพลาร์” ถูกใช้ “แปะป้าย” ให้ใครหลายคน ผู้ป่วยไบโพลาร์ที่แท้ก็ได้แต่ประสบกับความคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าสลับสับเปลี่ยนกันไปอยู่ในมุมของตน

 

ผู้ป่วยไบโพลาร์บางคนไม่อาจสื่อสารหรือบันทึกสิ่งต่างๆ ให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจ บางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่าตนเป็นไบโพลาร์และต้องเข้ารับการรักษา ทำให้คนรอบข้างเป็นกังวลหรืออิดหนาระอาใจ

 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ได้มีเพียงช่วงเวลาที่พลังล้นเหลือสุดโต่ง พวกเขามีช่วงเวลาอันหดหู่เศร้าซึมที่ใครหลายคนอาจไม่ได้พบเห็นหรือสัมผัส

 

หลายคนจึงเข้าใจว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์เป็นพวกปล่อยพลังสาดแสงให้ผู้อื่นแสบร้อนกันทั่วหน้า และลืมไปว่า แท้จริงพวกเขาก็มีเวลาอ่อนแอ และทั้งสองช่วงเวลาก็ล้วนต้องการความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดที่ห่วงใยและใส่ใจ

 

เมื่อวรรณกรรมบอกเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยไบโพลาร์

ปี 2016 สำนักพิมพ์ในเยอรมนีได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานเขียนของ โทมัส เม็ลเล (Thomas Melle) นักเขียนชาวเยอรมันที่ลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเองในฐานะศิลปินคนหนึ่ง เขาเล่าถึงช่วงเวลาแห่งหายนะ ทั้งเรื่องความสับสนอลหม่าน การรับมือกับความคลุ้มคลั่งและเศร้าซึม รวมถึงการอยู่ร่วมกับโรคไบโพลาร์

 

ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ (DIE WELT IM RÜCKEN) ของ โทมัส เม็ลเล (Thomas Melle) เป็นวรรณกรรมเยอรมันที่นักเขียนตีแผ่ชีวิตของตนเองในช่วงเวลาหลายปีที่เขาต้องอยู่กับโรคไบโพลาร์ ตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อที่หลายคนต่างพะวงกับความเป็นไปของระบบคอมพิวเตอร์และกังวลว่าจะเกิดจุดสิ้นสุดประหลาดๆ แก่โลกในปี 2000

 

 

หลังผ่านพ้นประสบการณ์ครั้งแรกมาได้ เขาประสบกับสภาวะจิตอันแปรปรวนของตนอีกหลายช่วง จนกระทั่งถึงปี 2016

 

ตลอดระยะเวลาเหล่านั้น เขาต้องประสบกับภาวะไม่เป็นตัวของตัวเองในหลายสถานการณ์ อารมณ์ที่กลับไปกลับมาในหลายช่วงเวลาทำให้เม็ลเลรู้สึกอับอายดังที่เขาเขียนไว้ว่า

 

 

“คงไม่มีใครมีชีวิตน่าอับอายได้มากเท่ากับคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว สาเหตุก็เพราะคนจำพวกนี้จะมีถึงสามชีวิตที่แยกออกจากกัน ทำสงครามต่อสู้กันและอับอายกันและกัน ได้แก่ ชีวิตที่ซึมเศร้า ชีวิตที่คลุ้มคลั่ง และชีวิตที่หายป่วยในระหว่างนั้น ซึ่งชีวิตในลำดับสุดท้ายจะไม่อาจเข้าถึงสิ่งที่ชีวิตก่อนหน้าลงมือกระทำ ยินยอม และครุ่นคิดได้”

(ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์, หน้า 107)

 

บันทึกของเม็ลเลได้รวบรวมเหตุการณ์ ความรู้สึกนึกคิดอันบิดเบี้ยวแปรปรวนในหลายช่วงเวลาไว้อย่างละเอียด นับได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจผู้ป่วยไบโพลาร์ ทั้งยังอาจเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยให้นักจิตวิทยานำมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจโรคไบโพลาร์ได้ดียิ่งขึ้น

 

ชีวิตศิลปินที่เข้าใจได้แต่ไม่มีตอนจบ

ด้วยเนื้อหาและวิธีการประพันธ์ อาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็น นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ (autobiographical novel) คล้ายกับ À la recherche du temps perdu ของ มาร์แซ็ล พรูสต์ (Marcel Proust) หรือ เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงทอง ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้ประพันธ์เอง

 

นวนิยายประเภทนี้จำแนกประเภทย่อยลงไปได้อีกเป็นนวนิยายการเติบโต (Bildungsroman) และนวนิยายชีวิตศิลปิน (Künstlerroman)

 

เนื่องจาก ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ บอกเล่าเรื่องราวของเม็ลเลผู้เป็นนักเขียน นวนิยายเรื่องนี้จึงน่าจะจัดอยู่ในประเภทนวนิยายชีวิตศิลปิน ซึ่ง J. A. Cuddon (1989, อ้างถึงใน วยากร พึ่งเงิน, 2012) เขียนไว้ว่าเป็นประเภทงานเขียนที่นิยมในเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19

 

เมื่อเป็น “เรื่องราวชีวิตศิลปิน” ผู้อ่านบางคนอาจนึกไปถึงวรรณกรรมแนว coming of age ที่นำเสนอการก้าวข้ามปัญหาอันสับสนของช่วงวัยหนึ่งๆ แต่นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งบอกเล่าชีวิตของบุคคลหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ได้บอกเล่าถึงความสวยงามหรือชัยชนะแห่งการผ่านพ้นอุปสรรค และคล้ายว่าจะต่อต้านวรรณกรรมแนว coming of age ด้วย

 

สิ่งที่เม็ลเลทำคือบอกเล่าแก่ผู้อ่านว่า ขณะที่เขาเป็นผู้ป่วยไบโพลาร์นั้น ในฐานะนักเขียนผู้ใช้ถ้อยคำสร้างสรรค์งานศิลปะ เขาเป็นศิลปินที่มีอารมณ์เช่นไร อ่อนไหวพิเศษลึกซึ้งหรือมากล้นและแปรปรวนไม่รู้ที่สิ้นสุด เขาได้กระทำสิ่งใดลงไปบ้าง กระทบตนเองและผู้อื่นอย่างไร มีอารมณ์ความรู้สึก ความคิดที่วิ่งวนอยู่ในหัวของเขาอย่างไรบ้าง

 

การเขียนของเม็ลเลเลื่อนลอยไปในกระแสสำนึก ไม่มีการจบแบบขมวดปมหรือแปะป้ายว่า “อวสาน” ผู้อ่านทำได้เพียงค่อยๆ อ่านไปทีละหน้า ทีละบท เพื่อทำความเข้าใจชีวิตของศิลปินที่ป่วยเป็นไบโพลาร์และอุตสาหะเขียนเรื่องของตนขึ้นมา

 

ปี 2019 นี้ หรือ 3 ปี นับจากการตีพิมพ์นวนิยายฉบับเยอรมัน ในโลกอันแปรปรวน: บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์ ของโทมัส เม็ลเล ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย อัญชลี โตพึ่งพงศ์ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์

 

วรรณกรรมแปลเรื่องนี้ได้รับทุนการแปลจากโครงการ Merck Social Translating ที่กำหนดให้ผู้แปลในทวีปเอเชีย จำนวน 10 ประเทศได้แปลวรรณกรรมเยอรมันเรื่องเดียวกันไปในแต่ละภาษาของตน ซึ่งน่าจะทำให้มีผู้อ่านเข้าใจผู้ป่วยไบโพลาร์เพิ่มมากขึ้นในอีกหลายประเทศ

 

ในโลกทุกวันนี้ที่ผู้ป่วยทางจิตเวชมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การทำความเข้าใจโรคและบุคคลที่เป็นโรคเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวด

 

นอกจากตำราทางวิชาการแล้ว วรรณกรรมก็ได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้ผู้คนเรียนรู้และเข้าใจ “ไบโพลาร์” มากขึ้นด้วย ดังเช่น “บันทึกของนักเขียนไบโพลาร์” เล่มนี้

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

 

การตั้งโจทย์กับการสร้างสรรค์วรรณกรรม กรณีศึกษารวมเรื่องสั้น สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง

 

 

จากบทความก่อนหน้าที่เราได้เข้าไปสอดส่องวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนผู้เขียนสัตว์สัตว์ (With Animal) บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมไทยด้วยการมีโจทย์ โดยเลือกศึกษาแนวทางการตั้งโจทย์จากเล่ม สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง

 

การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมหรืองานศิลปะส่วนมากมักเกิดจากจินตนาการและแรงบันดาลใจของศิลปิน การกำหนดโจทย์อาจกลายเป็นกรอบเกณฑ์จำกัดจินตนาการ ทว่าแท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่

 

ในบทความนี้ “วรรณกรรมไทยที่เกิดขึ้นจากการกำหนดโจทย์ให้นักเขียน” ไม่หมายรวมถึงการตั้งโจทย์ในการประกวดงานวรรณกรรม แต่จะมุ่งพิจารณาการตั้งโจทย์ที่กำหนดนักเขียนไว้แล้วโดยเฉพาะเพื่อให้นักเขียนรับโจทย์และรับผิดชอบการสร้างสรรค์งานของตนเองเท่านั้น

 

สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง เป็นรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจในด้านความเป็นมาของผลงานวรรณกรรม เพราะกำหนดกติกาให้นักเขียนแต่ละคนได้สร้างสรรค์เรื่องสั้นด้วยโจทย์ที่ตนเองและนักเขียนคนอื่นได้ตั้งขึ้น ทั้งยังให้ศรีดาวเรืองเขียนเรื่องตั้งต้น เพื่อให้นักเขียนคนอื่นๆ อีก 11 คนได้เขียนเรื่องสั้นในแบบฉบับของตนเองโดยอิงจากโจทย์และเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง

 

 

 

จากกลอนจอหงวนถึงการกำหนดโจทย์ทางวรรณกรรมของบุ๊คไวรัส 12

 

การกำหนดโจทย์เพื่อสร้างสรรค์วรรณกรรมไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีมาตั้งแต่ในอดีต เพราะเมื่อพิจารณาด้านการแต่งร้อยกรองพบว่า มีการกำหนดโจทย์แบบหนึ่งที่เรียกว่า “กลอนจอหงวน” ซึ่งกำหนดคำมาให้ 4-8 คำ แล้วแต่ความยาวบทกลอนที่เลือกเล่น เมื่อกำหนดคำแล้ว ผู้เล่นก็ต้องแต่งกลอนโดยใช้คำเหล่านั้นให้ครบทุกคำ บทกลอนที่เสร็จสมบูรณ์จะมีคำครบถ้วน และมีเนื้อความที่แตกต่างกันไปตามจินตนาการของแต่ละคน

 

เมื่อมองการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมไทยปัจจุบัน ช่วงปี 2555-2556 ได้เกิดโครงการที่กำหนดให้นักเขียนไปลงพื้นที่ตามท้องถิ่นต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์นวนิยายคือ โครงการผลิตวรรณกรรมจากการสัมผัสเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น ที่สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมี Way of Book เป็นผู้ดำเนินการผลิต (โครงการดังกล่าวทำให้แดนอรัญ แสงทอง ได้เขียนผลงาน อตีเตกาเล ในการดำเนินการรุ่นที่สอง) เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการนี้ได้ทำให้เกิดวรรณกรรมไทยที่พยายามจะสื่อสารและบอกเล่าความเป็นท้องถิ่นไว้ในตัวเรื่อง กระนั้นก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมาจนปัจจุบัน วรรณกรรมแต่ละเล่มจากโครงการนี้ก็ยังคงอยู่ในมุมเงียบๆ ของงานวรรณกรรมไทย

 

หากให้สันนิษฐานก็อาจจะกล่าวได้ว่าการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นหรือความเป็นชุมชนมาบอกเล่าผ่านงานวรรณกรรมน่าจะจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและประสบการณ์ในการตกผลึก เช่นเดียวกับการที่คำพูน บุญทวีเขียน ลูกอีสาน มาลา คำจันทร์เขียน เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะและซึมซับวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างเต็มเปี่ยมก่อนจะนำมาใช้สร้างสรรค์งานวรรณกรรม

 

การตั้งโจทย์ให้นักเขียนไปลงพื้นที่เพื่อมาสร้างสรรค์เป็นเรื่องแต่งจึงอาจจะต้องขึ้นอยู่กับองค์ความรู้เบื้องต้นที่นักเขียนมีด้วยว่า ภายในระยะเวลาอันจำกัดนั้น นักเขียนที่ได้รับโจทย์จะสามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่น่าประทับใจและผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กลมกลืนเนียนสนิทไปกับเรื่องแต่งของตนได้มากน้อยเพียงใด

 

ต่อมาในเวลาไม่ห่างกันนัก สนธยา ทรัพย์เย็น ผู้เดินอยู่ในเส้นทางการสร้างสรรค์วรรณกรรมและภาพยนตร์ได้ริเริ่มโครงการหนังสือรวมเรื่องสั้น สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง ขึ้น โดยสื่อสารกับนักเขียนรับเชิญอย่างชัดเจน ทั้งเป้าหมาย กติกา ตัวอย่าง และขั้นตอนการดำเนินการ ด้วยความที่เขามีแนวคิดว่า

 

 

หากนักเขียนไม่จำกัดตัวเองอยู่เฉพาะกับเรื่องราวและความคุ้นเคยเดิมๆ และมองโจทย์ใหม่ๆ ที่พุ่งเข้ามาในชีวิตว่าไม่ใช่กับดักจองจำ แต่เป็นความสนุกนึก ท้าทายให้ขยับขยายประสบการณ์ มองหาวิธีสัมพันธ์ สอดรับ ส่งทอด หน่อใบใหม่ๆ ย่อมมีโอกาสงอกเงยอย่างแข็งขัน ยั่งยืนยิ่งยวดกว่ารากเดียวเดิมโดด และร่วมกับเป็นประจักษ์พยานต่อพลังแห่งเอกภพของเรื่องเล่า (คนละเรื่อง) เดียวกัน

(สนธยา ทรัพย์เย็น, 2557: 6-7)

 

กติกาของโครงการนี้โดยสังเขปคล้ายกับการเล่นกลอนจอหงวนในแง่ของการให้นักเขียนแต่ละคนกำหนดคำขึ้นมา โดยคำจากนักเขียนทั้ง 12 คน คือ รถไฟ / มีดโกน / สเต๊ก / ผี / เด็ก / แสง / เท้าดอกบัว / อุกกาบาต / คอมพิวเตอร์ / โรงหนัง / เบียร์สิงเต้า / ทะเล

 

นอกจากโจทย์ที่เป็นการกำหนดคำแล้ว นักเขียนทั้ง 11 คน ยังต้องอ่านงานเขียนของศรีดาวเรือง ที่เขียนเป็นคนแรก แล้วนำบางส่วนหรือบางตัวละครจากเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองไปใช้ในเรื่องสั้นของตนด้วย โดยไม่จำเป็นจะต้องเล่าเรื่องต่อเนื่องหรือนำตัวละครจากเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองไปเป็นตัวละครหลักในเรื่องของตน หลังจากได้รับทราบโจทย์และได้อ่านเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองแล้วนักเขียนแต่ละคนจะมีเวลาหนึ่งเดือนเพื่อเขียนเรื่องสั้นของตน

 

*อ่านกติกาฉบับเต็มได้ใน สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง.(2557) หน้า 8-12

 

เมื่อโจทย์ผสมผสานกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวของนักเขียน

การมีโจทย์อาจไม่ใช่ข้อจำกัดเสมอไป เพราะเมื่อพิจารณาเรื่องสั้นของนักเขียนแต่ละคนใน สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง จะเห็นว่านักเขียนแต่ละคนมีแนวทางการเล่าเรื่องเฉพาะตน ทั้งการใช้ภาษา วิธีการเล่าเรื่อง และสารที่ต้องการสื่อ

เรื่อง “ผู้ไม่ยอมแพ้” ของศรีดาวเรืองซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกก่อนที่นักเขียนคนอื่นจะอ่านและนำไปเขียนแตกกิ่งเป็นเรื่องสั้นของตนเองต่อไป พบว่า เรื่องสั้น “ผู้ไม่ยอมแพ้” มีตัวละครสำคัญคือ “บ่าย” ชายผู้ลาออกจากงานในห้องแอร์แล้วมาทำงานรับจ้างหาเช้ากินค่ำ และ “เงือก” หญิงสาวที่เราต่างไม่รู้นามที่แท้จริง เธอมาพร้อมกับเหตุการณ์น้ำท่วมและตกเป็นเมียของบ่าย และต้องอยู่ในการบังคับควบคุมของเขา จนกระทั่งเธอทนไม่ไหวและหนีไปโดดสะพานจนถึงแก่ความตาย

ในเรื่องนี้ศรีดาวเรืองได้นำเสนอประเด็นว่าด้วยผู้ชายที่ใช้อำนาจกดขี่ผู้หญิงหรือปิตาธิปไตย และแม้ “เงือก” จะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่บ่ายผู้ทั้งเมาเหล้าและเมายาก็ยังคงก่นด่าไว้ในตอนท้ายเรื่อง ราวกับจะตามไปใช้อำนาจข่มเหงเธอในปรโลกด้วยว่า

 

“..มึงไม่มีวันเอาชนะกูได้หรอก.. มึงเป็นผู้หญิง กูเป็นผู้ชาย ต่อให้มึงหนีไปลงนรกหรือขึ้นสวรรค์ กูจะตามไปจิกหัวมึงเดี๋ยวนี้แหละ..คิดเหรอว่าแค่ตายแล้วจะหนีกูพ้น”

(ศรีดาวเรือง 2557, 24-25)

 

จากเรื่อง “ผู้ไม่ยอมแพ้” ที่นำเสนอเรื่องอำนาจของเพศชายด้วยเรื่องเล่าแนวสัจนิยม ได้นำสู่เรื่องเล่าของนักเขียนอีก 11 คน ที่ล้วนเป็นนักเขียนชายที่มีสไตล์งานเขียนโดดเด่นเฉพาะตนด้วยกันทั้งสิ้น ในบทความนี้จะพิจารณาเพียงเรื่องสั้นของอุเทน มหามิตร ภู กระดาษ และ แดนอรัญ แสงทอง เพื่อแสดงให้เห็นโดยสังเขปว่า จากเรื่องสั้นตั้งต้นของศรีดาวเรือง นักเขียนทั้งได้สร้างสรรค์เรื่องเล่าที่มีแนวทางเฉพาะตนอย่างไร

 

เรื่อง “หนังใต้คางใต้ราง” ของอุเทน มหามิตร บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ “บ่าย” หลังจากที่ “เงือก” ตาย ชีวิตของบ่ายหลังจากนั้นกลายเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นไปในอีกแนวทางหนึ่ง เพราะบ่ายกลายเป็นคนที่แม้จะหยิบมีดโกนมากรีดคอตนเองเท่าใดก็กรีดไม่เข้า หนังใต้คางของเขาหนานัก เขากลายเป็นคนที่มี “ชั้นไขมันใต้คางศักดิ์สิทธิ์” ดังนั้น จากเรื่องสั้นแนวสัจนิยมของศรีดาวเรือง จึงกลายเป็นเรื่องเล่าที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ไป เมื่อเล่าต่อด้วยลีลาของอุเทน มหามิตร

 

เรื่อง “รอยรักรอยสัก” ของภู กระดาษ ก็นำเสนอประเด็นความเป็นคนอีสานที่แตกต่างจากคนกรุงเทพฯ “บ่าย” และ “เงือก” ไม่ใช่ตัวละครที่อยู่ในเส้นเรื่องหลักอย่างในเรื่องสั้นของศรีดาวเรืองและอุเทน มหามิตร แต่ภู กระดาษได้เล่าเรื่องของ “เพด” “แพว” “พาว” และ “หลวงพ่อ” ที่ต่างก็เป็นตัวแทนของคนอีสาน คนที่ไม่เท่ากับคนกรุงเทพฯ และเป็นเสมือน “ผี” ผู้ถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามพื้นที่แล้วแต่ส่วนกลางจะกำหนด นอกจากนี้ ภู กระดาษยังเล่าเรื่องด้วยการผสมผสานตำนาน ความเชื่อ และภาษาถิ่นอีสานเข้ามาในเรื่องด้วย

 

ส่วนเรื่อง “ตังค์ทอน (เรื่องไม่สุภาพเท่าไหร่สักเรื่องหนึ่ง)” ของแดนอรัญ แสงทองก็ยังคงมีสำนวนภาษาและอารมณ์ขันที่สื่อสารผ่านพฤติกรรมของตัวละครเด็ก (แนวทางนี้ของแดนอรัญเห็นชัดมากขึ้นในรวมเรื่องสั้นแพรกหนามแดง) ส่วนตัวละครบ่ายนั้นแดนอรัญไม่ได้หยิบมาใช้ ในตอนต้นเรื่อง เขามุ่งเล่าถึงอนุภาควิญญาณของ “เงือก” ที่ล่องลอยกลับมายังถิ่นฐานเพื่อจะพบกับเด็กที่ตนห่วงใย เรื่องสั้นของแดนอรัญจึงแทบจะไม่ได้นำเค้าโครงหรือตัวละครจากเรื่องของศรีดาวเรืองมาสักเท่าใด นำมาใช้แต่เพียงตอนต้น ช่วงที่เปิดเรื่องเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาดังนี้ จะเห็นได้ว่าแม้จะได้รับโจทย์เดียวกัน แต่ทั้งอุเทน มหามิตร ภู กระดาษ และแดนอรัญ แสงทอง ต่างก็มีแนวทางการเขียนเพื่อนำวัตถุดิบที่ได้จากโจทย์ไปสร้างสรรค์งานของตน อุเทน มหามิตรเลือกเล่าต่อจากเรื่องเดิม ภู กระดาษเลือกนำบางส่วนของตัวละครจากเรื่องเดิมมาเล่าคู่ไปกับตัวละครชุดใหม่ที่เขาสร้างขึ้น ส่วนแดนอรัญ แสงทอง ก็เลือกบางส่วนของโจทย์ในช่วงต้นเรื่องเพื่อปูพื้นก่อนเข้าเรื่องของเด็กชายตังค์ทอนอันเป็นเรื่องหลักที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน

 

ดังนั้น ผู้เล่าเรื่องจึงมีส่วนสำคัญในการทำให้เรื่องเป็นไปในลักษณะเฉพาะตามความถนัดของผู้เล่าแต่ละคน และจะเห็นว่าเรื่องเล่าทั้ง 11 เรื่องที่แตกกิ่งต่อจากเรื่องสั้นของศรีดาวเรือง แม้จะไม่ใช่การเล่าซ้ำหรือเล่าใหม่ในเรื่องเดิม ทว่าผลงานของนักเขียนแต่ละคนที่แตกกิ่งออกมาได้ทำให้ผู้อ่านเห็นลักษณะเฉพาะของนักเขียนแต่ละคนชัดเจนขึ้น

 

ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับข้อค้นพบของนักคติชนวิทยาชาวรัสเซีย Azadovsky ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบนักเล่านิทาน 3 คน และพบว่านักเล่านิทานคนที่หนึ่งมักแทรกเรื่องเพศและมุกตลกหยาบโลน นักเล่านิทานคนที่สองมีอายุมากกว่า มักเล่านิทานอย่างละเอียดและเล่าอย่างเป็นทางการ ไม่รีบร้อน ขณะที่นักเล่านิทานคนที่สามซึ่งเป็นผู้หญิงมักเล่านิทานโดยลดทอนความมหัศจรรย์ลงแต่เล่าให้บรรยากาศในนิทานเชื่อมโยงกับบรรยากาศของหมู่บ้าน (Stith Thompson,1997 อ้างถึงใน ศิราพร ณ ถลาง 2552, 146-147)

 

การเล่าเรื่องของนักเขียนทั้ง 12 คน (รวมศรีดาวเรืองด้วย) จึงมีสไตล์ ลีลาภาษา และประเด็นสำคัญของเรื่องแตกต่างกันไป ผู้อ่านสามารถอ่านแยกเรื่องหรืออ่านแบบพิจารณาเรื่องเล่าทั้งหมดในลักษณาการที่เกี่ยวข้องร้อยเรียงกันก็ย่อมได้ การมีโจทย์เช่นนึ้จึงไม่ได้ส่งผลกับนักเขียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงนักอ่านด้วยว่าจะเลือกอ่านอย่างไร

 

โจทย์ทางวรรณกรรม – วิกฤตหรือโอกาส

การกำหนดโจทย์ให้นักเขียนหรือผู้เล่าเรื่องน่าจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือและโอกาสมากกว่าจะเป็นการลดทอนความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม เพราะโจทย์ที่นักเขียนได้รับ แม้จะดูเหมือนมีกรอบเกณฑ์ แต่กรอบดังกล่าวก็เรียกร้องให้นักเขียนต้องปรับตัวและสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เทคนิควิธีการที่ตนเองถนัดมาใช้จัดการกรอบเหล่านั้นเพื่อสื่อสารประเด็นที่ต้องการบอกเล่า

 

นอกจากนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์ ทั้งวัตถุดิบ ขั้นตอนการทำงาน และระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน ยังอาจจะช่วยให้นักเขียนที่บางครั้งมีความเป็นศิลปินในตัวกลับมาเขียนงานได้ตามกำหนด หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้มีร่างแรกออกมา เพราะบ่อยครั้ง เมื่อมนุษย์ไม่มีโจทย์ ก็ไม่มีเป้าหมาย มีเพียงความอยากเขียน และไม่ได้ลงมือเขียนอยู่ร่ำไป

 

ด้วยเหตุนี้ การตั้งโจทย์จึงน่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการช่วยให้นักอยากเขียนทุกคน เขียนงานได้ตามกำหนดหรือตามที่ควรจะเป็นมากขึ้นด้วย – แต่ก็มีบ้างเช่นกันที่นักเขียนรู้สึกกดดันเพราะโจทย์ที่ตนได้รับมา จนกระทั่งทำให้ไม่อาจสร้างสรรค์งานเขียนขึ้นมาได้

 

ปัจจุบันมีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งที่ช่วยกำหนดโจทย์ให้แก่บรรดานักอยากเขียน เพียงค้นหาด้วยคำว่า “story prompts generator” ก็จะพบเว็บไซต์มากมายที่ช่วยเสนอคำและองค์ประกอบทางวรรณกรรมเพื่อเป็นโจทย์ที่หลากหลายให้เราได้นำไปทดลองเขียน ตัวอย่างเช่น www.writingexercises.co.uk

 

 

ทั้งนี้ การมีโจทย์ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป การมีโจทย์อาจกลายเป็นข้อจำกัด หรือข้อเปรียบเทียบระหว่างนักเขียนด้วยกันเองก็ได้ อีกทั้งในบางกรณีอาจส่งผลให้ผู้อ่านมีความคาดหวังไปล่วงหน้าตามโจทย์ต่างๆ จนกระทั่งรู้สึกผิดหวังหรือไม่พึงพอใจเท่าที่ควรเมื่อได้อ่านตัวเรื่องที่แท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักเขียน โจทย์จะเอื้อประโยชน์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า นักเขียนจะมองโจทย์ว่าเป็นวิกฤตและขีดจำกัด หรือโอกาสและวัตถุดิบ

 

 

รายการอ้างอิง

สนธยา ทรัพย์เย็น, บรรณาธิการ. (2557). สนุกนึก: วรรณกรรมแตกกิ่ง. ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์: ประจวบคีรีขันธ์.

ศิราพร ณ ถลาง. (2552). ทฤษฏีคติชนวิทยา: วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพฯ.

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

ชีวิตที่เท่าเทียมใน “สัตว์สัตว์” (With Animal) ของ Carol Guess และ Kelly Magee

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาความเท่าเทียม มนุษย์ในแต่ละสังคมต่างเรียกร้องความเท่าเทียมทางชนชั้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบัน นอกจากความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังมีแนวทางการศึกษาในโลกวิชาการที่พยายามให้คุณค่าสัตว์ ต้นไม้ หรือกระทั่งหุ่นยนต์ในฐานะที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรองหรือต่ำกว่ามนุษย์

 

อย่างไรก็ดี ความคิดเรื่องสัตว์ต่ำต้อยกว่ามนุษย์นั้น แสดงออกผ่านวิถีชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน ทั้งการกักขังหรือกำหนดบริเวณเฉพาะให้สัตว์อยู่ การบริโภคสัตว์ การใช้แรงงานสัตว์ ดังนั้น หากนักเขียนต้องการรณรงค์หรือนำเสนอประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสื่อสารกับสังคมที่ยังมีชุดความคิดเดิม

 

บทวิจารณ์นี้จึงเลือกศึกษารวมเรื่องสั้น With Animal ของ Carol Guess และ Kelly Magee ที่มีชื่อเล่มฉบับภาษาไทยว่า สัตว์สัตว์ แปลโดยณัฐกานต์ อมาตยกุล และณัฐชานันท์ กล้าหาญ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไจไจ ประกอบด้วยเรื่องสั้นๆ 17 เรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวคล้ายคลึงกันของแม่ผู้ให้กำเนิดบุตรเป็นสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมังกร ม้า ปลา นกกระจอก แมงกะพรุน ยูนิคอร์น แมงมุม เนบิวลา สลอท ฮิปโป เพื่อทำความเข้าใจว่าเรื่องสั้นได้ช่วยสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์อย่างไร ผ่านการพิจารณาชื่อเรื่อง ระเบียบวิธีการประพันธ์ร่วมกันของผู้เขียนทั้งสอง และเนื้อหาของเรื่อง

 

 

 

ความสำคัญของสัตว์ที่แสดงออกผ่านชื่อเรื่อง

 

เมื่อพิจารณาชื่อเล่มและชื่อของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย จะเห็นได้ว่ามุ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของสัตว์หรือ animal

 

ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อเล่ม With Animal  คือการเน้นที่สัตว์ ส่วนอะไรอื่น (ซึ่งก็คือมนุษย์ผู้เป็นแม่ที่จะร่วมมีบทบาท) ในเรื่องนั้นก็ละไว้ กระทั่งชื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้ เช่น With Jellyfish, With Dragon, With Fox ซึ่งเป็นการพูดถึงสัตว์อย่างเด่นชัด ทั้งยังละตัวละครมนุษย์ไว้ไม่ให้ปรากฏในชื่อเรื่อง ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นความพยายามที่จะนำเสนอความสำคัญของสัตว์นั่นเอง

 

ส่วนชื่อเล่ม สัตว์สัตว์ ในฉบับแปลไทยอาจคล้ายกับการสบถสาบาน แต่หากพิจารณาเนื้อหาของเรื่องแล้ว เห็นได้ว่าผู้ตั้งชื่อเรื่องน่าจะต้องการสื่อสารถึงความเท่าเทียมกันระหว่างคนกับสัตว์ในแง่ที่มองว่ามนุษย์เองก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง แม้ในเรื่องมนุษย์จะเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรที่เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ แต่การ เขียนคำว่า “สัตว์” ติดกันไป ไม่ได้มีเว้นวรรคหรือเครื่องหมายใดคั่น ก็อาจหมายถึงความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างแม่มนุษย์และลูกสัตว์ที่ต่างก็เป็น “สัตว์” เช่นเดียวกัน ส่วนชื่อเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มฉบับแปลไทย ก็ล้อไปตามต้นฉบับภาษาอังกฤษ เน้นที่ชื่อสัตว์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น แมงกะพรุน มังกร จิ้งจอก

 

 

ระเบียบวิธีทางการประพันธ์ที่เท่าเทียม

 

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้มีผู้เขียน 2 คนคือ Carol Guess และ Kelly Magee พวกเธอไม่ได้แบ่งกันเขียนคนละแปดเก้าเรื่อง สิ่งที่น่าสนใจคือ เธอทั้งสองล้วนมีส่วนร่วมเขียนเรื่องสั้นทั้ง 17 เรื่อง วิธีการทำงานคือกำหนดให้คนหนึ่งเริ่มเรื่อง อีกคนหนึ่งเขียนตอนจบของเรื่อง โดยแต่ละเรื่องมีเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ดังที่เคลลีให้สัมภาษณ์ใน authorstalker.tumblr.com และสำนักพิมพ์ไจไจนำมาแปลไว้ว่า

 

 

แครอลกับฉันทำงานเข้ากันได้ดีอย่างประหลาด แต่ละเรื่องเป็นผลงานที่เราเขียนด้วยกัน ฉันอาจจะเป็นคนเริ่มแล้วส่งต่อให้แครอลเพื่อให้เธอเขียนจนจบ หรือเธอเริ่มแล้วฉันจบสลับกัน เราแลกเรื่องกันสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานที่เร็วเหลือเชื่อสำหรับฉัน (ฉันมักจะกังวลกับการเขียนเรื่องแต่ละเรื่องอย่างเอาเป็นเอาตาย) แต่สุดท้ายนี่กลับกลายเป็นการทำงานเขียนอันเปี่ยมสุข จังหวะการทำงานอันว่องไวทำให้เราเดินทางข้ามผ่านโลกที่สร้างขึ้นมาเหล่านี้ได้ในเวลาอันสั้น และการร่วมมือสร้างงานก็หมายความว่าเรารับผิดชอบแค่ครึ่งเรื่องต่อสัปดาห์

(สัตว์สัตว์, 2560: 216-217)

 

การแบ่งส่วนกันเขียนเช่นนี้ นับเป็นความร่วมมือที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำให้ส่วนผสมของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องมีตอนต้นและตอนจบที่เหนือความคาดหมายแล้ว ยังช่วยให้น้ำหนักของเรื่องสั้นไม่เอนเอียงไปในแนวคิดของคนใดคนหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งเมื่อเขียนแต่ละเรื่องเสร็จแล้ว ผู้เขียนทั้งสองย่อมต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิดที่เกิดขึ้น และกระบวนการเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดภาวะความคิดสร้างสรรค์ขึ้นด้วย

 

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ระเบียบวิธีทางการประพันธ์ที่แครอลและเคลลีได้ร่วมกันเขียนเรื่องสั้นอย่างสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทั้งคู่ไม่เคารพในความคิดเห็นและคุณค่าของกันและกัน และการเคารพความแตกต่างเช่นนี้เองที่เป็นรากฐานนำไปสู่ความเท่าเทียมต่างๆ ในโลก

 

เมื่อเราเคารพความเห็นและรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน ย่อมร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าต่อโลกได้ ไม่เพียงแต่ในแง่ของการสร้างสรรค์วรรณกรรมเท่านั้น

 

 

การร่วมสายเลือด การปล่อยวาง และสิทธิในการใช้ชีวิต

 

ตัวละครที่เป็นสัตว์ในงานวรรณกรรมปรากฏหลากหลายรูปแบบและมักพบในนิทานสำหรับเด็ก สัตว์ในนิทานถูกทำให้กลายเป็นมนุษย์ผ่านการใช้ภาษา กล่าวคือพูดภาษาเดียวกับมนุษย์ รวมถึงแต่งกายแบบมนุษย์หรือทำตามประเพณีต่างๆของมนุษย์

 

แต่เรื่องสั้นในเล่มสัตว์สัตว์นั้นต่างออกไป ผู้เป็นแม่ให้กำเนิดลูกที่เป็นสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ และในบางเรื่องผู้เป็นแม่ก็สมสู่กับพ่อที่คล้ายว่าจะเป็นสัตว์หรือมีสัญชาตญาณของสัตว์เข้มข้น หรือได้รับการต่อยจากสัตว์บางชนิดจนตั้งครรภ์

 

อันที่จริงแล้ว เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่พล็อตเรื่องใหม่เอี่ยม เพราะในบรรดาตำนานเทพทั้งหลาย เทพเจ้าอันเป็นตัวแทนธรรมชาติก็ได้มาสมสู่กับสตรีจนเกิดเป็นบุตรครึ่งคนครึ่งเทพมากมาย ในนิทานปรัมปราก็มีอนุภาคการสมพาสที่วิจิตรพิสดาร แต่สิ่งที่น่าสนใจในสัตว์สัตว์ก็คือ ความพยายามจะอธิบายเพื่อจำลองสถานการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของแม่ผู้มีลูกเป็นสัตว์ และสัตว์ผู้เป็นลูก

 

เสียงเล่าที่ปรากฏในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเล่าอย่างเรียบง่าย ราวกับว่าการมีลูกเป็นมังกรเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือการตั้งชื่อให้ลูกแมงกะพรุนเป็นเรื่องสามัญ กระนั้นในน้ำเสียงสงบกลับสื่อสารว่าการมีลูกพิเศษเช่นนี้ทำให้แม่เหนื่อยหน่ายใจอยู่บ้าง ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่ได้กล่าวโทษความเป็นสัตว์ ทว่าคือการสะท้อนถึงภาวะของแม่กับลูกในแต่ละกรณีที่ลูกทุกคนย่อมจะมีความพิเศษพิสดารอยู่ในตัว และแครอลกับเคลลีได้สื่อผ่านการกำหนดให้ตัวละครลูกเป็นสัตว์ต่างๆ

 

ในเรื่องแมงมุม ตอนต้นเรื่องบอกเล่าถึงความไม่พอใจของแม่ที่มีลูกเป็นแมงมุม และตอนท้ายบอกเล่าถึงความคิดของลูกแมงมุมที่รักแม่กับน้องและออกไปเผชิญโลกด้วยตนเอง ดังข้อความว่า

 

บางครั้งเธอก็หวังว่าตัวเองจะเป็นแม่ที่มีลูกเป็นเด็กธรรมดา แทนที่จะต้องมาคอยเช็ดรอยหนืดออกจากเคาน์เตอร์ในเวลากลางคืนหรือสางใยแมงมุมตามทางเวลาไปเข้าห้องน้ำ

(สัตว์สัตว์, 2560: 115)

 

และ

 

เธอฝันถึงอะไร: ริมฝีปากอวบอิ่มของทารกและนิ้วเท้าจิ๋ว สิ่งที่แม่ของเธอต้องการ และคำถามจากเพื่อนของเธอ “เธอจะกินน้องมั้ย”

 

อะไรที่เธอไม่ได้บอกกับแม่: เธอจะไม่กินน้องหรอก เธอจะจูบริมฝีปากอวบอิ่มของน้อง และเธอจะทิ้งแม่เอาไว้กับลูกมนุษย์ปกติของแม่ จากนั้นเธอเองจะไปมีชีวิตที่อิ่มเอมและมีความสุขเสียที

(สัตว์สัตว์, 2560: 122)

 

การกระทำของลูกแมงมุมที่ชื่อสปีดี้ในตอนท้ายได้ฉายให้เห็นถึงการที่สัตว์สามารถคิดและเลือกออกไปใช้ชีวิตตามแบบของตนเอง ความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างแม่ลูกลดช่องว่างความแตกต่าง ก่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ กระนั้นก็ยังอาจมีความรู้สึกแบ่งแยกได้ ดังในตอนต้นที่แม่ยังคงปรารถนานิ้วเท้าจิ๋ว

 

ความเท่าเทียมที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อสปีดี้ได้เลือกใช้ชีวิตตามที่เธอต้องการ แม่เองก็มีสิทธิ์พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจลูกแต่ละคนแตกต่างกัน ส่วนลูกเองก็มีสิทธิ์เลือกใช้ชีวิตของตน และสิทธิ์ที่ต่างฝ่ายต่างมีนี้เองที่ก่อให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น

 

ดังนั้นความเท่าเทียมจึงมีหลากหลายมิติ ไม่ใช่เพียงการชั่งตวงวัดเงินในบัญชี ปริมาณความรักที่มีต่อกัน แต่หมายรวมถึงการมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตของตนอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง

 

ในเรื่องมังกรก็เช่นเดียวกัน ทั้งที่ลูกมังกรทำให้แม่ทรมานอย่างยิ่งตั้งแต่ตั้งครรภ์ แต่แม่ก็รักและทำทุกวิถีทางเพื่อจะดูแลลูกมังกร ทั้งการกินเพลิงเพื่อบำรุงลูก การคลอดที่มีควันและเปลวไฟแทนน้ำคร่ำ ส่วนลูกมังกรก็รักแม่มากเช่นกัน

 

หากพิจารณาเพียงเท่านี้ย่อมเห็นว่าเนื้อเรื่องสื่อสารว่ามนุษย์กับมังกรนั้นเท่าเทียมกัน อยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก แม้จะเกิดหายนะนานาประการ (เช่นพ่อตายเพราะโดนเพลิงตอนแรกคลอดของลูก) ก็ตาม แต่หากพิจารณาตอนจบของเรื่องร่วมด้วยจะเห็นชัดเจนว่า ความเท่าเทียมที่แท้นอกจากเรื่องการร่วมสายเลือดแล้ว คือการที่แม่ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะปล่อยวางและยินยอมให้ลูกมังกรไปมีหนทางชีวิตในแบบของตน ดังตัวอย่าง

 

ผู้หญิงในเว็บบอร์ดแทบไม่ปริปากเมื่อเธอถามเรื่องการบินจากไป เศร้า ใครบางคนบอก ตามด้วยอีโมติคอนหน้าสลด ใครสักคนโพสต์ลิงก์วิดีโอหนึ่ง มันเป็นคลิปภาพปีกที่กางกระพือขึ้น โผบินข้ามต้นไม้เขียวขจีไป

เธอถาม ฉันต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่มีใครตอบ

เธอถามต่อ แล้วฉันจะรักอะไร เมื่อเขาบินจากไปแล้ว เธอไม่สนใจจะกลับไปดูคำตอบ […]

เว็บบอร์ดช่วยอะไรเธอไม่ได้อีกต่อไป เธอรู้โดยไม่ต้องถามใครเลยว่าการบินนั้นหมายถึงการบอกลา ไม่ใช่ในเช้านี้ ไม่ใช่บ่ายนี้ แต่เป็นหน้าร้อน เร็ววันนี้

เธอได้กลิ่นป่าที่กำลังลุกไหม้

(สัตว์สัตว์, 2560: 28-29)

 

จากตัวอย่างทั้งสองเรื่อง สัตว์สัตว์จึงเป็นรวมเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาสื่อสารถึงความเท่าเทียมกันระหว่างคนกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเทียมอันเกิดจากสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตของตนเอง 

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาว่าลูกที่เป็นสัตว์แต่ละประเภทก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกับลูกทุกๆ คน ที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีความพิเศษและปัญหาเฉพาะตน พ่อแม่ก็ควรเข้าใจและยอมรับความพิเศษเหล่านั้น อาจคอยประคับประคองบ้าง แต่สักวันหนึ่งก็ต้องปล่อยให้บรรดาลูกๆ มีสิทธิในการกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง ไม่เช่นนั้นการบังคับควบคุมและลิดรอนสิทธิอย่างขาดความเข้าใจอาจนำไปสู่ความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย ดังที่เคลลีให้สัมภาษณ์ใน authorstalker.tumblr.com ว่า

 

ส่วนที่สำคัญในการเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ เราต้องคอยระวังไม่ให้เรื่องเหล่านี้มีทัศนคติที่มองว่าสัตว์ต่ำกว่ามนุษย์ แต่ควรสำรวจแง่มุมความฉลาดของสัตว์ พฤติกรรม และวิธีการสื่อสารของมันที่เข้ามามีอิทธิพลต่อเรา หรือการที่มนุษย์พยายามจะบังคับสัตว์ให้ทำตามคำสั่งนั้นอาจจะสร้างความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย

(สัตว์สัตว์, 2560: 215)

 

เช่นเดียวกัน หากความสัมพันธ์ใดมุ่งบังคับให้ทำตามคำสั่ง ย่อมเกิดความเสียหายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ปกครองกับบุตรหลาน หรือผู้ปกครองกับประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ความแปลกใหม่ของวิธีการนำเสนอความเท่าเทียมระหว่างคนกับสัตว์ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้อาจนำไปสู่การทำความเข้าใจหรือการค้นพบวิธีการประพันธ์ใหม่ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ต่อไป ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องสิทธิแห่งการใช้ชีวิตที่สิ่งมีชีวิตล้วนมีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะแม่ ลูก ประชาชน ผู้ปกครอง หรือสัตว์ชนิดใดก็ตาม

 

บรรณานุกรม

ปรียารัตน์ เชาวลิตประพันธ์. การสมพาสที่ผิดธรรมชาติในนิทานไทย : การศึกษาอนุภาคทางคติชนวิทยา. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.

แครอล เกสส์ และ เคลลี่ มากี, เขียน. ณัฐกานต์ อมาตยกุล, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ, แปล. สัตว์สัตว์ = With animal. สมุทรสงคราม: ไจไจบุ๊คส์, 2560.

 


 

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

นิชานันท์ นันทศิริศรณ์

สนใจการอ่านเขียน แต่อ่านน้อย และเขียนน้อยยิ่งกว่าอ่าน เวลาเครียดชอบล้างจาน

Bookshop Book in the Bookshop – อ่านเรื่องร้านหนังสือต่างแดนแล้วหันมองร้านหนังสือไทย

 

 

นักอ่านทุกคนย่อมมีร้านหนังสือในความทรงจำ อาจเป็นร้านเล็กๆ ในซอยบ้านที่เราเดินไปซื้อหนังสือด้วยเงินออมของตนเองเป็นเล่มแรก ร้านที่จัดกิจกรรมสม่ำเสมอและเปิดโอกาสให้เราได้พบปะนักเขียนนักอ่านคนอื่นๆ ร้านใหญ่เบ้อเริ่มละลานตาด้วยหนังสือที่อ่านทั้งชาติก็ไม่มีวันหมด หรืออาจเป็นร้านต่างแดนเก่าแก่และอบอุ่นสักแห่ง

Read More

Little Red Riding Hood and her Password

 

 

ทำไมหนูน้อยหมวกแดงจึงถูกหมาป่าจับกิน? ไม่ใช่เพราะเธออ่อนแอและบอบบางจนสู้เจ้าหมาป่าไม่ได้ แต่เป็นเพราะเธอเองได้หยิบยื่นโอกาสให้หมาป่าทำร้ายเธอและคนที่เธอรัก เธอทำให้คุณยายถูกจับกินและเธอก็ถูกจับกินตามไปด้วย

 

Read More

บึงเจ้าชายกบ

 

 

กาลครั้งหนึ่ง (เกือบจะนานแล้วล่ะ) สวนสัตว์แห่งหนึ่งเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาในชั่วพริบตาเพราะผู้คนเรือนหมื่นต่างพากันมาจ่ายค่าตั๋วเพื่อเข้าชม ‘เจ้าชายกบ’

 

กบสีเขียวใบตองอ่อนยืนนิ่งอยู่บนใบบัวกลางบึงจำลอง แดดสายทอประกายให้ผิวของมันเงางามขึ้น ขนาดตัวของมันใหญ่กว่ากบทั่วไปเป็นสิบเท่า พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเกือบๆ เท่าเด็กชายอายุสิบขวบนั่นแล ด้วยขนาดตัวเช่นนั้นมันจึงต้องสวมมงกุฎที่เด่นและใหญ่ทัดเทียมกับตัวมันเพื่อให้สมกับการเป็นเจ้าชายกบ เลื่อมลายเขียวขลิบทองของมันนั้น บางคนว่าน่าขยะแขยงอย่างหาที่สุดไม่ได้ แต่บางคนก็ชื่นชมในความงามสง่าและความผึ่งผายของเจ้าชาย

Read More

ลูกหมูตัวที่สี่

 

 

ลูกหมูก็คือลูกหมูอยู่วันยังค่ำ ชะตากรรมซ้ำเดิม รุ่นแล้วรุ่นเล่า หมาป่าเฝ้าจ้องมอง รอคอยจังหวะ ตำนานบอกไว้ชัดแจ้ง พิธีกรรมคือสิ่งจำเป็น ลูกหมูทุกตัวต้องเติบโตและเปลี่ยนผ่าน – แต่จริงหรือที่เหล่าลูกหมูต้องมีชะตากรรมเช่นเดิมเสมอ

Read More

นิทานของแม่เต่า

 

 

ในยุคสมัยที่เรื่องกระต่ายกับเต่ายังไม่เล่าในหมู่มนุษย์ นิทานเรื่องนี้เล่าขานสืบต่อกันมาในครอบครัวเต่าทั้งหลายเท่านั้น เนื้อเรื่องก็จะเป็นดังที่แม่เต่าตัวหนึ่งเล่าให้ลูกฟังว่า …

 

Read More

การเดินทางของสก็อต

 

 

นานมาแล้ว ผมถูกบรรจุใส่กล่องพร้อมเพื่อนๆ มืดมิดปิดทึบ การเดินทางทุลักทุเล แต่พวกเราอยู่กันอย่างมั่นคงในความมืดนั้น เราต่างรู้ พวกเราจะถูกขาย และจะมีคนซื้อ

 

Read More
error: